สืบ นาคะเสถียร สืบสานงานอนุรักษ์ของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

สืบ นาคะเสถียร คือชื่อของชายคนหนึ่งผู้ยอมทำทุกอย่างแม้กระทั่งสละชีวิตเพื่อการอนุรักษ์ ผู้อยู่เบื้องหลังมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของไทย เสียงปืนในวันนั้นยังดังอยู่แม้เลือนจางไปกับกาลเวลาบ้าง

ในราวไพร เสียงกระหึ่มของรถขับเคลื่อนสี่ล้อดังเข้ามาใกล้ เครื่องยนต์สองพันแปดร้อยซีซีรีดแรงม้าผ่านท่อไอเสียแผดเสียงกรีดอากาศคุกคามท่วงทำนองของป่า ล้อทั้งสี่ตะกุยทางเดินเล็กๆ ขณะเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ทิ้งฝุ่นปลิวคลุ้งเป็นสายไว้เบื้องหลัง

ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เร้นกายอยู่ในผืนป่าบริสุทธิ์ ที่แห่งนี้มีตำนานการอนุรักษ์ของข้าราชการผู้ประกาศตัวตนด้วยวิถีปฏิบัติงานอันจริงจัง จริงใจ ซื่อสัตย์ต่อตนเอง การงาน และ ซื่อสัตว์ ต่อสัตว์ป่าธรรมชาติ

ใช่ครับ “ซื่อสัตว์” คำหลังไมได้เขียนผิดแต่อย่างใด ถูกต้องตามที่หมายความทุกคำ

สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เด็กชายสืบเป็นคนที่สนใจหรือตั้งใจทำอะไรแล้ว จะตั้งใจจริงและพยายามจนประสบความสำเร็จ  หลังจบการศึกษาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบเริ่มเข้ารับราชการที่กรมป่าไม้ ในตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี สังกัดกองอนุรักษ์สัตว์ป่าเมื่อปี พ.ศ. 2518 ซึ่งขณะนั้นเป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น เขาตัดสินใจเลือกที่นี่ เพราะต้องการทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่ามากกว่างานที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ป่าไม้โดยตรง

(บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์: “ฉลาม” นักล่าผู้ตกเป็นเหยื่อ)

อนุสาวรีย์ของสืบ นาคะเสถียร ตั้งตระหง่านอยู่ในที่ทำการเขตฯ ห้วยขาแข้ง เพื่อระลึกถึงข้าราชการนักอนุรักษ์คนหนึ่งที่ปักหมุดหมายของความจริงจังที่จะรักษาธรรมชาติ ในมือของสืบถือสมุดจดบันทึกและสะพายกล้องไว้บนบ่า หันหน้าไปยังห้วยขาแข้งทางทิศใต้ ดังว่าความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ของเขาจักไม่สุดสิ้น

สืบเคยให้สัมภาษณ์นิตยสารอิมเมจ ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2533 ว่า “ผมเลือกมาอยู่ที่นี่เพราะเกลียดป่าไม้ แม้มาเรียนป่าไม้ตอนอยู่มหาวิทยาลัย ก็รู้สึกว่าไม่ชอบ เพราะรู้สึกว่าพวกป่าไม้มันร่ำรวยมาจากการโกงป่า ผมรู้กำพืดพวกนี้ดี เพราะสมัยนั้น พ่อผมเป็นปลัดจังหวัด ผมไม่อยากยุ่ง ไม่อยากไปโกงกับมัน ถ้าผมไม่โกงกับพวกมัน ผมก็อยู่ไมได้ ผมเลยเลือกมาอยู่กองนี้”

