การสังหารหมู่คนผิวดำที่ทัลซา – ตราบาปไม่ลืมเลือนของชาวสหรัฐฯ

เมื่อหนึ่งร้อยปีที่ก่อน ม็อบคนผิวขาวสังหารหมู่ประชาชน มากถึง 300 คนในเขตคนผิวดำอันมั่งคั่งของทัลซา รัฐโอคลาโฮมา หรือที่เรียกว่า การสังหารหมู่คนผิวดำที่ทัลซา ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง เมื่อทัลซาเริ่มชำระสะสางการทำลายล้างในครั้งนั้น

วันที่ 1 มิถุนายน ปี 1921 ในเหตุการณ์ที่เรียกขานกันภายหลังว่า การสังหารหมู่คนผิวดำที่ทัลซา ขณะที่ม็อบคนผิวขาวแห่มาถึงกรีนวูด ชุมชนคนดำล้วนในทัลซา รัฐโอคลาโฮมา แมรี อี. โจนส์ แพร์ริช คว้ามือลูกสาวตัวน้อยออกวิ่งหนีตาย ทั้งคู่หลบหลีกกระสุนไปตามกรีนวูดอะเวนิว ซึ่งเป็นถนนอันมั่งคั่งจนในภายหลังได้ชื่อว่า แบล็กวอลล์สตรีท

คนดำหลายพันวิ่งหนีขณะที่ม็อบรุกคืบเข้ามา ปล้นสะดม เผาบ้านเรือน โบสถ์ และอาคารอื่นๆ แล้วกราดยิงคนดำอย่างเลือดเย็น เมื่อการเข่นฆ่าทำลายล้างที่กินเวลาสองวันยุติลง มีพลเมืองผิวดำถึง 300 คนถูกสังหารและย่านกรีนวูดก็พินาศย่อยยับ

การโจมตีในเหตุการณ์ การสังหารหมู่คนผิวดำที่ทัลซา คือการก่อการร้ายรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของคลื่นความรุนแรงทางเชื้อชาติในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่คนผิวขาวกระทำต่อชุมชนคนผิวดำ นักประวัติศาสตร์บางคนนิยามเหตุการณ์ที่เกิดในกรีนวูดว่า “การสังหารหมู่ การจลาจล หรือถ้าใช้คำสมัยใหม่หน่อยก็คือการกวาดล้างเผ่าพันธุ์” ตามที่ระบุในรายงานปี 2001 ของคณะกรรมการสืบสวนการจลาจลทางเชื้อชาติในทัลซาซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการสืบสวนเหตุการณ์นองเลือดครั้งนั้นอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลในอีก 80 ปีต่อมา นับเป็นช่องว่างระหว่างเวลาที่สะท้อนว่า คนผิวขาวในทัลซาแก้ต่างและปิดบังอำพรางเหตุสังหารหมู่นั้นไว้หลายชั่วคนได้อย่างไร

หลังจากดิ๊ก โรว์แลนด์ วัยรุ่นชายผิวดำวัย 19 ปี ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายหญิงผิวขาว ม็อบคนผิวขาวก็บุกย่านกรีนวูด ปล้นสะดม เผา และฆ่า ช่างภาพนิรนามคนหนึ่งบันทึกภาพความเสียหายและเขียนคำบรรยายเหตุการณ์นั้นไว้

“สำหรับคนอื่นๆ นี่แทบไม่ต่างอะไรกับสงครามเชื้อชาติ” รายงานของคณะกรรมการสืบสวนระบุ “แต่ไม่ว่าจะใช้คำว่าอะไร สิ่งหนึ่งที่จริงแท้แน่นอนคือ เมื่อเหตุการณ์สิ้นสุด ย่านคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในทัลซาแปรสภาพเป็นลานว่างเปล่าที่ถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน หน้าร้านเหลือเพียงซากปรัก โบสถ์มอดไหม้ และต้นไม้ไร้ใบดำเป็นตอตะโก

ประชาชนร่วม 10,000 คน เกือบทั้งหมดเป็นประชากรผิวดำและเกือบจะเท่ากับหนึ่งในสิบ ของจำนวนประชากรในทัลซากลายเป็นคนไร้บ้าน ผู้นำทางสังคมในกรีนวูดบางคน ต้องออกจากเมืองหลังถูกใส่ความว่าเป็นผู้ยุยงให้เกิดการจลาจล

