ภาพถ่ายอันทรงพลังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากระเบิดนิวเคลียร์

ภาพถ่ายอันทรงพลังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากระเบิดนิวเคลียร์

ทุกวันที่ 9 สิงหาคม ถือเป็นวันครบรอบการทิ้งระเบิดปรมาณูลงยังเมืองนางาซากิ ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือ ที่สร้างความหวั่นวิตกว่าอาวุธนิวเคลียร์อาจถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง

ภาพถ่ายที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังระเบิดปรมาณูถูกทิ้งลงยังเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ภาพถ่ายขาวดำย้ำเตือนให้เห็นถึงอานุภาพทำลายร้างของเปลวเพลิงที่น่าหวาดหวั่น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบันนั้นทรงประสิทธิภาพและมีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงกว่าอาวุธเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนหลายเท่าตัวมาก

ฮิโรชิมา : โรงพยาบาลกาชาดหลังนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่สูง ราว 70% ของสิ่งก่อสร้างในเมืองถูกทำลายจากแรงระเบิด

 

ปี 1945

วันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 เวลา 8:15 นาฬิกา ระเบิดปรมาณูที่มีชื่อว่าลิตเติ้ลบอย ถูกปล่อยลงมาจากความสูง 1,900 ฟุตเหนือเมืองฮิโรชิมา ในญี่ปุ่น การประมาณตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องไม่สามารถทำได้ เชื่อกันว่าระเบิดในวันนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 70,000 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 70,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน หลังเพลิงสงบลงผู้คนอีกหลายพันคนเสียชีวิตจากผลกระทบโดยรังสีที่ตามมากับระเบิด เหตุการณ์ในวันนั้นนับเป็นครั้งแรกที่อาวุธนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้กับผู้คน

วันที่ 9 สิงหาคม เวลา 11:02 นาฬิกา ระเบิดลูกที่สองที่มีชื่อว่าแฟตแมน ถูกทิ้งลงเมืองนางาซากิ คร่าชีวิตผู้คนไป 80,000 คน ภูมิประเทศของเมืองที่ติดกับหุบเขาและคูคลองช่วยลดผลกระทบจากระเบิด แม้ว่าแฟตแมนจะมีขนาดใหญ่กว่าลิตเติ้ลบอยก็ตาม ประมาณตัวเลขผู้รอดชีวิตอยู่ที่ 160 คน ในขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีเพียงคนเดียว

นางาซากิ : เด็กน้อยผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมณูร้องไห้ขณะกำลังทำแผล ภายในโรงเรียนประถม Shin Kozen ที่ถูกเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลชั่วคราว ระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ทิ้งลงยังเมืองนางาซากิคร่าชีวิตชาวเมืองไป 40,000 คน

ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในวันต่อมา ส่งผลให้สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อาวุธมหาประลัยนี้เป็นผลผลิตจากโปรเจคแมนฮัตตันโปรเจคลับสุดยอดของรัฐบาลสหรัฐที่เกิดขึ้นหลัง อัลเบิร์ต ไอสไตน์ เคยเตือนประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลท์ ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากนักวิทยาศาสตร์ฝ่ายนาซียังคงเดินหน้าผลิตระเบิดปรมาณู ใช้เวลาในการพัฒนาและสร้างอยู่ 4 ปี ระเบิดดังกล่าวจึงแล้วเสร็จ

ฮิโรชิมา : หญิงคนหนึ่งกวาดเศษซากปรักหักพัง รายงานจากรัฐบาลระบุ 70% ของสิ่งก่อสร้างในเมืองถูกทำลายสิ้น

 

ปี 2017

ทุกวันนี้ฮิโรชิมาเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนราว 1 ล้านคน อนุสรณ์สถานสันติภาพและพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ ณ จุดศูนย์กลางของการระเบิด ในที่นี้รวมถึงเก็นบาคุโดม ที่ได้รับเกียรติยกให้เป็นมรดกโลก จากการทนทานต่อแรงระเบิด ซึ่งทำลายสิ่งก่อสร้างทั้งหมดของเมืองไป 70%

ปัจจุบันมี 9 ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จำนวน 15,000 ลูก ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 พร้อมใช้งานและสามารถปลดปล่อยออกจากฐานได้ภายในเวลาไม่ที่นาที คลังแสงนิวเคลียร์ของรัสเซียมีขนาดใหญ่ที่สุด ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีจำนวนคลังแสงมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ฮิโรชิมา : ในที่พักของผู้ได้รับบาดเจ็บ แม่คนหนึ่งเอื้อมมือไปแตะลูกน้อยที่กำลังนอนหลับ

สำหรับการเรียกร้องให้ควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ การไม่เพิ่มจำนวนและการลดอาวุธเริ่มต้นขึ้นแทบจะทันทีหลังเหตุระเบิดเมื่อปี 1945 Hibakusha คือกลุ่มองค์กรที่ก่อตั้ขึ้นโดยบรรดาผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูได้รวมตัวกันเป็นแกนนำในการต่อต้านอาวุธร้ายแรงนี้

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา สนธิสัญญาการห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์ถูกยกมาพูดถึงในที่ประชุมของสหประชาชาติกระบวนการให้สัตยาบันจะเริ่มขึ้นในเดือนกันยายนนี้ และมีผลบังคับใช้ตามกฏหมายเมื่อได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกอย่างน้อย 50 ประเทศ ด้านสหรัฐและประเทศพันธมิตรต่างๆ ที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองปฏิเสธการเข้าร่วมเจรจา

เรื่อง เรเชล บราวน์

ที่เมืองฮิโรชิมา รถรางยังคงให้บริการ ชาวเมืองจำนวนหนึ่งเดินไปตามซากปรักหักพังของเมือง
ชาวเมืองช่วยกันทำความสะอาดถนน เศษซากของอาคารจากแรงระเบิดถูกนำมากองรวมกัน ผลของการทิ้งระเบิดทำให้สงครามที่ยึดเยื้อยาวนานสิ้นสุดลง
ฮิโรชิมา : สามอาทิตย์หลังการทิ้งระเบิด ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นถึงขอบเขตความเสียหายที่เกิดขึ้น
ภาพถ่ายของเหยื่อผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดปรมาณูในเมืองฮิโรชิมา
ฮิโรชิมา : ซากปรักหักพังของโรงละครจากแรงระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงมายังเมือง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 70,000 คน อีก 70,000 คนได้รับบาดเจ็บ และในเวลาต่อมาหลายพันคนเสียชีวิตจากรังสี

 

อ่านเพิ่มเติม

นี่คือสิ่งที่อาวุธนิวเคลียร์ทิ้งเอาไว้

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.