เยือน ถ้ำเวหา ล่าหลักฐานโบราณคดีเนปาล

ถํ้าเวหา ริมผาแห่งอาณาจักรมุสตางในอดีตยอมเปิดเผยความลับที่ซุกซ่อนไว้

หัวกะโหลกมนุษย์ตั้งหมิ่นเหม่อยู่บนก้อนหินมนใหญ่ที่พร้อมจะปริแตกได้ทุกเมื่อในดินแดนห่างไกลทางตอนเหนือของเขตมุสตางในประเทศเนปาล พีต เอทานส์ หัวหน้าทีมที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งนักปีนเขาและนักโบราณคดีสวมชุดเข็มขัดนิรภัยแบบเต็มตัวและผูกตัวเองกับเชือกเส้นหนึ่ง ก่อนจะตะกายขึ้นไปตามก้อนหินใหญ่สูงหกเมตร โดยมีเท็ด เฮสเซอร์ นักปีนเขาอีกคนคอยยึดเชือกให้

เมื่อปีนขึ้นไปถึงหัวกะโหลก เขาก็สวมถุงมือยางสีนํ้าเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ดีเอ็นเอปนเปื้อนสิ่งที่พบ แล้วบรรจงหยิบ หัวกะโหลกขึ้นมา เอทานส์น่าจะเป็นบุคคลแรกที่ได้สัมผัส หัวกะโหลกนี้ในระยะ 1,500 ปี ฝุ่นปลิวฟุ้งออกมาจาก โพรงลูกตา เขาวางหัวกะโหลกลงในถุงสีแดงที่บุวัสดุกันกระแทก แล้วหย่อนลงมาให้นักวิทยาศาสตร์สามคนที่รอ อยู่เบื้องล่าง ได้แก่ มาร์ก แอลเดนเดอร์เฟอร์ จาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเมอร์เซด แจกเกอลีน เอง จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นมิชิแกน และโมฮัน ซิงห์ ลามะจากสำนักงานโบราณคดีของเนปาล

ในการขึ้นไปให้ถึงหมู่ถํ้าที่ขุดเข้าไปในหน้าผาสูงจากพื้นหุบเขา 47 เมตร แมตต์ ซีกัล (บน) ต้องปีนป่ายไปตามผาหินที่เปราะหักง่ายเพียงแค่สัมผัส เครือข่ายถํ้าอายุ 800 ปีที่เชื่อมต่อกันด้วยชั้นหินขั้นบันไดและทุกวันนี้ว่างเปล่า อาจเคยเป็นที่เก็บต้นฉบับเอกสารโบราณ

แอลเดนเดอร์เฟอร์ ดูจะตื่นเต้นเป็นพิเศษเมื่อพบว่า กะโหลกมีฟันกรามติดอยู่ด้วยสองซี่ ฟันสามารถให้เบาะแสเกี่ยวกับอาหารการกิน สุขภาพ และสถานที่เกิดกว้างๆ ของบุคคล ส่วนเองซึ่งเป็นนักโบราณชีววิทยา (bioarchaeologist) ลงความเห็นอย่างรวดเร็วว่า กะโหลกนี้น่าจะเป็นของชายหนุ่ม เธอสังเกตเห็นรอยแตกสามรอยที่หายแล้วตรงกระดูกหุ้มสมอง และอีกรอยหนึ่งที่ขากรรไกร ขวา เองสันนิษฐานว่า “น่าจะเป็นร่องรอยของการใช้ ความรุนแรง หรือไม่ก็อาจถูกม้าดีดเข้าให้” แต่ที่น่าฉงนยิ่งกว่ากะโหลกศีรษะ คือสถานที่ที่มันตกลงมา ก้อนหินมนใหญ่ที่เอทานส์ปีนขึ้นไปเก็บหัวกะโหลกอยู่ใต้ผาสูงชันสีนํ้าตาลแดงแทรกด้วยชั้นหินสีชมพูและ ขาวพอดิบพอดี ถัดขึ้นไปเกือบถึงยอดผามีถํ้าเล็กๆอยู่ หลายแห่งที่ใช้แรงงานคนขุดเข้าไปในหินที่แตกหักง่าย การกัดเซาะทำให้หน้าผาบางส่วนพังทลายและกะโหลกศีรษะ หลุดร่วงลงมา ทุกคนสงสัยว่า ถ้ากะโหลกศีรษะกลิ้งลงมา จากถํ้า แล้วสิ่งที่เหลืออยู่บนนั้นเล่าจะมีอะไรอีกบ้าง

