ที.เร็กซ์หลบไป! เผยโฉม สไปโนซอรัส ไดโนเสาร์ที่ใหญ่และร้ายกาจสุดบนพื้นพิภพ

ที. เร็กซ์หลบไปไกลๆ เพราะสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่สุดและร้ายกาจที่สุด ที่เคยท่องพื้นพิภพคือ สไปโนซอรัส

เย็นวันที่ 3 มีนาคม ปี 2013  นักบรรพชีวินวิทยาหนุ่มนาม นิซาร์  อิบรอฮีม นั่งอยู่ที่ร้านกาแฟริมถนนในเมืองเอร์ฟูด  ประเทศโมร็อกโก เหม่อมองแสงตะวันกำลังลาลับ พลางรู้สึกว่าความหวังของเขาก็กำลังริบหรี่ตามไปด้วย  สามวันก่อนหน้านั้น  อิบรอฮีมกับเพื่อนร่วมงานอีกสองคนมายังเอร์ฟูดเพื่อตามหาชายคนหนึ่งซึ่งอาจไขปริศนาที่ครอบงำจิตใจเขาตั้งแต่สมัยเด็กๆ

ชายคนที่อิบรอฮีมตามหาเป็นฟุยเยอร์ หรือนักล่าฟอสซิลในท้องถิ่น ซึ่งขาย “สินค้า” ให้ร้านค้าและนายหน้า ในบรรดาฟอสซิลลํ้าค่าที่สุดคือกระดูกไดโนเสาร์จากชั้นหินเคมเคม  ซึ่งเป็นผาชันยาว 250 กิโลเมตรที่มีตะกอนทับถมมาตั้งแต่กลางยุคครีเทเชียส  หรือระหว่าง 100 ถึง 94 ล้านปีก่อน

หลังจากตระเวนไปตามแหล่งขุดค้นต่างๆ ใกล้หมู่บ้านเอลเบกาอยู่นานหลายวัน  นักวิทยาศาสตร์ทั้งสามก็หันไปเดินหาตามถนนสายต่างๆ ในเมืองด้วยความหวังว่าจะพบชายคนดังกล่าว  ในที่สุดพวกเขาก็ถอดใจถอยมาตั้งหลัก  ดื่มชาสะระแหน่และปลอบใจกันที่ร้านกาแฟแห่งนี้ “ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมฝันไว้ดูเหมือนจะสูญสลายไปหมดครับ” อิบรอฮีมเท้าความหลังให้ฟัง

ความฝันของอิบรอฮีมผูกพันแนบแน่นกับความฝันของนักบรรพชีวินวิทยาอีกคนซึ่งผจญภัยไปในทะเลทรายแห่งนี้ เมื่อหนึ่งศตวรรษก่อน  ระหว่างปี 1910 ถึง 1914  แอนสท์ ไฟรแฮร์  ชโตรเมอร์  ฟอน  ไรเคนบาค  ชนชั้นสูงชาวบาวาเรีย  และทีมงานของเขาออกสำรวจที่ใช้เวลายาวนานหลายครั้งในทะเลทรายสะฮาราของประเทศอียิปต์ โดยลัดเลาะไปตามชายขอบด้านตะวันออกของระบบแม่นํ้าโบราณซึ่งมีชั้นหินเคมเคมก่อตัวเป็นพรมแดนด้านตะวันตก

คนงานช่วยกันขัดขอบขรุขระของโครงกระดูก สไปโนซอรัส ที่สร้างขึ้นจากข้อมูลดิจิทัลโดยมีขนาดเท่าตัวจริงและมีสัดส่วนถูกต้องทางกายวิภาค  นักวิทยาศาสตร์สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ขึ้นจากภาพซีทีสแกนของฟอสซิล ภาพถ่ายกระดูกส่วนที่ขาดหายไป  และการเทียบเคียงกับไดโนเสาร์ที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน  แล้วจึงถอดแบบออกมาด้วย พอลิสไตรีน เรซิน  และเหล็ก

โตรเมอร์พบไดโนเสาร์  จระเข้  เต่า  และปลาชนิดต่างๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 45 ชนิด  ในบรรดาสิ่งที่ชโตรเมอร์ค้นพบได้แก่โครงกระดูกบางส่วนของไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษสองโครง ไดโนเสาร์ชนิดนี้เป็นสัตว์นักล่าขนาดมหึมา มีขากรรไกรยาวหนึ่งเมตร  และเต็มไปด้วยฟันรูปกรวยที่สบกันได้พอดี  ทว่าลักษณะโดดเด่นที่สุดของมันคือโครงสร้างคล้ายกระโดงยาว 1.7 เมตรบนหลัง ซึ่งมีเงี่ยงกระดูกยาวคํ้ายันอยู่ภายใน  ชโตรเมอร์ตั้งชื่อไดโนเสาร์ชนิดนี้ว่า สไปโนซอรัส  อีจิปเทียคัส (Spinosaurus aegyptiacus)

