ตำนาน คำสาปฟาโรห์ มีอยู่จริงหรือไม่

ตำนานเล่าขานที่มีมานับร้อยปีและสื่อบันเทิงร่วมสมัยได้เน้นภาพของความเชื่อของ คำสาปฟาโรห์ ที่ว่า การเปิดโลงศพมัมมี่อาจนำมาซึ่งความตาย

ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับมัมมี่มักมีสิ่งที่เป็นที่รู้จักอยู่ 2 อย่าง: ความร่ำรวยฟู่ฟ่า และ คำสาปฟาโรห์ อันน่าสะพรึง ที่ทำให้นักล่าสมบัติต้องพบกับจุดจบอันเลวร้าย ทว่าในความเป็นจริง ฮอลลีวูดไม่ได้เป็นผู้สร้างแนวคิดเรื่องคำสาปนี้แต่เริ่มต้น

ความเชื่อเรื่อง “คำสาปมัมมี่” เริ่มเป็นที่พูดถึงกันไปทั่วโลก หลังจากการค้นพบสุสานตุตันคามุน ฟาโรห์ในราชวงค์ที่ 18 ของอียิปต์โบราณ ในปี 1922 ที่หุบเขากษัตริย์ (Valley of the King) นครลักซอร์ ประเทศอียิปต์

เมื่อ เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ ได้เปิดหลุมสุสานเพื่อสอดสายตาเข้าไปยังโลงพระศพซึ่งถือเป็นสมบัติที่ถูกซุกซ่อนมานานกว่า 3,000 ปี เขาก็ได้เป็นผู้ปลดปล่อยความกระหายใคร่รู้เกี่ยวกับเรื่องราวของอียิปต์โบราณ

สมบัติที่อยู่ภายในสุสานของตุตันคามุนก่อให้เกิดข่าวใหญ่มากมาย โดยเฉพาะการเปิดห้องพระศพที่ตามมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1923 และเรื่องราวการเสียชีวิตอันน่าตื่นตะลึงของ ลอร์ดคาร์นาวอน ผู้อุปถัมภ์การขุดค้น หลังจากเหตุการณ์นั้น

ในความเป็นจริง ลอร์ดคาร์นาวอนเสียชีวิตจากอาการโลหิตเป็นพิษ และมีคนที่อยู่ในเหตุการณ์เปิดโลงศพเพียง 6 คนจาก 26 คนที่เสียชีวิตไปในช่วง 10 ปีหลังจากนั้น และคาร์เตอร์ ผู้ที่ควรจะเป็นเหยื่อต้องคำสาปมากที่สุดก็ยังมีชีวิตถึงปี 1939 หรือเกือบ 20 หลังจากการเปิดโลงพระศพ

แม้จะดูเหมือนว่าคำสาปฟาโรห์นั้นไม่มีอยู่จริง แต่มันก็ไม่หมดความสามารถในการดึงดูดผู้ชมซึ่งน่าจะเป็นผู้ที่เริ่มต้นความเชื่อนี้เสียเองแต่อย่างใด

ร่างมัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคามุนในภาพ ถือเป็นสิ่งที่ทำให้แนวคิดคำสาปฟาโรห์เผยแพร่ไปอย่างแพร่หลาย แต่แท้จริงแล้วที่มาของคำสาปกลับเริ่มต้นมาจากการแสดงบนเวทีในกรุงลอนดอนก่อนที่จะมีการค้นพบร่างของยุวกษัตริย์องค์นี้เมื่อปี 1922 มานับร้อยปี ภาพถ่ายโดย KENNETH GARRETT

การกำเนิดตำนานคำสาปฟาโรห์

โดมินิก มอนต์เซอร์แร็ต ผู้เชี่ยวชาญด้านอียิปต์ศึกษา ได้ค้นหาที่มาของตำนานคำสาปและได้ข้อสรุปว่ามาจากโชว์เต้นระบำเปลื้องผ้า (striptease) ในกรุงลอนดอนช่วงศตวรรษที่ 19 “’งานค้นคว้าของผมแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่าแนวคิดเรื่องคำสาปมัมมี่มีมาก่อนการค้นพบสุสานตุตันคามุนและการตายของเขาเป็นเวลานับร้อยปี” มอนต์เซอร์แร็ต ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Independent ของอังกฤษ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต

มอนต์เซอร์แร็ตเชื่อว่า การแสดงโชว์ดังกล่าวที่มีเรื่องของการแกะห่อผ้ามัมมี่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักเขียนมากมายในยุคนั้นเล่าเรื่องเกี่ยวกับการแก้แค้นของมัมมี่ รวมไปถึง ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง Little Woman (สี่ดรุณี) ก็ได้นำตำนานคำสาปนี้ไปใช้ในนวนิยายเรื่อง Lost in a Pyramid หรือ The Mummy Curse

“งานวิจัยของผมไม่เพียงแค่ยืนยันว่า มันไม่มีเรื่องราวจุดกำเนิดที่แท้จริงของคำสาปจากอียิปต์ยุคโบราณเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่า คือเป็นการเปิดเผยว่าแนวคิดเรื่องคำสาปฟาโรห์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากเรื่องราวการขุดค้นสุสานตุตันคามุนในปี 1923 ด้วยเช่นกัน” มอนต์เซอร์แร็ตกล่าวกับ Independent

(เชิญชมคลิปวิดีโอ อียิปต์ยุคโบราณ 101 จากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ที่นี่)

