พุทธสถาน เมสไอนัก แห่งอัฟกานิสถาน

ท่ามกลางภัยคุกคามจากการโจมตีของกลุ่มตอลิบาน นักโบราณคดีกำลังเร่งมือขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีทางพุทธศาสนา เมสไอนัก ก่อนจะถูกเหมืองทองแดงขนาดมหึมาทำลายจนสิ้นซาก

ราวหนึ่งชั่วโมงไปตามทางหลวงการ์เดซทางใต้ของกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน มีเส้นทางสายหนึ่งเลี้ยวซ้ายหักศอกลงสู่ถนนลูกรัง ในเขตจังหวัดโลการ์ซึ่งผู้คนในท้องถิ่นให้การสนับสนุนกลุ่มตอลิบานนี้พื้นที่โดยรอบสั่นสะเทือนจากระเบิดที่ซุ่มวางอยู่ตามข้างถนน

การโจมตีด้วยจรวดเป็นระยะ ๆ การลักพาตัว และเหตุฆาตกรรม ถนนสายนี้ทอดเลียบไปตามก้นแม่นํ้าแห้งผาก ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ เครื่องกีดขวางถนนของกองกำลังต่างๆ ป้อมยาม และกลุ่มอาคารหลังคาสีนํ้าเงินล้อมลวดหนาม ป้องกันผู้บุกรุก แต่ภายในกลับว่างเปล่า

ห่างออกไปไม่ไกล ทิวทัศน์เปิดโล่งมองเห็นหุบเขาไร้ต้นไม้ที่เป็นริ้วรอยยับย่นจากแนวหลุมขุดค้นทางโบราณคดีและกำแพงโบราณที่โผล่พ้นดินขึ้นมา ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา ทีมนักโบราณคดีชาวอัฟกานิสถานและนานาชาติ พร้อมคนงานมากถึง 650 คน ขุดพบพระพุทธรูปหลายพันองค์ ต้นฉบับลายมือ เหรียญกษาปณ์ และสิ่งก่อสร้างศักดิ์สิทธิ์หมู่อารามและป้อมค่ายเก่าแก่ที่ได้รับการเผยโฉมมีอายุย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่สาม รอบ ๆ แหล่งขุดค้นมีจุดตรวจการณ์ตั้งอยู่มากกว่าหนึ่งร้อยจุด และตำรวจราว 1,700 นายคอยลาดตระเวนทั้งกลางวันและกลางคืน

ขณะถ่ายภาพนี้เมื่อปี 2012 แรงงานท้องถิ่นราว 500 คนได้รับการว่าจ้างให้เร่งขุดค้นเพื่อกอบกู้ศิลปวัตถุขึ้นมาก่อนที่เหมืองจะเปิดดำเนินงาน แต่เมื่อการเปิดเหมืองล่าช้าออกไป ทุกวันนี้แรงงานที่มีจำนวนน้อยลงจึงทำงานอยู่ในพื้นที่ที่อิทธิพลของกลุ่มกบฏเติบโตขึ้น

การขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณนี้นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์อัฟกานิสถาน แต่มาตรการรักษาความปลอดภัยไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อคุ้มครองนักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนกับคนงานท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น เพราะสิ่งที่ฝังอยู่ใต้ซากปรักเหล่านี้คือขุมทรัพย์สินแร่ทองแดง ครอบคลุมพื้นที่กว้างสี่กิโลเมตรและทอดยาวราว 1.5 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้น ลึกเข้าไปในภูเขาบาบาวาลีที่ตั้งตระหง่านเหนือแหล่งขุดค้น แหล่งแร่ทองแดงนี้ถือเป็นแหล่งแร่ทองแดงที่ยังไม่มีการนำขึ้นมาใช้ประโยชน์แหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประมาณการว่าน่าจะมีแร่ทองแดงอยู่ราว 11.4 ล้านตัน

ในสมัยโบราณ ทองแดงสร้างความมั่งคั่งให้วัดวาอารามและหมู่สงฆ์ในพุทธศาสนาที่นี่ กากถลุงสีม่วงปริมาณมหาศาลในสภาพเป็นก้อนแข็งซึ่งเกลื่อนกล่นอยู่ตามลาดเขาบาบาวาลี แสดงถึงการถลุงแร่ในระดับเกือบเป็นอุตสาหกรรม รัฐบาลอัฟกานิสถานหวังว่าทองแดงจะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศชาติอีกครั้งหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็พอเลี้ยงตัวได้

ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2010 ของเนินดินที่เรียกว่า ชาห์เตเป (Shah Tepe) เผยให้เห็นโพรงของพวกลักลอบขุดสมบัติ (บน) ภายในหนึ่งปีนักโบราณคดีขุดพบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีปราการป้องกันอย่างแน่นหนา (ล่าง)

ชื่อเสียงเรียงนามของสถานที่แห่งนี้ฟังดูช่างนอบน้อมถ่อมตน เพราะ เมสไอนัก (Mes Aynak) แปลว่า ”บ่อทองแดงน้อยๆ” ย้อนหลังไปเมื่อปี 2007 บริษัทไชน่าเมทัลเลอร์จิคัลกรุ๊ป หรือเอ็มซีซี (China Metallurgical Group Corporation: MCC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่งและเป็นผู้นำกลุ่มบริษัทที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน ได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองแดงที่นี่เป็นเวลา 30 ปี บริษัทประมูลด้วยเงินกว่าสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสัญญาว่าจะสร้างสาธารณูปโภคให้พื้นที่ห่างไกลและขาดความเจริญแห่งนี้ รวมทั้งถนน ทางรถไฟ และโรงไฟฟ้าขนาด 400 เมกะวัตต์ ทางการอัฟกานิสถานคาดว่า เหมืองทองแดงจะอัดฉีดเม็ดเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอันเปราะบางของประเทศที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2002 และปัจจุบันกำลังเผชิญภาวะขาดดุลถึงปีละ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เป็นที่ทราบกันมาหลายสิบปีแล้วว่า เมสไอนัก น่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีอันทรงคุณค่า เมื่อมีการเปิดเผยสัญญาที่ทำกับจีนต่อสาธารณชน ผู้สนับสนุนมรดกทางวัฒนธรรมของอัฟกานิสถานจึงเรียกร้องให้มีการขุดค้นสมบัติโบราณในสถานที่แห่งนี้และขึ้นทะเบียนไว้อย่างถูกต้องก่อนจะสูญหายไปกับการทำเหมืองเปิด

พระทีปังกรพุทธเจ้า หินชีสต์ ศตวรรษที่สามถึงห้า

ทว่าศิลปวัตถุเหล่านี้เดิมทีก็ตกอยู่ในอันตรายอยู่แล้ว มิใช่จากการทำลายล้างของกลุ่มตอลิบาน แต่จากพวกลักลอบขุดสมบัติที่แอบมาขุดไปทีละชิ้นสองชิ้น ”ถ้าไม่ถูกทำลายจากการทำเหมือง ก็คงไม่พ้นเงื้อมมือพวกลักลอบขุดครับ” ฟีลิป มาร์กี นักโบราณคดี ชาวฝรั่งเศส ผู้ดูแลการขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ระหว่างปี 2009 ถึง 2014 บอกอันตรายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้การทำเหมืองต้องล่าช้าออกไป

กลุ่มอาคารหลังคาสีนํ้าเงินที่สร้างขึ้นสำหรับวิศวกรชาวจีนถูกทิ้งร้าง หลังถูกจรวดยิงถล่มเป็นระลอกเมื่อปี 2012 และ 2013 อันตรายอีกอย่างหนึ่งมาจากกับระเบิดที่โซเวียตฝังไว้ในช่วงทศวรรษ 1980 รวมทั้งวัตถุระเบิดที่กลุ่มตอลิบานและกลุ่มอัลกออิดะห์ทิ้งไว้เมื่อไม่นานมานี้ซ้ำร้ายเมื่อปี 2014 กลุ่ม ตอลิบานยังสังหารผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บกู้วัตถุระเบิดไปแปดคน

นอกจากปัญหาด้านความปลอดภัยแล้ว ยังมีเรื่อง การคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การขาดทางรถไฟที่จะขนส่งทองแดงออกจากภูมิภาค และการขาดแคลนนํ้าอย่างรุนแรง เมื่อปี 2013 บริษัทเอ็มซีซีเริ่มโต้แย้งเงื่อนไขบางประการในสัญญา และทั้งสองฝ่ายยังไม่เปิดการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงกันใหม่ การทำเหมืองทองแดงถ้าเกิดขึ้นได้จริงก็คงไม่น่าจะเร็วกว่าปี 2018

