ภาพเขียนชนเผ่าเจอร์มานิกต่อสู้กับนักรบโรมัน
ศิลปกรรมโดย G. Rava
ทีมนักโบราณคดีที่ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ชุมน้ำในเดนมาร์กพบเข้ากับ โครงกระดูกโบราณ ของมนุษย์อายุ 2,000 ปี ซึ่งเผยมุมมองใหม่ที่มีต่อบรรดา “คนเถื่อน” ในยุโรปเหนือ ผลการศึกษาครั้งนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences แสดงให้เห็นว่าบรรดาชนเผ่าในเยอรมนีเองก็เรียนรู้ที่จะสร้างอนุสรณ์สถานรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญ
พวกเขาพบอะไร?
นักโบราณคดีพบเข้ากับโครงกระดูกและเศษกระดูกจำนวน 2,095 ชิ้น จากผู้คนในยุคโบราณจำนวน 82 คน บนพื้นที่ 0.7 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีชุ่มน้ำชื่อ Alken Enge บริเวณทะเลสาบ Mossø บนคาบสมุทรจัตแลนด์ของเดนมาร์ก เจ้าของโครงกระดูกเหล่านี้ล้วนเป็นคนหนุ่ม และพวกเขาเสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษแรกของคริสต์กาล กระดูกที่มีร่องรอยของอาการบาดเจ็บ รวมถึงอาวุธที่ถูกค้นพบในบริเวณ บ่งชี้ว่าพวกเขาเสียชีวิตจากการรบ
ทั้งนี้ทีมนักโบราณคดีไม่ได้ขุดร่างของพวกเขาขึ้นมาจากพื้นที่ จากข้อมูลที่เก็บได้อนุมานว่าอาจมีผู้คนถูกฝังอยู่มากถึง 380 คน บนพื้นที่ลุ่มน้ำตลอดแนวชายฝั่งเมื่อ 2,000 ปีก่อน
ทำไมการค้นพบครั้งนี้จึงสำคัญ?
การค้นพบในครั้งนี้ ทำให้ประมาณการได้ว่าขนาดกองทัพในยุคเหล็กของยุโรปมีขนาดที่ใหญ่กว่าที่เคยคิดไว้มาก
แม้จะมีหลักฐานจากบันทึกของอารยธรรมโรมัน ที่กล่าวถึง “คนเถื่อน” ในเยอรมนี แต่ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการสู้รบของชนเผ่าเจอร์มานิกเหล่านี้กลับมีเพียงน้อยนิดเท่านั้น ซากที่มีสภาพดีเป็นสิ่งที่พบเจอได้ยากในสนามรบไม่กี่แห่งที่ถูกค้นพบในเยอรมนี (โดยการรบที่โด่งดังที่สุดคือยุทธการที่เกิดขึ้นในป่า Teutoburg)สิ่งนี้เองที่ทำให้มีคำถามว่า แท้จริงแล้วกองทัพนักรบของคนเถื่อนมีขนาดใหญ่แค่ไหน และมีการจัดทัพอย่างไร
จำนวนสมาชิกหลายร้อยคนของกองทัพคนเถื่อนนี้ เป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากจำนวนประชากรในหมู่บ้านที่ตั้งถิ่นฐานในภูมิภาคนี้มาก จึงสันนิษฐานได้ว่ากลุ่มนักรบขนาดใหญ่เช่นนี้ต้องมีการนำทัพและการจัดทัพที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถเกณฑ์สมาชิกจากพื้นที่ห่างไกลได้
Peter Bogucki นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และยังเป็นผู้เขียนหนังสือ “Barbarians” (แต่ไม่มีส่วนร่วมในการวิจัยครังนี้) ชี้ว่า จวบจนในปัจจุบัน ขนาดของกองกำลังทหารน่าจะมีคร่าวๆ ราว 80 คน โดยอ้างอิงจากข้อมูลของอาวุธที่ถูกสังเวยในพิธีกรรม และถูกค้นพบในเรือ Hjortspring ที่เคยพบในภูมิภาคทางตอนใต้ของสแกนดิเนเวีย