ความผูกพันกับสัตว์ป่าที่เริ่มต้นจากการทำงานวิจัยเหล่านี้ เห็นได้ชัดเมื่อเขาได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ตกค้างในอ่างเก็บน้ำซึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี สืบได้ทุ่มเททุกเวลานาทีให้กับการกู้ชีวิตสัตว์ป่าที่หนีภัยน้ำท่วม โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง งานอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานทำให้สืบตระหนักว่า ลำพังงานวิชาการย่อมไม่อาจหยุดยั้งกระแสการทำลายป่าและสัตว์ป่า อันเป็นปัญหาระดับชาติและระดับโลกได้ ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีรัฐบาลวางโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณป่าทุ่งใหญ่นเรศวร สืบจึงโถมตัวเข้าคัดค้านอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เขารีบเร่งทำรายงานผลการอพยพสัตว์ป่าจากเขื่อนเชี่ยวหลาน เพื่อบอกให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า การอพยพหรือช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ถูกทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยนั้นเป็นความพยายามที่เกือบจะไร้ผลโดยสิ้นเชิง สืบยืนยันว่าการสร้างเขื่อนได้ทำลายเผ่าพันธุ์ แหล่งอาหาร ตลอดจนที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง กระทั่งความช่วยเหลือจากมนุษย์ก็ไม่สามารถชดเชยได้เลย

(บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์: วิธีช่วยชีวิตสัตว์นักล่า)

ปลายปี พ.ศ. 2532 สืบได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ พร้อมๆ กับได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรัษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบยอมทิ้งอนาคตของตัวเองด้วยการรับตำแหน่ง แม้จะรู้ดีว่าหนทางข้างหน้าเต็มไปด้วยความยากลำบากและขวากหนาม

บรรยากาศการวางแผนทำงานของเจ้าหน้าที่เขตฯ ห้วยขาแข้งร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าเกี่ยวกับการสำรวจพื้นที่รวมกับการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เช่น อุปกรณืจีพีเอส ซึ่งช่วยให้การทำงานได้ผลดีกว่าระบบเดิม

ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับงานในตำแหน่ง สืบได้แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะรักษาป่าผืนนี้ไว้ให้ได้อย่างชัดเจน สืบได้ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า “ผมมารับงานที่นี่โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน”

ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเองโดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ทั้งสิ้น 

ผมคิดว่า ผมทำได้ดีที่สุดแล้วเท่าที่ผมมีชีวิตอยู่

ผมคิดว่า ผมได้ช่วยเหลือสังคมดีแล้ว

ผมคิดว่า ผมได้ทำตามกำลังของผมดีแล้ว

และ…ผมพอใจ ผมภูมิใจในสิ่งที่ทำ

                                    – สืบ นาคะเสถียร

บ่อยครั้งที่การออกปฏิบัติหน้าที่ของสืบเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อชีวิต และการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นลูกน้อง ทำให้เขาเหนื่อยล้ายิ่งขึ้น ถึงกับประกาศว่า “ถ้าจะมีคนตายอีก ต่อไปต้องเป็นผม” ด้วยความผิดหวังต่อระบบราชการ และความเป็นคนจริงจังที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้สืบรู้สึกว่าเขาไม่อาจทำอะไรไปได้มากกว่านี้  สืบ นาคะเสถียร จึงคิดและตัดสินใจอย่างเด็ดขาดด้วยการวางแผนที่จะทำอะไรสักอย่าง ทุกสิ่งเป็นไปอย่างมีแบบแผน ทั้งการสั่งเสียลูกน้องคนสนิท เขียนจดหมายสั่งลา 6 ฉบับ

เรื่อง ศิริโชค เลิศยะโส

ภาพถ่าย  ยุทธนา อัจฉริยวัญญู

นี่คือสถานที่ซึ่งลมหายใจสุดท้ายของสืบได้ขาดห้วงไป รูกระสุนบนเตียงนอนของเขา เป็นเสมือนรูปรอยที่สะกิดความทรงจำให้นึกถึงความเสียสละ ความจริงจัง และบ้านพักหลังนี้ ยังถูกเก็บรักษาไว้เพื่อให้คนที่มีโอกาสเข้ามาในที่ทำการเขตฯ ห้วยขาแข้งได้สัมผัสบรรยากาศ

อ่านเพิ่มเติม

กัปตันการบินไทยผู้ใช้เวลาว่างปลูกต้นไม้ให้กรุงเทพฯ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.