สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่งเสี่ยงต่อเหตุร้ายแบบเดียวกับ นอเทรอดาม

นักดับเพลิงดับไฟที่กำลังลุกไหม้ในวิหารนอเทรอดาม ในปารีส ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2019 ภาพถ่ายโดย BENOIT TESSIER, REUTERS


บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า สถานที่ทางวัฒนธรรมหลายร้อยแห่งอันเป็นที่รักทั่วโลก ไม่เคยเตรียมรับมือกับเหตุเพลิงไหม้และอุบัติเหตุอย่างเดียวกับที่ นอเทรอดาม ประสบ

ในขณะที่อาสนวิหารชื่อดังที่สุดของฝรั่งเศสเกิดไฟไหม้ ผู้คนรอบโลกนิ่งตะลึงด้วยความสะเทือนขวัญต่อภาพเพลิงไหม้ครั้งหายนะ ขณะนี้ ทุกคนโล่งอกหลังรู้ว่าว่าบรรดานักดับเพลิงสามารถรักษาส่วนใหญ่ของ นอเทรอดาม เอาไว้ได้ไม่น้อย

แต่เพลิงครั้งนี้ได้จุดประกายการถกเถียงที่มีมาอย่างยาวนาน ถึงวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องแหล่งมรดกวัฒนธรรม ที่มักขาดการป้องกันจากหายนะหลายประเภท

“แหล่งมรดกโลกหลายแห่งไม่มีนโยบาย แผน หรือกระบวนการเพื่อลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ” เอกสารของ UNESCO กล่าว “สิ่งนี้ทำให้แหล่งทางมรดกหลายร้อยแห่งเผชิญกับความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก”

ภัยพิบัติเหล่านั้น ซึ่งมีตั้งแต่เพลิงไหม้และน้ำท่วม ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความขัดแย้ง ได้ทำลายสมบัติทางวัฒนธรรมหลายแห่งของโลกในช่วงหลายปีมานี้

เพลิงขนาดมหึมาลุกท่วมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของบราซิล ใน Rio de Janeiro เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2018 ภาพถ่ายโดย CARL DE SOUZA, AFP/GETTY

เมื่อปีที่แล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของบราซิลถูกเพลิงไหม้จนวอดวาย และส่งผลให้วัตถุต่างๆ เช่นโบราณวัตถุด้านอิยิปต์วิทยา (Egyptology) ซึ่งถูกรวบรวมไว้ และบันทึกเสียงภาษาพื้นเมืองที่สาบสูญไปแล้ว กลายเป็นเถ้าถ่าน

เมื่อปี 2016 กองกำลังรัฐอิสลามได้ทำลายประตู Mashki และ Adad ในโบราณสถานในบริเวณนิเนเวห์ (Nineveh) ในอิรัก และเมื่อปี 2015 แผ่นดินไหวในเนปาลก็ทำให้วัดและสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมหลายแห่ง กลายเป็นซากปรักหักพัง

แต่ผู้รับผิดชอบด้านวัฒนธรรมกลับไม่ตื่นตัวในการวางแผนรับมือภัยพิบัติมากนัก โจนาธาน เบล (Jonathan Bell) ผู้อำนวยการโครงการ Being Human Initiative แห่งสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าว “มันไม่ใช่งานถูกๆ” เขาเสริม และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอาจถูกกดดันให้หารายได้จากการท่องเที่ยวให้มากที่สุด และจำเป็นต้องปิดซ่อมบำรุงสถานที่เหล่านั้นให้น้อยที่สุด”

ความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ และผู้นำท้องถิ่น เป็นกุญแจสำคัญ Valéry Freland ผู้อำนวยการ ALIPH ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ให้ความช่วยเหลือแหล่งมรดกที่ถูกคุกคามจากความขัดแย้ง กล่าว “พวกเราต้องใส่ใจต่อสถานการณ์และความต้องการที่แท้จริงในพื้นที่ และทำงานร่วมกับผู้คนในท้องถิ่น”

ความเสี่ยงจากการบูรณะ

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่นอเทรอดามถูกเพลิงไหม้ระหว่างการซ่อมแซมอย่างยืดเยื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้มันถล่มลง แต่นี่กลับไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจสำหรับนักอนุรักษ์ผู้มีประสบการณ์  ข้อมูลจากสถาบันอนุรักษ์เก็ตตี (Getty Conservation Institute) ระบุว่าเหตุเพลิงไหม้ในสถานที่ทางวัฒนธรรมส่วนใหญ่ เกิดขึ้นระหว่างการบูรณะและต่อเติม

“การอนุรักษ์และบูรณาการเป็นงานที่ละเอียดอ่อนมาก” เบล นักอนุรักษ์สถาปัตยกรรมซึ่งให้คำแนะนำผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นในแหล่งมรดกโลก กล่าว ตัวอย่างเช่น วัสดุเก่าแก่อาจได้รับอันตรายจากการเดินสายไฟ หรืออันตรายแบบอื่นๆ ในขณะบูรณะตัวอาคาร