แมตต์ ซีกัล เป่าฝุ่นออกจากชิ้นส่วนเอกสารตัวเขียนที่พบท่ามกลางกองเอกสาร ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในศตวรรษที่สิบห้า เนื้อหาครอบคลุมทั้งเรื่องทางศาสนาและทางโลก ตั้งแต่หลักคําสอนในพุทธศาสนาแบบทิเบตไปจนถึงตัวบทกฎหมาย

ในอดีต มุสตาง (Mustang) คืออาณาจักรในเขตภาค กลางตอนเหนือของเนปาล เป็นแหล่งโบราณคดีอันลี้ลับ และยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ณ ดินแดนที่มีแต่ฝุ่นและลม กระโชกแรง เร้นกายอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย และถูกแม่นํ้ากาลีคัณดากิกัดเซาะจนกลายเป็นร่องลึก ทั้งยังเต็มไปด้วย ถํ้าน้อยใหญ่ที่มนุษย์สร้างขึ้น

ถํ้าบางแห่งตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวราวกับปากที่อ้ากว้างบนผาหินที่ลมฟ้าอากาศกัดกร่อนจนเป็นคลื่นลอน บางแห่ง มีลักษณะเป็นกลุ่มถํ้า คล้ายช่องจำนวนมากที่มีเสียงลมพัดผ่านดังหวีดหวิว บางครั้งถํ้าซ้อนสูงเรียงรายแปดหรือเก้าชั้น บ้างขุดเข้าไปในหน้าผา บ้างขุดลงมาจากด้านบน ถํ้าหลาย แห่งอายุนับพันๆ ปี หากประเมินอย่างตํ่าๆ น่าจะมีถํ้าใน มุสตางราว  10,000 ถํ้า

เราไม่ทราบว่าใครเป็นคนขุดถํ้าเหล่านี้ และขุดเพื่ออะไร หรือแม้แต่ว่าพวกเขาปีนเข้าสู่ถํ้าได้อย่างไร (ใช้เชือก นั่งร้าน หรือว่าถากหินทำบันได เพราะร่องรอยลบเลือนไปเกือบหมด) เมื่อ 700 ปีก่อน มุสตางคืออาณาจักรอันพลุกพล่าน เป็นดั่งสำนักตักศิลาของการศึกษาทางพุทธศาสนาและศิลปะ และอาจเป็นเส้นทางเชื่อมต่อที่สะดวกที่สุดระหว่างแหล่ง เกลือในทิเบตกับเมืองต่างๆในอนุทวีปอินเดีย ในยุคนั้น เกลือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีค่ามากที่สุดอย่างหนึ่งในโลก ชาร์ลส์ แรมเบิล นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัย ซอร์บอนน์ในปารีส กล่าวว่า ในยุคทองของมุสตาง กองคาราวานจะเดินทางไปตามเส้นทางขรุขระทั่วแคว้น พร้อม บรรทุกเกลือเต็มลำเกวียน

แรมเบิลเสริมว่า ต่อมาในศตวรรษที่สิบเจ็ด อาณาจักรใกล้เคียงเริ่มมีอิทธิพลครอบงำมุสตาง เศรษฐกิจเริ่ม ถดถอย เกลือที่มีราคาถูกกว่าสามารถหาได้จากอินเดีย รูปปั้นใหญ่โตและภาพมณฑล (mandala) สีสันสดใสใน วิหารน้อยใหญ่ของมุสตางเริ่มปริแตกร่วงหล่น และในไม่ช้า แว่นแคว้นนี้ก็ถูกลืมเลือน ประหนึ่งอันตรธานไปเบื้องหลังเทือกเขาอันยิ่งใหญ่

ในห้องสวดมนต์ส่วนบุคคลที่บ้านหลังหนึ่งในเมืองโลมันทาง ลามะรูปหนึ่งกําลังประกอบพิธีด้วยฉาบ กลอง และธูป มุสตางเคยเป็นส่วนหนึ่งของทิเบตและปัจจุบันยังคงรุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมทิเบต

กระทั่งกลางทศวรรษ 1990 นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยโคโลญในเยอรมนีและเนปาลเริ่มเข้าไปสำรวจถํ้าที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า พวกเขาพบร่างมนุษย์หลายสิบร่าง ทุกร่างมีอายุอย่างน้อย 2,000 ปี นอนอยู่บนเตียงไม้ ประดับประดาด้วยเครื่องประดับทองแดงและลูกปัดแก้ว ซึ่งไม่ใช่สินค้าที่ผลิตได้ในท้องถิ่น แสดงให้เห็นว่าในอดีต มุสตางเคยเป็นชุมทางการค้าแห่งหนึ่ง

