บาร์เซโลนา, สเปน – คงไม่มีสถานที่ใดบนโลกไม่เป็นที่ต้อนรับไปมากกว่าพื้นที่ทิ้งขยะอันหนาวเหน็บในเวลากลางคืนอีกแล้ว ทว่า นั่นเป็นสถานที่ที่โฆเซป โรเบลส นักบรรพชีวินวิทยา พาตัวเองเข้าไปใช้เวลาในเดือนธันวาคม ปี 2019 เพื่อตามหา ฟอสซิลสัตว์ อันเป็นร่องรอยประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษยชาติ
หลายเดือนก่อนหน้า เขาใช้เวลาหลายคืนไปกับ Abocador de Can Mata พื้นที่ฝังกลบขยะขนาดใหญ่ที่สุดของแคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน กว่า 7 วันต่อสัปดาห์ และกว่า 24 ชั่วโมงต่อวันที่เครื่องขุดเจาะใช้แขนเหล็กของมันขุดเจาะพื้นดินอย่างเร่งรีบเพื่อสร้างหลุมลึกสำหรับฝังกลบขยะจากเมืองบาร์เซโลนาและพื้นที่ใกล้เคียง โรเบลสเป็นหนึ่งในสามนักบรรพชีวินวิทยาที่ผลัดเวรกันเพื่อเฝ้าจับตาฝุ่นดินหลายตันที่เกิดจากการขุดพื้นที่นี้
ในห้วงเวลานั้น ยามใดก็ตามที่เขาได้พบกับวัตถุที่มีความเป็นไปได้ว่าคือสิ่งที่เขาตามหา เขาจะโบกมือเพื่อหยุดการทำงานของเครื่องขุดและเข้าไปตรวจสอบวัตถุนั้นอย่างใกล้ชิด เก็บวัตถุที่พบเจอนั้นไปเมื่อตอนที่ดวงอาทิตย์ขึ้น และให้สัญญาณว่าการจัดการงานของเขาเสร็จสิ้น ก่อนที่จะกลับออกไปจากพื้นที่ และให้เครื่องมือขุดค้นเริ่มเค้นเสียงคำรามก้องอีกครั้ง
ผืนดินของ Can Mata เป็นแหล่งเก็บรักษา ฟอสซิลสัตว์ หลากหลายชนิดจากในช่วงเวลาตั้งแต่มากกว่าล้านปีที่แล้วไปจนถึงกลางสมัยไมโอซีน (Miocene) คือในช่วง 12.5 – 11 ล้านปีที่แล้ว นับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา โรเบลสและนักบรรพชีวินวิทยาคนอื่นๆ จากสถาบันบรรพชีวินวิทยา Miquel Crusafont Catalan (Miquel Crusafont Catalan Institute of Paleontology – ICP) ในบาร์เซโลนาได้พบฟอสซิลกว่า 70,000 ชิ้นจากยุคสมัยไมโอซีน อันเป็นช่วงเวลาที่ภูมิอากาศแบบนีโอทรอปิคอลของภูมิภาคนี้มีความแห้งแล้งมากขึ้น และการก่อตัวขึ้นใหม่ของวิวัฒนาการทางสิ่งแวดล้อมอาจทำให้เราได้รับข้อมูลเจาะลึกการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของทุกวันนี้
การค้นพบครั้งสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้คือฟอสซิลของชนิดพันธุ์ไพรเมทที่ไม่สามารถพบเจอได้จากที่อื่น นั่นคือบรรพบุรุษของสัตว์ที่คล้ายกับมนุษย์ (ancestral Hominoids) ซึ่งเป็นบรรบุรุษของชะนี ชะนีเซียมัง สัตว์จำพวกวงศ์ลิงใหญ่ (Great apes) ซึ่งรวมไปถึง อุรังอุตัง กอริลลา ชิมแปนซี และมนุษย์ ชิ้นส่วนกระดูกเก่าแก่เหล่านี้ช่วยให้เราเติมภาพของยุคสมัยในอดีตของเราที่ยังเป็นปริศนาอยู่ในหลายแง่มุม
จากพื้นที่ทิ้งขยะสู่แหล่งขุมทอง
ห่างออกไปทางตอนเหนือของเมืองบาร์เซโลนาราว 48 กิโลเมตร พื้นที่ Can Mata ถูกปักหมุดในแผนที่ฟอสซิลในช่วงต้นทศวรรษ 1940 เมื่อ Miquel Crusafont ผู้ที่ชื่อของเขาถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของสถาบันบรรพชีวินวิทยา ได้ค้นพบกระดูกขากรรไกรล่างของสัตว์จำพวกวงศ์ลิงใหญ่ในยุคไมโอซีน และการค้นพบในหลายครั้งถัดมาทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางบรรพชีวินวิทยา แต่ถึงมีจะมีสถานะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ Can Mata ก็ทำหน้าที่เป็นพื้นที่เพื่อฝังกลบขยะอย่างถูกกฎหมายนับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา (โดยทางท้องถิ่นได้เริ่มใช้พื้นที่นี้เป็นที่ทิ้งขยะอย่างไม่เป็นทางการนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970)
ช่วงกลางปี 2000 ผู้ดูแลจัดการพื้นที่อย่างบริษัท Cespa Waste Management ต้องการขุดหลุมฝังกลบขยะใหม่ที่มีความลึกอย่างน้อย 46 เมตร โดยบริษัทต้องดำเนินงานอยู่ภายใต้กฎหมายมรดกทางประวัติศาสตร์ของสเปนเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องมือเครื่องจักรของบริษัทจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อฟอสซิล หรือฝังฟอสซิลเหล่านั้นไปใต้กองขยะ พวกเขาจึงจ้างนักบรรพชีวินวิทยาจาก ICP พื้นควบคุมการขุดดินในพื้นที่นี้ ซึ่งสำหรับมุมมองของนักบรรพชีวินวิทยา พื้นที่ทิ้งขยะนี้มีส่วนในการสร้างองค์ความรู้อย่างใหญ่หลวง
