แนวคิดที่ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีบรรพบุรุษ ชาวยุโรป ผู้มี “สายเลือดบริสุทธิ์” ซึ่งมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ยุคแมมมอทขนยาวยังเดินอยู่บนโลก ก่อให้เกิดคตินิยมตั้งแต่ก่อนยุคนาซี แนวคิดนี้หล่อเลี้ยงการเหยียดเชื้อชาติของคนผิวขาว และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้โหมกระพือให้ผู้คนหวาดกลัวผลกระทบจากผู้อพยพ ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์กำลังเผยคำตอบใหม่ๆ ของคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว ชาวยุโรป เป็นใครและมาจากไหนกันแน่ การค้นพบของพวกเขาระบุว่า ทวีปนี้เป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยน้ำแข็ง ชาวยุโรปในปัจจุบันไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน ล้วนแล้วแต่เป็นลูกผสมของสายเลือดโบราณจากแอฟริกา ตะวันออกกลาง และทุ่งหญ้าสเตปป์ในรัสเซีย โดยมีหลักฐานจากโบราณวัตถุ ผลการวิเคราะห์ฟันกับกระดูกโบราณ และภาษาศาสตร์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือหลักฐานที่ได้จากพันธุศาสตร์บรรพกาล
ย้อนหลังไป 32 ปีก่อน ผลการศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ช่วยวางรากฐานให้แนวคิดที่ว่า ผู้คนนอกทวีปแอฟริกาทั้งหมดสืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่เดินทางออกจากกาฬทวีปเมื่อกว่า 60,000 ปีก่อน และเมื่อราว 45,000 ปีก่อน มนุษย์ยุคใหม่ก็เริ่มเดินทางไปยังยุโรปผ่านตะวันออกกลาง
ยุโรปในยุคนั้นเป็นสถานที่ต้องห้าม พืดน้ำแข็งหนาหลายกิโลเมตรปกคลุมบางส่วนของทวีป ในบริเวณที่อากาศอบอุ่นเพียงพอก็จะมีสัตว์ป่า และยังมีมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ซึ่งบรรพบุรุษเดินทางออกจากแอฟริกาในช่วงหลายแสนปีก่อนหน้าเรา และปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศอันหนาวเหน็บและทารุณได้ก่อนเราแล้ว
ชาวยุโรป ยุคใหม่กลุ่มแรกดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ โดยอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ และเดินทางเร่ร่อนไปทั่ว พวกเขาเดินลัดเลาะไปตามลำน้ำ เลียบแม่น้ำดานูบลึกเข้าไปในใจกลางยุโรปตะวันตกและตอนกลาง เป็นเวลาหลายพันปีที่พวกเขาไม่ได้สร้างผลกระทบใดๆต่อโลก ดีเอ็นเอของชาวยุโรปกลุ่มแรกนี้ระบุว่า พวกเขาจับคู่กับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ซึ่งต่อมาสูญพันธุ์ไปภายใน 5,000 ปีหลังจากนั้น ปัจจุบัน มีชาวยุโรป ราวร้อยละสองที่จีโนมมีดีเอ็นเอของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลอยู่ด้วย
ขณะที่ยุโรปอยู่ในสมัยน้ำแข็ง มนุษย์สมัยใหม่ก็ตั้งรกรากอยู่ทางใต้ที่ไร้น้ำแข็ง และปรับตัวเข้ากับภูมิอากาศ หนาวเย็นได้ ราว 27,000 ปีก่อน มีประชากรมนุษย์กลุ่มนี้อยู่เพียงประมาณหนึ่งพันคน ซึ่งยังชีพด้วยการล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ในถ้ำที่พวกเขาอาศัยอยู่ มนุษย์กลุ่มนั้นวาดและสลักภาพสัตว์ที่ตนล่ามาได้ไว้อย่างน่าดูชม
ราว 14,500 ปีก่อน ขณะที่ยุโรปเริ่มอบอุ่นขึ้น มนุษย์ก็ติดตามธารน้ำแข็งที่ถอยร่นขึ้นไปทางเหนือ ในช่วงหลายพันปีต่อจากนั้น พวกเขาพัฒนาเครื่องมือหินที่ซับซ้อนมากขึ้น และเริ่มตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านเล็กๆ นักโบราณคดีเรียกยุคนี้ว่า เมโสลิทิก (Mesolithic) หรือยุคหินกลาง (Middle Stone Age)
