เที่ยว ปราสาทพระวิหาร สถาปัตยกรรม 1,100 ปี ประวัติศาสตร์แน่น ประสบการณ์จัดเต็มใน กัมพูชา

ปราสาทพระวิหาร ซัวชไดย… เปรี๊ยะวิเฮียร์

ปราสาทหินดูจะไม่ใช่หมุดหมายสำคัญอันดับแรกๆ สำหรับนักเดินทางชาวไทยทั่วไป เสียเท่าไหร่ นอกจากคนที่สนใจ ใคร่รู้ในเรื่องเฉพาะเรื่องของโบราณคดี สถาปัตยกรรม อารยธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ ของกลุ่มชนคนโบราณ ความรุ่งเรืองของอาณาจักรต่างๆ และรู้ถึงสัจธรรมที่ว่าในเบื้องลึกของทุกเรื่องราวเหล่านั้น มีความน่าสนใจแฝงเร้นไว้อีกมากมาย ไม่รู้จบ ปราสาทหินในเมืองไทยทุกวันนี้มีปรากฏอยู่ไม่ใช่น้อย ยิ่งใหญ่ เก่ากาล แตกต่างกันไปตามกาลเวลา แต่ที่ถือได้ว่าเป็นปราสาทหินที่ทรงคุณค่าอลังการ ทั้งด้านความยิ่งใหญ่ เก่าแก่ เอกอุแห่งความงดงาม ปราสาทพระวิหาร ไม่เป็นสองรองใคร

การจะไปเยือนปราสาทพระวิหารได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เช่นปราสาทหินอื่นๆ ทั่วไป ในประเทศไทย ทั้งระยะทางที่ยาวไกลกว่า 600 กิโลเมตรจาก กรุงเทพฯ สู่จังหวัดศรีสะเกษ ความสูงชันของที่ตั้งตัวปราสาท หรือเหตุผลปัญหาด้านชายแดนไทยกับกัมพูชาบางเวลา ฯลฯ… แต่พวกเราก็ดั้นด้นเดินทางมาถึงจนได้ อย่างที่วาดหวังไว้

เช้ามืด ก่อนดวงตะวันจะสาดแสง พวกเรารอเวลาเตรียมพร้อมกันอยู่ที่ผามออีแดง ทันทีที่ลูกไฟแห่งสุริยะจักรวาล โผล่พ้นขอบฟ้า เสียงชัตเตอร์ ก็ดังระรัวประชันกันราวกับข้าวตอกแตก ณ จุดนี้ในฤดูหนาว มันคือจุดชมทะเลหมอกที่งามงดที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

จากผามออีแดง เดินลัดเลาะไปตามเชิงผา และลานหิน เพื่อสำรวจแหล่งตัดหิน ตื่นตะลึงกับภาพทวยเทพ 3 องค์ที่ถูกบรรจงแกะสลักนูนต่ำ ที่เชิงหน้าผาอันน่าอัศจรรย์ รวมทั้งสถูปคู่อันน่าพิศวงในความหมายของการสรรสร้างมันขึ้นมา

เมื่อผ่านรั้วกั้นเขตพรมแดนเข้าไป เพื่อเดินทางสู่เชิงบันไดขั้นแรก เป็นโบราณสถานอันยิ่งใหญ่อลังการที่สุดแห่งหนึ่งของมนุษยชาติบนโลกใบนี้ ที่ถูกสร้างขึ้นบนส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก ที่กางกั้นพรหมแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของปราสาทพระวิหารคือ ณ จุด 14 องศา 23 ลิปดา 28.26 ฟิลิปดาเหนือ 104 องศา 40 ลิปดา 48.92 ฟิลิปดาตะวันออก เทวสถานแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นด้วยความยากลำบากแสนสาหัสจากมันสมอง และหยาดเหงื่อแรงกายของมวลมนุษย์นับพันนับหมื่น เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้ประจักษ์ได้ถึงพลังแห่งศรัทธาอันเกริกไกร