“หากงานวิจัยชิ้นนี้ประมานการได้ถูกต้อง” Bogucki กล่าว “กลุ่มนักรบเหล่านี้อาจมีขนาดใหญ่กว่านั้นหลายเท่า”
(ผลตรวจ DNA ชี้โครงกระดูกของนักรบไวกิงผู้โด่งดัง เป็นผู้หญิง)
ทำไมผู้คนเหล่านี้จึงมาต่อสู้กันในบึง? ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย
ในการค้นพบครั้งนี้มีจุดหนึ่งที่น่าสนใจ: โครงกระดูกหลายชิ้นมีร่องรอยของการกัดแทะโดยสัตว์ป่า ทีมนักโบราณคดีเชื่อว่าศพของบุรุษเหล่านี้ถูกปล่อยทิ้งให้ตายยังที่อื่นนาน 6 เดือนถึงหนึ่งปี ก่อนที่จะถูกย้ายมาไว้รวมกันในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ กระดูกถูกนำมากองรวมกันพร้อมกับก้อนหินที่มาจากพื้นที่อื่น และยังมีมีกระดูกสะโพกสี่ชิ้นที่มาจากคนละบุคคลถูกกิ่งไม้เสียบเข้ารูคล้องไว้ด้วยกัน
ทั้งหมดนี้ชวนให้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า โครงกระดูกเหล่านี้ถูกเก็บรวบรวมมาจากสนามรบ ก่อนที่จะถูกวางลงในบึงตามพิธีกรรมบางอย่าง อย่างไรก็ดี บริเวณพื้นที่ทางตอนใต้ของแหล่งที่พบยังมีชิ้นส่วนกระดูกเล็กๆ อีกจำนวนมาก โดยมันอาจถูกมองข้ามได้โดยง่ายในเวลาที่ซากกระดูกกำลังถูกรวบรวม นักโบราณคดี Mads Kähler Holst จากมหาวิทยาลัย Aarhus และภัณฑารักษ์ฝ่ายบริหารของพิพิธภัณฑ์ Mosegaard และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมงานวิจัย กล่าวว่า “สิ่งนี้อาจบ่งชี้ว่าแท้จริงแล้ว นักโบราณคดีอาจอยู่ใกล้กับบริเวณที่การรบเกิดขึ้นมากกว่าที่คิด”
พิธีกรรมเป็นอะไรที่พบได้ในยุโรปเหนือมานานกว่าพันปีแล้ว ด้าน Bogucki เชื่อว่าการย้ายร่างผู้เสียชีวิตจากสนามรบมายังบึงนี้ เป็นการกระทำที่ทำขึ้นเพื่อจดจำถึงบรรดาผู้เสียชีวิตและชัยชนะ “นี่คืออนุสรณ์สถานหลังสงคราม” เขาอธิบาย “พวกเขาตั้งใจที่จะสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาเพื่อระลึกถึงการสู้รบในครั้งนั้น”
พวกเขารบกับใคร?
ถึงแม้ว่าชาวโรมันจะสู้รบกับชนเผ่าเจอร์มานิกมาแล้วหลายครั้งในช่วงศตวรรษแรกของคริสต์กาล แต่พวกเขาไม่เคยเดินทางมาไกลถึงภูมิภาคทางตอนใต้ของสแกนดิเนเวีย และทีมนักโบราณคดียังไม่พบหลักฐานว่าโรมันมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรบครั้งนี้
“นอกจากนี้ ร่องรอยอาการบาดเจ็บบนซากกระดูกยังเป็นแบบเดียวกับรอยแผลจากอาวุธที่เราสามารถพบเห็นได้ในกลุ่มนักรบเยอรมันที่มีอาวุธที่ดี” Holst กล่าว
Bogucki เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว “การรบครั้งนี้เป็นการรบระหว่างคนเถื่อนด้วยกัน” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าการจัดทัพและขนาดของความขัดแย้งระหว่างกองทัพคนเถื่อนในเดนมาร์กเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นผลมาจากการบุกดินแดนคนเถื่อนบริเวณสแกนดิเนเวียโดยกองทัพโรมันเสมอไป
เรื่อง Kristin Romey
อ่านเพิ่มเติม