เหตุใดเยอรมนีจึงต้องยอมจำนนสองครั้งใน สงครามโลก ครั้งที่สอง

ฝันร้ายจากครั้ง สงครามโลก ครั้งที่หนึ่งและอนาคตอันไม่แน่นอนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่หลอกหลอนฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้พวกเขาตัดสินใจหาหนทางป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด

วันที่ 7 พฤษภาคม 1945 เยอรมนีได้ประกาศยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในเมืองแรงส์ (Reims) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนำไปสู่จุดจบของสงครามโลกครั้งที่สองและอาณาจักรไรค์ที่สาม

หรือแท้จริงแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวในเบอร์ลินเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมกันแน่?

ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง เยอรมนีลงนามยอมจำนนสองครั้ง เนื่องเพราะอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกัน การแข่งขัน/แก่งแย่งชิงดีระหว่างสหภาพโซเวียตและประเทศอื่นๆ ของฝ่ายพันธมิตร และมรดกจากสงครามโลกครั้งแรก

เมื่อชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในปี 1944 และ 1945 สหรัฐฯ สหภาพโซเวียต ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรได้เริ่มพิจารณาถึงเงื่อนไขการยอมจำนนของเยอรมนี แต่ ณ ตอนนั้น แผนการลงนามสัญญายอมจำนนทางการทหารหรือการเมืองยังไม่เป็นที่แน่นอน จนกระทั่ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้จบชีวิตของตนเองลงและนำรัฐเผด็จการของเขามาสู่จุดจบอันนองเลือดในบังเกอร์แห่งหนึ่งในเบอร์ลินเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1945

อัลเฟรด โยเดิล ประธานเสนาธิการฝ่ายปฏิบัติการแห่งกองบัญชาการสูงสุดกองทัพเยอรมัน ลงนาม “รัฐบัญญัติการวางอาวุธ (Act of Military Surrender)” และการหยุดยิงโดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1945 ภาพถ่ายโดย UNIVERSAL HISTORY ARCHIVE, UNIVERSAL IMAGES GROUP/GETTY

ฮิตเลอร์ได้เลือกพลเรือเอกคาร์ล เดอนิตซ์ (Karl Dönitz) นาซีผู้แข็งขันให้เป็นผู้สืบทอดรัฐการเมื่อเขาตายลง เดอนิตซ์มีโชคชะตาโหดร้ายที่ต้องจัดการกับการล่มสลายของเยอรมนี แทนที่จะเป็นผู้ปกครองรัฐบาลใหม่ เขามอบหมายให้อัลเฟรด โยเดิล (Alfred Jodl) ประธานเสนาธิการฝ่ายปฏิบัติการแห่งกองบัญชาการสูงสุดของกองทัพเยอรมัน เป็นผู้เจรจาการวางอาวุธของกองทัพเยอรมันทั้งหมดกับนายพล ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ อย่างรวดเร็ว

เดอนิตซ์หวังว่าการเจรจาจะช่วยซื้อเวลาให้เขานำพลเรือนและทหารออกจากเส้นทางการบุกของรัสเซียให้มากที่สุดที่จะทำได้ และยังหวังโน้มน้าวให้สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ซึ่งทั้งหมดไม่ไว้ใจสหภาพโซเวียต ให้ทรยศพันธมิตรของตนเองเพื่อให้เยอรมนียังคงรบกับศัตรูจากยุโรปตะวันออกเหล่านั้นได้ ทว่า ไอเซนฮาวร์มองแผนการครั้งนี้ออก และยืนกรานให้โยเดิลลงนามยอมจำนนโดยไม่มีการเจรจา

แพท เบอร์เกส โบกหนังสือพิมพ์ที่ประกาษข่าวชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยความหวังว่าสามีของเธอจะได้กลับบ้านในไม่ช้า ภาพถ่ายโดย REG SPELLER, FOX PHOTOS/HULTON ARCHIVE/GETTY

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ณ เมืองแรงส์ โยเดิลได้ลงนาม “รัฐบัญญัติการวางอาวุธ (Act of Military Surrender)” และการหยุดยิงโดยไม่มีเงื่อนไขซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเวลาห้าทุ่มหนึ่งนาทีของวันที่ 8 พฤษภาคมตามเวลายุโรปกลาง

เหตุการณ์นี้ทำให้โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสูงสุดของโซเวียตเดือดดาล เขาโต้แย้งว่าในเมื่อประเทศของเขาได้เสียสละเหล่าทหารและพลเรือนไปมากที่สุดในสงครามครั้งนี้ ผู้ที่ควรยอมรับการยอมจำนนของเยอรมนีจึงควรเป็นผู้นำทางการทหารที่สำคัญที่สุดของโซเวียต หาใช่นายทหารผู้เป็นพยานการลงนามที่แรงส์ และเขายังโต้แย้งถึงสถานที่ลงนาม ด้วยเหตุผลว่าเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไรค์ต่างหากที่ควรเป็นสถานที่ของการยอมจำนน

