จากเรือ โฮปเวลล์ ของอังกฤษที่ทอดสมออยู่นอกชายฝั่งซึ่งปัจจุบันคือรัฐนอร์ทแคโรไลนา ผู้ว่าการจอห์น ไวต์ มองควันไฟที่พวยพุ่งเป็นลำสู่สนธยาแห่งคิมหันตฤดูด้วยความปีติยินดี
ควันจากเกาะโรอาโนก “ทำให้เรามีความหวังว่า ชาวอาณานิคมบางส่วนยังรอคอยการกลับมาจากอังกฤษของผม อยู่ที่นั่น” เขาเขียนไว้ในเวลาต่อมา สามปีผ่านไปนับตั้งแต่ผู้ว่าการออกเดินทางจากนิคมตั้งถิ่นฐานแห่งแรกของอังกฤษในโลกใหม่เพื่อทำสิ่งที่น่าจะเป็นภารกิจเติมเสบียงช่วงสั้นๆ โดยทิ้งชายหญิงและเด็กกว่าหนึ่งร้อยคนไว้เบื้องหลัง แต่การเดินทางกลับของเขาต้องล่าช้าออกไปหลังศึกกับสเปนเปิดฉากขึ้น ในที่สุดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ปี 1590 ไวต์และลูกเรือก็ ลุยน้ำขึ้นเกาะโรอาโนก แต่ไม่พบใคร พวกเขาพบต้นไม้สลักตัวอักษร “ซี อาร์ โอ” ซึ่งเป็นรหัสที่ตกลงกันไว้ ถ้ากลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานจะไปจากเกาะนี้ พวกเขาควรสลักจุดหมายปลายทางไว้ที่ต้นไม้หรือเสา และเครื่องหมายกางเขนที่เพิ่มเข้ามาจะหมายถึงการจากไปอย่างเร่งด่วน
เมื่อไปถึงถิ่นฐานที่ถูกทิ้งร้าง ผู้ว่าการเห็นเสาต้นหนึ่งซึ่ง “มีตัวพิมพ์ใหญ่สลักไว้ชัดเจนว่า โครอาโทเอน (CROATOAN) โดยไม่มีเครื่องหมายกางเขนหรือร่องรอยของอันตรายใดๆ” แต่เสาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรั้วป้องกันการโจมตีที่สร้างขึ้นหลังไวต์จากไป ก็บอกชัดเจนในตัวเองว่า ผู้ตั้งถิ่นฐานเตรียมรับมือกับการโจมตีของศัตรู
โครอาโทเอนเป็นทั้งชื่อเกาะสันดอนทางใต้และชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ที่นั่น คนเหล่านี้พูดภาษาแคโรไลนาอัลกอนเคียนและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรป หนุ่มชาวโครอาโทเอนคนหนึ่งชื่อ แมนทีโอ เคยเดินทางไปลอนดอนสองครั้งและทำหน้าที่มัคคุเทศก์ ล่าม และนักการทูตให้ชาวอังกฤษ
ไวต์อยากไปให้ถึงโครอาโทเอนซึ่งอยู่ห่างออกไปทางใต้เพียง 80 กิโลเมตรอย่างยิ่ง แม้เขาจะบันทึกไว้ด้วยว่า ชาวอาณานิคมมีความตั้งใจเดิมที่จะย้ายจากชายฝั่งเข้าไปในแผ่นดินอีก 80 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสารพัดและการขาดเสบียงทำลายแผนการค้นหาของเขา เมื่อเดินทางกลับอังกฤษ เขาพบว่าเซอร์วอลเตอร์ ราเล ผู้อุปถัมภ์ที่มั่งคั่งของอาณานิคม เบนเข็มไปยังการสำรวจในไอร์แลนด์เสียแล้ว เมื่อไม่มีเงินทุนสนับสนุน ไวต์จึงไม่ได้กลับไปยังโลกใหม่อีก ชาวอาณานิคม 115 คน รวมถึงเอเลเนอร์และเวอร์จิเนีย แดร์ ลูกสาวและหลานตาวัยทารกของไวต์ ถูกลืมเลือนและทอดทิ้งไว้ ณ ดินแดนแสนไกล
ยี่สิบปีต่อมา อังกฤษตั้งเมืองริมชายฝั่งถาวรแห่งแรกขึ้นในอเมริกา ห่างจากแม่น้ำเจมส์ไปทางเหนือ 150 กิโลเมตร ตรงบริเวณที่ปัจจุบันคือรัฐเวอร์จิเนีย กัปตันจอห์น สมิท ผู้นำอาณานิคมเจมส์ทาวน์ ได้ข่าวจากชนพื้นเมืองว่า มีกลุ่มชายแต่งกายแบบชาวยุโรปอาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่ของแคโรไลนา ทางตะวันตกของเกาะโรอาโนกและโครอาโทเอน แต่ชุดค้นหาทั้งจากเจมส์ทาวน์และอาณานิคมแห่งอื่นๆในเวลาต่อมาไม่พบหลักฐานทางกายภาพใดๆที่ให้เบาะแสเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวอาณานิคมโครอาโทเอนเลย
และเวลา 400 ปีก็ล่วงไปกับการสืบสวนซึ่งคว้าน้ำเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า การขาดหลักฐานส่งผลให้เกิดการคาดเดา การหลอกลวง และทฤษฎีสมคบคิดนับไม่ถ้วน แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลักฐานหลายชุดจากการขุดค้นทางโบราณคดีเผยเงื่อนงำน่าสนใจใหม่ๆ ที่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ตั้งถิ่นฐานหลังไวต์จากไป ขณะเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ก็เริ่มตระหนักว่า โรอาโนกหาใช่เป็นเพียงอาณานิคมที่ล่มสลายอย่างรวดเร็ว แต่โดยแก่นแท้แล้ว นี่คือโครงการอะพอลโลแห่งยุคเอลิซาเบทของอังกฤษซึ่งกินเวลาหกปีกับการเดินทางครั้งใหญ่สามครั้ง
การเดินทางครั้งแรกเมื่อปี 1584 เป็นภารกิจลาดตระเวนหรือสำรวจเส้นทาง ปีรุ่งขึ้น กลุ่มนักสำรวจชายล้วนซึ่งมีไวต์เป็นศิลปินประจำทีม [เทียบได้กับช่างภาพหรือช่างกล้องวิดีโอยุคปัจจุบัน] มาถึงโรอาโนกโดยหวังจะพบทองคำ สมุนไพรล้ำค่า และทางลัดสู่มหาสมุทรแปซิฟิก แต่พวกเขากลับสร้างศัตรูกับชนพื้นเมืองอเมริกันผู้เป็นเจ้าบ้านด้วยการลอบสังหารหัวหน้าเผ่า ไม่ถึงหนึ่งปีต่อมา กองเรือที่มีเซอร์ฟรานซิส เดรก เป็นผู้บัญชาการ ช่วยพานักสำรวจที่เหน็ดเหนื่อยและหิวโหยกลุ่มนี้กลับบ้าน ฤดูใบไม้ผลิถัดมาในปี 1587 ไวต์นำการสำรวจครั้งที่สามซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบด้วยชนชั้นกลางชาวลอนดอน รวมถึงเอเลเนอร์ แดร์ ลูกสาวที่กำลังตั้งครรภ์ของเขา ผู้หญิงและเด็กอีกกว่ายี่สิบชีวิต
โดยรวมๆแล้ว เรือเดินสมุทรกว่า 20 ลำนำพาผู้คนหลายร้อยชีวิตเดินทางรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลในศตวรรษที่สิบหก ซึ่งอาจเทียบได้กับการท่องอวกาศในยุคปัจจุบัน การผจญภัยอันห้าวหาญเหล่านี้มีขนาดและขอบเขตใหญ่โตกว่าการไปถึงเจมส์ทาวน์และพลิมัทอันโด่งดังกว่าในยุคต่อมา
“การเดินทางสำรวจเวอร์จิเนียของราเลมักถูกลืมเลือนและตีค่าต่ำเกินจริงครับ” นีล แมกเกรเกอร์ อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์อังกฤษ เขียนไว้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่เก็บภาพเขียนอันน่าทึ่งของไวต์ ซึ่งช่วยหล่อหลอมแนวคิดของชาวยุโรปที่มีต่อโลกใหม่และผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่น
ถึงแม้ผู้ว่าการ (ไวต์) จะเชื่อว่า ผู้ตั้งถิ่นฐานเดินทางไปเกาะโครอาโทเอน แต่ทีมค้นหาไม่พบหลักฐานอะไรที่นั่นจนกระทั่งหลังปี 1993 เมื่อพายุเฮอร์ริเคนเผยให้เห็นเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากและเศษซากอื่นๆของหมู่บ้านชนพื้นเมืองอเมริกันแห่งหนึ่ง
“เราชาวอังกฤษทำอาณานิคมนี้หายไป ผมจึงคิดว่า เรานี่ละครับที่ต้องหามันให้พบอีกครั้ง” มาร์ก ฮอร์ตัน บอกอย่างอารมณ์ดี นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยบริสตอลผู้นี้ยืนอยู่บนปากหลุมสี่เหลี่ยมผืนผ้าใต้เงาต้นไลฟ์โอ๊กหงิกงอต้นหนึ่ง