ตามความเชื่อของชาวขอมในสมัยโบราณกาล มีการยกย่องให้ปราสาทแห่งนี้เปรียบประดุจดัง “ศรีศิขรีศวร” อันมีความหมายถึง…”ภูเขาแห่งพระอิศวร” เป็นที่ประดิษฐานศิวะลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์ ชาวกัมพูชาเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “เปรี๊ยะวิเฮียร์” หรือพนมพระวิหาร การก่อสร้างเทวสถานแห่งนี้ สร้างก่อนการกำเนิดกรุงสุโขทัยราว 200 ปี ตรงกับสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 คือระหว่าง พ.ศ. 1432-1443 จากหลักศิลาจารึกจดจารไว้ว่า

ในสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 พระองค์ได้ทรงสถาปนาให้ปราสาทนี้เป็นศูนย์กลางรวบรวมจิตใจของประชาชนหลายเชื้อชาติ เช่น พวกจาม ขอม ส่วย เป็นกุศโลบายสำคัญแยบยลอย่างหนึ่ง… เพื่อมุ่งหมายให้ทุกชีวิตในอาณาจักรของพระองค์มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเพื่อเป็นสิ่งผูกมัดยึดเหนี่ยวจิตใจ ความศรัทธา

ทางขึ้นเทวาลัยและปราสาทแห่งนี้ ถูกออกแบบและสร้างให้ตั้งตระหง่านตระการตา หันหน้ามาทางทิศเหนือ ในเขตประเทศไทย ผิดแผกแตกต่างจากปราสาทอื่นๆ ซึ่งส่วนมากมักจะสร้างให้ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพื่อรับพลังแสงอันแผดกล้าจากสุริยะเทพ

 

ปราสาทพระวิหารมีลักษณะแผนผังที่ใช้แกนกลางเป็นหลักสำคัญสูงสุด ซึ่งความนิยมแผนผังเช่นนี้ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา กลุ่มของอาคารหลักซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา ประกอบด้วยปราสาทประธานเป็นจุดศูนย์กลางหันหน้าไปทางทิศเหนือล้อมรอบด้วยระเบียงคดทั้งสี่ด้าน และภาพโดยรวมของปราสาทพระวิหารที่ปรากฏเป็นรูปธรรมโดดเด่นในอีกมุมมองหนึ่งต่อๆ ลงมาคือ ปราสาทพระวิหารถูกสร้างและประกอบขึ้นด้วยหมู่เทวาลัย และโคปุระ หรือซุ้มประตูอันยิ่งใหญ่จำนวนมากถึง 5 ชั้น

ปราสาทพระวิหารมีความยาวทั้งสิ้นตั้งแต่บันไดขั้นแรกจนถึงจุดสูงสุดประมาณ 800 เมตร ปัจจุบัน ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอจอมกระสาน เขตจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา หากแต่ในอดีตที่ผ่านมา ก่อน พ.ศ. 2505 นั้น…ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตการปกครองของประเทศไทย เป็นสมบัติของปวงชนชาวประเทศไทย โดยขึ้นอยู่ภายใต้เขตการปกครองของบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ก่อนที่ศาลโลกจะพิพากษาให้ตกเป็นของกัมพูชา

ปราสาทพระวิหาร มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า “Prasat Preah Vihear”

เทือกเขาพนมดงรัก หมายถึง “คานหาบ” อาจเพราะมีลักษณะสัณฐาน ของภูเขาที่แบนราบ ที่ตั้งของปราสาทพระวิหารนั้น จะตั้งอยู่ปลายหน้าผาโดยเฉพาะบริเวณปรางค์ประธานมีการเปรียบเสมือน “มงกุฎแห่งเทพเจ้า”

 

