เมื่อไม่นานมานี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตว่า “นี่คือ การล่าแม่มด ในแวดวงการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์อเมริกัน!” ซึ่งเป็นการโต้ตอบกระทรวงยุติธรรมที่เข้ามาสอบสวนความสัมพันธ์ของเขากับรัสเซีย นั่นทำให้ชาวอเมริกันหลายคนหวนนึกถึงเหตุการณ์การล่าแม่มดครั้งใหญ่ที่สุดที่แท้จริง ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “การไต่สวนคดีแม่มดแห่งซาเลม” (Salem Witch Trials) และเป็นที่มาของคำว่า “การล่าแม่มด” (witch hunt)
การไต่สวนครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่เมืองซาเลม รัฐแมสสาชูเซตส์ ในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 1692 ถึง 1693 เมื่อการไต่สวนปิดฉากลง มีผู้ต้องสงสัยทั้งหมด 141 ราย ทั้งชายหญิง ถูกตัดสินว่าเป็นแม่มดและพ่อมด 19 คนถูกจับแขวนคอ คนหนึ่งถูกเอาหินก้อนใหญ่ๆนำมาวางทับจนตาย และอีกหลายคนต้องแดดิ้นลงในคุกที่มีสภาพทารุณ
“ประเทศเรามีประวัติการล่าแม่มดมดยาวนาน โดยเฉพาะในยุคล่าอาณานิคม” เจสัน คอย อาจารย์สาขาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชาร์ลสตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การล่าแม่มด บอก
คอยบอกว่า คำว่า “ล่าแม่มด” ซึ่งพูดถึงกระบวนการการไล่จับคนบริสุทธิ์มาลงโทษ เริ่มมีคนนำมาใช้ในศตวรรษที่ 1950 หลังจากมีการไต่สวนคดีแมกคาร์ทีในข้อหาที่มีผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเมื่อมีการตีพิมพ์บทละครอันโด่งดังของอาร์เทอร์ มิลเลอร์ เรื่อง The Crucible ในปี 1953 ซึ่งเป็นละครเปรียบเทียบหรืออุปมานิทัศน์ (allegory) ของการไต่สวนคดีแม่มดแห่งซาเลม
เซท มัลทัน สมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนจากเมืองซาเลม ทวีตโต้ตอบคำกล่าวของทรัมป์ว่า “ในฐานะผู้แทนของซาเลม รัฐแมสซาชูเซตส์ ผมบอกได้เลยว่านี่เป็นคำกล่าวที่ผิด”
นี่คือสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับการล่าแม่มดแห่งซาเลม
1.วิกฤติการณ์ครั้งนั้นเต็มไปด้วยปัญหาขัดแย้งทางการเมือง ศาสนา และสีผิว
สหรัฐฯในช่วงยุคล่าอาณานิคมมีความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายประการ ซาเลมถูกแบ่งแยกออกเป็นสองส่วน นั่นคือส่วนเมืองที่กำลังรุ่งเรือง โดยเป็นรองแต่เพียงบอสตัน เมืองหลวงของรัฐ และอีกส่วนหนึ่งคือหมู่บ้านกสิกรรม ทั้งสองฝ่ายนี้ปะทะฝีปากกันบ่อยครั้งในการแย่งชิงทรัพยากร การถกเถียงเรื่องการเมือง และศาสนา นอกจากนี้ ชาวบ้านเองยังแบ่งแยกป็นฝักฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งต้องการประกาศตนเป็นอิสระจากเมืองซาเลม ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น
ในปี 1689 ชาวบ้านชนะสิทธิ์ในการสร้างโบสถ์ของตัวเองขึ้นมา พวกเขาเลือกสาธุคุณ แซมมวล แพร์ริส (พระในนิกายเพียวริแทน) อดีตพ่อค้า ให้มาเป็นเจ้าอาวาส การปกครองอันเข้มงวดของแพร์ริสและการเรียกร้องขอค่าตอบแทน อีกทั้งให้ตั้งชื่อกุฏิของหมู่บ้านตามชื่อตนเอง ทำให้ความขัดแย้งบานปลาย ชาวบ้านหลายคนถึงกับปฏิญาณตนว่าจะต้องขับไล่แพร์ริสออกไปให้ได้ และเริ่มหยุดบริจาคเงินเป็นเงินเดือนของสาธุคุณรูปนี้ในเดือนตุลาคม ปี 1691
ทว่าในช่วงที่เกิดความตึงเครียดดังกล่าว เบตตี บุตรสาววัย 9 ขวบของแพร์ริส และอาบิเกล วิลเลียมส์ ผู้เป็นญาติ ก็ยังฟังนิทานสนุกๆหลายเรื่องจากทิทูบา ทาสผิวสีจากบาร์เบโดส และนี่เป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการล่าแม่มดขึ้น
2.พฤติกรรมแปลกประหลาดที่ทำให้ชาวซาเลมตื่นตระหนก