เบลกล่าวว่า เขาเคยเห็นวัสดุในแหล่งประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งกำลังไหม้เพราะความร้อนจากหลอดไฟ ซึ่งห่างจากโดมไม้ที่ประเมินค่าไม่ได้เพียงไม่กีนิ้ว “ผมเห็นเหตุการณ์แบบนี้ในหลายๆ ที่” เขากล่าว

เหตุเพลิงไหม้ที่นอเทอรดามอาจมีสาเหตุจากสิ่งคล้ายๆกันนี้ แม้อาสนะวิหารแห่งนี้จะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ทำจากหินอันอลังการ โครงสร้างภายในของมันกลับประกอบด้วยโครงจากต้นไม้ที่มีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 12 โครงสร้างเพดานอายุ 1,300 ปีที่มีชื่อเล่นว่า “เดอะฟอเรสต์ (The Forest)” แห่งนี้จึงถูกเพลิงไหม้จนหมด

New York Times รายงานว่า พระอธิการของนอเทรอดามให้สัมภาษณ์กับวิทยุท้องถิ่นว่าระบบตรวจจับเพลิงจะตรวจเพดานไม้วันละสามครั้ง และท่านยังยืนยันว่ามหาวิหารแห่งนี้มีนักดับเพลิงประจำการอยู่ แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่านักดับเพลิงดังกล่าวอยู่ในบริเวณขนะเกิดเพลิงไหม้ หรือมีนักดับเพลิงประจำการอยู่ตลอดเวลาหรือไม่

มุมมองจากด้านบนของพระราชวังวินด์เซอร์ในสหราชอาณาจักร เผยให้เห็นถึงหลังคาที่เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1992 ภาพถ่ายโดย DAVID GILES, AFP/GETTY

หากถามว่าว่าบทเรียนจากเหตุเพลิงไหม้ที่มหาวิหารแห่งนี้จะถูกนำมาใช้ในแหล่งมรดกอื่นๆ หรือไม่ สถาปนิกซึ่งรับผิดชอบการซ่อมแซมครั้งใหญ่ของพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ อันเป็นอาคารรัฐสภาของสหราชอาณาจักร จะคิดเรื่องนี้ด้วยเมื่อพวกเขาปรับปรุงระบบดับเพลิงของอาคารดังกล่าวในอนาคต

“พวกเราพร้อมเรียนรู้บทเรียนจากเหตุเพลิงไหม้ที่นอเทรอดาม เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเราทำทุกอย่างที่จำเป็น เพื่อปกป้องผู้คนของเราและอาคารในบริเวณรัฐสภา” โฆษกรัฐสภาผู้หนึ่งกล่าวกับ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

เจ้าหน้าที่ประจำราชวังวินด์เซอร์ ซึ่งสร้างในช่วงเวลาเดียวกับนอเทอรดามและเคยถูกเพลิงไหม้อย่างรุนแรงเมื่อปี 1992 กล่าวกลับ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ว่าอาคารดังกล่าวมีการตรวจตราตลอดเวลาเพื่อป้องกันเพลิงไหม้

ในขณะที่แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆ ทบทวนแผนป้องกันเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่ต้องตัดสินใจว่าจะซ่อมนอเทรอดามอย่างไร พวกเขาได้รับทั้งการสนับสนุนและความหวังครั้งใหญ่จากเหล่าช่างฝีมือผู้เคยช่วยฟื้นฟูสถานที่สำคัญของอังกฤษอีกแห่งหนึ่งเมื่อเกือบสี่ทศวรรษก่อนหน้า

มหาวิหารยอร์กมินสเตอร์ถูกเพลิงไหม้อย่างรุนแรงเนื่องจากถูกฟ้าผ่า เมื่อปี 1984 ภาพถ่ายโดย PA IMAGES, ALAMY

เมื่อปี 1984 อาสนวิหารยอร์กมินสเตอร์ (York Minster) วิหารแบบโกธิคซึ่งสร้างในช่วงเวลาเดียวกับนอเทรอดามได้เกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงเนื่องจากฟ้าผ่า เหล่าช่างฝีมือช่วยซ่อมแซมโบสถ์แห่งนี้ โดยใช้วัสดุแบบดั้งเดิมเพื่อซ่อมแซมหลังคา กระจกสี และส่วนที่เสียหายอื่นๆ จอห์น เดวิด (John David) หนึ่งในหัวหน้าของช่างที่ซ่อมแซมโบสถ์ดังกล่าว ได้กล่าวกับ BBC ว่าการบูรณะนอเทรอดามด้วยวิธีแบบดั้งเดิมนั้น “มีโอกาสสำเร็จอย่างมาก”

เบล ผู้เติบโตในฝรั่งเศส หวังว่าแผนการบูรณะจะมีการเตรียมการรับมือภัยพิบัติอย่างมั่นคงแข็งแรง “เมื่อคุณทำงานเกี่ยวกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สถานที่แห่งนั้นมีคุณค่ามากกว่าอาคารทั่วไปอย่างมาก” เขากล่าว และหากเกิดกรณีที่เลวร้ายที่สุด “มันเหมือนกับการเสียเพื่อนเก่าเลยครับ”

เรื่อง ERIN BLAKEMORE

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.