ย้อนหลังไปเมื่อทศวรรษ 1580 ทางน้ำเข้าที่อยู่ใกล้ๆทำให้ที่นี่เหมาะกับการจับหอยเชลล์ หอยนางรม เต่า และปลา ผืนดินอุดมสมบูรณ์ยังเหมาะที่จะปลูกข้าวโพด พืชจำพวกฟักทอง และถั่วด้วย เมื่อทางน้ำเข้าถูกทรายปิดทับราวหนึ่งร้อยปีหลังไวต์จากไป ที่นี่ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเกาะแฮตเทอรัส ซึ่งมีรูปร่างเหมือนบูมเมอแรงยาวๆ ที่ก่อตัวขึ้นจากทรายที่ปลิวมาและป่าใกล้ทะเลบนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก
นับตั้งแต่ปี 2013 ทีมขุดค้นพบสิ่งของหลากหลายจากโลกเก่าผสมปนเปอยู่กับศิลปวัตถุของชนพื้นเมืองอเมริกันที่กลางหมู่บ้าน รวมถึงเศษซากของสิ่งที่ดูคล้ายกระบี่ประดับสำหรับพิธีกรรมของบุรุษ พร้อมเศษเหรียญทองแดงของยุโรป ลำกล้องปืน กระสุนตะกั่ว และชิ้นส่วนกระดานรองวาดภาพกับดินสอตะกั่ว
นี่คือแหล่งศิลปวัตถุหนึ่งในไม่กี่แห่งของโลกใหม่ที่น่าจะมาจากยุคเอลิซาเบท [Elizabethan – รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่หนึ่งหรือระหว่างปี 1558-1603] ทั้งหมดพบบนเกาะที่ผู้ว่าการไวต์เชื่อว่า ชาวอาณานิคมผู้สาบสูญมุ่งหน้าไป
ขณะที่เราคุยกัน สมาชิกคนหนึ่งในทีมส่งถังใส่โคลนหนักอึ้งให้อาสาสมัครหญิง เธอเทของในถังลงกล่องที่ขึงตะแกรงตาถี่เอาไว้ ฉีดน้ำใส่ แล้วรีบคว้าลูกปัดสีน้ำเงินขนาดจิ๋วของทารกที่ทำในอิตาลีขึ้นมา ต่อมาในวันเดียวกัน ทีมงานพบวัตถุที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลมบาง ผลิตขึ้นที่เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม เมื่อปี 1648 สันนิษฐานว่าใช้ในการเทียบน้ำหนักเหรียญเงินโบราณของฮังการี แม้กระทั่งเกาะโครอาโทเอนอันโดดเดี่ยวห่างไกลก็เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกสมัยใหม่มาตั้งแต่ช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่สิบเจ็ดแล้ว
“ผมไม่เคยบอกว่า พวกเขามาที่นี่กันหมดทุกคนนะครับ” ฮอร์ตันพูดถึงชาวอาณานิคม “แต่นี่คือจุดที่พวกเขาได้รับการต้อนรับและสนับสนุน ผมคิดว่าพวกเขาจะส่งผู้หญิงกับเด็กมาที่นี่ เกือบแน่ใจได้เลยครับว่า เวอร์จิเนีย แดร์ มาที่นี่แน่ๆ”
กระนั้นสิ่งของส่วนใหญ่ที่ดูจะมาจากยุคเอลิซาเบทก็พบปะปนกับของอื่นๆ เช่น ลูกปัดแก้วขนาดจิ๋วและเศษชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งน่าจะผลิตขึ้นราวปี 1650 หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือหลังความพยายามช่วยเหลือที่ล้มเหลวของไวต์กว่าครึ่งศตวรรษ “เป็นปัญหาอย่างมากครับที่ของพวกนี้ปรากฏในอีกสองชั่วคนถัดมา” ฮอร์ตันยอมรับ เขาคิดว่า สิ่งของยุคเอลิซาเบทที่เก่ากว่าอาจเป็นมรดกตกทอดของลูกหลานผู้ตั้งถิ่นฐานที่ถูกทอดทิ้งซึ่งอาจมาใช้ชีวิตปะปนกลมกลืนไปกับชาวโครอาโทเอน แต่ของเหล่านี้ก็อาจมาถึงที่นี่ผ่านการค้าขายกับผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอังกฤษในยุคหลังก็ได้
เรื่อง แอนดรูว์ ลอว์เลอร์
ภาพถ่าย มาร์ก ทีสเซน
อ่านเพิ่มเติม