พีต เอทานส์ เห็นหมู่ถํ้าแห่งมุสตางเป็นครั้งแรก ขณะเดินป่าเมื่อปี1981 ถํ้าหลายแห่งดูไม่น่าจะเข้าถึงได้ เอทานส์ นักปีนเขาผู้ประสบความสำเร็จจากการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์มาแล้วถึงเจ็ดครั้ง ยังใจเต้นแรงกับความ ท้าทายของถํ้าเหล่านี้ แต่กว่าเขาจะได้รับอนุญาตให้เข้ามาสำรวจถํ้าก็ล่วงเข้าสู่ปี 2007 การเดินทางมาที่นี่ในฤดูใบไม้ ผลิปี2011 เป็นการเยือนมุสตางครั้งที่แปดของเขา

ในการสำรวจครั้งก่อนๆ เอทานส์และคณะค้นพบภาพ วาดบนผนังถํ้ายาว 8 เมตร เป็นภาพเหมือนอันวิจิตร ตระการตาของโยคีผู้ยิ่งใหญ่ 42 ภาพตามที่ปรากฏใน ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ในถํ้าอีกแห่งพวกเขาพบเอกสาร ต้นฉบับตัวเขียน 8,000 ชิ้น ส่วนใหญ่อายุราว 600 ปี และมีเนื้อหาครอบคลุมทุกเรื่อง ตั้งแต่การวิเคราะห์เชิง ปรัชญาไปจนถึงเอกสารบันทึกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

ถํ้าส่วนใหญ่ที่เอทานส์เข้าไปสำรวจมักว่างเปล่า แม้จะ พบร่องรอยของการพักอาศัยอยู่บ้าง เช่น เตาไฟ ภาชนะ ใส่ธัญพืช และบริเวณที่ใช้หลับนอน “คุณอาจใช้เวลาทั้ง ชีวิตมองหาผิดถํ้าก็ได้ครับ” แอลเดนเดอร์เฟอร์ กล่าว

ลามะเฌวัง ทาชิ จูงม้าผ่านหมู่บ้านซัมซองใกล้ชายแดนจีน ในช่วงเวลาแห่งความระสํ่าระสายเมื่อ 800 ปีก่อน ชาวบ้านมักลี้ภัยไปอยู่ตามเถื่อนถํ้า และกลับสู่หมู่บ้านในอีกหลายชั่วอายุคนต่อมา เมื่อเสถียรภาพหวนคืนสู่ดินแดนนี้อีกครั้ง มาร์ก แอลเดนเดอร์เฟอร์ นักโบราณคดี บอกว่า “ถ้าคุณหวาดระแวงเพื่อนบ้าน ที่อยู่อาศัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งคงไม่พ้นถํ้าครับ”

เขาคิดว่า ถํ้าในอุดมคติน่าจะเป็นถํ้าที่ใช้เป็นสุสานมากกว่าจะเป็นบ้าน โดยมีเศษชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผายุคก่อน พุทธกาลกระจัดกระจายอยู่บนพื้นด้านล่าง เป็นถํ้าที่อยู่บนหน้าผาสูงเกินกว่าพวกโจรขุดสมบัติจะขึ้นไปถึง และอยู่ใน บริเวณของมุสตางที่ชาวบ้านไม่รังเกียจการที่คนต่างชาติอาจกระทำการสิ่งใดที่เป็นการรบกวนกระดูกของบรรพบุรุษ ทั้งหมดนี้รวมกับอีกปัจจัยหนึ่งตามที่แอลเดนเดอร์เฟอร์ยอมรับนั่นคือ “บางครั้งก็ต้องอาศัยโชคช่วยด้วยครับ”

แหล่งที่น่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด คือกลุ่มถํ้าใกล้หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งชื่อซัมซอง ห่างจาก พรมแดนจีนไปทางใต้ไม่ไกลนัก เอทานส์และแอลเดนเดอร์เฟอร์เคยมาที่นี่เมื่อปี2010 และพบเครือข่ายถํ้าที่ใช้ฝังศพ วันแรกของการทำงานในฤดูใบไม้ผลิปี2011 คอรี ริชาร์ดส์ ช่างภาพของคณะสำรวจ สังเกตเห็นหัวกะโหลกนี้ระหว่างเดินสำรวจด้านล่างของถํ้า