ท่ามกลางป่าดงดิบอันรกชัฏแห่งเทือกเขาพนมดงรักเมื่อ พ.ศ. 2442 คณะสำรวจซึ่งนำโดยพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ (พระองค์เจ้าชุมพล) พระโอรสองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นหัวหน้าคณะ ท่านได้บุกป่าฝ่าดงจากเมืองศรีสะเกษเข้าไปสำรวจป่าดงดิบในเขตติดชายแดนประเทศกัมพูชา จากการส่องกล้องไปยังยอดเขาพนมดงรักอันสูงชันสุดสายตา พระองค์เจ้าชุมพลได้สังเกตเห็นบางสิ่งบางอย่างบนยอดเขาแห่งนั้น ท่านและคณะได้เดินทางมาถึงเชิงเขา แล้วพบกับบันไดศิลาแลงอันยิ่งใหญ่ทอดตัวขึ้นไปบนยอดเขา

หลังจาก เดินขึ้นไปหลายชั่วโมงก็พบว่า ที่นี่คือปราสาทหินอันใหญ่โตมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏขึ้นมาบนแผ่นดินสยาม พระองค์ทรงขนานนามปราสาทแห่งนี้ในครั้งแรกว่า”ปราสาทพรหมวิหาร” ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า “ปราสาทพระวิหาร”. ท่านได้ทรงจารึก ร.ศ. ที่พบ และพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดี มีข้อความว่า “๑๑๘ สรรพสิทธิ” ด้วย… นี่คือบันทึกบรรทัดแรกแห่งประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ แห่งการค้นพบปราสาทพระวิหาร หลังจากถูกทิ้งร้างไปเป็นเวลาหลายร้อยปี

ส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม

ปราสาทพระวิหารจะมีส่วนสำคัญๆ อันประกอบไปด้วยโคปุระ อันมีความหมายถึง”ซุ้มประตู” มี 5 ช่วง โดยปกติแล้วจะนับจากชั้นในที่อยู่บนสุดออกมาเป็นชั้นที่ 1 ดังนั้นโคปุระชั้นที่ 5 จึงเป็นส่วนที่เราๆ ท่านๆ เมื่อเดินทางขึ้นไปบนปราสาทพระวิหารจะพบและสัมผัสเป็นส่วนแรก โคปุระแต่ละชั้นก่อนถึงลานด้านหน้า จะผ่านบันไดขนาดใหญ่มหึมาหลายสิบขั้น แต่ละชั้นถูกออกแบบสร้างมาให้เปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วง นอกจากนี้ โคปะรุยังเป็นส่วนที่ปิดบังมิให้ผู้คนที่เดินขึ้นไป ได้เห็นส่วนถัดไปของตัวปราสาท จนกว่าจะผ่านทะลุโคปุระแต่ละช่วงไปแล้ว

เดินขึ้นไปสำรวจพอน่องเริ่มตึงๆ ลมหายใจเริ่มหอบถี่ สิ่งแรกที่คุณจะได้พบ คือบันไดหน้าอันยิ่งใหญ่อลังการของปราสาทพระวิหาร… ซึ่งสร้างขึ้นด้วยศิลาขนาดใหญ่ เรียงราย ซ้อนทับกันขึ้นไปอย่างน่าอัศจรรย์และหลือเชื่อ พวกเขาขนศิลาเหล่านั้นมาจากไหน ยังเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้ บันไดนี้เป็นทางเดินขึ้นลงขนาดใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของตัวปราสาท ลาดลดหลั่นตามไหล่เขา บางชั้นช่างผู้สร้างได้สกัดหินลงไปในภูเขา

สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมสร้างเป็นกระพัก หมายถึงไหล่เขา ที่ถูกขุดเจาะเป็นชั้นๆ ขนาดใหญ่เรียงรายขึ้นไป ในสมัยก่อนคงเพื่อไว้ใช้สำหรับตั้งรูปสิงห์ซึ่งแกะสลักมาจากหินทราย เพื่อไว้คอยเฝ้าดูแลรักษาบันได และตัวปราสาท

