คุณผู้อ่านเคยสงสัยที่มาของเบคอนในจานคุณหรือไม่? ในที่นี้หมายถึงประวัติศาสตร์บนเส้นทางวิวัฒนาการ ไม่ได้หมายความว่าเจ้าเบคอนชิ้นนั้นมาจากฟาร์มที่ไหน
เชื่อกันว่ามนุษย์เราทำการเกษตร และปศุสัตว์มาตั้งแต่ 12,000 ปีก่อน จากวันนั้นจนวันนี้มีสัตว์มากมายจากป่าที่ถูกพัฒนา และปรับปรุงพันธุ์จนกลายมาเป็นสัตว์สำหรับฟาร์มโดยสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นหมู, ไก่ ไปจนถึงวัว ซึ่งแม้พวกมันจะสืบเชื้อสายมาจากสัตว์ป่าในธรรมชาติ แต่ปัจจุบันเป็นการยากที่สัตว์เหล่านี้จะเอาตัวรอดได้เองในป่า
นักโบราณคดีเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของหมูเลี้ยงเกิดขึ้นจาก มนุษย์ในสมัยโบราณแยกหมูป่ากลุ่มหนึ่งออกจากประชากรหมูป่าอื่นๆ เมื่อสัตว์สองกลุ่มนี้ถูกแยกออกจากกัน และไม่มีการผสมพันธุ์ข้ามกลุ่มกันจึงนำไปสู่ลักษณะของหมูเลี้ยงดังในปัจจุบัน พวกมันปราศจากขน และเขี้ยวซึ่งเป็นคุณลักษณะที่มนุษย์เราไม่ต้องการ หมูเลี้ยงเหล่านี้คือผลของ “คอคอดยีน” (bottleneck) เมื่อการผสมพันธุ์กันเองในสายพันธุ์ส่งผลให้ความหลากหลายในพันธุกรรมลดลง ลักษณะบางประการ หรือการปรับตัวบางอย่างจะสูญหายไปอย่างถาวร ในขณะที่คุณสมบัติใหม่ๆ กลับปรากฏเด่นชัดขึ้น เช่น มีลูกมากในหนึ่งครอก เป็นต้น และในอีกหลายรุ่นต่อมาลูกหลานของหมูป่ากลุ่มนี้ก็มีลักษณะที่แตกต่างจากหมูป่าตามธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาแหล่งที่มาชัดเจนว่าหมูเลี้ยงมีจุดเริ่มต้นจากที่ใด จากหลักฐานที่ปรากฏบรรพบุรุษของพวกมัน หรือหมูป่า (Sus scrofa) มีถิ่นอาศัยกระจัดกระจายทั่วไปในทวีปเอเชีย และยุโรป นั่นหมายความว่าพวกมันอาจถูกนำมาเริ่มต้นเลี้ยงที่ไหนก็ได้โดยมนุษย์โบราณ อย่างไรก็ดีหลักฐานจากสัตวโบราณคดีวิทยา (Zooarchaeology) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับฟัน และกระดูกของสัตว์บ่งชี้ว่า หมูเลี้ยงน่าจะมีจุดเริ่มต้นเมื่อราว 10,000 ปีก่อนจากสองสายคือหนึ่ง ในภูมิภาคของจีนบริเวณแม่น้ำโขง และในดินแดนอนาโตเลีย ซึ่งคือตุรกีในปัจจุบัน
ปี 2015 Laurent Frantz นักชีววิทยาเชิงข้อมูลจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ในสหราชอาณาจักร วิเคราะห์จีโนมของหมูป่า และหมูเลี้ยงจำนวน 103 ตัวทั่วยุโรป และเอเชียด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยมีที่ปรึกษาคือ Martien Groenen นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย Wageningen ในเนเธอร์แลนด์ ผู้เคยรวบรวมลำดับจีโนมของหมูป่า และหมูเลี้ยงจำนวน 600 ตัวมาก่อน ในงานวิจัยอื่น
ผลการวิจัยพบว่าหมูเลี้ยงมีบรรพบุรุษที่ค่อนข้างหลากหลาย ผลการค้นพบสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานว่าหมูเลี้ยงมีจุดกำเนิดในสองสายคือเกิดขึ้นในจีน เมื่อผู้คนเริ่มเลี้ยงหมู และในที่สุดหมูเลี้ยงก็กลายมาเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของผู้คนโบราณ แต่พวกมันมีความหลากหลายของบรรพบุรุษที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับหมูในยุโรป ซึ่งอาจเป็นเพราะชาวจีนนั้นริเริ่มเลี้ยงหมูกันมานานก่อนชาวตะวันตก อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ยังคงต้องศึกษากันต่อไป
ส่วนที่ยุโรปดีเอ็นเอของหมูเลี้ยงสมัยใหม่ในยุโรปบ่งชี้ว่าพวกมันเป็นลูกผสมของหมูป่าหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งบางดีเอ็นเอนั้นไม่เข้าพวกกับดีเอ็นเอของหมูป่าที่เก็บรวบรวมมาได้ นั่นหมายความว่าบางส่วนของบรรพบุรุษพวกมันเป็นหมูป่าที่สูญพันธุ์ไปแล้ว หรือมาจากพื้นที่ห่างไกลเช่น ทางตอนกลางของเอเชีย ก่อให้เกิดข้อสันนิษฐานตามมาว่าในสมัยโบราณ หมูคือสัตว์เลี้ยงที่ถูกต้อนไปด้วยระหว่างการอพยพ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นราว 7,000 ปีก่อน เมื่อผู้คนทางตอนกลางของเอเชียเริ่มอพยพเข้าสู่ยุโรป และพาเอาปศุสัตว์รวมถึงพืชพันธุ์ติดไม้ติดมือไปด้วย นอกจากนั้นพวกมันยังมีดีเอ็นเอของหมูเอเชียอีกด้วย สืบเนื่องมาจากในช่วงทศวรรษ 1800 เมื่อชาวยุโรปนำหมูจากจีนเข้าไปในยุโรปเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้น
แล้วหมูป่ามาจากไหน?
