กำเนิดแห่ง อาณาจักรอียิปต์ โบราณ
อาณาจักรอียิปต์ ได้ถือกำเนิดขึ้นในราว 3200 ปีก่อนคริสตกาล โดยราชาแมงป่อง (Scorpion king) ผู้ครองนครธีส (This) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนกลางแห่งลุ่มน้ำไนล์ พระองค์ได้กรีฑาทัพเข้ายึดครองนครรัฐต่างๆ ในอียิปต์บนและตั้งตนเป็นฟาโรห์แห่งอาณาจักรอียิปต์ทางตอนบน ราชาแมงป่องปรารถนาจะรวมอียิปต์เข้าด้วยกันแต่พระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อน ต่อมาโอรสของพระองค์ นามว่า นาเมอร์ (Namer) ได้สานต่อนโยบายและกรีฑาทัพเข้าโจมตีอียิปต์ตอนล่าง ในที่สุดเมื่อถึงสมัยของฟาโรห์เมเนส (Menese) พระองค์สามารถรวมทั้งสองอาณาจักรเข้าด้วยกันได้สำเร็จ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นฟาโรห์พระองค์แรกของอียิปต์โดยตั้งเมืองหลวงที่ เมมฟิส (Memphis) ซึ่งอยู่ตอนกลางของลุ่มน้ำไนล์
ฟาโรห์เมเนสเป็นฟาโรห์องค์แรกแห่งราชวงศ์ที่หนึ่งของ อาณาจักรอียิปต์ โบราณ ซึ่งยุคนี้เมืองหลวงของอียิปต์คือ นครเมมฟิส (Memphis) ซึ่งชาวอียิปต์โบราณเชื่อกันว่า องค์ฟาโรห์คือร่างประทับของสุริยเทพ ที่ลงมาปกครองมนุษย์
การเมืองการปกครอง
ในสังคมอียิปต์มีการแบ่งออกเป็นสามชนชั้น คือ ชนชั้นสูงได้แก่ เชื้อพระวงศ์, นักบวช และขุนนาง ชนชั้นกลางได้แก่ พ่อค้า, เสมียน และช่างฝีมือ สุดท้ายคือชนชั้นล่างได้แก่พวกชาวนาและผู้ใช้แรงงาน นอกจากฟาโรห์แล้ว บุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดคือหัวหน้านักบวชของเทพเจ้ารา ซึ่งเป็นจอมเทพสูงสุด
ในการบริหารงาน ฟาโรห์จะมีคณะเสนาบดีที่นำโดย วิเซียร์ (Vizier) ซึ่งเป็นตำแหน่งขุนนางสำคัญ เป็นผู้ช่วย และส่งข้าหลวง (Nomarch) ไปทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองต่างๆ โดยขึ้นตรงต่อองค์กษัตริย์ ในยุคอาณาจักรเก่านี้ อียิปต์ไม่มีกองทหารประจำการ แต่จะเกณฑ์พลเมืองเข้ากองทัพเมื่อเกิดสงคราม
(ทำความรู้จักกับฟาโรห์แฮตเชปซุต จอมกษัตรีแห่งอียิปต์)
ความเชื่อ
เดิมทีก่อนการรวมแผ่นดิน หัวเมืองต่างๆ ทั้งในอียิปต์บนและล่าง ต่างนับถือเทพต่างๆ กันต่อมาเมื่อรวมแผ่นดินแล้วก็ยังคงมีความเชื่อแบบพหุเทวนิยมอยู่ โดยมี เทพเจ้ารา เป็นเทพสูงสุด ชาวอียิปต์เชื่อว่าพระองค์เป็นผู้สร้างโลกและสวรรค์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตทั้งปวง นอกจากเทพเจ้าราแล้ว เทพที่ชาวอียิปต์นับถือกันมากได้แก่ เทพเจ้าโอซิริส เทพแห่งยมโลกผู้มีหน้าที่ตัดสินดวงวิญญาณ, เทพีไอซิสเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์, เทพเจ้าเซ็ท เทพแห่งสงคราม, เทพีฮาธอร์เทพีแห่งความรัก และเทพเจ้าฮอรัส เทพผู้เป็นตัวแทนของฟาโรห์ทุกพระองค์
