ไนเจอร์ : ชาติบนปากเหวในภูมิภาคระส่ำระสาย

ไนเจอร์ : ชาติบนปากเหวในภูมิภาคระส่ำระสาย 

ไนเจอร์ ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่ขึ้นชื่อว่าระสํ่าระสายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กระนั้น ประเทศนี้ก็ยังคงมีเสถียรภาพ แต่จะอีกนานเพียงใด

ฟ้ายังไม่ทันสาง รถปิ๊กอัปคันแรก ๆ แล่นผ่านด่านตรวจ แล้วไปจอดเรียงบนทะเลทรายนอกเมืองอากาเดซ

ผู้โดยสารเบียดเสียดขึ้นไปอัดกันบนรถมากถึงคันละ 25 คน แต่ละคนมีเพียงกระเป๋าใบเดียว พวกเขาสวมแว่นดำ โพกผ้ากันฝุ่นทราย และใส่เสื้อโค้ตหนาสำหรับคํ่าคืนที่หนาวเหน็บตลอดสามวันของการเดินทางสู่ลิเบีย ความอ่อนเยาว์ของคนเหล่านั้นชัดเจน  ระหว่างนั่งเบียดเสียดอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า พวกเขากระสับกระส่ายและเหม่อมองไปทางภูมิทัศน์เวิ้งว้างเบื้องหน้า

รถปิ๊กอัปแล่นเข้ามาเรื่อย ๆ พอถึงเวลาเคลื่อนขบวนก็มีรถรวมกันกว่าร้อยคัน รถทหารสองคันแล่นไปข้างหน้า คันหนึ่งเป็นรถนำ อีกคันปิดท้ายขบวน พอตกคํ่ากองทัพ จักรยานยนต์ก็ปรากฏและแล่นฉิวผ่านด่านตรวจของเมืองมาส่งคลื่นนักเดินทางผู้สิ้นหวังชุดสุดท้าย ซึ่งลนลานเข้ามาด้วยหวังจะต่อรองขอขึ้นรถที่แน่นเอี้ยดแล้วสักคัน  ท่ามกลางฝุ่นทรายฟุ้งวนและความสับสนวุ่นวายของผู้มาสายเหล่านี้ จักรยานยนต์คันหนึ่งไถลเข้ามาจอด  คนขับมีรูปร่างสูงตระหง่านทั้งที่ยังนั่งอยู่ เจ้าของเครารกครึ้มผู้คาบไม้จิ้มฟันมองฉากอันวุ่นวายนี้ด้วยรอยยิ้มรื่นรมย์ที่ไม่เข้ากับบรรยากาศรอบตัวเลย แล้วเขาก็หัวเราะเสียงดังและเอ่ยขึ้นว่า “นี่มันข้าวกับถั่ว!”

“นายใหญ่” ซึ่งเป็นชื่อที่ทุกคนในอากาเดซเรียกชายผู้นี้ไม่ได้พูดถึงอาหาร แต่เขาหมายถึงองค์ประกอบของขบวนรถต่างหาก ข้าวคือผู้โดยสารชาวไนเจอร์หลายร้อยคนในกองคาราวานรถปิ๊กอัปประจำสัปดาห์ที่มุ่งหน้าไปยังลิเบียเพื่อหางานทำ ส่วนถั่วคือคนอื่น ๆ ซึ่งมาจากที่อื่นและมุ่งหน้าไปที่อื่นด้วยเหตุผลส่วนตัว กลุ่มหลังมีอยู่คันละไม่เกินเจ็ดคน

นี่คือสูตรของนายใหญ่ เราอาจพูดได้ว่า เขาคือผู้ส่งออก “ถั่ว” ไม่รู้กี่พันกี่หมื่นคนนับแต่เริ่มทำธุรกิจนี้เมื่อปี 2001 และดำเนินสืบต่อมา แม้รัฐบาลไนเจอร์จะออกกฎหมายห้ามกิจการดังกล่าวในปี 2015 แล้วก็ตาม

ขบวนของนักเดินทางยังหลั่งไหลมาไม่หยุดและจะไม่หยุดด้วย

คาราวานรถปิ๊กอัปที่อัดแน่นด้วยชาวไนเจอร์และคนชาติอื่นๆ ในแอฟริกา เริ่มการเดินทางสามวันจากอากาเดซผ่านทะเลทรายสะฮาราไปยังลิเบีย
รถบรรทุกเสื้อผ้า เครื่องเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า และของใช้ในบ้านอื่นๆ มาถึงด่านศุลกากรในอากาเดซ ชาวไนเจอร์ที่ทำงานในลิเบียส่งเงินกลับบ้านในรูปข้าวของต่างๆ ไม่ใช่เงิน เพราะค่าเงินดีนาร์ของลิเบียไม่มีเสถียรภาพ

ความไร้เสถียรภาพที่รุนแรงขึ้นในแอฟริกาตะวันตกยืนยันเรื่องนี้ได้ งานของนายใหญ่คือการบริหารจัดการขบวนที่ว่านี้ และในฐานะผู้อำนวยความสะดวกให้การเดินทาง เขาอยู่บนยอดเครือข่ายสีเทาที่ใหญ่ที่สุดในอากาเดซก็ว่าได้ ก่อนรถจะถึงด่านตรวจ คนขับจะไปรับใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐที่สถานีขนส่งอากาเดซที่บังเอิญก็เป็นนายใหญ่นั่นเอง เพียงจ่ายเงินปั๊บ เซ็นชื่อปุ๊บ แล้วเมินไปทางอื่นการเดินทางก็เริ่มขึ้น

