ฟอสซิลเท้าเด็กฉายการเคลื่อนไหวของบรรพบุรุษมนุษย์

ฟอสซิลเท้า เด็กฉายการเคลื่อนไหวของบรรพบุรุษมนุษย์

ย้อนกลับไปเมื่อราว 3 ล้านปีก่อน ญาติห่างๆ ของเราที่มีชื่อเรียกว่า ออสตาโลพิเทคัส อาฟฟาเรนซีส (Australopithecus afarensis) ย่ำเท้าไปบนดินแดนของโลกโบราณด้วยขาทั้งสองข้าง ซึ่งการยืนตัวตรง และเดินด้วยขาสองข้างนี้ได้กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวิวัฒนาการมนุษย์ แต่ผลการศึกษาใหม่จาก ฟอสซิลเท้าของอาฟฟาเรนซีสวัยหัดเดินชี้ให้เห็นว่า แม้บรรพบุรุษของเราจะเริ่มก้าวเดินแล้ว แต่ยังคงไว้ซึ่งลักษณะบางประการของเอป ซึ่งช่วยให้พวกเขายังคงปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว

ผลการค้นพบใหม่นี้ถูกเผยแพร่ลงใน Science Advances เมื่อวันพุธที่ 4 กรกฎาคม 2018 นักวิทยาศาสตร์ศึกษาฟอสซิลเท้าของ Selam เด็กผู้หญิงที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 3.3 ล้านปีก่อน และเสียชีวิตก่อนอายุได้สี่ขวบ ฟอสซิลหายากเหล่านี้ช่วยฉายภาพให้นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าเท้าของอาฟฟาเรนซีสมีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรตั้งแต่เกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่

“เราสามารถเข้าใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของพวกเขาระหว่างวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่ ตลอดจนวิธีที่พวกเขาเคลื่อนไหวร่างกาย” Will Harcourt-Smith นักบรรพมานุษยวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อเมริกา ผู้ตรวจทานงานวิจัยชิ้นนี้ก่อนเผยแพร่กล่าว “มันเยี่ยมยอดมากเลยครับ”

ออสตาโลพิเทคัส อาฟฟาเรนซีสที่โด่งดังที่สุดคือ “ลูซี่” บรรพบุรุษมนุษย์อายุ 3.2 ล้านปี ถูกค้นพบในเอธิโอเปียเมื่อปี 1974 และในปีต่อๆ มา นักวิจัยค้นพบฟอสซิลอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยให้พวกเขาปะติดปะต่อข้อมูล และเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของโฮมินินเหล่านี้ได้

พวกเขามีสะโพก และท่อนขาที่คล้ายคลึงกับมนุษย์สมัยใหม่อย่างมาก นั่นทำให้ปราศจากข้อสงสัยถึงท่าทางการเดิน ซึ่งไม่น่าจะต่างจากเรามากนัก ทว่าคุณลักษณะบางประการของเอปยังคงปรากฏในโครงกระดูกบ่งชี้ว่าบรรพบุรุษขอเรามีความสามารถในการปีนป่ายอย่างยิ่งยวด กระดูกนิ้วมือ และกระดูกนิ้วเท้าของอาฟฟาเรนซีสนั้นมีความโค้ง ช่วยในการเกาะเกี่ยว ยึดจับ รวมไปถึงลักษณะของกระดูกท่อนแขนบ่งชี้ว่าพวกเขาเป็นนักปีนป่ายที่แข็งแรงเอาการ

(มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ล่าสลอธยักษ์เป็นอาหาร)

ผู้เข้าชมมองดูฟอสซิลอายุ 3.2 ล้านปี ของ “ลูซี่” โครงกระดูกของโฮมินินสายพันธุ์ออสตาโลพิเทคัส อาฟฟาเรนซีสที่เกือบสมบูรณ์ที่สุด จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาฮูสตัน ระหว่างนิทรรศการในปี 2007
ภาพถ่ายโดย Dave Einsel

ทีมนักวิจัยถกเถียงในประเด็นดังกล่าวมานานว่าอาฟฟาเรนซีสปีนป่ายได้คล่องแคล่วกว่าการเดิน หรือลักษณะเหล่านี้เป็นเพียงแค่วิวัฒนาการที่ตกค้าง? ทว่าการมุ่งหาคำตอบต่อคำถามเหล่านี้มักพุ่งไปที่ฟอสซิลของผู้ใหญ่ แต่ล่าสุดการวิจัยในฟอสซิลอาฟฟาเรนซีสช่วยให้คำตอบบางอย่าง ในโลกยุคโบราณการที่บรรพบุรุษของเราจะเติบโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้นั้น จำเป็นต้องเอาชีวิตรอดให้พ้นจากวัยเด็กก่อน ซึ่งสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อวิวัฒนาการ

