หลังจากต้องหลบซ่อน ในห้องบนโกดังของบิดามานานกว่าสองปี แอนน์ แฟรงค์ และสมาชิกในครอบครัวอีก 7 คน ได้ถูกค้นพบโดยทหารนาซีเยอรมันและเจ้าหน้าที่ชาวดัตช์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1994 การค้นหาว่าใคร หรืออะไร ที่ทำให้ที่หลบซ่อนของพวกเขาถูกเปิดเผยยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอด 75 ปี
ทุกวันนี้ บรรดานักประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล แม้กระทั่งนักนิติวิทยาศาสตร์ยังคงใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อระบุตัวเปิดเผยที่อยู่ของแอนน์ แฟรงค์ รวมไปถึงอีกสมมติฐานหนึ่งว่า บางที แอนน์ แฟรงค์ อาจถูกพบเจอตัวโดยบังเอิญ
ไดอารี่ของแอนน์ หรือที่รู้จักกันในนาม บันทึกของแอนน์ แฟรงค์ ซึ่งเธอเขียนขึ้นเมื่อตอนอายุ 13-15 ปี เป็นหนังสือเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่แพร่หลายไปทั่วโลก สำหรับชาวเนเธอร์แลนด์ เรื่องราวของเธอ ซึ่งเป็นประชาชนธรรมดาที่เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยผู้อื่นซึ่งกำลังเดือดร้อนได้กลายมาเป็นเรื่องราวอันโดดเด่นของชาวดัตช์ในหน้าประวัติศาสตร์ช่วงการถูกยึดครองของเนเธอร์แลนด์ในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยในช่วงเวลานั้นมีการสังหารชาวดัตช์เชื้อสายยิวมากกว่าร้อยละ 80 สูงเป็นอันดับสองรองจากประเทศโปแลนด์
หลายปีผ่านไป มีผู้ต้องสงสัยราว 30 คนที่เชื่อว่าเป็นผู้ทรยศแอนน์ แฟรงค์ และครอบครัว
ข้อกล่าวหาได้รวมไปถึงลูกจ้างที่ช่างสงสัยเกินไป ซึ่งทำงานอยู่ใต้ที่ซ่อนตัวของแอนน์ แฟรงค์ มีการสืบสวน 2 กรณี คือในปี 1947 และในปี 1963 เพื่อสืบหาว่าผู้ร้ายคือใคร โดยคนแรกคือ Wilhelm Geradus van Maaren ซึ่งพ้นจากข้อกล่าวหาในภายหลังเนื่องจากไม่มีหลักฐาน และผู้ต้องสงสัยอีกคนหนึ่งคือ Lena Hartog-van Bladeren ซึ่งเป็นคนที่จัดการเรื่องสัตว์รบกวนในโกดัง (ที่ครอบครัวของแอนน์ แฟรงก์หลบซ่อนอยู่) มีการพูดกันว่า Lena สงสัยว่ามีคนหลบซ่อนตัวอยู่ในโกดัง และได้เผยแพร่ข่าวลือนี้ออกไป แต่ภายหลัง ได้มีการสัมภาษณ์ Lena และเธอยืนยันว่าไม่ทราบเรื่องที่มีคนหลบซ่อนตัว ก่อนการบุกจับกุมแอนน์ แฟรงก์
การเขียนรายชื่อผู้ต้องสงสัยยังคงดำเนินต่อไป และยังคงไม่มีหลักฐานมายืนยัน หรือพิสูจน์หักล้างความเชื่อมโยงใดๆ ที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ Gertjan Broek หัวหน้านักวิจัยของ บ้านแอนน์ แฟรงค์ (ANNE FRANK HOUSE) ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เชื่อว่า การพุ่งเป้าไปที่การค้นหาผู้ส่งข่าวที่อยู่ของแอนน์ แฟรงค์ อาจทำให้บรรดานักวิจัยไม่สามารถค้นพบสาเหตุที่แท้จริง
“การถามว่า ‘ใครทรยศ แอนน์ แฟรงค์’ นั่นหมายความว่าคุณมีสมมติฐานในใจเรียบร้อยแล้ว และทิ้งความเป็นไปได้อื่นๆ ไป” Gertjan กล่าว