ศิลปวัตถุหลายพันชิ้นที่ขุดพบสะท้อนให้เห็นความรุ่มรวยที่ทองแดงนำมาสู่ศาสนสถานและแหล่งอุตสาหกรรมแห่งนี้ตัวอย่างเช่นพระพุทธรูปไม้อายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบในสภาพสมบูรณ์ (ขวา) สูง 20เซนติเมตร มีอายุระหว่างค.ศ. 400 ถึง 600

ความล่าช้าของการเปิดเหมืองทองแดงทำให้นักโบราณคดีมีเวลาขุดสำรวจนานกว่าที่คิดไว้มาก แม้แรงงานขุดจะลดจำนวนลงมากก็ตาม อดีตที่พวกเขากำลังเผยให้เห็นนั้นช่างแตกต่างจากความรุนแรงและความไร้ระเบียบในยุคปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่ศตวรรษที่สามถึงศตวรรษที่แปด เมสไอนัก เป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณที่เจริญรุ่งเรืองในช่วงเวลาที่ค่อนข้างสงบสุข ที่นี่มีกลุ่มอารามในพุทธศาสนารวมเจ็ดแห่งซึ่งประกอบด้วยอาคารหลายชั้น ภายในมีทั้งวิหาร กุฏิ และห้องอื่น ๆ เรียงรายกันเป็นรูปโค้งรอบแหล่งโบราณคดี แต่ละแห่งมีหอคอยโบราณและกำแพงสูงเป็นปราการป้องกัน ภายในกลุ่มอาคารและที่อยู่อาศัยซึ่งได้รับการปกป้องอย่างแน่นหนานี้ นักโบราณคดีขุดพบสถูปก่อด้วยหินชีสต์และดินเหนียวหลากหลายขนาดเกือบร้อยองค์ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา

เมสไอนักยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของแคว้นคันธาระ ซึ่งครอบคลุมอาณาบริเวณที่ปัจจุบันคือภูมิภาคแถบตะวันออกของอัฟกานิสถานและพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน ชุมทางอารยธรรมแห่งนี้เป็นจุดบรรจบของศาสนาใหญ่ ๆ ของโลก ได้แก่ ศาสนาฮินดู พุทธศาสนา และศาสนาโซโรอัสเตอร์ ทั้งยังเป็นเบ้าหลอมของวัฒนธรรมกรีก เปอร์เซีย เอเชียกลางและอินเดีย

เจ้าชายสิทธัตถะ โคตมะ ในท่าประทับ หินชีสต์ 28.4 ซม.ศตวรรษที่สามถึงห้า

ในศตวรรษที่หนึ่ง พุทธศาสนิกชนชาวคันธาระได้ปฏิรูปศิลปะของภูมิภาคนี้ โดยขัดเกลาคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ที่เกิดจากการหล่อหลอมอิทธิพลศิลปะดั้งเดิมของกลุ่มชนที่เคยยึดครองและตั้งรกรากอยู่ที่นี่มาก่อน พวกเขาเป็นศิลปินกลุ่มแรก ๆ ของโลกที่ถ่ายทอดพุทธลักษณะผ่านพระพุทธรูปที่มีลักษณะทางสรีระสมจริงแบบมนุษย์ เป็นมรดกนวัตกรรมแบบกรีกที่ย้อนไปถึงยุคพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้กรีฑาทัพผ่านอัฟกานิสถานครั้งแรกเมื่อ 330 ปีก่อนคริสตกาล ที่เมสไอนักนักโบราณคดีค้นพบวิหารหลายแห่งที่ประดิษฐานพระพุทธรูปใหญ่ขนาดสองเท่าของคนจริงซึ่งยังปรากฏร่องรอยของสีแดง นํ้าเงิน เหลือง และส้มบนจีวร รวมไปถึงกรุเครื่องทอง ชิ้นส่วนแผ่นจารึกโบราณและฝาผนังประดับภาพปูนเปียก

แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ยังมีเหรียญกษาปณ์ทองแดงจำนวนมากจากสมัยศตวรรษที่สามถึงเจ็ด โดยมีทั้งที่เก็บได้ตามพื้นของส่วนที่อยู่อาศัยและที่ซุกซ่อนไว้อย่างดีนับร้อยๆ แห่ง เหรียญจำนวนมากมีพระสาทิสลักษณ์ของพระเจ้ากนิษกะมหาราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์กุษาณะในสมัยศตวรรษที่สอง พระองค์อาจทรงนับถือพุทธศาสนาหรือไม่ก็ได้ แต่ทรงเปิดกว้างให้ผู้คนนับถือพุทธศาสนารวมทั้งศาสนาอื่นๆ ในจักรวรรดิของพระองค์ได้ โดยเฉพาะศาสนาโซโรอัสเตอร์ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเปอร์เซียโบราณ

