อเคนาเตน ฟาโรห์ผู้พลิกฟ้าคว่ำดิน

อเคนาเตน  ฟาโรห์ ผู้พลิกฟ้าคว่ำดิน

เช้าวันหนึ่งที่อมาร์นา หมู่บ้านในอียิปต์ตอนบน ห่างจากกรุงไคโรไปทางใต้ราว 300 กิโลเมตร กระดูกชิ้นเล็กๆและบอบบางชุดหนึ่งถูกจัดเรียงไว้บนโต๊ะไม้ “กระดูกไหปลาร้าอยู่นี่ ต้นแขน ซี่โครง และท่อนขาส่วนล่างก็ด้วย” แอชลี ชิดเนอร์นักชีวโบราณคดีชาวอเมริกันบอก “เจ้าของร่างมีอายุราวขวบครึ่งถึงสองขวบค่ะ”

โครงกระดูกนี้เป็นของเด็กคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในอมาร์นาเมื่อกว่า 3,300 ปีก่อน ในสมัยที่เมืองนี้เป็นนครหลวงของอียิปต์  สร้างโดย ฟาโรห์ อเคนาเตน กษัตริย์พระองค์นี้  พร้อมด้วยพระมเหสีเนเฟอร์ตีติ และตุตันคามุน ผู้เป็นพระโอรส ทำให้คนในยุคปัจจุบันหลงใหลได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุคคลสำคัญอื่นๆ จากยุคอียิปต์โบราณ  ทว่าโครงกระดูกนิรนามโครงนี้    ซึ่งขุดได้จากหลุมฝังศพที่ปราศจากเครื่องหมายใดๆ เป็นหลักฐานแสดงถึงภาวะทุพโภชนาการที่ชิดเนอร์และคนอื่นๆเคยสังเกตเห็นมาแล้วจากโครงกระดูกของเด็กหลายสิบคนในอมาร์นา

“สภาวะโตช้าจะเริ่มเมื่ออายุราวเจ็ดเดือนครึ่งค่ะ” ชิดเนอร์บอก “เป็นช่วงที่เริ่มเปลี่ยนจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาเป็นการกินอาหารแข็ง” ที่อมาร์นา การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวของเด็กจำนวนมากดูเหมือนจะถูกชะลอออกไป “อาจเป็นเพราะแม่เห็นว่ามีอาหารไม่พอให้ลูกกินก็เป็นได้ค่ะ”

แหล่งขุดค้นในอมาร์นา ชนชั้นสูงตระเตรียมหลุมฝังศพที่ตกแต่งอย่างงดงามด้วยการสกัดเข้าไปในหน้าผาสูง ทางตะวันออกของเมือง ส่วนชาวบ้านจะฝังศพตามพื้นทะเลทรายที่แทบจะหาเครื่องหมายหรือข้าวของในหลุมฝังศพไม่พบ ผมเปียที่ถักอย่างประณีตบนกะโหลกแสดงให้เห็นความพิถีพิถันกับรูปลักษณ์ของชาวบ้าน แม้จะอยู่ในสภาพลำเค็ญก็ตาม

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้  ราษฎรของอเคนาเตนดูจะเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่พระองค์ทรงทิ้งไว้เบื้องหลัง  แต่คนอื่นๆต่างวิพากษ์วิจารณ์ฟาโรห์ผู้ทรงครองราชย์ตั้งแต่ราวปี 1353 ถึง 1336 ก่อนคริสตกาล และทรงพยายามเปลี่ยนแปลงศาสนา ศิลปะ และการปกครองของอียิปต์  ฟาโรห์พระองค์ต่อๆมาส่วนใหญ่วิจารณ์รัชสมัยของพระองค์อย่างสาดเสียเทเสีย  ไม่เว้นแม้แต่ตุตันคามุนผู้ทรงตำหนิสภาพความเป็นอยู่ในรัชสมัยของพระบิดาว่า “แผ่นดินลำเค็ญ ทวยเทพได้ละทิ้งดินแดนนี้ไปเสียแล้ว” และในราชวงศ์ต่อมา  อเคนาเตนไม่เพียงทรงถูกตราหน้าว่าเป็น “อาชญากร” และ “กบฏ”  แต่รูปสลักและภาพของพระองค์ยังถูกทำลาย นัยว่าเพื่อต้องการลบพระนามของกษัติรย์พระองค์นี้จากหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์อย่างสิ้นเชิง

