“ลารุงการ์” มหาวิทยาลัยสงฆ์ของพุทธศาสนาวัชรยานที่ใหญ่ที่สุด

“ลารุงการ์” มหาวิทยาลัยสงฆ์ของพุทธศาสนาวัชรยานที่ใหญ่ที่สุด

จนถึงวันนี้ ลารุงการ์และยาร์เชนการ์ยังคงเป็นเมืองลับแล

เราไม่เคยได้ยินว่า  มีใครรู้เรื่องราวของเมืองทั้งสองอย่างถ่องแท้  แทบไม่มีข่าวเล็ดรอดจาก “ลารุงการ์” และ “ยาร์เชนการ์” ชนิดที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า  เมืองทั้งสองนี้ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจแบบใด นอกจากเงินบริจาคและร้านค้าไม่กี่ร้าน บริหารจัดการอย่างไร นอกเหนือจากคณะกรรมการสถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นพระ และมีกฎหมายเช่นไร นอกเหนือจากพระวินัยของภิกษุและภิกษุณี ทั้งสองเมืองอยู่ในเขตปกครองตนเองการ์เซ  มณฑลเสฉวน แต่สำหรับคนทิเบต ที่นี่เคยรู้จักกันในนามแคว้นคาม

ลารุงการ์ สถาบันศึกษาพุทธศาสนาใจกลางหุบเขาในเขตปกครองตนเองการ์เซ สูงจากระดับทะเลราว 4,000 เมตร เป็นที่พำนักเพื่อศึกษาธรรมะของเหล่าภิกษุ ภิกษุณี ฆราวาส และผู้จาริกแสวงบุญ ราว 40,000 คน ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

คัมภีร์ ผาติเสนะ เข้าไปถ่ายภาพลารุงการ์และยาร์เชนการ์สองครั้งสองครา ครั้งแรกระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ปี 2016  ราวหนึ่งเดือนก่อนลารุงการ์จะถูกสั่งปิด ห้ามชาวต่างชาติทุกคนไปเยือน  ครั้งที่สองเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 ครั้งหลังนี้เขาต้องบ่ายหน้าไปยาร์เชนการ์  เพราะเข้าลารุงการ์ไม่ได้อีกต่อไป

ทั้งสองแห่งเป็นเมืองใหม่ที่เพิ่งก่อร่างสร้างขึ้นไม่ถึง 40 ปี  ลารุงการ์เริ่มเป็นชุมชนเมื่อปี 1980 เมื่อลามะนิกายญิงมา (หมวกแดง) นามว่า  จิกมี พุนซอก กับลูกศิษย์มาก่อร่างสร้างเรือนเพียงสองสามหลัง  ก่อนหน้านั้นราวร้อยปี  มีเพียงบันทึกว่า ลามะชั้นผู้ใหญ่และผู้ทำนายคนสำคัญของทิเบตชื่อ ดุดจอม ลิงปะ เคยลงหลักปักฐานสร้างอารามนิกายญิงมะที่นี่มาก่อน  ส่วนยาร์เชนการ์เป็นรูปเป็นร่างหลังจากนั้นอีกห้าปี  ต่อมาในปี 2001 เมื่อรัฐบาลจีนรื้อทำลายบ้านเรือนที่ลารุงการ์เป็นครั้งแรก ภิกษุและภิกษุณีจำนวนมากพากันอพยพหนีมายังยาร์เชนการ์

จากเฉิงตู เมืองหลวงของมณฑลเสฉวน ถ้าไม่เช่ารถ ก็ต้องไปต่อรถบัสที่คังติ้งก่อน แล้วใช้เวลาอีกสองวันเพื่อไปยังลารุงการ์และยาร์เชนการ์  ความที่ลารุงการ์อยู่เหนือจากระดับทะเล 4,000 เมตร คนจากถิ่นอื่นจึงจำเป็นต้องแวะพักเมืองกลางทางอย่างน้อยหนึ่งคืนเพื่อปรับร่างกายให้พร้อมกับระดับความสูงที่ตนไม่เคยชิน  จึงไม่น่าแปลกใจที่ย่านนี้ไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่กลับเป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้จาริกแสวงบุญและผู้ปฏิบัติธรรมรู้จักดีและเดินทางเข้ามาไม่ขาดสาย

กะโหลกศีรษะจำลองเรียงรายเต็มผนังและ เพดานภายในวิหารแห่งความตายใกล้กับสถานที่ประกอบพิธีฝังศพซึ่งอยู่ห่างจากลารุงการ์ออกไปสองสามกิโลเมตร

ลารุงการ์มีสถาบันสงฆ์สำหรับภิกษุและภิกษุณีอยู่ห้าแห่ง (ในยาร์เชนการ์มีสี่แห่งและมีข่าวว่ากำลังก่อสร้างเพิ่มอีกแห่ง) มีชื่อเสียงด้านการสอนพุทธศาสนาสายวัชรยาน  ภิกษุและภิกษุณีอุทิศตนเดินทางมาร่ำเรียนที่นี่เพื่อศึกษาพุทธศาสนาและออกไปเผยแผ่  มีไม่น้อยที่ต้องเดินทางรอนแรมจากวัดหรือบ้านเกิดของตนมาไกล  โดยถือว่าความยากลำบากทั้งหมดคือการฝึกฝนและทดสอบตนเอง บางคนอยู่และเรียนมานาน 20 ปีแล้ว แต่ไม่อาจบอกได้ว่า การเรียนเพื่อความเข้าใจพระศาสนา “อย่างถ่องแท้” ของตนจะสิ้นสุดลงเมื่อใด  ที่นี่สร้างพระที่มีวุฒิการศึกษาเทียบเท่าปริญญาเอกออกมามายมาย และยังได้ชื่อว่าเป็นสถาบันสงฆ์ที่เปิดโอกาสทางการศึกษาแก่ภิกษุณีเพียงแห่งเดียวในทิเบต

ฝูงแร้งเกาะอยู่บริเวณเนินเขาเพื่อรอเวลาลงมากินศพ ขณะที่บนพื้นดิน ลามะกำลังประกอบพิธีอุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์ตามความเชื่อของชาวทิเบตว่า แร้งเป็นดังเทวดาที่จะนำพาดวงวิญญาณขึ้นสู่สรวงสวรรค์

 

การทำลายบ้านเรือนในลารุงการ์เริ่มเป็นข่าวเผยแพร่สู่โลกภายนอกเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2016  เมื่อสำนักข่าวใหญ่อย่างบีบีซี เดอะไทมส์ และ เดอะนิวยอร์กไทมส์  จับตามองและรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว ราวหนึ่งปีให้หลัง เดือนสิงหาคม ปี 2017 ศูนย์ทิเบตเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย (Tibetan Centre for Human Right and Democracy: TCHRD) ก็รายงานข่าวการรื้อทำลายที่พักอาศัยในยาร์เชนการ์ จากข้อมูลของแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวจากกลุ่มฟรีทิเบต

การรื้อถอนที่พักอาศัยทั้งในลารุงการ์และยาร์เชนการ์เกิดขึ้นหลายระลอก ในเวลาไล่เลี่ยกันตั้งแต่ปี 2001-2002  รัฐบาลจีนให้เหตุผลว่าเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้สะดวก สะอาด และปลอดภัย เนื่องจากเมืองทั้งสองอยู่ในเขตแผ่นดินไหว บ้านเรือนอยู่กันแออัด  ปี 2014 ที่ลารุงการ์เกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านราว 100 หลัง ยิ่งเป็นเหตุให้ “การพัฒนา” ของรัฐบาลจีนฟังดูสมเหตุสมผลขึ้น ในรายงานของ TCHRD ระบุว่า ขณะที่บ้าน 4,725 หลังถูกรื้อถอนในเดือนกรกฎาคม 2016 ผู้อยู่อาศัยราว 4,800 คนถูกส่งกลับบ้านเกิด โดยที่ต้องเซ็นสัญญาว่าจะไม่กลับมาที่ลารุงการ์อีก  ไม่มีใครรู้แน่นอนว่ารถบัสพาคนเหล่านั้นไปที่ใดบ้าง  ไม่ว่าแต่จำนวนคนทั้งหมดในลารุงการ์จะมีเท่าใด แต่รัฐบาลก็กำหนดให้เหลือภิกษุอยู่ได้ 1,500 รูป และภิกษุณี 3,500 รูปเท่านั้น

เรียบเรียง นิรมล มูนจินดา

ภาพถ่าย คัมภีร์ ผาติเสนะ

ร่องรอยการจัดระเบียบและปรับพื้นที่ในยาร์เชนการ์ เพื่อลดความแออัดและความปลอดภัยในกรณีเกิดเพลิงไหม้และภัยพิบัติตามคำกล่าวอ้างของรัฐบาลจีน

 

อ่านเพิ่มเติม

สืบเสาะค้นหาพระเยซูในประวัติศาสตร์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.