แต่ข้อโต้แย้งที่โยเดิลมิใช่นายทหารยศสูงที่สุดของเยอรมนี ที่จูงใจประเทศอื่นๆ ของฝ่ายสัมพันธมิตรได้มากที่สุด เพราะพวกเขาล้วนยังจำได้ดีว่าสัญญาสงบศึกที่หยุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้ฝังรากที่นำมาสู่สงครามครั้งนี้ได้อย่างไร กล่าวคือ เมื่อปี 1918 อาณาจักรเยอรมันซึ่งกำลังแตกพ่ายในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ล่มสลายลงและถูกแทนที่ด้วยสาธารณรัฐระบบรัฐสภา (parliamentary republic) และเป็น Matthias Erzberger รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้เป็นผู้ลงนามสงบศึกโดยไม่มีเงื่อนไขที่เมืองกงเปียญ (Compiègne)

ชาวลอนดอนฉลองการยอมจำนนของเยอรมนีเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 หนึ่งวันก่อนการยอมแพ้ครั้งที่สองและครั้งสุดท้ายในเบอร์ลิน ภาพถ่ายโดย PICTURE POST, HULTON ARCHIVE/GETTY (RIGHT)

นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ต้องตื่นตระหนก เนื่องเพราะพวกเขาได้ยินข่าวว่ากองทัพของตนเองกำลังได้ชัยชนะ และก่อให้เกิดมายาคติว่ารัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นพลเรือน พร้อมทั้งแพะรับบาปซึ่งถูกใช้กล่าวอ้างถึงอยู่บ่อยครั้งเช่นชาวยิวและผุ้นิยมลัทธิมากซ์ได้หักหลังกองทัพ ซึ่งเป็นมายาคตินี้เองที่ทำให้ตัว Erzberger ถูกสังหารในภายหลัง และยังเป็นมายาคตินี้เองที่พรรคนาซีใช้อยู่เป็นนิจเมื่อพวกเขารวมกำลังกันเพื่อยึดอำนาจ

สตาลินโต้แย้งว่าการยอมให้โยเดิลเป็นผู้ลงนามสัญญาในสงครามโลกครั้งที่สองอาจก่อให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง เนื่องจากเดอนิตซ์ ประมุขแห่งรัฐผู้มอบหน้าที่ให้เขามีสถานะเป็นพลเรือน สิ่งนี้ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเกรงว่าเยอรมนีอาจดึงดันว่าการยอมแพ้ครั้งแรกนี้ไม่ชอบธรรมหากจอมพลวิลเฮล์ม ไคเทิล (Wilhelm Keitel) ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพเยอรมันมิใช่ผู้ลงนาม พวกเขาจึงตัดสินใจจัดพิธีอีกครั้ง โดยให้จอมพลผู้นี้เป็นผู้ลงนามสัญญา

ทหารสหรัฐฯ เฉลิมฉลองการยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขครั้งแรกของเยอรมนี ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 ในวันต่อมา โจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียตได้จัดการการยอมจำนนครั้งที่สอง เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ของการไม่ยอมรับการยอมจำนนครั้งแรก ภาพถ่ายโดย HULTON-DEUTSCH COLLECTION, CORBIS/GETTY

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ไคเทิลได้เดินทางมายัง Karlshorst ซึ่งเป็นย่านชานเมืองของเบอร์ลิน เพื่อลงนามสัญญาต่อหน้าจอมพล Georgy Zhukov แห่งโซเวียต และตัวแทนกลุ่มเล็กๆ จากสัมพันธมิตร แต่ไคเทิลมีคำขอเล็กน้อย โดยเขาหวังให้มีการเพิ่มวรรคสำหรับระยะผ่อนผันเป็นเวลาสิบสองชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าเหล่าทหารจะได้รับคำสั่งหยุดยิงโดยทั่วกันและจะถูกลงโทษหากพวกเขาสู้ต่อเกินเวลาดังกล่าวเท่านั้น ท้ายที่สุด Zhukov ได้ให้คำสัญญาปากเปล่าแต่มิยอมให้ไคเทิลเพิ่มวรรคดังกล่าว ความล่าช้าครั้งนี้ส่งผลให้สัญญามีผลหลังการหยุดยิงควรเริ่มต้นขึ้น และในขณะนั้น เดือนพฤษภาคมก็ล่วงมาถึงวันที่เก้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ชาวรัสเซียยังคงถือวันที่ 9 พฤษภาคมเป็นวันแห่งชัยชนะจนถึงทุกวันนี้ สื่อในโซเวียตไม่แม้แต่จะรายงานถึงการยอมแพ้ที่แรงส์จนกว่าจะถึงวันถัดไป ซึ่งผู้สังเกตการณ์บางคนถือว่าเป็นข้อพิสูจน์ว่าการลงนามครั้งที่สองคือโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้สตาลินเพิ่มความน่าเชื่อถือในฐานะผู้จบสงครามให้ตนเอง อย่างไรก็ตาม ที่อื่นๆ บนโลกยังคงถือว่าวันที่ 8 ซึ่งเป็นวันที่การหยุดยิงเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการคือวันแห่งชัยชนะในยุโรป (Victory in Europe หรือ V-E Day)

เรื่อง ERIN BLAKEMORE

แปลและเรียบเรียง ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม สนธิสัญญาแวร์ซายจบสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สองได้อย่างไร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.