เมื่อผ่านพ้นบันไดช่วงแรกมา ต่อมาคือ “ลานนาคราช” หรือสะพานนาค…. ถูกสร้างขึ้นบริเวณทางทิศใต้สุดบันไดหินด้านหน้า พื้นที่ที่ใช้เดินปูด้วยแผ่นศิลาแลง ลานนี้มีความกว้างถึง 7 เมตร ยาว 31 เมตร บนฐานมี นาคราช 7 เศียร จำนวน 2 ตัว ตั้งหันหน้าไปทางทิศเหนือ ส่วนหางท้ายสุดทอดไปทางทิศใต้ ส่วนหางของนาคราชที่ว่านี้ตั้งชู นาคราชทั้งสองตัวมีลักษณะคล้ายงู ซึ่งนักโบราณคดี สันนิษฐานตรงกันว่าเป็นลักษณะของนาคราชในศิลปะขอม แบบ”ปาปวน”นาคทั้งสองตัวนี้เป็นนาคซึ่งไม่มีรัศมีบนส่วนหัวเข้ามาประกอบ ถัดจากลานนาคราช เดินกันขึ้นไปพอเหงื่อซึมแผ่นหลังแล้ว สิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมอันอลังการ ที่คุณจะได้สัมผัส ต่อมาคือสิ่งสำคัญที่เรียกกันว่า”โคปุระ ชั้นที่ 5” ลักษณะของโคปุระชั้นนี้ ถูกออกแบบการก่อสร้างเป็นลักษณะศาลาแบบจตุรมุข ทรงกากบาทไขว้ตัดกัน

ถัดจากโคปุระชั้นที่ 5 คือ “สระสรง” สระสรงนี้ ถูกสร้างขึ้นทางด้านทิศตะวันออก ระหว่างทางเดินจากโคปุระ ชั้นที่ 5 ไปโคปุระ ชั้นที่ 4 ลักษณะของสระน้ำแห่งนี้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 37 เมตร กรุผนังบ่อด้วยหินเป็นชั้นๆ เพื่อกันน้ำไหลออก ก้นสระสรงสอบแคบเข้าหากัน

กษัตริย์ผู้ครองปราสาทพระวิหาร ทุกพระองค์ใช้น้ำจากสระนี้ เพื่อชำระล้างพระวรกาย อาจเป็นเวลานับพันปีมาแล้วก็เป็นได้ เพราะเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคแห่งเดียวบนปราสาทพระวิหารแห่งนี้ เดินขึ้นต่อไป ตามลานหินศิลาแลง อันอลังการที่เพิ่มลำดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ท่านจะได้สัมผัส กับโคปุระ ชั้นที่ 4….

ริมสองข้างทางจะมี “เสานางเรียง” หรือเสานางเทียน ซึ่งหมายถึงเสาที่ปักเรียงราย มีลักษณะเป็นเสาศิลาสี่เหลี่ยม มียอดสลักเป็นรูปดอกบัวตูมขนาดใหญ่ ใต้พุ่มสลัก ด้วยลายประจำยาม ลายกลีบบัวกุมุทและลายใบไม้รูปสามเหลี่ยมสลับพวงอุบะลดหลั่นกันลงมา มีความสูง 2.15 เมตร ปักเรียงรายเป็นระยะ

แต่เดิมมีมากมายถึงข้างละ 70 ต้น เพราะเรายังสังเกตเห็นส่วนฐานปรากฏอยู่ เสานี้นางเรียง ดังกล่าวนี้ ยังไม่มีใครทราบความหมายที่แท้จริง ถึงที่มา และความหมายในการสร้างที่แน่ชัด แต่ปัจจุบันนี้ สภาพโดยรวมที่ปรากฏปรักหักพังไปมากแล้ว….

โคปุระชั้นที่ 4 สร้างเป็นลักษณะศาลาจตุรมุข ปัจจุบันมีกำแพงด้านทิศใต้ ปรากฎให้เห็นเพียงด้านเดียว หน้าบันเป็นภาพ ทับหลังเป็นภาพของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนืออนันตนาคราช

โคปุระชั้นที่ 3 มีขนาดใหญ่ มีลักษณะขนาบด้วยห้องสองห้อง ตัวปราสาทประธานนั้นสามารถผ่านเข้าไปทางลานด้านหน้า ส่วนด้านนอกเรียกกันว่า”บรรณาลัย”ที่น่าสนใจคือหน้าบันสลักนูนต่ำเป็นภาพกวนเกษียรสมุทร