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1692 เด็กน้อยเบตตี แพร์ริส เริ่ม “ชัก” ซึ่งหาคำอธิบายไม่ได้ในขณะนั้น ตามมาด้วยอาบิเกล วิลเลียมส์ และแอน พัตแนม เพื่อนของอาบิเกล หมอและพระต่างยืนดูด้วยความหวาดกลัวเมื่อเด็กหญิงทั้งสามบิดกายไปมา หลบอยู่ใต้เก้าอี้ และตะโกนคำพูดที่ฟังไม่ได้ศัพท์ออกมา
คนในยุคนั้นเพิ่งเริ่มจะมีความรู้ความเข้าใจด้านชีววิทยา การแพทย์ และจิตวิทยาในระดับพื้นฐานเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญในสมัยนั้นจึงสรุปว่าเด็กทั้งสามโดนแม่มดสาป และเริ่มบีบบังคับให้เด็กๆชี้ตัวผู้หญิงที่เข้ากับคนสังคมไม่ค่อยได้ จากนั้น ทิทูบาก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด ตามด้วยหญิงขอทานซอมซ่อชื่อซาราห์ กู้ด และหญิงชรา ซาราห์ ออสเบิร์น
3. การทรมานนำไปสู่คำสารภาพอันพิลึกพิลั่น
หลังจากโดนเฆี่ยนอย่างหนัก ทิทูบาก็เริ่มปริปากเอยคำสารภาพและชี้ตัวแม่มดคนอื่นๆ “ซาตานมาหาข้าและสั่งให้ข้ารับใช้เขา” รายงานกล่าวว่าเธอเอ่ยเช่นนี้ในเดือนมีนาคม ปี 1692
ชาวเมืองต่างตกตะลึงงันเมื่อทิทูบาเริ่มพูดถึงสุนัขสีดำ แมวสีแดง นกสีเหลือง และชายผมขาวผู้สั่งให้เธอลงนามในคัมภีร์ซาตาน เธอบอกว่า ยังมีแม่มดอีกหลายตนที่หลบซ่อนอยู่ และพวกนางต้องการกวาดล้างชาวเพียวริแทนให้สิ้นซาก
4. ร่างผู้เสียชีวิตที่กองสุมขึ้นทุกขณะ
เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนเดินไปเคาะประตูบ้านแต่ละหลัง เจ้าของบ้านผู้หวาดกลัวก็พากันชี้ตัวแม่มดอย่างไม่รี่รอ คำให้การที่แปลกประหลาดและข่าวลือเริ่มหนาหูขึ้นตามลำดับ คนที่ถูกกล่าวหาจะถูกนำตัวไปทรมานและขึ้นศาลในกระบวนการที่รีบเร่ง ก่อนจะมีการตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเพื่อการนี้ในที่สุด
“แม่มด” 19 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ถูกนำตัวไปแขวนคอที่เนินเขาแกลโลว์สฮิลล์ ไจลส์ คอรี ทนายจำเลย โดนทรมานจนขาดใจตายขณะกล่าวปฏิเสธข้อหาในการไต่สวน ส่วนอีกห้าคน รวมทั้งเด็กทารกหนึ่งคน เสียชีวิตลงในคุก
5. บางคนสาปส่งการไต่สวนครั้งนั้น….จนกระทั่งการล่าแม่มดปิดฉากลง
ในวันที่ 3 ตุลาคม ปี 1692 สาธุคุณ อินครีส เมเทอร์ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและบิดาของคอตตอน เมเทอร์ ศิษยาภิบาลชื่อดัง กล่าวประณามและประกาศยกเลิกการตัดสินคดีโดยใช้หลักฐานที่ไม่มีน้ำหนัก และการอาศัยเพียงคำกล่าวอ้างเลื่อนลอยเหนือธรรมชาติ
“การที่ผู้ถูกสงสัยว่าเป็นแม่มดสิบคนหนีรอดไปได้ ยังดีกว่าคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียวต้องถูกลงทัณฑ์” เขาบอก
วิลเลียม ฟิปส์ ผู้ว่าการรัฐ สะอิดสะเอียนกับกระบวนการการไต่สวนเช่นนี้เมื่อภรรยาของเขาเองก็ถูกหนึ่งในเด็กสาวที่มีอาการป่วยชี้ตัว เขาจึงมุ่งมั่นที่หยุดยั้งความบ้าคลั่งนี้ลง โดยสั่งระงับศาลพิเศษและตั้งศาลสูงสุด (Supreme Court of Judicature) แห่งใหม่ขึ้นมาแทน และยังห้ามไม่ให้นำหลักฐานที่เรียกว่า หลักฐานความฝันและนิมิต (Spectral Evidence) มาใช้ ศาลสูงสุดตัดสินลงโทษจำเลยเพียง 3 คน จาก 56 คน ฟิปส์อภัยโทษให้ทั้งสาม พร้อมนักโทษอีก 5 คนที่กำลังรอการประหารชีวิต
ในเดือนพฤษภาคม ปี 1693 ฟิปส์อภัยโทษคนทุกคนที่ถูกตัดสินจำคุกในข้อหาเป็นแม่มดที่ใช้เวทมนตร์และคุณไสย ในเวลาต่อมา คนที่กล่าวโทษบางคนจึงได้ออกมากล่าวขอโทษต่อหน้าสาธารณชน จากนั้น สภานิติบัญญัติจึงผ่านรัฐบัญญัติให้ลบล้างมลทินผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดและได้รับโทษประหาร อีกทั้งจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกหลานของคนเหล่านั้น
เรื่อง ทีมงาน National Geographic
ภาพถ่าย Steve and Donna O’Meara, National Geographic Creative