ลายเส้นขยุกขยิกอายุ 73,000 ปี ศิลปะเก่าแก่ที่สุด?

ลายเส้นขยุกขยิกอายุ 73,000 ปี ศิลปะเก่าแก่ที่สุด ?

เมื่อ 73,000 ปีก่อน มนุษย์โบราณคนหนึ่งที่อาศัยในแอฟริกาใต้ปัจจุบัน หยิบเอาดินเหลืองขึ้นมาขีดเครื่องหมายลงบนเศษหิน ข้ามเวลามาปัจจุบันหินชิ้นดังกล่าวถูกค้นพบโดยทีมนักโบราณคดีนานาชาติ ที่เชื่อกันว่านี่คือผลงาน ศิลปะเก่าแก่ที่สุด เท่าที่เคยค้นพบมา

จากรายงานที่เผยแพร่ลงในวารสาร Nature ก่อนหน้านี้ศิลปะบนก้อนหินที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมามีอายุ 30,000 ปี จากอินโดนีเซียและสเปน งานวิจัยใหม่นี้นับเป็นการค้นพบพฤติกรรมสมัยใหม่ของมนุษย์โฮโม เซเปียนส์ในแอฟริกา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดก่อนจะพัฒนาไปสู่พฤติกรรมสมัยใหม่อื่นๆ ตามมา

ทว่าหินชิ้นนี้ถูกค้นพบได้อย่างไร และถือได้ว่ามันเป็นศิลปะจริงไหม?

 

การค้นพบ

ทีมนักโบราณคดีค้นพบสะเก็ดหินเนื้อซิลิกาความยาว 1 นิ้วครึ่ง ที่ผิวปรากฏร่องรอยการขูดขีดกากบาทด้วยดินเหลือง ดินที่อุดมไปด้วยออกไซด์ของเหล็กและอลูมิเนียมจนมีสีเหลืองแดง

สะเก็ดหินชิ้นดังกล่าวถูกพบรวมอยู่กับกองเครื่องมือหินจากถ้ำบลอมบอสที่ตั้งห่างออกไปจากกรุงเคปทาวน์ เมืองหลวงของแอฟริกาใต้ราว 300 กิโลเมตร ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของถ้ำแห่งนี้หันหน้าออกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย ฉะนั้นมันจึงเป็นสถานที่พักทำเลดีให้แก่กลุ่มมนุษย์โบราณที่ต้องการพักผ่อนระยะสั้นๆ ระหว่างล่าสัตว์

ต่อมาราว 70,000 ปี ถ้ำถูกปิดไม่ให้เข้ารุกรานจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น จากนั้นสถานที่แห่งนี้ก็เปิดปิดซ้ำไปมาตลอดหลายปี อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และนั่นทำให้ทีมนักโบราณคดีเป็นปลื้มอย่างมากที่หลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ยังไม่สูญหายไปกับคลื่น “สิ่งที่ถูกเก็บรักษาไว้ในนั้นสมบูรณ์แบบมาก” Christopher Henshilwood หนึ่งในผู้ร่วมวิจัย ผู้เป็นหัวหน้าศูนย์ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์โฮโม เซเปียนส์ในยุคแรกเริ่ม จากมหาวิทยาลัย Bergen กล่าว นอกจากนั้นตัวเขายังเคยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เลยเคยขุดค้นในภูมิภาคนี้มาแล้วตั้งแต่ทศวรรษ 1990

ภายในถ้ำ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบข้าวของที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยมนุษย์โฮโม เซเปียนส์ ย้อนอายุกลับไปได้ไกลถึงหลักแสนปี ไม่ว่าจะเป็นเปลือกหอยเจาะรูที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นลูกปัด เครื่องมือหิน หัวหอก เศษกระดูกที่มีรอยขีดเขียนด้วยดินเหลือง ตลอดจนภาชนะสำหรับบรรจุน้ำสีธรรมชาติที่ได้จากดิน

การค้นพบครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า “การวาดรูปเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมสมัยใหม่” ของมนุษย์โบราณ และมีความเป็นไปได้ว่าภูมิปัญญาการทำลูกปัด, จารึกสัญลักษณ์ลงบนกระดูก และการวาดภาพอาจเกิดขึ้นในช่วงต้นของเมื่อ 70,000 ปีก่อน หรือเก่าแก่กว่านั้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้หลักฐานที่คล้ายคลึงกันเคยถูกพบในยุโรป และก่อให้เกิดทฤษฎีตามมาว่าพฤติกรรมสมัยใหม่ของมนุษย์โบราณนั้นมีจุดเริ่มต้นในยุโรป

ภาพถ่ายพาโนรามาแสดงลักษณะภายในถ้ำบลอมบอสสถานที่ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเครื่องไม้เครื่องมือของมนุษย์โบราณมากมาย
ภาพถ่ายโดย Magnus Haaland

ด้าน Margaret Conkey นักโบราณคดีและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ชี้ว่าต้องใช้เวลาในการศึกษาเพิ่มเติม ก่อนที่จะตีความว่าการค้นพบครั้งนี้เป็นต้นกำเนิดของพฤติกรรมสมัยใหม่ที่เคยพบในยุโรป “เนื่องจากวิวัฒนาการและพฤติกรรมของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อน” เธอกล่าว “ดังนั้นจึงไม่มีต้นกำเนิดเดียวชัดเจน”

มาถึงประเด็นสุดท้ายที่ว่าสะเก็ดหินชิ้นนี้เป็นงานศิลปะจริงหรือไม่? Henshilwood ชี้ว่ายังไม่มีคำตอบแน่ชัด แต่ที่แน่ๆ มันคือสัญลักษณ์ เนื่องจากร่องรอยการขีดเขียนบนหินนั้นมีลักษณะเดียวกันกับลายเส้นที่เขียนบนกระดูกชิ้นหนึ่งจากถ้ำบลอมบอสเช่นกัน ดังนั้นจึงเชื่อกันว่าลักษณะการขีดเขียนเหล่านี้ถูกทำด้วยความตั้งใจ “ศิลปะมันยากที่จะนิยามชัดๆ นะครับ ดูอย่างงานแอบสแตรกของปีกัสโซ ใครจะบอกได้ว่ามันเป็นศิลปะหรือไม่เป็นกันแน่?”

ทว่า Conkey คิดว่าการที่ Henshilwood ตีความการค้นพบว่าเป็นศิลปะนั้น โดยเฉพาะการที่เขาพรรณาถึงเส้นสายสีเหลืองแดงที่พบบนหินค่อนข้างเกินจริงไป “ทำไมไม่ลองใช้คำที่เป็นกลางขึ้นมาหน่อยอย่างดินเหลืองอะไรแบบนี้” ในมุมมองของเธอนั้นลายเส้นดังกล่าวไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า ตัวอย่างที่มนุษย์ยุคแรกมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว

มนุษย์โบราณตั้งใจหยิบสีขึ้นมาเขียนบนหินจริงไหม? ลายเส้นดังกล่าวมีความหมายว่าอย่างไร? เมื่อปราศจากไทม์แมชชีนเราไม่อาจทราบได้ แต่กระนั้น Conkey กล่าวยกย่องการค้นพบอันน่าตื่นเต้นนี้ที่จะช่วยเพิ่มความซับซ้อนของเรื่องราวมนุษย์โฮโม เซเปียนส์ยุคแรกในแอฟริกาใต้ให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

เรื่อง Erin Blakemore

 

อ่านเพิ่มเติม

นามใดกันเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์?

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.