ทุกวันนี้ ขณะที่ผู้สืบสายเลือดของครอบครัวคนดำในทัลซาช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบยังคงแตกฉานซ่านเซ็น ย่านธุรกิจของกรีนวูดหดเหลือแค่หนึ่งช่วงตึกที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ และบริการคนขาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ท้ายที่สุด ทัลซาก็ลุกขึ้นสะสางเหตุการณ์สังหารหมู่ด้วยเหตุแบ่งแยกเชื้อชาติ อันเป็นความอัปยศที่พยายามกลบฝังให้ลืมเลือนมาเนิ่นนาน

หนังสือพิมพ์จากนิวยอร์กซิตีไปถึงแคลมัทฟอลส์ รัฐออริกอน รายงานเกี่ยวกับการก่อเหตุ รุนแรงนี้ แบล็กดิสแพ็ตช์ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในโอคลาโฮมาซิตี เปรียบเทียบความเสียหายกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กระนั้น ความทรงจำเรื่องการสังหารหมู่ก็เลือนรางกลายเป็นความเงียบร่วม นักธุรกิจในทัลซาไม่อยากให้ชื่อเสียงของเมืองแปดเปื้อน ขณะที่ชาวเมืองผิวดำไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ปี 1997 หรือ 76 ปี หลังการสังหารหมู่ รัฐโอคลาโฮมาเริ่มสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดอน รอส สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐ ซึ่งมีปู่รอดชีวิตจากเหตุรุนแรงครั้งนั้น ร่างกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการสืบสวนการจลาจลทางเชื้อชาติในทัลซาขึ้น หลังนักข่าวท้องถิ่นคนหนึ่งเรียก การวางระเบิดในโอคลาโฮมาซิตีเมื่อปี 1995 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 168 คนว่า การก่อความไม่สงบครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามกลางเมือง

ในปี 1998 ทีมของสกอตต์ เอลส์เวิร์ท ผู้เขียนหนังสือ พลิกฟ้าสะเทือนดิน: เมืองแห่งหนึ่งในอเมริกากับการแสวงหาความเป็นธรรม ที่บอกเล่าถึงการอำพรางและการสืบสวนเหตุสังหารหมู่ดังกล่าว ระบุสถานที่สามแห่งที่อาจเป็นหลุมฝังศพหมู่ ได้แก่ นิวบล็อกพาร์ก สุสานบูเกอร์ ที. วอชิงตัน และสุสานโอ๊กลอว์น จากผู้เห็นเหตุการณ์ ไคลด์ เอ็ดดี ชาวทัลซาผิวขาว ทำให้การค้นหาขยายไปยังโอ๊กลอว์น

ห้าวันหลังสำนักงานถูกเผา บี.ซี. แฟรงคลิน ทนายความ (คนขวาในภาพ) กับหุ้นส่วน ไอ.เอช. สเปียร์ และเอฟฟี ทอมป์สัน เลขานุการ เปิดสำนักงานในเต็นท์ พวกเขาต่อสู้กับความพยายามต่างๆ ที่กีดกันไม่ให้เจ้าของทรัพย์สินผิวดำสร้างกิจการขึ้นใหม่

คณะกรรมการสืบสวนตัดสินไม่อนุญาตให้ตรวจสอบเรื่องนี้ และซูซาน แซเวจ นายก เทศมนตรีเมืองทัลซาในขณะนั้น ได้สั่งยุติการสืบสวนก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะทันได้ขุดลงไป โดยบอกว่าเธอไม่อยากรบกวนหลุมศพใกล้เคียง

แต่เมื่อปี 2018 ฉันเขียนข่าวหน้าหนึ่งตีพิมพ์ใน วอชิงตันโพสต์ ตั้งคำถามเรื่องการยุติการสืบสวนครั้งนั้น ไม่กี่วันหลังข่าวนั้นตีพิมพ์ นายกเทศมนตรีเมืองทัลซา จี.ที. บายนัม ก็ประกาศว่าจะรื้อฟื้นการสืบสวนขึ้นใหม่