ในทศวรรษ 1960 นักโบราณคดีชาวเซอร์เบียค้นพบหมู่บ้านประมงยุคหินกลางตรงคุ้งของแม่น้ำดานูบ แหล่งโบราณคดีที่เรียกว่า เลเพนสกีเวียร์ (Lepenski Vir) นี้เป็นชุมชนที่มีความซับซ้อนและเป็นบ้านของประชากรมากถึงหนึ่งร้อยคน ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 9,000 ปีก่อน
กระดูกซึ่งพบที่เลเพนสกีเวียร์ระบุว่า ผู้คนที่นั่นยังชีพด้วยปลา “อาหารของพวกเขาร้อยละ 70 เป็นปลา” วลาดีมีร์ นอยโควิช ผู้อำนวยการแหล่งโบราณคดี บอกและเสริมว่า “พวกเขาอยู่ที่นี่เกือบ 2,000 ปีเห็นจะได้ จนกระทั่งถูกชาวไร่ชาวนาเข้ามาไล่ที่ครับ”
ที่ราบคอนยาในอานาโตเลียตอนกลางเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของตุรกีสมัยใหม่ ดักลาส เบร์ด นักโบราณคดี บอกว่า ที่นั่นเป็นบ้านของชาวไร่ชาวนามาตั้งแต่วันแรกๆ ที่เกษตรกรรมถือกำเนิดขึ้น เบร์ดขุดสำรวจหมู่บ้านยุคก่อนประวัติศาสตร์ชื่อบอนชูกลู (Boncuklu) สถานที่ที่ผู้คนเริ่มปลูกข้าวสาลีโบราณสองพันธุ์ ใกล้อรุณรุ่งของยุคหินใหม่เมื่อราว 10,300 ปีก่อน
ภายในหนึ่งพันปี สิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติยุคหินใหม่ แผ่ขยายจากอานาโตเลียขึ้นไปถึงทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป พอถึงราว 6,000 ปีก่อน ก็มีชาวนาและคนเลี้ยงปศุสัตว์กระจายอยู่ทั่วยุโรป
เป็นที่ชัดเจนมานานแล้วว่า ชาวยุโรปเรียนรู้วิธีเพาะปลูกจากชาวตุรกีหรือชาวเลแวนต์ แต่พวกชาวไร่ชาวนามาจากพื้นที่เหล่านั้นด้วยหรือไม่ เป็นเวลาหลายสิบปีที่นักโบราณคดีคิดกันว่า นวัตกรรมใหม่ที่มาเป็นชุดเข้าสู่ทวีปยุโรปผ่านการค้าขายแลกเปลี่ยนและการบอกปากต่อปาก ไม่ใช่ผ่านทางผู้อพยพ
ทว่าหลักฐานทางดีเอ็นเอจากบอนชูกลูช่วยให้เห็นว่า การอพยพย้ายถิ่นมีส่วนมากกว่าที่คิด ชาวไร่ชาวนาในบอนชูกลูเก็บศพผู้วายชนม์ไว้ใกล้ตัว โดยฝังในท่านอนคุดคู้เหมือนทารกไว้ใต้พื้นบ้าน นับจากต้นปี 2014 เบร์ดทยอยส่งตัวอย่างดีเอ็นเอที่สกัดได้จากชิ้นส่วนกะโหลกและฟันจากร่างกว่าสิบร่างไปยังห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอหลายแห่ง
ดีเอ็นเอที่สกัดได้จากร่างที่ขุดพบตรงกับชาวไร่ที่มีชีวิตอยู่และเสียชีวิตลงเมื่อหลายร้อยปีให้หลัง และอาศัยอยู่ห่างไปหลายร้อยกิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงเหนือ นั่นหมายความว่า ชาวนาอานาโตเลียอพยพและแพร่กระจายยีนของพวกเขา เช่นเดียวกับที่เผยแพร่วิถีชีวิต
เมื่อราว 5,400 ปีก่อน ทั่วทั้งยุโรป กลุ่มชุมชนยุคหินใหม่ที่เคยเฟื่องฟูเริ่มหดตัวลงหรือไม่ก็สูญหายไปพร้อมๆกัน การถดถอยนี้ทำให้นักโบราณคดีงุนงงอยู่หลายทศวรรษ
หลังช่องว่างนาน 500 ปี ประชากรก็เริ่มฟื้นตัวและเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่บางอย่างแตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป หมู่บ้านและสุสานที่ฝังทุกคนรวมกันตามแบบยุคหินใหม่ ถูกแทนที่ด้วยเนินหลุมศพขนาดใหญ่โตของชายฉกรรจ์หนึ่งเนินต่อหนึ่งคน ไกลขึ้นไปทางเหนือ จากรัสเซียถึงแม่น้ำไรน์ วัฒนธรรมใหม่ปรากฏขึ้น เรียกว่า วัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ (Corded Ware)