ในปี 2002 นักบรรพชีวินของ ICP อิสอัก คาซาโนวัส-วิลาร์, ฆอร์ดี กาลินโด และ อัลบา ผู้ที่ในขณะนั้นเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ได้เริ่มเป็นผู้ควบคุมการขุดดินที่ Can Mata หลังจากทำงานได้ 3 อาทิตย์ พวกเขาขุดค้นพบชิ้นส่วนฟันของสัตว์กลุ่มช้างงาจอบ (วงศ์ Deinotheriidae – ตระกูลของสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายช้างก่อนประวัติศาสตร์ที่อาศัยอยู่ในยุค Cenozoic) “ความรู้สึกตอนนั้นราวกับว่า คุณ คุณต้องมาดูสัตว์ไพรเมทนี้สิ” อัลบาเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ตอนนั้น ซึ่งเขากำลังตกตะลึงราวกับได้สบตากับสัตว์จากยุคโบราณด้วยตัวเอง
ชนิดพันธุ์ที่ได้รับการค้นพบนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Pierolapithecus catalaunicus หรือ Pau มีชีวิตอยู่เมื่อ 12 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนกระโหลกสัตว์ไพรเมทจากยุคไมโอซีนที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา โดยฟอสซิลนี้ได้เปลี่ยน Can Mata จากพื้นที่ทิ้งขยะให้กลายเป็นดังขุมทอง
ตลอดระยะเวลา 13 ปี ที่นักบรรพชีวินวิทยาจาก ICP ทำงานในพื้นที่ พวกเขาได้ขุดค้นพบฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 75 สายพันธุ์ รวมไปถึงม้า แรด กวาง ตระกูลสัตว์งวง (Proboscidean) – สัตว์ที่ความเชื่อมโยงกับช้าง บรรพบุรุษของแพนด้าแดง และกระรอกบิน นอกจากนี้ยังมีสัตว์จำพวกหนู สัตว์จำพวกนก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลาน ในที่สุดแล้ว พวกเขาบันทึกว่ามีการค้นพบชิ้นส่วนฟอสซิลกว่า 70,000 ชิ้นในโซนค้นพบกว่า 260 โซน
โดยชิ้นส่วนฟอสซิลที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้คือ Chalicotherium สัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่งที่ใช้กีบเท้าเดิน มีลักษณะคล้ายสัตว์ที่ผสมกันระหว่างสลอทยักษ์ หมี ม้า และกอริลลา และแมวฟันดาบปลอม (a false sabre-tooth cat) สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีวงศ์ร่วมกับเสือและสิงโต ซึ่งสูญพันธุ์จากโลกนี้ไปแล้วทั้งคู่
ฟอสซิลเหล่าอยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลงยุคครั้งสำคัญจากกลางยุคไมโอซีนถึงปลายยุคไมโอซีน เมื่อป่าฝนในภูมิอากาศแบบซับทรอปิกคอล (Subtropical rainforests) ในภูมิภาคนี้เริ่มแห้งแล้งและเริ่มมีทุ่งหญ้าปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ฟอสซิลเหล่านี้เพื่อสร้างการก่อตัวใหม่ของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ Can Mata เมื่อราวมากกว่าล้านปี นั่นเป็นเหตุผลที่ในทุกตะกอนดินพื้นที่แห่งนี้จึงมีฟอสซิลอยู่มากมาย
ค้นหาจุดกำเนิดของเรา
แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงในการค้นพบฟอสซิลจากสัตว์หลากหลายชนิดอันน่าสนใจบนพื้นที่แห่งนี้ แต่ฟอสซิลแต่ละชิ้นได้ช่วยให้เราค้นพบปริศนาอันลึกซึ้งเกี่ยวกับความลึกลับของชนิดพันธุ์อย่างมนุษย์เราว่า: เราคือใคร เรามาจากไหน และเราได้เริ่มต้นชีวิตอย่างที่เราเป็นนี้เมื่อไหร่
“การเข้าใจว่าสัตว์จำพวกวงศ์ลิงใหญ่เริ่มต้นชีวิตและมีวิวัฒนาการอย่างไรถือเป็นเรื่องสำคัญในการทำความเข้าใจวิวัฒนาการของเผ่าสัตว์ที่คล้ายมนุษย์ (hominin)” Alba กล่าว โดย Hominin เป็นประเภทสัตว์ที่เกิดขึ้นหลังจากมนุษย์ได้แยกสายพันธุ์จากลิงชิมแปนซีเมื่อ 6-7 ล้านปีก่อน “[Apes] ไม่ได้เกิดขึ้นแบบไม่มีที่มา ดังนั้นเราต้องรู้ว่าพวกมันวิวัฒนาการมาจากที่ไหน
อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามที่ใหญ่ว่าการขุดค้นยังเป็นไปได้อยู่หรือไม่ในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากยังมีการประท้วงจากคนในพื้นที่ซึ่งต่อต้านการขุดพื้นที่เพื่อถมขยะ
“นี่คือสิ่งที่มีความหมายสำหรับนักบรรพชีวินวิทยาในอีก 3-4 ชั่วคนข้างหน้า” อัลบากล่าวและเสริมว่า “ผมแน่ใจว่ายังมีฟอสซิลที่น่าสนใจซ่อนอยู่ที่นั่นอีกมาก”