ในปี 2019 เมืองทัลซาตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยทายาท นักวิจัย และนักกิจกรรมในชุมชน คณะกรรมการดังกล่าวขอให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญค้นหาหลักฐานของสิ่งผิดปกติในพื้นที่ที่ระบุเมื่อปี 1999

Iผู้รอดชีวิตที่ได้รับบาดเจ็บนอนเต็มโรงพยาบาลชั่วคราวของสภากาชาดในเมืองทัลซา รายงานของสภากาชาดระบุว่า “ขณะที่บันทึกต่างๆ แสดงตัวเลขผู้บาดเจ็บอยู่ที่ 763 คน ตัวเลขนั้นไม่รวมผู้บาดเจ็บที่พบในภายหลังบนถนนทุกสายที่ออกจากทัลซา”

สุสานโอ๊กลอว์น ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพสาธารณะเก่าที่สุดที่ยังเปิดบริการอยู่ ห่างจากกรีนวูดไปไม่กี่ ช่วงตึก ตรงทางเข้ายังมีแผนที่แสดงเส้นแบ่งระหว่างเขตของ “คนผิวขาว” และ “คนผิวสี” ให้เห็นอยู่

เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ขุดสำรวจส่วนของ “คนผิวสี” หลังขุดอยู่แปดวันโดยไม่พบหลุมศพหมู่ เมืองทัลซาจึงตัดสินใจขยายการค้นหา สามเดือนต่อมา ในวันที่ 19 ตุลาคม ปี 2020 การขุดสำรวจครั้งที่สองก็เริ่มต้นขึ้น เจ้าหน้าที่สงสัยว่าจุดนี้อาจเป็นที่ฝังศพคนดำ 18 คนเมื่อปี 1921

สองวันต่อมา นักวิทยาศาสตร์ระบุตำแหน่งสิ่งที่หลงเหลือของร่องใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งใกล้หลุมศพของรูเบน เอเวอเร็ตต์ กับเอ็ดดี ล็อกคาร์ด ซึ่งเป็นหลุมศพผู้เคราะห์ร้ายจากการสังหารหมู่สองหลุมเท่านั้นที่มีป้ายหน้าหลุมศพในสุสานแห่งนี้ ในร่องหรือหลุมนั้นมีโลงศพอย่างน้อย 11 โลง

โรเบิร์ต เทอร์เนอร์ สวดอธิษฐานใกล้จุดที่เพิ่งขุดพบหลุมศพหมู่ในสุสานโอ๊กลอว์นของทัลซา ซึ่งเป็นแห่งแรกที่พบจากการก่อเหตุจลาจลโดยคนผิวขาวในย่านกรีนวูดของคนผิวดำเมื่อปี 1921 เทอร์เนอร์เป็นศิษยาภิบาลของโบสถ์เวอร์นอนแอฟริกันเมโทดิสต์เอพิสโคพัล ซึ่งเป็นหนึ่งในอาคารไม่กี่หลังที่เหลือรอดจากการทำลายล้างครั้งนั้น

“นี่เรียกได้ว่าเป็นหลุมศพหมู่ค่ะ” แครี สเตเกิลเบ็ก นักโบราณคดีประจำรัฐ บอกผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวที่ทัลซา แต่เธอบอกว่าจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมก่อนจะระบุได้แน่ชัดว่า ใช่ศพผู้เคราะห์ร้ายจากการสังหารหมู่หรือไม่

หลุมฝังศพนั้นอาจมีโลงอีกมากซ้อนทับกันอยู่ “ที่เราเห็นอาจเป็นศพของคนกว่า 30 คนถูกฝังรวมกันในหลุมศพหมู่นี้ก็ได้ค่ะ” สเตเกิลเบ็กบอก เธออธิบายว่ามีการเซาะขั้นบันไดเข้าไปในดินแข็งๆ “เพื่อใช้ขึ้นลงจากหลุม” คนที่ขุดหลุมไม่น่าต้องวุ่นวายขนาดนี้เพื่อฝังคนไม่กี่คน

เรื่อง ดีนีน แอล. บราวน์
ภาพถ่าย เบทานี มอลเลนคอฟ

สามารถติดตามสารคดี ตราบาปไม่ลืมเลือน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.