เช้าวันต่อมา นักปีนเขาเตรียมตัวขึ้นไปสำรวจถํ้าที่อยู่เหนือตำแหน่งที่พบหัวกะโหลก หน้าผาของมุสตางนั้น งดงามเกินคำบรรยาย กำแพงภูผาอันโอฬารดูราวกับหลอมละลายเหมือนเทียนไขใต้ดวงอาทิตย์เจิดจ้าบนที่สูง ส่วนแนวสันเขานั้นเล่าก็ถูกกัดเซาะเป็นรูปทรงพิสดารแปลกตา สีของหินที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของวันแทบจะมีครบทุก เฉดสีของสีแดง ส้มแดง นํ้าตาล และเทา

แต่การปีนขึ้นไปช่างแสนยากเย็น เอทานส์ถึงกับออก ปากว่า “นรกชัดๆ” เพียงแค่สัมผัส ก้อนหินก็หลุดร่วงลง มาราวกับขนมปังกรอบที่แตกร่วน อันตรายในการสำรวจ ถํ้าแห่งภูผาเหล่านี้ใหญ่หลวงนัก สองสามเดือนก่อนหน้านี้ ลิงคอล์น เอลส์ ช่างภาพวิดีทัศน์ ถูกก้อนหินร่วงหล่นใส่ศีรษะหลังถอดหมวกนิรภัยออกเพียงครู่เดียวจนกะโหลกร้าว เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองฉุกเฉินที่กรุงกาฐมาณฑุและรอดชีวิตมาได้

 

(บนและล่าง) ทารกร่างหนึ่งและเท้าของสตรีวัยผู้ใหญ่คือส่วนหนึ่งของร่างมนุษย์ 30 ร่างที่กลายเป็นมัมมี่ตามธรรมชาติ ค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวเยอรมันและเนปาลในถํ้าที่ใช้ประกอบพิธีศพแห่งหนึ่งบนหน้าผา ณ แหล่งขุดค้นเมบรักในมุสตางเมื่อปี 1995 ร่างที่มีอายุราว 2,000 ปีเหล่านี้ห่อด้วยผ้าชิ้นยาว และนอนอยู่ในโลงไม้ พร้อมกําไลทองแดง ลูกปัดแก้ว และสร้อยคอเปลือกหอย

การจะเข้าไปให้ถึงหมู่ถํ้าที่ซัมซอง เอทานส์กับเฮสเซอร์ ซึ่งเป็นหัวหน้านักปีนเขาประจำคณะสำรวจต้องเดินเท้า อ้อมไปด้านหลังของหน้าผา จนถึงที่ราบแห่งหนึ่งซึ่งอยู่เหนือถํ้า ณ จุดนี้ พวกเขาตอกท่อนเหล็กยาวหลายท่อนที่ใช้เป็นหลักยึดเข้าไปในหินโดยได้รับอนุญาตจากทางการเนปาล จากนั้นจึงผูกเชือกเข้ากับหลักยึด เอทานส์ต้องแขวน ชีวิตไว้กับหลักยึดพวกนี้ ทั้งคู่คุยกันว่าจะทำอย่างไรหากแท่งเหล็กเริ่มหลวม เฮสเซอร์แนะว่าให้เขาตะโกนคำสบถ ออกมาจนสุดเสียง

“ต้องได้ผลแน่” เอทานส์บอก ว่าแล้วเขาก็ไต่เชือกลง จากริมผาอย่างใจเย็น

แอลเดนเดอร์เฟอร์นั่งคุมเชิงอยู่บนพื้นราบเบื้องล่าง ผมดกยาวสีดอกเลารวบอยู่ในผ้าโพกหัวผืนใหญ่สีแดง เขาถือจอภาพขนาดเล็กที่รับสัญญาณไร้สายจากกล้องวิดีโอ ของเอทานส์ ทำให้นักมานุษยวิทยาผู้นี้สามารถอำนวยการ ค้นหาและสำรวจถํ้าได้จากจุดที่ปลอดภัย

ใกล้ๆ กันนั้น เฌวัง ทาชิ ลามะท้องถิ่นวัย 72 ปี ห่มจีวรสีแดงกํ่า นั่งขัดสมาธิอยู่บนพื้น เขาจุดกิ่งสน จูนิเปอร์ให้ติดไฟ รินนํ้ามนต์จากขวดเป๊ปซี่พลาสติกเก่าๆ ใส่จอก แล้วสวดมนต์เบาๆ พลางสั่นกระดิ่งทองเหลือง และจุ่มนิ้วลงไปในนํ้า นี่เป็นพิธีกรรมหนึ่งของชาวพุทธใน การขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองและขับไล่วิญญาณร้ายที่อาจดลบันดาลให้เกิดอันตรายแก่ทีมงาน

