ผู้บุกเบิกวงการบรรพชีวินวิทยาของไทย
หลายคนบอกว่า ผู้ชายคนนี้คือ “อินเดียนา โจนส์” แห่งวงการบรรพชีวินวิทยาของไทย ชื่อของ ดร.วราวุธ สุธีธร ปรากฏอยู่ในชื่อของไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่พบบนแผ่นดินอีสานของไทย นั่นคือ สยามโมซอรัส สุธีธรนี (Siamosaurus suteethorni)
เรารู้จักกับ “อาจารย์หมู” หรือ ดร.วราวุธ ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ทำนิตยสารเล่มนี้ เพราะทุกครั้งที่ต้องการความช่วยเหลือทางวิชาการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรพชีวินวิทยาหรือไดโนเสาร์ เราก็ได้รับความเมตตาจากอาจารย์หมูเสมอมา ภาพของดร.วราวุธ ในชุดสีน้ำตาลอ่อนคล้ายสีฝุ่นดิน ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม และแววตาหลังกรอบแว่นที่ทอประกายทุกครั้งเวลาบอกเล่าถึงงานที่ทำ เป็นสิ่งที่ใครก็ตามที่ได้พูดคุยกับอาจารย์หมูจะจดจำได้เสมอ
วันนี้แม้จะอยู่ในวัยเลยเกษียณ (จากข้าราชการกรมทรัพยากรธรณี) มาสิบปี แต่อาจารย์หมูไม่เพียงยังไม่ทิ้งวงการนี้ เหมือนที่เคยให้สัมภาษณ์เราไว้ว่า “ยังสนุก แล้วก็มีความสุขที่ได้ทำ การไปขุดกลางแจ้ง ทำงานเหนื่อย ร้อน ต้องนั่งกับพื้น ค่อยๆ แซะทั้งวัน แต่เมื่อไหร่ที่เจอกระดูก เจอฟอสซิลชิ้นใหม่ เราจะอยากรู้ว่ามันคืออะไร ต้องค่อยๆ เปิด ค่อยๆ เห็นทีละนิด แล้วถ้าเจอชิ้นสำคัญอย่างเช่นหัวกะโหลก ฟันส่วนกราม ชิ้นส่วนที่ไม่ค่อยพบเห็น หรือชิ้นส่วนที่ครบสมบูรณ์ เราจะมีความสุขมาก ที่เหนื่อยๆ นี่หายเป็นปลิดทิ้ง ทำได้อีกสามวันเจ็ดวันไม่มีเหนื่อย”
ยิ่งไปกว่านั้น งานในทุกวันนี้ของอาจารย์หมูยังเปรียบได้กับการ “แจกของส่องตะเกียง” นั่นคือการส่งต่อแรงบันดาลใจและสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ให้วงการบรรพชีวินวิทยาของไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
การศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์มีประโยชน์อะไร
ทำให้เรารู้ไม่เพียงแค่ชนิดของสิ่งมีชีวิตในสมัยนั้น แต่ยังรวมถึงสภาพแวดล้อมโบราณ และวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ของโลก สิ่งเหล่านี้บอกเราถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นบนโลก รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่สิ่งมีชีวิตกลุ่มใหญ่ๆ สูญพันธุ์ไปพร้อมๆ กัน ทำให้เราสอบลงไปได้ว่า เกิดอะไรขึ้นในสมัยนั้น เช่น บางแห่งเราพบว่าเป็นเรื่องของภูเขาไฟระเบิดขนาดใหญ่ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตตายเป็นกลุ่ม หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้วทั้งนั้น
“ความสุข” ของนักสำรวจคืออะไร
คือการค้นพบ เป็นการค้นพบในสถานที่ใหม่ๆ มีตัวอย่างใหม่ๆ ที่เรายังไม่เคยพบเห็นมาก่อน ยิ่งถ้าเจอแล้ว บอกได้ว่าว่าเป็นอะไร อายุเท่าไหร่ แล้วสืบค้นต่อไปถึงร่องรอย ประวัติ และบอกเล่าเรื่องราวได้ นั่นคือความสุขสุดยอดของนักสำรวจ
“เราปักธงได้ว่า ประเทศไทยเป็นที่หนึ่งที่มีฟอสซิลสัตว์มีกระดูกสันหลัง และมีพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่ดีเทียบเท่าประเทศชั้นนำอื่นๆ”
อยากฝากอะไรถึงนักสำรวจรุ่นใหม่ๆ
สิ่งแรกที่นักสำรวจต้องมีคือ ความใฝ่รู้ เมื่อใฝ่รู้แล้วก็ต้องศึกษาค้นคว้าในเรื่องราวเหล่านั้น ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานที่นักสำรวจรุ่นก่อนเคยทำไว้ แล้วเมื่อถึงเวลาก็ออกไปยังที่เหล่านั้น เพื่อไปตรวจสอบดูในเบื้องต้นว่า สิ่งที่เขาว่าไว้เป็นจริงหรือไม่อย่างไร จากนั้นก็ต้องศึกษาให้รู้จริง และค้นคว้าต่อไปว่า สิ่งที่เขาพูดไว้นั้นครบถ้วนหรือยัง มีอะไรที่ขาด หลงเหลือ หรือควรเพิ่มเติม เราอาจมองต่อไปว่า ยังมีพื้นทีไหนอีกไหมที่ยังไม่เคยมีการสำรวจหรือการค้นพบมาก่อน ลองไปดูว่าจะมีหลักฐานอะไรให้เราบอกเล่าเรื่องราวเพิ่มเติมได้
ความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต
ต่างประเทศเขามีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเป็นพื้นฐานสำหรับให้เด็กๆ หรือสาธารณชนเข้าไปศึกษาหาความรู้ ข้างในมีเรื่องราวและความรู้มากมาย เราไปเรียนรู้ได้หมด เรากลับมาคิดว่า ในเมืองไทย ถ้าอยากสร้างนักสำรวจ เราก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้น เป็นโอกาสดีที่เราค้นพบไดโนเสาร์ใหม่ๆ รวมทั้งฟอสซิลใหม่ๆ ที่เป็นตัวอย่างของประเทศไทยเสริมเข้าไปในประวัติของโลก แล้วในที่สุดก็มีโอกาสได้ช่วยเหลือในการทำพิพิธภัณฑ์ ทำให้เรามีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา หรือ Natural History Museum โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ของประเทศไทยเกิดขึ้น นั่นคือสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดที่มีส่วนทำให้สิ่งเล็กๆ ที่เป็นพื้นฐานให้ความรู้แก่เยาวชน หรือแก่คนไทย เกิดขึ้นในประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติม