ภาพ การผจญภัย ครั้งประวัติศาสตร์ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในรอบกว่า 100 ปี

รวมภาพ การผจญภัย ครั้งประวัติศาสตร์ ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในรอบกว่า 100 ปีที่ผ่านมา

การก่อตั้งสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกในปี ค.ศ. 1888 นำมาซึ่งการผจญภัยและการเดินทางต่างๆ มากมาย ด้วยเป้าหมายในการค้นหาและเพิ่มพูนความรู้แก่สังคม สมาคมได้ช่วยสนับสนุนบรรดานักสำรวจและช่างภาพในการเดินทางไปทั่วทุกสารทิศ ผ่านร้อนและหนาวบนสภาพภูมิประเทศที่เป็นอันตรายในนามของการสำรวจ และสิ่งที่พวกเขานำกลับมาคือเรื่องเล่าของ การผจญภัย และรูปถ่ายที่ผนึกการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ของพวกเขาไว้

นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย (ภาคออนไลน์) ขอเชิญชมรูปภาพใน การผจญภัย ครั้งประวัติศาสตร์ของนักสำรวจและช่างภาพจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ทีมสำรวจชาวอังกฤษนำโดยกัปตันโรเบิร์ต ฟอลคอน สก็อตต์ (Robert Falcon Scott) กำลังหยุดถ่ายรูประหว่างภารกิจพิชิตขั้วโลกใต้ การเดินทางของพวกเขาเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1910 สก็อตต์และลูกทีมสี่คนไปถึงขั้วโลกใต้ในปี ค.ศ. 1912 แต่พวกเขาได้เสียชีวิตลงในการเดินทางกลับท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บ ภาพถ่ายโดย HERBERT G. PONTING, NATIONAL GEOGRAPHIC
ชายคนหนึ่งกำลังตักน้ำดื่ม ณ บริเวณปากถ้ำในอุทยานและเขตสงวนแคทมาย (Katmai National Park and Preserve) แห่งอะแลสกา สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกได้มีส่วนร่วมในการสำรวจพื้นที่และผลักดันให้มีการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติในปี ค.ศ. 1918 เพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นอุทยานแห่งชาติในที่สุด รูปภาพโดย EMERY C. KOLB, NATIONAL GEOGRAPHIC
ภารกิจสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาในปี ค.ศ. 1914 ต้องหยุดชะงักเมื่อเรือ “The Endurance” ชนและติดน้ำแข็งหนา เซอร์เออร์เนสต์ แช็คเคิลตัน (Sir Ernest Shackleton) นำลูกเรือล่องเรือชูชีพระยะทางกว่า 800 ไมล์ทะเล (ราว 1,400 กม.) และเดินเท้าอีกกว่า 50 กิโลเมตรบนเกาะเซาธ์จอร์เจีย ก่อนที่ลูกเรือทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือและรอดชีวิตกลับมาอย่างปลอดภัย รูปภาพโดย UNDERWOOD & UNDERWOOD, GETTY IMAGES
ดร. เลสลี่ เอ เวทเทอร์ (Dr. Leslie A. Whetter) และคุณจอห์น โคลส (John Close) กำลังตักน้ำดื่มท่ามกลางพายุหิมะบนแหลมเดนิสัน (Cape Denison) ของอ่าวคอมมอนเวลธ์ (Commonwealth Bay) ในปี ค.ศ. 1912 การสำรวจของ ดร. เวทเทอร์และทีมนำไปสู่การค้นพบหินอุกกาบาตครั้งแรกในแอนตาร์กติกา ภาพถ่ายโดย FRANK HURLEY, NATIONAL GEOGRAPHIC
ชายสองคนกำลังย่างอาหารบนพุก๊าซ (fumarole) อยู่ในอุทยานและเขตสงวนแคทมาย พุก๊าซหรือบ่อไอเดือดเป็นปล่องไอความร้อนที่มักพบได้บริเวณภูเขาไฟ ภาพถ่ายโดย EMORY KOLB, NATIONAL GEOGRAPHIC
ภาพถ่ายการปล่อยบอลลูนวิจัย “Explorer II” ณ ป่าสงวนแห่งชาติแบล็กฮิล รัฐเซาท์ดาโกตาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935 บอลลูนวิจัยนี้พากัปตันอัลเบิร์ต สตีเวนส์ (Captain Albert Stevens) และกัปตันออร์วิล แอนเดอร์สัน (Captain Orvil Anderson) บินสูงได้ถึง 72,395 ฟุตหรือราว 22 กม. ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขาเก็บข้อมูลทางวิทยาการมากมายจากบนชั้นบรรยากาศชั้นที่สองของโลก ทั้งในเรื่องการวิจัยรังสีคอสมิค ชั้นโอโซนและชั้นบรรยากาศของโลก ภาพถ่ายโดย H. LEE WELLS, NATIONAL GEOGRAPHIC
คณะสำรวจกำลังขี่ม้าไปตามแม่น้ำดอนเจ็ก (Donjek River) ในดินแดนยูคอน (Yukon Territory) ประเทศแคนาดาช่วงต้นปี ค.ศ. 1900 ภาพถ่ายโดย W.R. TUCKERMAN, NATIONAL GEOGRAPHIC
ทีมสำรวจสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกกำลังตั้งที่พักอยู่ในหุบเขาที่มีชื่อว่า “the Valley of Ten Thousand Smokes” (หุบเขาควันไฟนับพัน) ซึ่งชี่อนี้มาจากบ่อไอเดือดและไอน้ำมากมายที่พวยพุ่งอยู่ทั่วหุบเขา ภาพถ่ายโดย R.F. GRIGGS, NATIONAL GEOGRAPHIC