เอทานส์ห้อยต่องแต่งอยู่บนเชือกสีเขียว และมุดเข้าไปในถํ้าที่เล็กที่สุดอย่างคล่องแคล่ว แม้จะต้องคลานเข้าไป ก็ตาม เพราะถํ้านี้สูงไม่ถึงสองเมตร กว้างและลึกราวสองเมตรเช่นกัน เห็นได้ชัดว่าถํ้านี้เคยเป็นสุสานแบบปล่องที่ซุกซ่อนอยู่ หรืออาจเป็นถํ้าสำหรับใช้เตรียมพิธีศพ โดยขุดลงไปเป็นรูปทรงคล้ายคนโท เวลาขุดสำรวจจึงมองเห็น แต่ปากปล่องเท่านั้น ร่างผู้วายชนม์จะถูกหย่อนลงไปตามปล่องที่มีขนาดเท่ากับท่อระบายนํ้า จากนั้นจึงถมปิดปาก ปล่องด้วยหิน เมื่อส่วนหน้าของผาทลายลง ถํ้าทั้งถํ้าจึงปรากฏให้เห็นในสภาพที่เป็นภาคตัดขวาง

พีต เอทานส์ หัวหน้าคณะสํารวจ ถือวิทยุสื่อสารไว้ในมือหนึ่ง ส่วนอีกมือหนึ่งถือขากรรไกรล่างของมนุษย์ ขณะพยายามเข้าไปสํารวจถํ้าที่ใช้ประกอบพิธีศพซึ่งถูกลักลอบขุดค้นแห่งหนึ่ง แมตต์ ซีกัล สํารวจหลุมที่พวกหัวขโมยโยนกระดูกขึ้นมา

ก้อนหินมนใหญ่ซึ่งเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของเพดานถํ้า ตกลงมาอยู่บนพื้นถํ้า ถ้ามีสิ่งใดอยู่ในถํ้า ก็จะต้องอยู่ใต้ หินก้อนนี้อย่างแน่นอน เอทานส์พยายามดันมันออกและ ขยับไปทางปากถํ้าทีละนิด จากนั้นก็ตะโกนว่า “ระวังหิน!” หินก้อนใหญ่นั้นกลิ้งหลุนๆ ลงไปตามหน้าผาเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ถํ้านี้จึงปลอดจากซากปรักอีกครั้งหลังถูกปิดตายมาราว 1,500 ปี ซึ่งเป็นอายุที่ได้จากกระบวนหาอายุด้วย วิธีคาร์บอนกัมมันตรังสีในเวลาต่อมา

แอลเดนเดอร์เฟอร์แบ่งลักษณะการใช้ถํ้าในมุสตางออกเป็นสามยุคกว้างๆ ได้แก่ ยุคแรกเมื่อราว 3,000 ปีก่อน ใช้เป็นที่ฝังศพ จากนั้นราว 1,000 ปีก่อนจึงใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ ภายในเวลาไม่กี่ร้อยปี หุบเขาริมแม่นํ้ากาลีคัณดากิซึ่งมีลักษณะคล้ายคอคอดของนาฬิกาทรายเชื่อมระหว่างที่ราบสูงกับที่ลุ่มตํ่าของทวีปเอเชีย อาจมีสงครามบ่อยครั้ง “ผู้คนจึงพากันหวาดกลัว” แอลเดนเดอร์เฟอร์อธิบาย ครอบครัวที่มองว่าความปลอดภัยสำคัญกว่าความสะดวกสบายจึงย้ายเข้าไปอยู่ในถํ้า

ส่วนยุคสุดท้ายอยู่ในช่วงราวศตวรรษที่สิบห้า เมื่อคนส่วนใหญ่ย้ายกลับไปอยู่กันเป็นหมู่บ้านแบบเดิม แต่ยังใช้ ถํ้าเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น เป็นสถานที่ปลีกวิเวก ทำสมาธิบ้าง ใช้สังเกตการณ์ทางทหารบ้าง หรือเป็นที่เก็บสมบัติพัสถาน ถํ้าบางแห่งยังคงใช้เป็นที่พักอาศัย แม้แต่ ในปัจจุบันก็ยังมีบางครอบครัวที่อาศัยอยู่ตามถํ้าเหล่านี้ “หน้าหนาวในถํ้าอุ่นกว่า” ยันฑุ บิสตะ บอก เธอเกิด ในถํ้าแห่งหนึ่งของมุสตางเมื่อปี 1959 และอาศัยอยู่ในถํ้า อีกแห่งกระทั่งปี 2011 “เพียงแต่ขนนํ้าขึ้นมายากหน่อยค่ะ”