การค้นพบของชโตรเมอร์  ซึ่งได้รับการจัดแสดงอย่างสวยงามในพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาและธรณีวิทยา รัฐบาวาเรียกลางเมืองมิวนิก  ส่งผลให้เขามีชื่อเสียงโด่งดัง  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  เขาพยายามอย่างสุดกำลังที่จะเคลื่อนย้ายฟอสซิลออกจากมิวนิกเพื่อให้รอดพ้นจากรัศมีทำการของเครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตร  แต่กลับได้รับคำตอบปฏิเสธจากผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นนาซีหัวรุนแรง และไม่ชอบหน้าชโตรเมอร์  เนื่องจากเขาวิพากษ์วิจารณ์การปกครองระบอบนาซีอย่างเปิดเผย

ในเดือนเมษายน ปี 1944 พิพิธภัณฑ์และฟอสซิลของชโตรเมอร์เกือบทั้งหมดถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร  สิ่งที่เหลืออยู่เกี่ยวกับสไปโนซอรัส มีเพียงบันทึกภาคสนาม  ภาพวาด  และภาพถ่ายสีซีเปียจำนวนหนึ่ง อิบรอฮีม ผู้เติบโตขึ้นในกรุงเบอร์ลิน  รู้จักยักษ์ใหญ่หน้าตาประหลาดของชโตรเมอร์ครั้งแรกในหนังสือเกี่ยวกับไดโนเสาร์สำหรับเด็กพิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน  ตั้งแต่นั้นมา ไดโนเสาร์ก็ครอบงำจินตนาการและกลายเป็นความหลงใหลของเขา อิบรอฮีมไปชมพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาทั่วเยอรมนี ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสะสมหุ่นจำลองไดโนเสาร์และรูปหล่อฟอสซิลไว้มากมาย

อิบรอฮีมพบงานของชโตรเมอร์อีกครั้งขณะศึกษาวิชาบรรพชีวินวิทยาที่มหาวิทยาลัยบริสตอลในสหราชอาณาจักร “ขอบเขตงานของชโตรเมอร์กว้างขวางและลึกลํ้าอย่างเหลือเชื่อครับ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมมุ่งมั่นในงานวิจัยของตัวเอง” อิบรอฮีมกล่าว

ผู้บุกเบิกด้านบรรพชีวินวิทยา  แอนสท์  ชโตรเมอร์สำรวจพื้นที่ทางตะวันออกของทะเลทรายสะฮาราในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งใกล้ปะทุขึ้น  ฟอสซิลที่เขาค้นพบซึ่งรวมถึง สไปโนซอรัส  ช่วยไขความกระจ่างเกี่ยวกับยุคครีเทเชียสในแอฟริกาซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ธรณีกาล  โดยเฉพาะตอนที่มหาทวีปกอนด์วานาแยกตัวออก ภาพถ่ายโดย STROMER FAMILY TRUST

ขณะที่นักศึกษาปริญญาเอกส่วนใหญ่จำกัดขอบเขตหัวข้อวิทยานิพนธ์ไว้ในกรอบแคบๆ  วิทยานิพนธ์หนา 836 หน้าของอิบรอฮีมกลับบรรยายถึงฟอสซิลทั้งหมดที่พบในชั้นหินเคมเคม งานวิจัยภาคสนามระดับปริญญาเอกของอิบรอฮีมชักนำให้เขามาเอร์ฟูดหลายครั้ง  ในการมาเยือนครั้งหนึ่งเมื่อปี 2008  ขณะอิบรอฮีมมีอายุ 26 ปี  ชาวเบดูอินคนหนึ่งนำกล่องกระดาษมาให้เขาดู  ภายในบรรจุหินสีม่วงสะดุดตาสี่ก้อน  เนื้อหินมีลายทางสีเหลืองจากชั้นตะกอนแทรกอยู่ สิ่งที่ยื่นออกมาจากหินดูเหมือนกระดูกเท้าหน้าของไดโนเสาร์และแผ่นกระดูกแบนๆ ซึ่งมีภาคตัดขวางสีขาวนวลแปลกตา

ฟอสซิลนี้ก็ไม่ต่างจากฟอสซิลอื่นๆที่ขุดออกมาจากแหล่งขุดค้นอย่างไม่ระมัดระวัง  คุณค่าทางวิทยาศาสตร์ของกระดูกจึงไม่น่าไว้ใจนัก  กระนั้น  อิบรอฮีมก็ซื้อไว้ทั้งหมด เพราะคิดว่ากระดูกเหล่านี้อาจมีประโยชน์อยู่บ้างสำหรับคลังตัวอย่างทางบรรพชีวินวิทยาที่เขารวบรวมขึ้นในโมร็อกโก

ปีต่อมา ระหว่างไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในนครมิลาน  ประเทศอิตาลี  อิบรอฮีมจึงตระหนักว่า ฟอสซิลดังกล่าวอาจมีความสำคัญอย่างมหาศาล ที่นั่น กริสเตียโน  ดัล  ซัสโซ  และซีโมเน  มากานูโก  สองนักวิจัย  ให้เขาชมโครงกระดูกบางส่วนของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่เพิ่งได้มาจากพ่อค้าฟอสซิล  ตัวอย่างฟอสซิลถูกนำมาวางบนโต๊ะในชั้นใต้ดิน  อิบรอฮีมถึงกับตกตะลึง นี่คือ สไปโนซอรัส แน่ๆ ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งกว่าตัวอย่าง ของแอนสท์  ชโตรเมอร์เสียอีก

