ภาพสะท้อนปริศนาความตายในอดีตกาลแห่งยุคโรมัน

ที่สุสานชาวคริสต์ ยุคโรมัน ยุคแรกๆ นักโบราณคดีกำลังทำงานเพื่อไขปริศนาว่าด้วยตัวตนของสตรีนางหนึ่ง และเหตุใดคนจำนวนมากที่เสียชีวิตตามหลังเธอไปจึงปรารถนาจะอยู่ใกล้เธอในชีวิตหลังความตาย

เมื่อโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เริ่มขึ้นในย่านกลางเมืองของกรุงลูบลิยานา บรรดานักโบราณคดีชาวสโลวีเนีย ในเมืองเก่าแก่โบราณแห่งนี้ย่อมคาดหมายการค้นพบน่าสนใจ แต่พวกเขาคาดไม่ถึงว่าจะได้เห็นอดีตอันไม่ธรรมดาใน ชุมชนชาวคริสต์ ยุคโรมัน แรกเริ่ม และสตรีคนสำคัญที่ยังเป็นปริศนา ผู้เป็นศูนย์กลางของสาวกที่ปรารถนาจะติดตามเธอไปสู่ ชีวิตนิรันดร์

ซากปรักของเมืองเอโมนา ชุมชนโรมันที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 14-15 ทอดตัวอยู่ใต้ใจกลางกรุงลูบลิยานา ระหว่างการขุดสำรวจ บนถนนโกสโปสเวตสกา นักโบราณคดีพบซากสุสานสมัยศตวรรษที่สี่ซึ่งมีหลุมฝังศพกว่า 350 หลุมและโลงหินอีกกว่า 40 โลง (ภาพถ่าย: มาตียา ลูคิช)

เมืองหลวงของประเทศขนาดเล็กในยุโรปกลางแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 2,000 ปีก่อนในฐานะชุมชนเอโมนา ของจักรวรรดิโรมัน ประชากรคือชาวอาณานิคมหลายพันคนที่ถูกขับออกจากภาคเหนือของอิตาลีเพราะปัญหาขาดแคลน ที่ดินทำกิน และต้องหลีกทางให้ทหารผ่านศึกจากสงครามที่ช่วยก่อกำเนิดจักรวรรดิโรมัน ชุมชนชาวคริสต์ในท้องถิ่น เฟื่องฟูขึ้นหลังสิ้นสุดการกวาดล้างสังหารชาวคริสต์ครั้งใหญ่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิโรมันในช่วงต้นศตวรรษที่สี่ จากนั้นก็เสื่อมถอยลงพร้อมกับการรุกรานทำลายเมืองเอโมนาโดยชาวฮัน (หรือชาวฮวน) ในศตวรรษที่ห้า

จากการขุดสำรวจก่อนหน้านี้ในบริเวณเดียวกัน นักโบราณคดีรู้ว่าส่วนหนึ่งของสุสานโรมันทอดตัวอยู่ใต้ถนน โกสโปสเวตสกา และจะต้องมีการขุดพบหลุมศพโบราณเพิ่มขึ้นอีก การขุดค้นครั้งหลังสุดเริ่มขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2017 ซึ่งเผยให้เห็นสุสานยุคโรมันตอนปลายที่มีหลุมฝังศพมากกว่า 350 หลุม ทั้งหมดตั้งล้อมรอบสุสานใหญ่โอ่อ่าของสตรี ที่น่าจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลระดับสูง ตามการวิเคราะห์ของอันเดรย์ กัสปารี นักโบราณคดีชาวสโลวีเนีย

“การศึกษาหลุมศพเป็นงานภาคสนามทางโบราณคดีที่จัดว่าหินที่สุดงานหนึ่งครับ” มาร์ติน ฮอร์วัต นักโบราณคดี ผู้นำการขุดค้น กล่าวและเสริมว่า “การกระจุกตัวของหลุมฝังศพทั้งแบบบรรจุโลงหินและหลุมศพเรียบๆอยู่ในระดับสูงมาก ในกรณีนี้ โลงหินขนาดมหึมาทำให้การทำงานเชิงกายภาพและการขนส่งยุ่งยากท้าทายเป็นพิเศษ เพราะต้องยกและเคลื่อนย้ายอย่างระมัดระวังไปยังสถานที่เก็บในพิพิธภัณฑ์”

โครงกระดูกของสตรีวัย 30-40 ปี ถูกขุดพบในสถานที่ฝังศพซึ่งมีโครงสร้างซับซ้อนในบริเวณเก่าแก่ที่สุดของสุสาน แห่งนี้ หลุมศพส่วนใหญ่ที่ทำขึ้นในภายหลังถูกจัดวางให้อยู่ในแนวเดียวกับหลุมศพของเธอ อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ถึงสถานภาพ ของสตรีผู้นี้คือชามใช้ดื่มสีน้ำเงินงดงามที่วางไว้ในโลงหิน