“ใคร ๆ ที่ไหนก็รู้จักผม” เขาประกาศ “กระทั่งในอินเทอร์เน็ตก็มีรูปนายใหญ่กับผู้อพยพ” เขาอำนวยความสะดวกให้คนเหล่านั้นเดินทางข้ามสะฮาราจากอากาเดซไปยังเมืองซาบาทางตอนกลางของลิเบีย จากนั้นก็ขอให้หุ้นส่วนธุรกิจที่นั่นนำพวกเขาออกจากซาบาไปกรุงตริโปลี เพื่อส่งต่อให้อีกเจ้าหนึ่ง ซึ่งจะพาคนเหล่านั้นลงเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปทางตะวันตก แต่นักเดินทางจะไปลงเอยที่ไหน จะเป็นที่อิตาลี สหรัฐฯ ห้องกักกัน หรือถูกทิ้งให้รอความตายอยู่กลางทะเลทรายหรือในทะเลก็อยู่นอกเหนือการบังคับกะเกณฑ์ของนายใหญ่แล้ว

เหนือสิ่งอื่นใด นายใหญ่คือผู้ธำรงเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งมีผู้ทำหน้าที่นี้น้อยเท่าน้อย สำหรับคนที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ ภาพขบวนรถนอกด่านคือสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม แต่แท้จริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้น ระบบหนึ่งกำลังทำงาน เป็นระบบที่ทุกคนเข้าใจและเอื้อประโยชน์ให้หลายฝ่าย แม้ไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดเพราะผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์สำหรับข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ไนเจอร์อยู่ในวงล้อมของความปั่นป่วนโกลาหล แม้จะเผชิญมรสุมรอบด้าน ตั้งแต่ความยากจนข้นแค้น การรุกคืบขยายตัวของทะเลทราย และการเพิ่มขึ้นของประชากร ไปจนถึงการขาดแคลนที่ดินเพาะปลูก และระบบการเมืองอันคลอนแคลน แต่ไนเจอร์ก็ไม่ใช่แหล่งบ่มเพาะความรุนแรงอย่างบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน  นี่คือประเทศที่ผู้คนหนีตายใช้เป็นทางผ่าน ไม่ใช่หนีออกไป

เมืองอากาเดซเป็นชุมทางการค้ามายาวนาน โดยเชื่อมภูมิภาคซาเฮลกับแอฟริกาเหนือ และแอฟริกาตะวันตกกับตะวันออกกลาง สถานีรถขนส่งของเมืองในภาพเป็นศูนย์กลางผู้อพยพ
ปล่องหลายร้อยปล่องเรียงรายอยู่ในเหมืองทองคำทางตอนเหนือของไนเจอร์ติดกับแอลจีเรีย ทีมใช้ปล่องนี้ลำเลียงคนงานเหมืองลงไปยังชั้นสายแร่ทองลึกกว่า 90 เมตรก่อนจะนำหินขึ้นมาบดเพื่อแยกทองคำ

ไนเจอร์เป็นประเทศที่ใหญ่กว่ารัฐเทกซัสเกือบสองเท่า และมีอัตราการเกิดสูงกว่าราว 3.5 เท่า แต่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศแค่ร้อยละ 0.5 เท่านั้น  ความเสี่ยงของไนเจอร์ก็นับว่าใหญ่หลวงจริง ๆ โดยเฉพาะสถิติที่มีเหตุผลสองข้อ นั่นคือตัวเลขจีดีพีต่อหัวประชากรที่ประมาณหนึ่งพันดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าตํ่าที่สุดแห่งหนึ่งเสริมเสถียรภาพ” (ตามถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ)

กองทัพอากาศสหรัฐฯสร้างลานบินใกล้เมืองอากาเดซสำหรับรองรับโดรนติดอาวุธ ทหารสหรัฐฯ หลายร้อยนาย ที่ประจำการที่นี่จะช่วยต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายระดับภูมิภาค รวมทั้งกลุ่มย่อยของไอเอสและอัลกออิดะห์

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้กองทัพอากาศสหรัฐ ฯ ตั้งฐานทัพที่ชานเมืองอากาเดซ และกองกำลังปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ เข้าร่วมภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายในไนเจอร์ ซึ่งภารกิจหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคมปี 2017 ส่งผลให้ทหารสหรัฐ ฯ สี่นาย ทหารไนเจอร์สี่นาย และล่ามไนเจอร์หนึ่งคน เสียชีวิตจากการซุ่มโจมตีของกลุ่มนักรบพลเรือนอิสลามติดอาวุธ  นี่ช่วยอธิบายว่าเพราะเหตุใดงบประมาณแผ่นดินของไนเจอร์จึงประกอบด้วยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศสูงถึงร้อยละ 40 และยังเป็นเหตุผลที่ทำให้วิถีอันย้อนแย้งในการส่งชาวแอฟริกันตะวันตกไปทั่วโลกของนายใหญ่ช่วยธำรงรักษาภูมิภาคอันเปราะบางนี้ไว้ได้

เรื่อง โรเบิร์ต เดรเพอร์

ภาพถ่าย ปาสกาล แมตร์

* อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562


สารคดีแนะนำ

75 ปีของการสืบหาผู้ทรยศ แอนน์ แฟรงค์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.