ภูมิศาสตร์เมืองญี่ปุ่น

เรื่องของแดนซากุระที่เลื่องชื่อ รายงานโดยวอลเตอร์ เวสทัน ตีพิมพ์ในฉบับ กรกฎาคม ค.ศ. 1921 เมื่อราว 82 ปีก่อน

สาวญี่ปุ่นล้างมือก่อนไหว้เจ้าที่ศาลกิโยมิตซึ เกียวโต ศาลแห่งนี้เป็นที่สถิตของเทพซึ่งมี 1,000 กร และ 11 เศียร ศาลเจ้าหลังเดิมไฟไหม้เสียหายไปเมื่อหลายทศวรรษก่อน เหลือเพียงรูปเทพศักดิ์สิทธิ์องค์นี้

“ประตูราตรีจรดอรุณ” ที่วัดอิเอยาซุ เมืองนิกโก ปิแยร์ โลติ เคยเขียนบรรยายไว้ดังนี้ “ใต้เงื่อมเงาของนิกโกขุนเขาอันศักดิ์สิทธิ์ หมู่ไม้ในป่าสนซีดาร์รายรอบคายไอหมอกปกคลุมทั่วทั้งอารามอยู่เป็นนิจ อารามแห่งนี้บรรเจิดด้วยสำริด ไม้ชักน้ำมันเป็นเงางาม และหลังคาทองคำ” ชาวญี่ปุ่นเองกฌมีคำกล่าวว่า “ผู้ใดไม่เคยพบนิกโก ผู้นั้นยังไม่พานพบความงดงาม”

เดือนมิถุนายน เป็นเดือนแห่งดอกไอริส สวนดอกไอริสอันมีชื่อเสียงแห่งนี้อยู่ที่โฮริคิริ 

หญิงเกอิชาภาพนี้งามพร้อมด้วยองค์ประกอบนานา ไม่ว่าจะเป็นโคมศิลา ดอกไม้ผลิบาน หรือโฉมสราญทั้งสาม

เกียวโต เมืองเอกอันดับสาม มีชื่อเรื่องหญิงเกอิชา และขบวนแห่ซึ่งประดับประดาอย่างสวยงาม ผู้คนที่มาชมขบวนมิได้โห่ร้องรับรถแห่อย่างอึงคะนึง หากซึมซาบความงามของขบวนแห่โดยสงบ

หญิงเร่ขายดอกไม้ ชาวญี่ปุ่นนิยมชมชอบดอกไม้ยิ่งนัก ถึงกับใช้ชนิดของดอกที่กำลังผลิบานบ่งบอกฤดูกาล เช่นในฤดูใบไม้ผลิซึ่งตรงกับช่วงตรุษญี่ปุ่น เป็นฤดูดอกท้อบาน ถัดมาก็เป็นหน้าดอกซากุระบาน เช่นนี้มาตามลำดับ

(อ่านต่อหน้า 2)

เอร็ดอร่อยกับของกินเล่น ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด เมื่อถึงเวลาน้ำชายามบ่าย เราก็จะสามารถหาร้านน้ำชาสวยๆเช่นนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น

สุภาพสตรีและคนหามเกี้ยว ก่อนหน้าพวกภรรยาหมอสอนศาสนาจะใช้รถลากเป็นพาหนะ ชาวญี่ปุ่นใช้เกี้ยวเช่นนี้มาแต่โบราณกาลแล้ว ว่ากันว่าชายชราพิการในโตเกียวเป็นผู้ประดิษฐ์รถลากขึ้นเป็นคนแรก

ระฆังใหญ่ที่วัดชิออนอินในเกียวโต ถึงเดือนเมษายน อันเป็นฤดูดอกไม้บาน บรรยากาศก็ชื่นมื่นสดใสไปทั้งเกียวโต เสียงทุ้มต่ำของระฆังใบนี้ก้องกระหึ่มไปทั่วทั้งเมือง ยิ่งยามเช้าอันเงียบสงบ เสียงระฆังก็กังวาลแผ่ซ่านไปทั่วทุกอณูอากาศ จนยากที่จะจับได้ว่าเสียงนี้ดังมาจากทิศทางใด

หลวงพ่อโตที่กามากุระ สถานที่แห่งนี้เคยเป็นเมืองหลวงอันเกรียงไกร ปัจจุบันเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆและเหลือเพียงพระพุทธรูปองค์นี้เป็นหลักฐานแห่งความยิ่งใหญ่ในอดีต พระเนตรเป็นทองคำและพระนลาฏประดับด้วยเงิน

นางเพลิดเพลินจากงานคราดหอย ทะเลเป็นที่ทำมาหากินของชาวญี่ปุ่นกว่า 2.5 ล้านคน มีเรือประมงทั้งสิ้น 400,000 ลำ ตามหมู่บ้านชาวประมงมีแม่หม้ายและเด็กกำพร้า เมียและลูกของลูกทะเลที่วายปราณให้พบเห็นเป็นประจำ เนื่องจากพายุร้ายคร่าชีวิตของชาวประมงผู้อาศัยเรือเล็กไปปีละราวพันคน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.