อย่างไรก็ตาม สลิมา อิกราม ผู้เชี่ยวชาญด้านอียิปต์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงไคโร และผู้ได้รับทุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เชื่อว่า ในยุคอียิปต์โบราณมีแนวคิดเรื่องคำสาปอยู่จริง โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบรักษาความปลอดภัยของสุสานในแบบดั้งเดิม เธอกล่าวว่า แมสตาบา (สุสานอียิปต์ในยุคก่อนพีรามิด) บางแห่งในเมืองกิซาและซัคคาราได้มีการแกะสลักคำสาปเพื่อข่มขวัญคนที่ต้องการหลบหลู่หรือต้องการปล้นสุสานหลวง

พวกเขาต้องการข่มขู่ผู้ที่มาลบหลู่ด้วยวิบากกรรมจากเทพเจ้าโดยสภาอันศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า หรือให้ประสบความตายจากจระเข้ สิงโต แมงป่อง หรืองู

โลงศพพิษ?

ในหลายปีมานี้ มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่าที่มาของคำสาปฟาโรห์นั้นเกิดเป็นเรื่องของปรากฎการณ์ชีววิทยาตามธรรมชาติ

เป็นไปได้หรือไม่ที่โลงศพซึ่งมีการปิดผนึกอย่างดีจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อก่อโรคซึ่งเป็นอันตรายหรือสามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตของผู้ที่เปิดโลงออกมาอีกครั้งในรอบพันปี โดยเฉพาะคนอย่างลอร์ดคาร์นาวอนที่มีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่อ่อนแออยู่แล้ว

โดยในสุสานไม่ได้บรรจุเพียงแค่ร่างไร้วิญญาณของมนุษย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงอาหารและข้าวของเครื่องใช้สำหรับชีวิตหลังความตายด้วย

ชายาสุลต่านและคณะผู้ตามเสด็จเยี่ยมชมสุสานตุตันคามุน: เหล่าสตรีทั้งจากโลกตะวันออกและตะวันตก นำโดยชายาสุลต่านแห่งอียิปต์และเลดี้เอเวอลีน เฮอร์เบิร์ต (บุตรีของลอร์ดคาร์นาวอน ผู้อุปถัมภ์การขุดค้น) เยี่ยมชมสุสานกษัตริย์ ซึ่งราชสำนักของพระองค์คงรุ่มรวยอลังการไม่แพ้ราชสำนักของกษัตริย์ยุคปัจจุบัน (ภาพถ่ายโดย: เมย์นาร์ด โอเวน วิลเลียมส์)

การศึกษาในห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่ามัมมี่โบราณบางร่างมีเชื้อราบางชนิด ซึ่งรวมไปถึง แอสเปอร์จิลลัส ไนเจอร์ (Aspergillus niger) และ แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเลือดคั่งหรือเลือดออกในปอด นอกจากนี้ แบคทีเรียที่โจมตีปอดอย่างซูโดโมแนส (Pseudomonas) และ สตาฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) ก็สามารถเติบโตขึ้นได้ที่ผนังของสุสาน

เชื้อก่อโรคเหล่านี้อาจทำให้สุสานเป็นสถานที่สุดอันตราย แต่ดูเหมือนว่ามีนักวิทยาศาสตร์บางคนไม่ได้คิดเช่นนั้น

เอฟ. เดอวอล์ฟ มิลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาวายแห่งมานัว (University of Hawaii at Manoa) เห็นด้วยกับความเห็นในแรกเริ่มของเฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ ที่ว่า: ถ้าหากพิจารณาจากสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นยุคนั้น บางทีลอร์ดคาร์นาวอนอาจมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยภายในสุสานมากกว่าภายนอกสุสานเสียด้วยซ้ำ

กลุ่มสำรวจชาวอียปต์ร่วมด้วยหัวหน้างานอย่าง มัสทาฟา อัปโด ค้นพบหลุมฝังศพของนักบวชที่ถูกตกแต่งอย่างปราณีต ภาพถ่ายโดย Ana Nabil, AP

“ทางตอนเหนือของอียิปต์ในช่วงทศวรรษ 1920 มันห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่า ‘สุขอนามัย’ มากเลยล่ะครับ” มิลเลอร์ กล่าวและเสริมว่า “ความคิดที่ว่าสุสานใต้ดิน หลังจากผ่านมา 3,000 ปีแล้ว อาจจะมีจุลินทรีย์ชนิดที่แปลกๆ ที่สามารถฆ่าคนได้ภายใน 6 สัปดาห์ถัดมา และการที่มันทำให้ก่อให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษนี่เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อครับ”

ในความเป็นจริง มิลเลอร์ กล่าวว่า เท่าที่เขาทราบ ไม่มีนักโบราณคดีหรือนักท่องเที่ยวแม้แต่คนเดียวที่เจอกับโรคภัยไข้เจ็บซึ่งเกิดจากสารพิษในสุสาน

แต่ตราบใดภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวคำสาปแช่งของมัมมี่ยังคงอยู่ ตำนานของคำสาปมัมมี่ก็ยังไม่มีวันสิ้นสุดเช่นกัน

เรื่อง BRIAN HANDWERK


อ่านเพิ่มเติม สถานที่รับทำ มัมมี่ – เพราะคนตายนั้นเป็นเงินเป็นทอง

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.