เท็ด เฮสเซอร์ เข้าไปในคูหาอันสลับซับซ้อนของถํ้าที่ถูกปล้นและเคยมีคนอาศัยอยู่

สิ่งแรกที่เอทานส์พบในคูหาที่มีขนาดพอๆ กับตู้เสื้อผ้า ซึ่งภายหลังเรียกว่าสุสานหมายเลข 5 คือไม้เนื้อแข็งสีคลํ้า คุณภาพเยี่ยม ตัดเป็นแผ่นกระดาน ไม้แผ่นบางๆ และหมุดขนาดต่างๆ แอลเดนเดอร์เฟอร์และลามะซิงห์ช่วยกัน ประกอบชิ้นส่วนเหล่านี้เข้าด้วยกันจนได้หีบสูงขนาดหนึ่งเมตร นี่คือโลงศพที่สร้างขึ้นอย่างชาญฉลาดเพื่อให้แต่ละส่วนสามารถลำเลียงผ่านช่องทางเข้าที่คับแคบของสุสานได้ จากนั้นจึงประกอบเป็นโลงศพภายในคูหาหลัก

ภาพวาดสีส้มและขาวบนหีบแม้จะเป็นภาพวาดง่ายๆ แต่ไม่มีทางมองเป็นอื่นได้นอกจากภาพคนขี่ม้า “อาจเป็น ม้าตัวโปรดของเขา” แอลเดนเดอร์เฟอร์เดา ต่อมาพวกเขาพบกะโหลกม้าภายในถํ้า ราวกับจะยืนยันความเป็นคน รักม้าของชายผู้นี้

ในการเดินทางมายังซัมซองเมื่อปี 2010 คณะสำรวจ ค้นพบและระบุโครงกระดูกมนุษย์ได้ 27 ร่าง ในถํ้าใหญ่ที่สุดสองถํ้า ซึ่งมีทั้งชาย หญิง และเด็กหนึ่งคน ภายในถํ้าดังกล่าวมีโลงศพที่สร้างขึ้นหยาบๆ ลักษณะคล้ายเตียงนอนอยู่ด้วย แต่ทำจากไม้คุณภาพด้อยกว่า และ ฝีมือยังหยาบกว่ามาก อีกทั้งไม่มีภาพวาดใดๆประดับ

แอลเดนเดอร์เฟอร์ตั้งข้อสังเกตว่า สุสานหมายเลข 5 น่าจะเป็นที่ฝังศพของผู้สูงศักดิ์ อาจเป็นผู้นำในท้องถิ่น และยังพบในเวลาต่อมาว่าภายในสุสานมีร่างสองร่าง เป็น ชายวัยผู้ใหญ่กับเด็กซึ่งอายุน่าจะอยู่ราวๆ สิบขวบ รายหลังเป็นที่ถกเถียงกันมาก ”ผมไม่อยากชี้ชัดลงไปว่าเด็กคนนี้ เป็นเครื่องบูชายัญหรือข้าทาสอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะผม ไม่มีเบาะแสอะไรเลย” แอลเดนเดอร์เฟอร์ยอมรับ “แต่การพบร่างเด็กในนั้นบ่งบอกถึงพิธีกรรมบางอย่างที่ซับซ้อน”

แจกเกอลีน เอง นักชีวโบราณคดี ตรวจสอบกระดูกมนุษย์และสัตว์อายุ 1,500 ปีที่ขุดพบในถํ้าที่ใช้ประกอบพิธีศพ โดยมีชาวบ้านซัมซองคนหนึ่งนั่งมองอยู่ด้านนอก รอยแผลตื้นๆ บนกระดูกมนุษย์หลายชิ้นบ่งบอกถึงการแล่เนื้อเถือหนังเชิงพิธีกรรม

เมื่อแจกเกอลีน เอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์กระดูกของคณะสำรวจ ตรวจดูกระดูกเหล่านั้นอย่างละเอียด เธอก็พบสิ่งที่น่าตื่นเต้นอย่างหนึ่ง นั่นคือ ร้อยละ 76 ของร่างทั้งหมดที่เธอตรวจสอบกระดูกมีรอยคม มีดเฉือนอย่างเด่นชัด แจกเกอลีนบอกว่า ร่องรอยเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากเสียชีวิตแล้วอย่างชัดเจน “นี่ไม่ใช่รอยสับ หรือฟันอย่างสะเปะสะปะแน่นอน” กระดูกอยู่ในสภาพ ค่อนข้างสมบูรณ์และไม่มีร่องรอยของการหักหรือเผา เธอ ตั้งข้อสังเกตว่า “หลักฐานทั้งหมดบ่งชี้ว่า ที่นี่ไม่มีเรื่อง ของลัทธิหรือวัฒนธรรมกินเนื้อมนุษย์ค่ะ”