โคปุระ ชั้นที่ 2 มีมณเฑียรหน้า เป็นรูปกากบาท มีมุขทั้ง 4 ทิศที่มุขเหนือและใต้มีช่องหน้าต่างมุขละ 2 ช่อง มุขตะวันออกและตกมีประตูเปิดหากันมุขละ 2 ประตู กับช่องหน้าต่างมุขละ 1 ช่อง

ห้องใหญ่มีหน้าต่างที่ผนังด้านเหนือ 6 ช่อง ด้านใต้ 4 ช่อง ซุ้มประตูส่วนมากปรักหักพังไปเกือบหมดแล้ว ด้านหน้ามนเทียรมีบันไดตรงกับประตูซุ้มทั้ง 3 ประตูและมีชานต่อไปยังเฉลียงซ้ายและขวา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังด้านนอกทึบ ด้านในเปิดมีเสา 10 ต้น

โคปุระ ชั้นที่ 1 ประกอบไปด้วย…ระเบียงคด ด้านทิศเหนือยาว 22 เมตรกว้าง 5.5 เมตร มีผนังละ 3 ประตูที่ผนังด้านเหนือและใต้ด้านทิศตะวันออกและตก กว้าง 4 เมตร ยาว 52 เมตรผนังด้านนอกทึบ ผนังด้านในมีหน้าต่าง ข้างละ 20 ช่อง ด้านทิศใต้ ผนังด้านในมีหน้าต่าง 6 ช่อง ตรงกลางมีประตู สิ่งที่สำคัญที่สุดคือปรางค์ประธาน มีวิหารเชื่อมต่ออยู่ทางทิศเหนือ มีฐานย่อมุม 3 ชั้นตรงประตูมีบันได 5 ขั้น

ถัดมาจากโคปุระชั้นที่ 1 ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของปราสาทพระวิหารคือ…”ปราสาทประธาน” ตั้งอยู่ตรงกลางลานชั้นในสุด ประกอบด้วย ครรภคฤหะ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสออกมุมตั้งบนฐานปราสาทประธาน ซึ่งเรียกว่าวิมาน มีทางเข้าทั้งสี่ทิศส่วนเครื่องบนของวิมานในปัจจุบันได้พังทลายลงหมดแล้ว จึงไม่อาจทราบรูปทรงที่แน่นอนได้

ทับหลังของประตูด้านหลัง เดิมมีหลักฐานว่าปรากฏเป็นรูปพระวิรุณทรงหงส์ ส่วนกรอบของหน้าบันใหญ่และหน้าบันชั้นลดมีลักษณะเป็นใบระกาประดับอยู่เบื้องบน ภายในกรอบสลักเป็นลายช่อดอกไม้เรียงจากสูงลงมาหาต่ำจนบรรจบกับนาคห้าเศียรที่ปลายของกรอบหน้าบัน

บ่ายคล้อยแล้วตอนที่พวกเราเดินลงมาจากปราสาทพระวิหาร แม้จะเหนื่อยเมื่อยล้าเพียงใด แต่หัวใจยังกระชุ่มกระชวย จากสิ่งที่ได้พบได้เสพสัมผัส ทั้งรูปธรรมที่จับต้องได้ ทั้งตำนาน แห่งอารยธรรมต่างๆมากมาย ปราสาทพระวิหารมีอายุจนมาถึงวันนี้กว่า 1,100 ปี

จากยุครุ่งเรือง เกรียงไกร สู่ยุคตกต่ำ ล่มสลาย นี่คือสัจจะธรรม ของทุกสรรพสิ่งแห่งพิภพนี้ ที่วนเวียนเฉกเช่นนี้ไม่มีวันสิ้นสุด ตราบนิรันดร์…

เรื่องและภาพถ่าย: เจนจบ ยิ่งสุมล


อ่านเพิ่มเติม เสาชิงช้า : ไขความลับ ขุดความหลัง 237 ปี

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.