ทว่าในยุคปัจจุบัน  ความคิดเห็นเกี่ยวกับอเคนาเตนพลิกกลับมายังขั้วตรงข้ามอย่างสุดโต่ง  เมื่อนักโบราณคดีตีความการค้นพบอเคนาเตนใหม่อีกครั้ง  ย้อนหลังไปเมื่อปี 1905 เจมส์ เฮนรี เบรสเตด นักไอยคุปต์วิทยา กล่าวถึงฟาโรห์พระองค์นี้ว่า ทรงเป็น “เอกัตบุคคล [ในความหมายของบุคคลผู้มีความเป็นตัวของตัวเองและแสดงออกซึ่งบุคลิกชัดเจน] คนแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ”  เบรสเตดและคนอื่นๆอีกหลายคนมองว่า  อเคนาเตนทรงเป็นนักปฏิวัติผู้มีความคิดล้ำยุคมาก โดยเฉพาะแนวคิด เรื่องเอกเทวนิยม (monotheism) โดมินีก มงแซรา ผู้เขียนหนังสือ  อเคนาเตน: ประวัติศาสตร์ แฟนตาซี และอียิปต์โบราณ (Akhenaten: History, Fantasy and Ancient Egypt) ตั้งข้อสังเกตว่า  บ่อยครั้งเรามักนำหลักฐานกระจัดกระจายจากสมัยโบราณมาร้อยเรียงใหม่เป็นคำอธิบายที่เข้าใจได้ในโลกหรือยุคสมัยของเรา  เราทำเช่นนี้  “เพื่อที่อดีตจะส่องให้เห็นปัจจุบันเฉกเช่นกระจกเงา”

กระจกเงาสมัยใหม่ของอเคนาเตนสะท้อนให้เห็นแทบทุกอัตลักษณ์ของพระองค์เท่าที่เราจะคิดจินตนาการได้  พระองค์ถูกวาดภาพว่าเป็นคริสตชนยุคเริ่มแรก  นักสิ่งแวดล้อมผู้รักสันติ  ชายรักร่วมเพศอย่างเปิดเผย และเผด็จการผู้รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

นักโบราณคดีพยายามคัดค้านการตีความเช่นนี้เสมอมา  ทว่ายังขาดหลักฐานหรือชิ้นส่วนสำคัญของปริศนานี้ การศึกษาส่วนใหญ่ที่อมาร์นาเน้นไปที่วัฒนธรรมของชนชั้นสูง ได้แก่  ประติมากรรมและสถาปัตยกรรมของราชวงศ์ และจารึกจากหลุมฝังศพของข้าราชการระดับสูง นักวิทยาศาสตร์หวังมานานแล้วว่า  จะมีโอกาสศึกษาสถานที่ฝังศพของสามัญชนบ้าง เพราะทราบดีว่าในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 17 ปีที่อมาร์นารุ่งเรืองอยู่นั้น  สุสานจะให้ภาพชีวิตประจำวันที่หาได้ยาก แต่กว่าจะมีการสำรวจทะเลทรายที่อยู่รอบๆอย่างละเอียดและพบหลักฐานของสุสานสี่แห่งตั้งอยู่แยกกัน เวลาก็ล่วงเลยมาถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดแล้ว

 

ไม้เป็นของหายากในอียิปต์ และมีกฎหมายจำกัดการใช้ดินตะกอนน้ำพาอันมีค่ามาทำอิฐ ดังนั้นหินปูนจึงยังคงเป็นวัสดุสำคัญ ในการก่อสร้าง วิหารและพระราชวังของอเคนาเตนสร้างด้วยหินก้อนซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ตะละตัต (talatat – ภาษาอาหรับแปลว่า “สาม”) ซึ่งคนงานคนเดียวก็ยกขึ้นและช่วยให้ก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว

หลังการค้นพบดังกล่าว  นักโบราณคดีและนักชีวโบราณคดีใช้เวลาเกือบสิบปีในการขุดค้นและวิเคราะห์สุสานแห่งใหญ่ที่สุดในจำนวนสี่แห่ง  พวกเขาเก็บตัวอย่างโครงกระดูกได้อย่างน้อยจาก 432 ร่าง   จากหลุมศพที่สามารถระบุอายุเจ้าของขณะเสียชีวิตได้  ร้อยละ 70 เสียชีวิตก่อนวัย 35 ปี  และมีเพียง 9 คนเท่านั้นที่ดูเหมือนมีอายุเกิน 50 ปี  มากกว่าหนึ่งในสามเสียชีวิตก่อนอายุ 15 ปี รูปแบบการเจริญเติบโตของเด็กถูกชะลอออกไปให้ช้ากว่าปกติราวสองปี  ผู้ใหญ่หลายคนมีความผิดปกติของกระดูกสันหลัง  นักชีวโบราณคดีเชื่อว่านี่เป็นหลักฐานถึงการที่คนเหล่านี้ถูกใช้งานหนักเกินตัว อาจเพื่อสร้างเมืองหลวงใหม่ก็เป็นได้