กระดูกเหล่านี้มีอายุอยู่ระหว่างศตวรรษที่สามถึงแปดก่อนที่พุทธศาสนาจะเผยแผ่มาถึงมุสตาง แต่การแล่เนื้อเถือหนังออกจากกระดูกอาจเกี่ยวข้องกับพิธีศพแห่งเวหา (sky burial) ของชาวพุทธ (นิกายวัชรยานเช่นที่พบเห็น ในทิเบต) ซึ่งยังปฏิบัติกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ กล่าวคือ เมื่อชาวมุสตางเสียชีวิตลง ร่างอาจถูกแล่เป็นชิ้นเล็กๆ รวมทั้งกระดูก จากนั้นฝูงแร้งจะโฉบลงมากินอย่างรวดเร็ว

ในยุคที่มีการฝังศพในถํ้าที่ซัมซอง แอลเดนเดอร์เฟอร์ สันนิษฐานว่าอาจมีการแล่เนื้อออก แต่กระดูกยังเก็บรักษา ไว้แบบครบร่าง จากนั้นจึงหย่อนโครงกระดูกลงสู่ที่ฝังศพและหักงอเพื่อให้บรรจุลงหีบไม้ได้ “แล้วใครก็ตามที่อยู่ข้าง ล่างกับผู้ตายก็จะปีนกลับขึ้นมา” แอลเดนเดอร์เฟอร์บอก

ก่อนจะปีนกลับขึ้นมา ผู้ทำหน้าที่ฝังศพหรือสัปเหร่อใน สมัยโบราณจะแต่งศพผู้วายชนม์ในชุดงามสง่าสำหรับโลก หน้า เอทานส์ซึ่งนั่งหลังขดหลังแข็งแร่งฝุ่นอยู่นานหลาย ชั่วโมงในสุสานหมายเลข 5 พบเครื่องประดับเหล่านี้เข้า

สนธยาโรยตัวปกคลุมวัดวาอารามและบ้านเรือนในเมืองฌารัง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองสําคัญที่สุดในภูมิภาคแถบนี้ ในมุสตาง กาลเวลาหลายร้อยปีหาได้ทําลายวิถีชีวิตอันเก่าแก่ของผู้คน ถํ้าเหล่านี้จึงเป็นเงื่อนงําที่นําพาเราไปสู่ช่วงเวลาที่อาณาจักรหิมาลัยอันไกลโพ้นแห่งนี้เป็นศูนย์กลางเชื่อมทิเบตกับโลกภายนอก

เขากอบลูกปัดจำนวนมากซึ่งเย็บติดอยู่กับผ้าที่เปื่อยขาดและผุพังไปนานแล้วใส่ถุงพลาสติกสำหรับเก็บตัวอย่าง ลามะซิงห์นั่งแยกลูกปัดที่มีมากกว่าพันเม็ดอย่างพิถีพิถัน ลูกปัดเหล่านี้ทำจากแก้ว จำนวนหนึ่งมีขนาดเล็กเท่าเมล็ดดอกฝิ่น และมีอยู่หลายเฉดสี ผลการวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการในเวลาต่อมาระบุว่า ลูกปัดมีที่มาจากหลายแหล่ง บ้างมาจากดินแดนที่ปัจจุบันคือปากีสถาน บ้างมาจาก อินเดีย และบ้างมาจากอิหร่าน

นอกจากนี้ยังพบกริชเหล็กสามเล่มที่ด้ามโค้งงออย่าง สวยงามและมีใบมีดหนาหนัก ถ้วยชาทำจากไม้ไผ่พร้อม หูจับทรงกลมบอบบางใบหนึ่ง กำไลทองแดงหนึ่งวง กระจกเงาขนาดเล็กทำด้วยสำริด หม้อทองแดงกับทัพพี และเหล็กสามขาสำหรับตั้งหม้อ เศษผ้า เขาจามรีหรือ เขาวัวคู่หนึ่ง หม้อทองแดงขนาดใหญ่ “ผมพนันได้เลยว่า นี่คือหม้อต้มฌาง” แอลเดนเดอร์เฟอร์บอก เขาหมายถึง เบียร์ท้องถิ่นที่ได้จากการหมักข้าวบาร์เลย์