การค้นพบตัวอย่างฟอสซิลของเด็กนี้ หรือที่เรียกกันว่า “เบบี้ลูซี่” เริ่มต้นขึ้นในปี 2006 เมื่อ Zeresenay Alemseged นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก และทีมประกาศการค้นพบ “Selam” ในแหล่งโบราณคดี Dikika ของเอธิโอเปีย ไม่ไกลจากจุดที่พบลูซี่

“ฟอสซิลทุกๆ ชิ้นให้รายละเอียดนิดๆ หน่อยๆ เกี่ยวกับอดีตของพวกเขา แต่ถ้าคุณมีฟอสซิลของเด็ก คุณจะรู้ได้ว่าพวกเขาเติบโต และพัฒนาร่างกายอย่างไร ตลอดจนชีวิตของเด็กเมื่อสามล้านปีก่อนเป็นยังไง” Jeremy DeSilva นักมานุษยวิทยากายภาพจากสถาบัน Dartmouth กล่าว “มันเป็นการค้นพบที่งดงามมาก”

DeSilva พบกับฟอสซิลของ Selam ครั้งแรกในปี 2009 และในอีกไม่กี่ปีถัดมา ตัวเขาและ Alemseged ตัดสินใจมุ่งการศึกษาไปที่ฟอสซิลเท้าโดยเฉพาะ

ในมนุษย์นิ้วหัวแม่เท้าของเราไม่อาจใช้งานได้เทียบเท่ากับนิ้วหัวแม่มือ นิ้วหัวแม่เท้ายื่นตรงไปในทิศทางเดียวกันกับนิ้วเท้าอื่นๆ เพื่อช่วยให้การเดินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นิ้วหัวแม่เท้าของอาฟฟาเรนซีสเรียงชิดกันกับนิ้วเท้าอื่นๆ เหมือนของเราก็จริง แต่ข้อต่อของมันมีส่วนโค้งมากกว่า นั่นทำให้อาฟฟาเรนซีสสามารถกระดิก และขยับนิ้วหัวแม่เท้าได้ในทิศทางที่มากกว่ามนุษย์สมัยใหม่

(ภาพซ้าย) ฟอสซิลกระดูกเท้าอายุ 3.32 ล้านปี ของโฮมินินสายพันธุ์ออสตาโลพิเทคัส อาฟฟาเรนซีส แสดงให้เห็นถึงลักษณะของข้อต่อกระดูกเท้าที่โดดเด่นในวัยเด็ก ส่วนภาพขวาคือการเปรียบเทียบฟอสซิลกระดูกเท้าระหว่างออสตาโลพิเทคัส อาฟฟาเรนซีสวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่
ภาพถ่ายโดย Jeremy Desilva และ Cody Prang

ฟอสซิลนิ้วหัวแม่เท้าของ Selam นั้นมีความโค้งมากกว่านิ้วหัวแม่เท้าของอาฟฟาเรนซีสวัยผู้ใหญ่ คุณลักษณะนี้บ่งชี้ว่าเด็กหญิงจากโลกล้านปีสามารถใช้เท้าของเธอในการจับคว้าได้ DeSilva สันนิษฐานตามมาว่าบรรดาออสตาโลพิเทคัส อาฟฟาเรนซีสเดินย่ำไปตามพื้นโลกในช่วงกลางวัน แต่ปีนกลับขึ้นไปนอนพักบนต้นไม้เมื่อถึงเวลากลางคืน เพื่อหลีกหนีจากผู้ล่า ส่วนสาเหตุที่อาฟฟาเรนซีสวัยเด็กนั้นมีนิ้วเท้าที่โค้งงอมากกว่าก็เพื่อใช้ในการปีนขึ้นต้นไม้อย่างรวดเร็ว เพื่อหลบหนีเอาชีวิตรอด ซึ่งบ่อยครั้งกว่าในวัยผู้ใหญ่ หรือไม่ก็ใช้ในการเกาะเกี่ยวกับแม่ เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนไหว

การศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตจะช่วยบอกได้ว่าในอาฟฟาเรนซีสวัยผู้ใหญ่ยังต้องพึ่งพาการปีนต้นไม้มากแค่ไหน นอกเหนือจากนี้ผลการสแกนกระดูกเท้าของ Selam เพิ่มเติมบ่งชี้ว่ากระดูกเท้าของเธอมีส่วนช่วยกระจายน้ำหนักของร่างกาย ด้าน DeSilva กล่าวเสริมว่าในการที่จะได้ข้อมูลมากกว่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาฟอสซิลในหลายช่วงวัย ตั้งแต่วัยสองขวบ สี่ขวบ ไปจนถึงหกขวบ และโตกว่านั้น

 

อ่านเพิ่มเติม

รอยเท้าเก่าแก่ 85,000 ปี ร่องรอยการอพยพมนุษย์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.