นอกจากนี้ยังมีเทพอื่นๆ ที่ถือเป็นเทพเจ้าประจำแต่ละเมือง ทั้งยังมีความเชื่อเรื่องการฟื้นคืนชีพหลังความตาย มีการสร้างพีรามิดเพื่อใช้เป็นสุสาน มีการเก็บรักษาศพด้วยการทำมัมมี่ รวมถึงนับถือสิ่งศักด์สิทธิ์มากมาย ซึ่งมีอยู่ในรูปร่างสัตว์ และหัวสัตว์ เมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ชาวอียิปต์นับถือพระอาทิตย์กันมาก ส่งผลให้มีการสร้างวิหารที่สำคัญหลายแห่ง เช่น วิหารของเทพเจ้าอาตอนเรที่เฮลิโอโปลิส วิหารของเทพเจ้าพทาห์ที่เมมฟิส วิหารของเทพเจ้าโธทที่เฮอร์โมโปลิส เทพเจ้าโอซิริสที่เคยเป็นเทพเจ้าแห่งพืชพันธุ์ไม้ กลายมาเป็นเทพเจ้าของคนตาย นอกจากนั้นคนอียิปต์ยังเชื่อเรื่องเวรกรรม คนที่ตายไปแล้วจะได้รับกรรมที่ทำไว้ และเชื่อเรื่องชาติหน้าอีกด้วย
(ตุตันคามุน : ย้อนรอยการค้นพบสุสานฟาโรห์ผู้โด่งดัง)
วิถีชีวิตของชาวอียิปต์โบราณ
ชาวอียิปต์โบราณดำรงชีวิตด้วยการกสิกรรม โดยเฉพาะในเขตที่ราบน้ำท่วมถึงหรือที่เรียกว่าเขตดินสีดำที่ชื่อว่า เคเมต เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ การเพาะปลูกได้ผลดี พืชผลที่ได้จะถือเป็นสมบัติของฟาโรห์และจะมีการแจกจ่ายแก่ประชาชนอย่างเหมาะสม พืชที่นิยมปลูกกันคือข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ โดยพวกเขาจะใช้ข้าวสาลีทำขนมปัง และทำเบียร์จากข้าวบาเล่ย์ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นอาหารหลักของชาวอียิปต์โบราณ พืชผลเหล่านี้ยังใช้เป็นสินค้าส่งออกไปยังดินแดนอื่นๆ อีกด้วย
นอกจากการเพาะปลูกแล้วชาวอียิปต์ยังจับปลา ล่านกน้ำและฮิปโปโปเตมัสในแม่น้ำไนล์ โดยใช้เรือที่ผูกจากต้นกก ส่วนในเขตดินสีแดงที่เรียกว่า เชเครต ซึ่งอยู่ในเขตอียิปต์ตอนบน ชาวอียิปต์ล่าสัตว์ป่าอย่าง แอนทีโลป และแพะป่า ซึ่งมีอยู่มากมาย บ้านเรือนของชาวอียิปต์สร้างจากอิฐตากแห้งและใช้ไม้ทำส่วนประกอบอย่างกรอบประตู เนื่องจากในอียิปต์ไม้ค่อนข้างหายาก บ้านแต่ละหลังจะมีบันไดขึ้นดาดฟ้า เพราะชาวอียิปต์นิยมใช้ดาดฟ้าเป็นที่ทำงานต่างๆ เช่นการทำขนมปัง หรือแม้แต่เป็นที่พักผ่อนนั่งพูดคุย
(ชมกระบวนการทำกระดาษแบบชาวอียิปต์โบราณ)
ความเจริญของอาณาจักรอียิปต์
อียิปต์มีความเจริญด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เรขาคณิต พวกเขาคำนวณการสร้างพีรามิดและวิหาร คิดค้นระบบการนับเลข คำนวณค่าบวกลบคูณหาร หาพื้นที่และปริมาตร ทั้งยังคิดค้นปฎิทินทางสุริยคติ ที่ในปีหนึ่งมี 360 วัน 12 เดือน เดือนหนึ่งมี 30 วัน ที่เหลือ 5 วันเป็นวันสำคัญในช่วงปลายปี
ชาวอียิปต์ยังสามารถหาตำแหน่งดวงจันทร์ ดวงดาว รวมถึงคิดค้นวิธีการเก็บรักษาสภาพศพด้วยการทำเป็นมัมมี่ โดยนำไปแช่ในน้ำยานาตรอน (Natron) กระบวนการดองศพจะเปลี่ยนน้ำยาทุกสามวัน และแช่ประมาณหกสิบวันจนศพแห้ง จากนั้นจึงนำมาพันด้วยผ้าลินิน ถือได้ว่าเป็นวิธีการเก็บรักษาที่ดีมากในสมัยก่อน ซึ่งสามารถเก็บรักษาสภาพศพได้แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน รวมถึงยังมีการประดิษฐ์กระดาษปาปิรุส กระดาษชนิดแรกของโลก ที่ทำมาจากต้นกก เนื้อกระดาษมีความยืดหยุ่นและคงต่อสภาพอากาศอันแห้งแล้งของอียิปต์ ซึ่งเป็นต้นแบบที่กลายมาเป็นกระดาษที่เราใช้ในปัจจุบันนี้
(ทำความรู้จักกับ 9 มัมมี่ที่ไม่ธรรมดา ที่ไม่ได้มีแค่ในอียิปต์)
อ่านเพิ่มเติม