สุดท้าย เอทานส์หย่อนหน้ากากที่ใช้ในการฝังศพลงมาข้างล่าง เป็นหน้ากากทำจากทองและเงินตีผสมกัน องคาพยพบนใบหน้านูนสูง ขอบตาเป็นสีแดง มุมปากห้อยตกลงเล็กน้อย ส่วนจมูกเป็นเส้นตรง และมีร่องรอยของเครา พร้อมทั้งมีรอยรูเข็มอยู่ตามขอบหน้ากาก อาจเป็น ได้ว่ามีการเย็บหน้ากากติดกับผ้าเพื่อสวมบนใบหน้า ลูกปัด เป็นส่วนหนึ่งของหน้ากากนี้ด้วย

นักปีนเขาและนักวิทยาศาสตร์เดินตามเส้นทางเหนือแม่นํ้ากาลีคัณดากิในเขตมุสตางอันห่างไกลของเนปาล สูงขึ้นไปกว่า 18 เมตรคือหมู่ถํ้าที่มนุษย์สร้างขึ้นและยังไม่ได้รับการสํารวจจากหลายศตวรรษก่อน ภูมิภาคนี้อาจมีถํ้าลักษณะดังกล่าวอยู่หลายพันแห่ง

แอลเดนเดอร์เฟอร์ซึ่งเป็นคนสุขุมและทรงภูมิเก็บ อาการตื่นเต้นไว้ไม่อยู่ขณะประคองหน้ากากไว้ในมือ “งามเหลือเกิน” เขาอุทานออกมา “ทั้งฝีมือช่าง ความ รุ่มรวยที่สะท้อนออกมา สีสัน และความละเอียดประณีต นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เคยพบในมุสตางครับ”

ข้าวของเกือบทุกอย่างในถํ้านี้นำเข้ามาจากที่อื่นทั้งสิ้นแม้แต่ไม้ที่ใช้ทำโลงศพก็มาจากแถบเมืองร้อน คนที่อยู่ที่นี่ ซึ่งทุกวันนี้ไม่มีแหล่งทรัพยากรอยู่เลย กระทั่งจะเก็บไม้ฟืน ยังต้องใช้ความพยายามเป็นชั่วโมงๆ สามารถสะสมข้าวของสูงค่าเหล่านี้ได้อย่างไร เกลือน่าจะเป็นคำตอบที่เป็นไปได้ ที่สุด การควบคุมการค้าเกลือสักส่วนหนึ่งอาจไม่ต่างอะไร กับการเป็นเจ้าของท่อส่งนํ้ามันในยุคปัจจุบัน

คณะสำรวจทิ้งทุกสิ่งที่พบไว้เบื้องหลังให้อยู่ในความดูแลของผู้นำหมู่บ้านซัมซอง นอกจากนี้ เอทานส์ยังมอบ เงินส่วนตัวให้สร้างพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เช่นเดียวกับที่เขาทำใน พื้นที่อื่นๆ ของมุสตาง โดยบอกว่า “ชาวมุสตางควรจะได้ภาคภูมิในประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของพวกเขาครับ” มีเพียงตัวอย่างดีเอ็นเอและกระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ นักวิทยาศาสตร์นำกลับไปด้วย โดยจะนำไปศึกษาในห้องปฏิบัติการหลายแห่ง เช่น ฟันจะส่งไปที่มหาวิทยาลัย โอคลาโฮมา ส่วนโลหะจะไปที่มหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน สีจะนำไปแยกองค์ประกอบทางเคมีเพื่อดูว่ามาจากพืชชนิดใด เศษชิ้นไม้ เศษด้ายจากสิ่งทอ ผงจาก เคลือบฟัน ทั้งหมดนี้จะถูกวิเคราะห์อย่างละเอียดซึ่งเป็น กระบวนการที่อาจต้องใช้เวลานานนับสิบปี

ใบอนุญาตเดินทางของคณะกำลังหมดอายุ พวกเขา ยังมีการเดินทางที่ยาวนานรอคอยอยู่เบื้องหน้า ขณะที่ภูผา และเถื่อนถํ้ายังคงซุกซ่อนความลับที่ไม่มีใครล่วงรู้อย่างที่เคยเป็นมาตลอดในมุสตาง

เรื่อง ไมเคิล ฟิงเกิล
ภาพถ่าย คอรี ริชาร์ดส์

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2555


อ่านเพิ่มเติม ถั่งเช่า ขุมทองแห่งทิเบต

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.