ย้อนหลังไปกว่าร้อยปีก่อน ขณะออกค้นหาเมืองหลวงที่สาบสูญของจักรวรรดิอินคา ไฮแรม บิงแฮม นักสำรวจชาวอเมริกันวัย 35 ปี อาศัยคนพื้นเมืองนำทางขึ้นไปสู่ยอดเขาแห่งหนึ่งในหุบเขาอูรูบัมบาของเปรู บริเวณที่เขาเข้าไปคล้ายกับป่าดิบชื้น แต่ไม่นานบิงแฮมก็เริ่มมองเห็นกำแพงและสิ่งก่อสร้าง ก้อนหินแกรนิตประกอบเข้าด้วยกันอย่างงดงามในรูปแบบสถาปัตยกรรมของชาวอินคาที่ประณีตที่สุด เขาเท้าความหลังในอีกสองปีต่อมาในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ว่า “ มาชูปิกชู อาจเป็นซากปรักขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดที่ค้นพบในอเมริกาใต้นับตั้งแต่ยุคที่ชาวสเปนเข้ามาพิชิต”
ก่อนเดินทางออกจากหุบเขาและซากปรักที่ขุดพบซึ่งต่อมาจะทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดัง บิงแฮมใช้เวลาสี่ชั่วโมงบันทึกภาพมาชูปิกชูด้วยกล้องโกดักที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ
แน่นอนว่า บิงแฮมไม่ใช่คนแรกที่ค้นพบมาชูปิกชู เกษตรกรชาวเปรูในภูมิภาคนี้รู้จักและเข้ามาเยี่ยมชมซากปรักของจักรวรรดิอินคาบนยอดเขาเป็นเวลานานแล้ว แต่บิงแฮมน่าจะเป็นคนแรกที่บันทึกภาพแหล่งโบราณคดีแห่งนี้และทำให้โลกรู้จักมาชูปิกชู ความที่เชื่อว่าภาพถ่ายมีคุณค่าพอๆกับการจดบันทึกการวิจัย เขาจึงยืนกรานให้เพื่อนร่วมทีมสำรวจเรียนรู้วิธีถ่ายภาพและล้างฟิล์มก่อนออกเดินทางทุกครั้ง
ภาพถ่ายมาชูปิกชูของบิงแฮมจากการเดินทางสำรวจเปรูเมื่อปี 1911 จำนวน 244 ภาพ ตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่อุทิศเนื้อที่่ทั้งเล่มให้สารคดีเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวเมื่อปี 1913 ภาพถ่ายเหล่านี้ยังจัดแสดงที่สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วย
เรื่อง นีนา สตรอคลิก
ภาพถ่าย ไฮแรม บิงแฮม
ชมคลิปสั้นทำความรู้จักกับมาชูปิกชูเพิ่มเติมได้ที่
http://www.ngthai.com/history/4563/machu-picchu/
อ่านเพิ่มเติม