นักวิทยาธารน้ำแข็งและนักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกกำลังเดินทางบนเขาเซนต์ อีเลียส (Mount Saint Elias) ในอะแลสก้าช่วงปี ค.ศ. 1900 ปัจจุบันภูเขาและบริเวณโดยรอบกว่า 5.3 หมื่นตารางกิโลเมตรอยู่ภายใต้การคุ้มครองของอุทยานและเขตสงวนแห่งชาติแรงเกล เซนต์ อีเลียส (Wrangell-St. Elias National Park and Preserve) ซึ่งเป็นอุทยานที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ภาพโดย NATIONAL GEOGRAPHIC ไม่ทราบชื่อผู้ถ่าย
เรืออับปางบนเกาะคิงวิลเลียม ดินแดนนูนาวุต ประเทศแคนาดาเป็นร่องรอยการสำรวจเส้นทางเดินเรือ “the Northwest Passage” ของ รูอาล อามุดเซน (Roald Amundsen) อามุดเซนได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากชาวเผ่าอินูอิต (Inuit) ซึ่งช่วยให้การเดินทางผ่านมหาสมุทรอาร์กติกของเขาประสบความสำเร็จในปี ค.ศ. 1906 ภาพโดย NATIONAL GEOGRAPHIC ไม่ทราบชื่อผู้ถ่าย
การเดินทางของทีมสำรวจใน “หุบเขาควันไฟนับพัน” (the Valley of Ten Thousand Smokes) ซึ่งในปี ค.ศ. 1912 เคยมีการปะทุของภูเขาไฟโนวารัปตา ทำให้เถ้าภูเขาไฟปกคลุมไปทั่วบริเวณโดยรอบและผู้คนมากมายต้องย้ายที่อยู่อาศัย ภาพถ่ายโดย R.F. GRIGGS, NATIONAL GEOGRAPHIC
ทีมสำรวจกำลังหยุดพักอยู่ริมแอ่งน้ำที่ล้อมรอบด้วยภูเขาในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ภาพถ่ายโดย JOESPH F. ROCK, NATIONAL GEOGRAPHIC
แมททิว เฮนสัน (Matthew Henson) และนักสำรวจคนอื่นๆ นำโดย โรเบิร์ต เพียรี่ (Robert Peary) กำลังยืนอยู่หน้าธงพิชิตขั้วโลกเหนือในปี ค.ศ. 1909 อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบข้อเท็จจริงในปัจจุบันชี้ว่าพวกเขาอาจยังอยู่ห่างจากขั้วโลกเหนือราว 50 ถึง 100 กิโลเมตร ภาพถ่ายโดย ROBERT PEARY, NATIONAL GEOGRAPHIC
สมาชิกทีมสำรวจของคุณโรเบิร์ต ฟอลคอน สก็อตต์กำลังยืนอยู่บนภูเขาน้ำแข็งหน้าภูเขาไฟเอเรบัส (Mount Erebus) ภูเขาไฟเอเรบัสเป็นภูเขาไฟที่สูงเป็นอันดับสองของทวีปแอนตาร์กติกา ภาพถ่ายโดย HERBERT G. PONTING, NATIONAL GEOGRAPHIC
นักปีนเขารวมตัวถ่ายรูประหว่างภารกิจพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ในปี ค.ศ. 1924 อย่างไรก็ตาม ความพยายามของพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จและคุณจอร์จ มัลลอรี่และคุณแอนดรูว์ เออร์ไวน์ได้เสียชีวิตลงระหว่างทำภารกิจ ภาพถ่ายโดย ROYAL GEOGRAPHIC SOCIETY/NATIONAL GEOGRAPHIC
ชาวเศรปาสองรายกำลังข้ามรอยแยกน้ำแข็งบนภูเขาเอเวอร์เรสต์ รูปภาพโดย ROYAL GEOGRAPHIC SOCIETY/NATIONAL GEOGRAPHIC
การเดินทางในการสำรวจที่ราบสูงไคพาโรวิท (Kaiparowits Plateau) เทศมณฑลแซน ฮวาน รัฐยูทาห์ในปีค.ศ. 1921 ภารกิจนี้มีชื่อว่าพูเอโบล เบนิโต (Pueblo Bonito Expedition) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาพถ่ายโดย EDWIN L. WISHERD, NATIONAL GEOGRAPHIC
ฌาคส์ กุสโต (Jacques Cousteau) ผู้เป็นทั้งนักอนุรักษ์ นักสารคดีและนักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กำลังอัดภาพของเรือดำน้ำไอพ่นจิ๋วระหว่างการสำรวจใต้ท้องทะเลแคริบเบียน ภาพถ่ายโดย JACQUES ERTAUD, NATIONAL GEOGRAPHIC
ทีมสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกยืนถ่ายรูปใกล้ภูเขาหิมะในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ภาพถ่ายโดย JOSEPH F. ROCK, NATIONAL GEOGRAPHIC
เรือของคุณโรเบิร์ต ฟอลคอน สก็อตต์และทีมจอดนิ่งบนน้ำแข็งระหว่างที่พวกเขากำลังปฏิบัติภารกิจ “Terra Nova” ซึ่งมีเป้าหมายหลักเป็นการพิชิตขั้วโลกใต้ คุณสก็อตต์และลูกทีมอีกสี่ชีวิตทำภารกิจของพวกเขาได้สำเร็จก่อนที่พวกเขาทั้งห้าจะเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับ ภาพถ่ายโดย HERBERT G. PONTING

เรื่องโดย LINDSAY N. SMITH

แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม ภาพนี้ต้องขยาย : จุดจบของทีมสำรวจ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.