แม้เราจะทราบถึงความเชื่อมโยงระหว่างพุทธศาสนาสมัยโบราณกับการค้าและการพาณิชย์อยู่ไม่น้อย แต่กลับแทบไม่มีข้อมูลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเลย เมสไอนักอาจเข้ามาเติมช่องว่างที่สำคัญนี้ โดยเป็นเค้าเงื่อนให้เราทราบถึงระบบเศรษฐกิจของชาวพุทธซึ่งมีลักษณะซับซ้อนกว่าที่เคยเข้าใจกัน เมสไอนักแตกต่างจากแหล่งโบราณคดีบามีอานที่เราคุ้นเคยมากกว่า

พระพักตร์และใบหน้าโบราณของพระพุทธรูปสูง20.3 เซนติเมตรหล่อจากปูนปลาสเตอร์ปิดทอง

สถานที่จาริกแสวงบุญของพุทธศาสนิกชนสมัยโบราณและศูนย์กลางของกองคาราวานบนเส้นทางสายไหมแห่งหลังตั้งอยู่ห่างจากเมสไอนักไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 200 กิโลเมตร และเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสมัยศตวรรษที่หกขนาดมหึมาสององค์ที่สลักเข้าไปในหน้าผา แต่ถูกกลุ่มตอลิบานระเบิดจนเหลือเพียงกองซากปรักเมื่อปี 2001 เมสไอนักดูเหมือนจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นจากการเป็นศูนย์กลางการขุดและผลิตแร่ทองแดงเป็นสำคัญ หมู่อารามศักดิ์สิทธิ์ล้วนสร้างอยู่บนแหล่งสินแร่พอดี

การจะไขความหมายของเมสไอนักให้กระจ่างคงต้องใช้เวลาหลายสิบปี และพึ่งพานักโบราณคดีสายเลือดใหม่ หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคาบูล สุลฏอน มะซูด มูราดี วัย 24 ปี บุตรชายของคนงานก่อสร้างในกรุงคาบูลสมัครสอบแข่งขันเพื่อเข้าร่วมการขุดสำรวจที่นี่ เขาภูมิใจที่ตนเองและเพื่อนร่วมงานเป็นตัวแทนของคนต่างชาติพันธุ์ที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กเลยสำหรับประเทศที่แตกแยกอย่างรุนแรงจากสงครามกลางเมืองอันเลวร้ายในช่วงทศวรรษ 1990 โดยกลุ่มนักรบมุญาฮิดีนที่แบ่งแยกตามกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ “เรามีประวัติศาสตร์ยาวนาน 5,000 ปีเชียวนะครับ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญมากที่คนรุ่นใหม่ของอัฟกานิสถานต้องรับรู้” เขาบอก ในมือถือพลั่วเล็ก ๆ ขณะพักจากงานขุดค้น “มิฉะนั้นเราคงโด่งดังแค่เรื่องการก่อการร้ายและการปลูกฝิ่นเท่านั้น”

อุบาสิกา ดินเหนียวระบายสี 81.2 ซม. ศตวรรษที่ห้าถึงเจ็ด

ทุกวันนี้ภูมิทัศน์ของเมสไอนักไม่มีต้นไม้เหลืออยู่เลยเป็นไปได้ว่าการถลุงแร่ทองแดงในยุคโบราณอาจเป็นสาเหตุของเรื่องนี้ และในทางกลับกันก็อาจทำให้การผลิตทองแดงต้องปิดฉากลงด้วย อุตสาหกรรมนี้ต้องใช้ไม้ปริมาณมหาศาลเพื่อนำมาเผาทำถ่าน และการถลุงแร่ทองแดงเพียง 0.45 กิโลกรัมจากสินแร่อาจต้องใช้ถ่านไม้มากถึงเก้ากิโลกรัม ทั้งยังต้องมีปริมาณมากพอเพื่อติดไฟให้ได้อุณหภูมิสูงเกือบ 1,093 องศาเซลเซียส และเลี้ยงไฟในเตาถลุงขนาดเล็กให้ลุกโชนตลอดหลายวัน