นักโบราณคดีสนใจใคร่รู้ว่า สถานที่ฝังศพของสตรีผู้นี้มีพัฒนาการอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งดูเหมือนเป็นไปได้ว่าภายในหนึ่งทศวรรษหลังการฝังศพของเธอ อาคารทรงสี่เหลี่ยมหลังหนึ่งถูกรื้อถอนออกไป และมีการก่อสร้างโครงสร้าง ใหญ่กว่าเดิมขนาด 10 คูณ 13 เมตรครอบบนหลุมฝังศพของเธอ รอบๆโครงสร้างใหม่นี้ รวมทั้งภายใน ชุมชนชาวคริสต์ในเมืองเอโมนาเริ่มประกอบประเพณีฝังศพที่เรียกว่า อัดซังก์โตส (ad sanctos) หรือการฝังผู้วายชนม์ใกล้หลุมฝังศพของผู้พลีชีพ เพื่อศาสนาและผู้เสียชีวิตอื่นๆ ที่ถือเป็นผู้ทรงศีล ต่อมามีการสร้างสุสานขึ้นอีกหลังติดกับโครงสร้างครอบหลุมฝังศพของเธอ

โลงหินที่เห็นนี้สกัดจากแห่งหินปูน นักโบราณคดีและนักศึกษา (ขวา) ต้องแก้ปัญหาท้าทายทางเทคนิคระหว่างเคลื่อนย้ายโลงศิลาหนักอึ้งไปยังสถานที่เก็บในพิพิธภัณฑ์ หลักฐานชี้ว่าโลงหินบางโลงเคยถูกเปิดและปิดกลับอีกครั้ง ศพถูกบรรจุโลงแล้วย้ายออกไป ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อโลงหินถูกขายหรือยกให้คนอื่น

สตรีผู้ได้รับการเชิดชูด้วยโครงสร้างเหล่านี้คือใครกันแน่ หากนักโบราณคดีคิดถูกว่าเธอเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการฝังในสุสานแห่งนี้ และหลุมศพของเธอมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของสุสานดังกล่าว เธอก็น่าจะเป็นบุคคลสำคัญเป็นพิเศษในเมือง เอโมนายุคโรมัน แต่จนถึงขณะนี้ สถานภาพทางสังคมของเธอ รวมทั้งสังกัดทางศาสนา และสถานที่กำเนิด ยังเป็นเพียง การคาดเดา

“ในส่วนต่อขยายด้านเหนือสุด เราค้นพบชิ้นส่วนภาพปูนเปียกกับพื้นโมเสกบางส่วนซึ่งน่าจะปูไว้ทั่วทั้งอาคาร” กัสปารีพูดถึงอาคารสุสานที่สร้างขึ้นภายหลัง “ชิ้นส่วนภาพปูนเปียกที่พบกระจัดกระจายตลอดแนวฐานรากขนาดมหึมาของอาคารบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของซุ้มเพดานโค้ง ซึ่งใช้ทำอะไรยังเป็นปริศนาอยู่ครับ”

ชิ้นส่วนข้าวของเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเป็นเซรามิกและแก้วที่ขุดพบในชั้นตะกอนบนพื้นผิวบริเวณทางเดินโบราณบ่งชี้ว่า หมู่อาคารสุสานแห่งนี้ยังใช้จัดงานเลี้ยงรำลึกถึงผู้วายชนม์ในวันครบรอบการเสียชีวิตของผู้คนที่ฝังอยู่ที่นี่ งานเลี้ยงทำนองนี้มีการพรรณนาไว้ในงานเขียนเชิงวรรณกรรมด้วย ชุมชนชาวคริสต์มองความตายว่าเป็น ดีเอสนาตาลิส (dies natalis) หรือวันที่ผู้ศรัทธามีชีวิตใหม่

ศิลปวัตถุน่าทึ่งที่สุดที่ขุดพบเป็นชามแก้วสีน้ำเงินโปร่งแสงซึ่งพบอยู่ข้างศพสตรีดังกล่าว ภาชนะอายุ 1,700 ปีชิ้นนี้ มีลายประดับด้านนอกเป็นรูปผลองุ่น ใบและมือเกาะของเถาองุ่น ข้อความจารึกภาษากรีกด้านในมีความหมายว่า “ดื่มเพื่อชีวิตนิรันดร์!”

เรื่อง มารีอัน จีเบอร์นา

ภาพถ่าย อาร์เน โฮดาลิช


อ่านเพิ่มเติม เยรูซาเลม : โบราณคดีเดือดใต้แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ 

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.