เป็นไปได้ว่า ครอบครัวตระกูลแฟรงค์ไม่ได้ถูกทรยศแต่อย่างใด แต่พวกเขาอาจถูกพบเจอโดยบังเอิญ ซึ่งมีโอกาสว่าครอบครัวแฟรงค์ที่ซ่อนอยู่ถูกพบเจอในช่วงของการค้นหาผู้ฉ้อโกงคูปองปันส่วนอาหาร Gertjan กล่าวเสริม
มีข้อเท็จจริง 2-3 ข้อ ที่สนับสนุนสมมติฐานนี้ ข้อแรก เจ้าหน้าที่ชาวเยอรมันและชาวดัตช์ไม่ได้เตรียมยานพาหนะขนส่งในช่วงที่พวกเขามาถึงตัวแอนน์ แฟรงค์ อาจเป็เพราะพวกเขาไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ข้อสอง หนึ่งในสามเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในการจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเรื่องอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และข้อสุดท้าย ชายสองคนที่จัดหาที่หลบซ่อนและคูปองปันส่วนอาหารในตลาดมืดได้ถูกจับกุมเช่นกัน แต่หนึ่งในสองคนนี้ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นไปได้ว่าหนึ่งในสองคนนี้มีข้อตกลงพิเศษกับเจ้าหน้าที่ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเรื่องคูปองปันส่วนอาหารอยู่ในการบุกเข้าจับกุมตัว แอนน์ แฟรงก์ ด้วยเช่นกัน
แม้ว่าจะเป็นไปได้ที่สมาชิกครอบครัว 8 คนที่หลบซ่อนอยู่จะถูกค้นพบโดยบังเอิญ แต่ Gertjan ยังคงหาหลักฐานสนับสนุนสมมติฐานนี้ไม่ได้ “โชคร้ายที่ยังไม่มีหลักฐานที่นำไปสู่ข้อสรุป แต่ยิ่งคุณมีธงปักไว้ในการสืบหามากเท่าไหร่ คุณยิ่งสามารถจำกัดวงแคบของการสืบหาได้มากขึ้นเท่านั้น” เขากล่าวเสริม
นักสืบสวนอีกกลุ่มหนึ่งที่ประกอบไปด้วยนักนิติวิทยาศาสตร์ นักอาชญาวิทยา และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หวังว่าจะสามารถจำกัดการค้นหาผู้ร้ายให้เหลือเพียงคนเดียว ทีมสืบสวนซึ่งนำโดยอดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่เกษียณอายุแล้วอย่าง Vincent Pankoke ได้สืบสวนโดยใช้วิธีการสมัยใหม่ ทั้งการใช้แหล่งข้อมูลในอดีต สัมภาษณ์แหล่งข้อมูลจากทั่วโลก และใช้เทคโนโลยีสืบสวนจากศตวรรษที่ 21 เช่นการใช้เครื่องสแกน 3 มิติ กับห้องที่แอนน์ แฟรงค์ใช้หลบซ่อนเพื่อให้ทราบว่าเสียงจากห้องสามารถทะลุผ่านไปยังอาคารข้างเคียงได้อย่างไร
โดยทีมสืบสวนคดีไดอารีแอนน์ แฟรงค์ จะตีพิมพ์ผลการสืบสวนในหนังสือซึ่งคาดว่าจะตีพิมพ์ในปีหน้า
ในบรรดาครอบครัวของแอนน์ แฟรงค์ที่ถูกจับกุม มีเพียงอ็อตโต บิดาของแอนน์ที่รอดชีวิตในสงครามมาได้ อาจจะสายเกินไปที่จะค้นหาผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม การค้นหาความจริงในครั้งนี้ก็ยังมีประโยชน์ต่อคนอีกหลายคน
“ถ้าเราเข้าใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่นั่น เราก็จะเรียนรู้ว่า ผู้คนปฏิบัติต่อกันอย่างไร และเพื่อเป็นการเตรียมตัวสู่อนาคต” Emile Schrijver ผู้อำนวยการทั่วไปของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาวยิวและย่านประวัติศาสตร์ชาวยิวในกรุงอัมสเตอร์ดัม กล่าว