นักสำรวจยุคบุกเบิกขั้วโลกรับมือกับความโดดเดี่ยวอย่างไร

นักสำรวจ เซอร์ เออร์เนสต์ แช็คเลตัน และลูกทีมต้องพบเจอกับเดือนแห่งความโดดเดี่ยว ความเสี่ยง และความไม่แน่นอนหลังจากที่เรือสำรวจ เอ็นดูเรนซ์ ต้องติดอยู่ในแผ่นน้ำแข็งในปี 1915 การเล่นฟุตบอลถือเป็นกิจกรรมผ่อนคลายที่แช็คเลตันสนับสนุนให้ทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกทีมมีกิจกรรมและเสริมขวัญกำลังใจ ภาพถ่ายโดย FRANK HURLEY, SCOTT POLAR RESEARCH INSTITUTE, UNIVERSITY OF CAMBRIDGE/GETTY


‘ยารักษาจิตใจ’ ของ นักสำรวจ ท่ามกลางความโดดเดี่ยวมีทั้งการทำกิจวัตรประจำวันอย่างเข้มงวด, ทำตัวให้มีชีวิตชีวา และมองไปถึงผลลัพธ์ที่ดีในตอนจบ

ในเหตุการณ์ที่เรือของ นักสำรวจ ขั้วโลก เอ็นดูร์เรนซ์  ติดอยู่ท่ามกลางแผ่นน้ำแข็งและเริ่มจมลงอย่างรวดเร็ว เซอร์ เออร์เนสต์ แช็คเลตัน (Sir Ernest Shackleton) ได้สั่งให้ลูกทีมเก็บสัมภาระส่วนตัวไว้ได้แค่คนละ 1 กิโลกรัม

แต่เขามีข้อยกเว้นในการเลือกเก็บแบนโจ (Banjo – เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายชนิดหนึ่ง) ของ ลีโอนาร์ด ฮัสซีย์ นักอุตุนิยมวิทยาในทีมสำรวจ แม้ว่าตัวเขาจะเล่นได้ไม่กี่เพลงก็ตาม หลังจากนั้น ฮัสซีย์ได้เล่นเพลงและจัดการสังสรรค์ท่ามกลางความมืดอันยาวนาน วันที่ไม่ได้รับแสงแดด เซอร์ เออร์เนสต์ ในฐานะหัวหน้าทีมต้องคอยระวังถึงผลกระทบทางจิตใจจากความเครียดและความโดดเดี่ยว

“มันเป็นยารักษาจิตใจ” เซอร์ เออร์เนสต์กล่าวถึงดนตรีและเสริมว่า “เราต้องการมัน” เขาช่วยให้ฮัสซีย์จัดคอนเสิร์ตและให้ทุกคนในทีมร้องรำทำเพลงร่วมกันในทุกสัปดาห์

จากที่เป็นการเดินทางเพื่อการสำรวจในตอนแรก กลับกลายเป็นช่วงเวลา 20 เดือนแห่งการเอาชีวิตรอด หลังจากเรือสำรวจเอนดูเรนซ์ถูกห้อมล้อมไปด้วยแผ่นน้ำแข็ง เออร์เนสต์ และลูกทีมอีก 27 คนสามารถก้าวผ่านมันมาด้วยจิตวิญญาณอันเข้มแข็งและการไม่สูญเสียกำลังใจ ภาพถ่ายโดย FRANK HURLEY, SCOTT POLAR RESEARCH INSTITUTE, UNIVERSITY OF CAMBRIDGE/GETTY

มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เคยมีประสบการณ์ถูกโดดเดี่ยวในแบบเดียวกับนักสำรวจบุกเบิกแอนตาร์กติกยุคแรกๆ แม้การสำรวจจะเป็นไปอย่างราบรื่น พวกเขาก็ต้องตัดขาดจากครอบครัว เพื่อน หรือแม้กระทั่งสังคมมนุษย์เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ท่ามกลางแผ่นน้ำแข็ง ความมืดมิด และความหนาวอันขื่นขม และอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ทุกอย่างย่ำแย่ลง

ทีมสำรวจที่ไปกับเรือ เบลิกา เรือสำรวจลำแรกที่แล่นสู่แอนตาร์กติกในปี 1897 ต้องพบเจอกับสภาวะความจำเจและความโดดเดี่ยว ซึ่งเรื่องราวอันน่าเศร้านี้เองที่ทำให้ เซอร์เออร์เนสต์สั่งให้นำแบนโจมาในยามที่พวกเขาต้องสละเรือ

รอน โรเบิร์ต นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ แห่งมหาวิทยาลัยคิงสตัน ลอนดอน กล่าวถึงความโดดเดี่ยวในแอนตาร์กติกาว่า “มนุษย์ยังคงมีความต้องการพื้นฐานในเรื่องของการติดต่อ การสื่อสาร และการเคลื่อนไหวร่างกาย (Physical Movement)”

ชีวิตบนเรือเอ็นดูร์เรนซ์ในช่วงฤดูหนาวอันยาวนานในปี 1915 มีทั้งการเล่นโดมิโน หมากรุก สูบไปป์ และการเล่นแบนโจ “เรามีช่วงเวลาเย็นอันสุขสันต์” สมาชิกนักสำรวจคนหนึ่งเขียนเอาไว้ในบันทึก “แม้จะลำบากตรงที่จะหาเพลงที่เราจะไม่เล่นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ได้” ภาพถ่ายโดย FRANK HURLEY, SCOTT POLAR RESEARCH INSTITUTE, UNIVERSITY OF CAMBRIDGE/GETTY