ทอมัส เอเลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณโลหวิทยาจากสหราชอาณาจักร ตรวจพบความเปลี่ยนแปลงในการผลิตทองแดงในระยะหลัง ๆ จากการถลุงแร่แบบที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพมาสู่กระบวนการที่ช้าลงและยุ่งยากมากขึ้นซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่เขาคาดว่าจะได้พบ แต่วิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เรียกว่า การถลุงแบบแยกนํ้าแร่ (tapped smelting) เป็นวิธีที่ต้องใช้เชื้อเพลิงมากกว่ามากดังนั้นเมื่อต้นไม้ที่ใช้เผาถ่านมีจำนวนน้อยลง ผู้ประกอบการถลุงแร่อาจจำเป็นต้องหันกลับไปใช้วิธีที่ช้ากว่าแทน

การถลุงแร่ทองแดงปริมาณมหาศาลยังจำเป็นต้องอาศัยแหล่งนํ้าที่พึ่งพาได้อย่างต่อเนื่องเพื่อฉีดล้างสินแร่และทำให้ก้อนโลหะที่ร้อนจัดเย็นลง แหล่งนํ้าดังกล่าวอาจมาจากนํ้าพุธรรมชาติบนภูเขา ธารนํ้าตื้น ๆ และลำรางชลประทานใต้ดินยุคโบราณที่เรียกว่า คาเรซ (karez) นักโบราณคดีขุดพบคาเรซช่วงหนึ่งซึ่งมีความยาวเก้าเมตรทางเหนือของเมสไอนักซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายลำรางดังกล่าว การตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ปริมาณฝนในพื้นที่ลดลง ส่งผลให้ขาดแคลนนํ้ายิ่งขึ้น

โครงกระดูกเปื้อนคราบทองแดงจากเนื้อดินโครงนี้อยู่ใกล้กับพระสถูปองค์หนึ่งที่เมสไอนัก เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่า บุคคลผู้นี้มีชีวิตอยู่ในช่วงที่อารามรุ่งเรืองหรือในยุคหลังจากนั้น

ทว่าสิ่งที่นักโบราณคดีต้องหาทางรับมือไม่ใช่ปัญหาความขาดแคลน แต่เป็นเรื่องการมีของล้นมือต่างหาก ทั้งนี้เนื่องจากอัตราความเร็วในการขุดค้นลํ้าหน้าความสามารถในการจัดเก็บและป้องกันสิ่งที่ขุดขึ้นมาได้ “การขุดค้นเป็นเรื่องง่าย แต่การปกปักรักษาเป็นเรื่องยากกว่ามากครับ” โอมาร์ สุลฏอน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของอัฟกานิสถานและนักโบราณคดีที่จบการศึกษาจากกรีซ กล่าว

ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญที่สุดมากกว่าหนึ่งพันชิ้นถูกส่งตรงไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถานในกรุงคาบูล “น่าเสียดายที่เราไม่สามารถรับไว้ได้ทุกชิ้น เรามีที่ไม่พอครับ” โอมารา ข่าน มัสซูดี ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่หลายปียอมรับ จนถึงขณะนี้ ศิลปวัตถุจากเมสไอนักหลายพันชิ้นซึ่งไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้รับการเก็บรักษาไว้ในสถานที่ชั่วคราวที่แหล่งขุดค้นหรือบริเวณใกล้เคียง ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์หรือศึกษา มัสซูดีกับสุลฏอนพูดกันถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นในวันหนึ่งข้างหน้า แต่สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าอย่างน้อยก็ในระยะสั้น น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (virtual museum) และการสร้างแบบจำลองออนไลน์ขึ้นเพื่อเก็บรักษาความทรงจำของเมสไอนักไว้หลังจากการทำเหมืองเริ่มขึ้น

เพื่อขุดหาสมบัติ พวกโจรทำให้พระพุทธรูปขนาดใหญ่กว่าคนจริงองค์นี้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก “โบราณคดีคือวิธีเดียวที่จะปกป้องสถานที่แห่งนี้ครับ” ฟีลิป มาร์กี ผู้ดูแลการขุดสำรวจจนถึงปี 2014 กล่าว

