เป็นเวลาหลายปีแล้วที่บรรดานักโบราณคดีตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดชาวนอร์สจึงเลือกตั้งถิ่นฐานบนเกาะกรีนแลนด์ เกาะน้ำแข็งที่ไม่ได้มีทรัพยากรใดๆ เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตเลย ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงสหัสวรรษแรกด้วยแล้ว ฉะนั้นพวกเขาไปอยู่อาศัยกันทำไมที่นั่น? และพวกเขาเอาชีวิตรอดได้อย่างไร?
ก่อนหน้านี้นักวิชาการเชื่อกันว่าชาวนอร์สเพาะปลูกพืชและทำประมง ทว่าผลการศึกษาใหม่พบว่าผู้คนในยุคโบราณเหล่านี้มีทรัพยากรสำคัญอีกอย่างแก่การดำรงชีวิต มันคือการค้าขายงาของวอลรัสให้แก่ตลาดในยุโรป
ในช่วงต้นของยุคกลาง งาวอลรัสเป็นสินค้ายอดนิยม ในฐานะของหายากจากแดนเหนือ โบสถ์หลายแห่งประดับประดาด้วยงาวอลรัสที่แกะสลักอย่างประนีตบรรจง ชนชั้นสูงเล่นหมากรุกที่ตัวหมากถูกแกะจากงาของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ อย่างไรก็ดีทีมวิจัยไม่มั่นใจว่างาวอลรัสที่ถูกแปรรูปมาเป็นข้าวของต่างๆ ในยุโรปนั้นมาจากที่ใดกันแน่ระหว่างน่านน้ำทางตะวันออกของสแกนดิเนเวีย หรือพื้นที่อันห่างไกลทางตะวันตกของเกาะกรีนแลนด์
การศึกษาครั้งนี้ตั้งอยู่บนข้อเท็จริงที่ว่า สายพันธุ์วอลรัสในไอซ์แลนด์และสแกนดิเนเวียนั้นมีพันธุกรรมที่แตกต่างจากวอลรัสในกรีนแลนด์และแคนาดา นักวิทยาศาสตร์ตามรอยงา, กระดูก ตลอดจนข้าวของต่างๆ จากตัววอลรัสที่ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ทั่วยุโรป เพื่อวิเคราะห์ดีเอ็นเอโบราณเหล่านี้ในการหาแหล่งที่มาของพวกมัน
(ภาพถ่ายสะท้อนโลกของสินค้าต้องห้ามจากสัตว์ป่า)
สิ่งที่พวกเขาพบนั้นค่อนข้างน่าประทับใจ ข้าวของก่อนปีคริสต์ศักราช 1100 หรือราวร้อยปีก่อนที่ไวกิ้งอีริคผมแดง ผู้เป็นตำนานจะเริ่มตั้งถิ่นฐานบนเกาะกรีนแลนด์นั้น ข้าวของส่วนใหญ่ในยุโรปที่ถูกแกะสลักจากงาวอลรัสล้วนมาจากภูมิภาคทางตะวันออก เช่น ทะเลแบเร็นตส์, ไอซ์แลนด์ หรือหมู่เกาะสวาลบาร์ด แต่อีกศตวรรษต่อมาจนถึงราวคริสต์ศักราช 1400 งาวอลรัสที่ได้กลับมาจากพื้นที่ทางตะวันตกของกรีนแลนด์ หรือโดยบรรดาชาวนอร์สที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะ และผูกขาดการค้ากับยุโรป
Bastiaan Star ผู้เชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอโบราณจากมหาวิทยาลัยออสโล และยังเป็นผู้นำการวิจัยกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ของแหล่งจัดหางาวอลรัสนั้นเป็นอะไรที่ “น่าประหลาดใจ”
“เป็นไปได้หรือไม่ว่าประชากรวอลรัสทางตะวันออกของสแกนดิเนเวียถูกล่าจนล้มหายตายจากไปหมด?” เขาตั้งข้อสังเกต “หรือภาวะเศรษฐกิจทางสังคมทำให้การเดินทางจากกรีนแลนด์ไปยุโรปนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า ชาวนอร์สจึงทำการค้าแบบผูกขาดได้?”
ข้อดีข้อเสียของโลกาวิวัฒน์
ชีวิตบนเกาะกรีนแลนด์คือความท้าทาย Jette Arneborg ผู้เชี่ยวชาญด้านชาวนอร์สบนเกาะกรีนแลนด์ จากมหาวิทยาลัยเดนมาร์กกล่าว เนื่องจากอาณานิคมของชาวนอร์สนั้นขาดแคลนทรัพยากรทุกอย่างต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นพวกเขาจึงต้องพึ่งพาการค้ากับเพื่อนบ้านอย่างหนัก เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดไป
“จะเอาตัวรอดบนเกาะกรีนแลนด์ พวกเขาต้องแลกเปลี่ยนสินค้า เพราะมีบางอย่างที่พวกเขาไม่สามารถหาได้เองแน่นอน เช่น โลหะ” Arneborg กล่าว “มีความเป็นไปได้สูงมากที่งาวอลรัสจะเป็นสินค้าส่งออกหลักของพกวเขา”
แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงกลางคริสต์ศักราชที่ 1400 ชาวนอร์สบนเกาะกรีนแลนด์ต้องเผชิญกับความติดขัดอย่างใหญ่หลวง เมื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในทะเลรุกทำลายพื้นที่ทางการเกษตร ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่า ในช่วงเวลานี้ชาวนอร์สสูญเสียการติดต่อกับนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลัก
“ประชากรชาวนอร์สมีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับงาวอลรัส” Arneborg กล่าว และเธอเชื่อว่าเมื่อชาวนอร์สในกรีนแลนด์ขาดการติดต่อกับผู้ซื้อในยุโรปไป ทำให้พวกเขาไม่อาจส่งสินค้าได้อีก และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา
“นี่เป็นบันทึกแรกๆ ของโลกาวิวัฒน์ในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้” Star เสริม “ใครจะคิดว่าความต้องการสินค้าในยุโรปจะไปส่งผลกระทบถึงดินแดนอันห่างไกลหลายพันกิโลเมตรกลางภูมิภาคอาร์กติกได้ ที่สำคัญคือเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยถึงพันปีก่อน”
เรื่อง Alejandra Borunda
อ่านเพิ่มเติม