“นี่ไม่ใช่กราฟเส้นโค้งตามปกติของการตายอย่างแน่นอนค่ะ” แอนนา สตีเวนส์ นักโบราณคดีชาวออสเตรเลียผู้นำการขุดค้นสุสานเหล่านี้ บอก “และคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่แถวนั้นมีเหมืองหินปูนของฟาโรห์อยู่ด้วย หรือว่านี่คือคนงานที่ถูกเกณฑ์มาเพราะอายุยังน้อย และอาจถูกบังคับให้ทำงานจนตาย” ในความเห็นของเธอ สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดคือ “น่าจะเลิกคิดไปได้เลยว่า อมาร์นาเคยเป็นเมืองที่น่าอยู่ค่ะ”

พ่อค้าเร่ในกรุงไคโรขายหน้ากากรูปอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซี ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีอียิปต์เมื่อปี 2014 อดีตนายพลผู้เป็นที่นิยมรายนี้ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งร้อยละ 97 หลังเข้ารับตำแหน่ง เขาก็ประกาศว่า จะสร้างเมืองหลวง แห่งใหม่ขึ้นในทะเลทรายทางตะวันออกของกรุงไคโรที่ทำให้นึกถึงเมืองหลวงในทะเลทรายของอเคนาเตนที่อมาร์นา “สมัยโน้นเป็นเช่นไร สมัยนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น” แอนนา สตีเวนส์ นักโบราณคดี บอก “ทุกคนสนับสนุนซิซีเพราะเขาเป็นผู้นำ ที่เข้มแข็งค่ะ”

สำหรับอเคนาเตน อมาร์นาคือตัวแทนของวิสัยทัศน์อันล้ำลึก “ไม่มีข้าราชบริพารคนใดชี้แนะข้าในเรื่องนี้” พระองค์ทรงบันทึกไว้อย่างภาคภูมิว่าด้วยการสร้างเมืองหลวงใหม่แกะกล่องของพระองค์  ทรงเลือกทะเลทรายกว้างใหญ่ผืนหนึ่งซึ่งยังไม่ เคยมีใครรุกล้ำบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์เป็นที่ตั้ง  เพราะยังไม่แปดเปื้อนจากการสักการะเทพองค์ใดมาก่อน

พระองค์ยังอาจได้แรงจูงใจจากตัวอย่างของพระบิดาด้วย  นั่นคืออเมนโฮเทปที่สามผู้ทรงเป็นนักสร้างอนุสาวรีย์ วิหาร และพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์อียิปต์  ทั้งสองพระองค์เป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ที่สิบแปดซึ่งครองอำนาจหลังปราบพวกฮิกซอส (Hyksos) ที่เข้ามารุกรานอิยิปต์ตอนเหนือ ในการขับไล่ชาวฮิกซอส บรรพบุรุษของราชวงศ์ที่สิบแปดซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ทางใต้ของอียิปต์  ได้นำนวัตกรรมสำคัญๆ จากศัตรูเหล่านี้มาใช้ด้วย  ซึ่งรวมถึงรถม้า และคันธนู  ชาวอียิปต์สร้างทหารอาชีพขึ้นมา และราชวงศ์ที่สิบแปดก็มีกองทัพประจำการตลอดเวลา  แตกต่างจากราชวงศ์ส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้

ในที่สุดจักรวรรดิก็แผ่ขยายจากดินแดนที่ปัจจุบันคือซูดานไปจรดซีเรีย  ชาวต่างชาตินำความมั่งคั่งและทักษะมาสู่ราชสำนักอียิปต์  ในรัชสมัยของอเมนโฮเทปที่สาม ผู้ครองราชย์ตั้งแต่ราว 1390 ถึง 1353 ปีก่อนคริสตกาล และตลอดรัชสมัยของอเคนาเตน ศิลปะของราชวงศ์เปลี่ยนไปในแนวทางที่ปัจจุบันอาจเรียกว่า  มีลักษณะเป็นธรรมชาติมากขึ้น

เรื่อง ปีเตอร์ เฮสส์เลอร์

ภาพถ่าย เรนา เอฟเฟนดี

 

อ่านเพิ่มเติม: ตุตันคามุน : ย้อนรอยการค้นพบสุสานฟาโรห์ผู้โด่งดัง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.