บรรพบุรุษของหมูป่านั้นค่อนข้างหลากหลาย และมีขนาดตัวใหญ่โตเทียบเท่ากับวัวฟาร์มในปัจจุบัน ฟอสซิลบรรพบุรุษของหมูป่าที่เก่าแก่ที่สุดย้อนกลับไปไกลได้ราว 30 ล้านปีก่อน ค้นพบในชั้นดินของยูเรเซีย ส่วนในทวีปแอฟริกา ฟอสซิลของหมูป่าโบราณถูกพบในนามิเบีย และเคนยามีอายุเก่าแก่ 17.5 ล้านปี จากนั้นพวกมันก็กระจายสายพันธุ์ และวงศ์ย่อยออกไปอย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น Nyanzachoerus syrticus สัตว์โบราณความสูงจากพื้นถึงไหล่ 1 เมตร อาศัยอยู่ในภูมิภาคทางตะวันออกของแอฟริกา เมื่อราว 7.5 – 2.5 ล้านปีก่อน ซึ่งจากกะโหลกศีรษะที่ยังคงสภาพดีของมันฉายให้เห็นว่า บรรพบุรุษของหมูป่าสายพันธุ์นี้มีกระดูกบริเวณจมูก และแก้มที่โป่งนูนออกมาอย่างโดดเด่น ในขณะที่เขี้ยวมีขนาดปานกลาง
อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ถูกค้นพบคือ Kubanochoerus gigas ความสูงจากพื้นถึงไหล่ 1.2 เมตร อาศัยอยู่ในเอเชียกลางเมื่อราว 14 ล้านปีก่อน พวกมันเป็นหมูป่าขนาดใหญ่ที่อาจมีน้ำหนักถึง 500 กิโลกรัม มีเขาอยู่กลางหน้าผาก ซึ่งอาจจะใช้ในการต่อสู้ระหว่างเพศผู้ด้วยกัน
ทั้งนี้นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อกันว่า ในอดีตบรรพบุรุษของหมูป่าเหล่านี้อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ และเป็นสัตว์ที่มีความก้าวร้าวอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้ล่าอื่นๆ ในยุคโบราณ ทว่าลูกอ่อนของพวกมันก็ตกเป็นเป้าของสัตว์กินเนื้อชนิดอื่นด้วยเช่นกัน เนื่องจากในวัยเด็กเขี้ยว หรือเขาของมันจะยังพัฒนาไม่เต็มที่
หมูคือสัตว์ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์สูงที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาสัตว์กีบเท้าด้วยกัน นั่นทำให้พวกมันต้องกินอาหารเป็นปริมาณมาก เพื่อผลิตน้ำนมเลี้ยงดูลูก แม้ในโลกโบราณเราจะยังไม่ทราบชัดเจนว่าบรรพบุรุษของหมูป่าเหล่านี้กินอะไรเป็นอาหาร ทว่าในโลกสมัยใหม่เรารู้กันดีว่าหมูเป็นสัตว์ที่กินอาหารได้เกือบทุกอย่าง ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นหนึ่งในวิวัฒนาการที่ช่วยให้มันเอาตัวรอดก็เป็นได้ หรือไม่ก็เป็นเพราะมนุษย์เราเองที่ทำให้มันกลายมาเป็นเช่นนี้ เมื่อหมูป่าถูกเปลี่ยนมาเป็นหมูเลี้ยงเชื่องๆ โดยสมบูรณ์
อ่านเพิ่มเติม
แหล่งข้อมูล
How did wild boar become farmyard pigs? Genetic data reveals the answer
The Domestication of Pigs: Sus Scrofa’s Two Distinct Histories
The taming of the pig took some wild turns
National Geographic Prehistoric Mammals