100 คำต่อเดือน

จอห์น ดูดนีย์ (John Dudeney) อดีตรองผู้อำนวยการขององค์การสำรวจแอนตาร์กติกของอังกฤษ ได้เดินทางไปยังแอนตาร์กติกาครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 21 ปี ในปี 1966 “ผมนึกไม่ออกเลยว่าจะต้องเจอกับอะไร” เขากล่าวและเสริมว่า “ผมจำได้ว่า เรือแล่นออกจากท่าเรือเซาแทมป์ตัน มองย้อนกลับไปจากตรงท้ายเรือ แล้วคิดว่า ‘ผมทำอะไรลงไป’”

อีกสองปีครึ่งต่อมา เขาอาศัยอยู่ในฐานสำรวจฟาราเดย์ของอังกฤษ ตั้งอยู่ในพื้นที่อันห่างไกลและสันโดษกับเพื่อนร่วมทีม 12 คน สภาพแวดล้อมนั้นถูกขัดจังหวะเพียงครั้งเดียว นั่นคือการมาถึงของเรือส่งกำลังบำรุงในรอบฤดูร้อน โดยในปีที่สอง เขากลายเป็นผู้บัญชาการฐาน

จอห์น ซึ่งขณะนี้มีอายุ 75 ปี เล่าถึงชีวิตในช่วงนั้นว่า “ในตอนนั้น เราติดต่อกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงได้ผ่านข้อความทางวิทยุยาวเพียง 100 คำ ส่งได้เพียงหนึ่งครั้งต่อเดือนเท่านั้น” ดูดนีย์กล่าวต่อไปว่า “เราสามารถรับข้อความยาว 200 คำใน 1 ครั้ง ไม่มีข้อความไหนที่เป็นเรื่องส่วนตัวเลย เพราะข้อความนั้นต่อส่งผ่านโอเปอเรเตอร์วิทยุที่จะส่งผ่านรหัสมอร์ส”

“เคล็ดลับในการมีชีวิตที่ดีในแอนตาร์กติกา คือการเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับตัวเอง” เขากล่าวทิ้งท้าย

พลเรือเอก ริชาร์ต เบิร์ด ผู้ที่เคยอยู่ในช่วงกักตัวอย่างสมบูรณ์แบบ กำลังเตรียมอาหารอยู่ที่ฐาน ซึ่งก็คือกระท่อมอันห่างไกลในหิ้งน้ำแข็งรอสส์ สถานที่ที่เขาต้องใช้ชีวิตให้รอดในห้วงความหนาวเย็นอันน่าสะพรึงในปี 1934 ภาพถ่ายโดย ULLSTEIN BILD, GETTY

ความอ้างว้างที่ทำลายสมอง

พลเรือเอก ริชาร์ด เบิร์ด ผู้ที่เคยใช้ชีวิตในหน้าหนาวอย่างโดดเดี่ยวที่ฐานอุตุนิยมวิทยาบนหิ้งน้ำแข็งรอสส์ (Ross Ice Shelf) ธารน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาเมื่อปี 1934 ได้เขียนบันทึกความทรงจำที่ชื่อว่า Alone โดยเขาได้เขียนถึงช่วงเวลาที่รู้สึกโดดเดี่ยวอย่างสุดขั้วว่า “คนที่มีชีวิตรอดอย่างมีความสุขได้คือคนที่ต้องเพิ่งพาสติปัญญาอย่างลึกซึ้ง เช่นเดียวกันสัตว์จำศีลในหน้าหนาวที่ต้องพึ่งพาชั้นไขมัน”

แม้จะต้องปะทะกับความโดดเดี่ยว ความหนาวสุดขั้ว และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากเตาผิงที่เกือบฆ่าเขา เบิร์ดยังคงเลือกทำกิจวัตรและหาเรื่องคิดในสมองให้ยิ่งวุ่นวายเข้าไว้ในระหว่างที่เขาต้องอยู่ท่ามกลางเดือนแห่งความมืดมิดอันยาวนาน และอุณหภูมิที่ลดต่ำลงกว่า -60 องศาเซลเซียส

“ผมรับรู้ได้ว่าการทำกิจวัตรประจำวันอย่างมีระเบียบและสอดคล้องคือสิ่งที่ใช้ป้องกันผลที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่พิเศษนี้” เบิร์ดกล่าว

โรเบิร์ต นักจิตวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เหล่านักสำรวจแอนตาร์กติกได้มาอาจไม่ใช่วิธีการรับมือกับความโดดเดี่ยว ความเบื่อหน่าย หรือความเศร้าหมอง แต่คือตัวอย่างของความเป็นผู้นำเช่นเซอร์เออร์เนสต์ที่มองไปถึงสิ่งที่อยู่ข้างหน้าและคิดถึงแผนในอนาคตที่เป็นไปได้ ในช่วงที่เรือของเขาล่ม เขาพูดกับลูกทีมอย่างสบายๆ ว่า “เรือล่มไปแล้ว ที่เก็บของก็หายไปหมดแล้ว สงสัยต่อไปพวกเราก็คงต้องกลับบ้าน”

“นั่นคือความฉลาดของเซอร์เออร์เนสต์” โรเบิร์ต กล่าวและเสริมว่า “เขายังสามารถมีความหวัง ความเชื่อ มองถึงตอนจบที่มีความสุข และคิดแผนที่เป็นไปได้เพื่อบรรลุเป้าหมาย”

เรื่อง ROFF SMITH


อ่านเพิ่มเติม ภาพนี้ต้องขยาย : จุดจบของทีมสำรวจ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.