พิพิธภัณฑ์รัฐยุคก่อนประวัติศาสตร์ในเมืองฮัลเลอ ประเทศเยอรมนี มีหลุมศพที่ตกแต่งด้วยเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบอยู่หลายสิบแห่ง โดยมีหลายแห่งที่นักโบราณคดีรีบเก็บกู้ศิลปวัตถุขึ้นมาก่อนคนงานจะเริ่มลงมือก่อสร้าง
หลุมศพของกลุ่มชนที่คิดค้นเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบมีเอกลักษณ์ชัดเจนเสียจนนักโบราณคดีแทบจะไม่ต้องใช้การหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี ตามปกติแล้ว ผู้ชายจะถูกฝังในท่านอนตะแคงขวา ส่วนผู้หญิงนอนตะแคงซ้าย ขาทั้งสองข้างงอเข่าขึ้นถึงอก ใบหน้าหันไปทางทิศใต้
นักวิจัยคาดว่า กลุ่มชนที่คิดค้นเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบน่าจะมีเชื้อสายใกล้ชิดกับชาวนายุคหินใหม่ ทว่าดีเอ็นเอของคนเหล่านี้กลับมียีนที่แตกต่างและเป็นของใหม่สำหรับยุโรปในยุคนั้น แต่ยังคงตรวจพบได้ในปัจจุบันในกลุ่มประชากรยุคใหม่ของยุโรป
ใกล้เมืองจาบัลจ์ในเซอร์เบีย ปีออตร์ โวดาร์ชัก นักโบราณคดีชาวโปแลนด์ และเพื่อนร่วมงาน ขับรถกระบะไปยังเนินดินที่ก่อขึ้นเมื่อ 4,700 ปีก่อน บนที่ราบขนาบแม่น้ำดานูบ เนินดินลักษณะเดียวกับเนินแห่งนี้ซึ่งสูงสามเมตรและกว้าง 30 เมตร เป็นภูมิลักษณ์หนึ่งเดียวในบริเวณนั้น
เมื่อยืนอยู่บนเนิน เขายกผ้าใบออก เผยให้เห็นสิ่งที่อยู่ด้านล่าง นั่นคือคูหาสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีโครงกระดูกของหัวหน้าเผ่านอนหงายหลังและงอเข่า
“พิธีฝังศพเปลี่ยนไปในช่วงราว 2800 ปีก่อนคริสตกาลครับ” โวดาร์ชักบอกขณะคุกเข่าอยู่เหนือโครงกระดูก “ผู้คนก่อเนินดินเหล่านี้ให้มีขนาดใหญ่เพื่อตอกย้ำเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ขับเน้นบทบาทของผู้ชายและอาวุธ นั่นเป็นเรื่องใหม่ในยุโรปครับ”
อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในพื้นที่ที่ห่างออกไป 1,300 กิโลเมตรทางตะวันออก พื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นทุ่งหญ้าสเตปป์ทางตอนใต้ของรัสเซียและทางตะวันออกของยูเครน กลุ่มชนเร่ร่อนชื่อยัมนายา ซึ่งเป็นชนกลุ่มแรกๆของโลกที่เริ่มขี่ม้า คิดค้นล้อขึ้น พวกเขาสร้างชุมชนถาวรขึ้นน้อยแห่ง แต่ฝังบรรดาชายผู้มีตำแหน่งสำคัญๆพร้อมเครื่องประดับตกแต่งสำริดและเงินไว้ในหลุมศพขนาดใหญ่ที่ยังพบได้ทั่วทุ่งหญ้าสเตปป์
การขุดค้นทางโบราณคดีเผยว่า พอถึงช่วง 2800 ปีก่อนคริสตกาล ชนเผ่ายัมนายาเริ่มมุ่งหน้าไปทางตะวันตก เนินดินของโวดาร์ชักใกล้จาบัลจ์เป็นหลุมศพของชนเผ่ายัมนายาที่อยู่ออกไปทางตะวันตกมากที่สุดเท่าที่ค้นพบจนถึงทุกวันนี้ แต่นักพันธุศาสตร์บรรพกาลบอกว่า หลักฐานทางพันธุกรรมแสดงว่า ประชากรจากกลุ่มชนที่คิดค้นเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบหลายคนเป็นลูกหลานของชนเผ่ายัมนายา
อาจพูดได้ว่า ชาวยุโรปทั้งหมดในทุกวันนี้เป็นเชื้อชาติผสม สูตรปรุงพันธุกรรมสำหรับชาวยุโรปทั่วๆไปคนหนึ่ง มีชาวไร่ยัมนายาและชาวไร่อานาโตเลียส่วนหนึ่ง กับส่วนเล็กๆจากชนเผ่าเก็บของป่าล่าสัตว์จากแอฟริกาอีกส่วนหนึ่ง
เรื่อง แอนดรูว์ เคอร์รี
ภาพถ่าย เรมี เบนาลี
***อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จี่โอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2562
สารคดีแนะนำ