แต่ก่อนอื่น ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของอัฟกานิสถาน ต้องได้รับการแก้ไข และในระยะยาว หากการทำเหมืองล่าช้าออกไปก็อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามเลวร้ายมากขึ้นความมั่นคงปลอดภัยของเมสไอนักส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับหลักประกันว่า ชาวบ้านในท้องถิ่นซึ่งมักถูกชักจูงได้ง่ายหรือไม่ก็ตกเป็นเหยื่อการขู่บังคับของกลุ่มตอลิบานจะมีงานทำที่สร้างรายได้มั่นคง ชาวบ้านหลายคนไม่พอใจที่ต้องโยกย้ายออกจากหมู่บ้าน ธนาคารโลกซึ่งสนับสนุนงานด้านโบราณคดีผ่านโครงการความร่วมมือกับกระทรวงเหมืองแร่และปิโตรเลียมของอัฟกานิสถาน ประมาณการว่าในที่สุด เหมืองนี้จะสร้างงานโดยตรง 4,500 ตำแหน่ง และงานที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงอีกหลายพันตำแหน่ง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีชาวบ้านไม่กี่ร้อยคนได้ค่าจ้างอย่างงามเมื่อเทียบกับมาตรฐานท้องถิ่นเพื่อถือเสียมและพลั่ว หรือทำงานอื่น ๆ ที่ไม่ต้องอาศัยทักษะมากนักในแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีแห่งนี้ แต่ “ถ้าคุณไม่มีอาหารหรือรายได้ พอลูก ๆ ท้องหิว คุณก็ทำอะไรได้ทุกอย่างละครับ” ฮาบิบ เราะห์มาน บอก ”อาจไปเข้ากับกลุ่มตอลิบานก็ได้ พวกนั้นจ่ายค่าจ้างให้ครับ” เมื่อปี 2001 ชายหัวหน้าครอบครัวไว้เคราสีดอกเลาวัย 42 ปีผู้นี้เหยียบกับระเบิดสูญเสียขาข้างหนึ่งขณะออกไปเลี้ยงแพะ ทุกวันนี้เขาใช้ไม้เท้าเดินไปกลับเที่ยวละสองชั่วโมงจากหมู่บ้านบนภูเขาลงมาล้างเศษเครื่องปั้นดินเผาที่เมสไอนัก

การเล่นกับทัศนมิติ (perspective) ทำให้พุทธสถานศิลาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรที่เมสไอนัก ประเทศอัฟกานิสถานดูใหญ่โตกว่าความเป็นจริง ที่ผ่านมา นักโบราณคดีขุดค้นได้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของกลุ่มอาคารทางพุทธศาสนาที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่และมีอายุระหว่างศตวรรษที่สามถึงแปด

ชีวิตที่ต้องดิ้นรนของชาวบ้านอย่างเราะห์มานคงไม่เปลี่ยนไปมากนักในอนาคตอันใกล้ หลายคนรู้สึกกํ้ากึ่งทั้งบวกและลบกับประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยที่พวกเขาช่วยเผยให้โลกรู้โดยไม่ได้รู้สึกผูกพันกับอดีตยุคก่อนอิสลาม ซํ้าร้ายกลุ่มตอลิบานยังข่มขู่คนงานบางคนโดยกล่าวหาว่าสนับสนุนพุทธศาสนา

กระนั้น เราก็ยังรับรู้ได้ถึงความชื่นชมในอดีตอันยิ่งใหญ่ “บรรพบุรุษของผมเป็นมุสลิมครับ” คนงานวัย 36 ปีซึ่งเคยเป็นทหารกองทัพอัฟกานิสถาน และบอกแค่ชื่อสั้น ๆ ว่า จาเวด กล่าว ”แต่เรารู้ว่าผู้คนมากมายหลายชั่วอายุคนเคยใช้ชีวิตและล้มหายตายจากบนผืนดินแห่งนี้ ขณะทำงาน ผมคิดว่าที่แห่งนี้มีทั้งอารยธรรม โรงงาน เมือง และเหล่ากษัตริย์

“ใช่แล้วครับ นี่ก็คืออัฟกานิสถานเช่นเดียวกัน”

เรื่อง แฮนนาห์ บลอค
ภาพถ่าย ไซมอน นอร์โฟล์ก


อ่านเพิ่มเติม บามียัน พระพุทธรูปโบราณองค์ใหญ่ในอัฟกานิสถาน-ที่ถูกทำลายไปจนสิ้น

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.