สูญหายแต่ไม่สูญเปล่า ตัวอย่างต้นแบบของ สไปโนซอรัส ที่ชโตรเมอร์พบในอียิปต์เมื่อปี 1912  ถูกเผาเป็นจุณจากการทิ้งระเบิดเมืองมิวนิกของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  นักบรรพชีวินวิทยาใช้ภาพถ่ายหายากเหล่านี้สร้างกระดูกที่ขาดหายไปขึ้นมาใหม่ด้วยวิธีดิจิทัล  เมื่อนำภาพที่ได้มาประมวลเข้ากับการค้นพบในระยะหลังๆ  ผลที่ได้คือโครงกระดูกยาว 15 เมตร  ซึ่งนับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาไดโนเสาร์กินเนื้อทั้งหมด ภาพถ่ายโดย นิซาร์ อิบรอฮีม, UNIVERSITY OF CHICAGO

ดัล  ซัสโซ และมากานูโก บอกเขาว่า  พ่อค้าคนนั้นคิดว่ามันถูกขุดจากแหล่งโบราณคดีที่ชื่อ อาเฟร์ดูอึนชัฟต์  ใกล้กับเอลเบกา  กระดูกยังฝังอยู่ในหินทรายสีม่วงมีลายทางสีเหลือง  เมื่อยกเงี่ยงกระดูกสันหลังขึ้นดู  อิบรอฮีมก็เห็นภาคตัดขวางสีขาวที่คุ้นตา “ผมรู้ทันทีว่ากระดูกที่ซื้อมาจากเอร์ฟูดต้องเป็น สไปโนซอรัส แน่ๆ  กระดูกแบนๆ หน้าตาประหลาดชิ้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเงี่ยงกระดูกสันหลังครับ”  อิบรอฮีมเท้าความให้ฟัง

ตอนนั้นเองเขาจึงคิดขึ้นได้ว่า ฟอสซิลชิ้นเล็ก ชิ้นน้อยจากเอร์ฟูดกับตัวอย่างฟอสซิลอลังการในมิลานอาจเป็นของสัตว์ตัวเดียวกัน  หากเป็นเช่นนั้น  และหากเขาสามารถระบุตำแหน่งแน่นอนที่ฟอสซิลฝังอยู่ได้  ฟอสซิลเหล่านี้ก็อาจเปรียบได้กับศิลาโรเซตตา [Rosetta Stone— ศิลาจารึกที่พบเมื่อปี 1799  นำ ไปสู่การถอดรหัสอักษรภาพเฮียโรกลิฟิกของอียิปต์โบราณ] สำหรับไขปริศนาเกี่ยวกับ สไปโนซอรัส และโลกที่มันอาศัยอยู่ ทว่าเขาต้องตามหาชายชาวเบดูอินคนนั้นให้พบเสียก่อน “ผมไม่รู้จักชื่อของเขา  แถมยังจำได้แค่ว่า  เขาไว้หนวดและสวมชุดสีขาว”  อิบรอฮีมบอก “ลำพังข้อมูลเพียงเท่านี้ ในโมร็อกโกไม่ได้ช่วยให้เบาะแสแคบลงเลยครับ”

ดังนั้นในเดือนมีนาคม ปี 2013  เขาจึงกลับไปเอร์ฟูด อิบรอฮีมพร้อมด้วยซามีร์  ซุฮ์รีย์  จากมหาวิทยาลัยฮะซันที่สองในเมืองคาซาบลังกา  และเดวิด  มาร์ทิลล์  จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัทในสหราชอาณาจักร  ไปเยือนแหล่งขุดค้นหลายแห่ง  เริ่มจากอาเฟร์ดูอึนชัฟต์  ดูเหมือนไม่มีใครจำภาพถ่ายฟอสซิลสไปโนซอรัสของอิบรอฮีมได้  หรือรู้จักชายชาวเบดูอินที่อิบรอฮีมอธิบายรูปลักษณ์อย่างคลุมเครือ

ยักษ์ใหญ่แห่งยุคครีเทเชียส สไปโนซอรัส ซึ่งเป็นไดโนเสาร์เพียงชนิดเดียวเท่าที่เรารู้จักที่ปรับตัวให้ใช้ชีวิตอยู่ในนํ้า แหวกว่ายอยู่ในแม่นํ้าทางตอนเหนือของแอฟริกาเมื่อหนึ่งร้อยล้านปีก่อน  สัตว์นักล่า ขนาดมหึมาชนิดนี้อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่ไม่ค่อยมีสัตว์บกกินพืชขนาดใหญ่  พวกมันจึงดำรงชีวิตด้วยการกินปลา ขนาดใหญ่เป็นหลัก ศิลปกรรม: ดาวีเด โบนาดอนนา ที่มา: นิซาร์อิบรอฮีม, UNIVERSITY OF CHICAGO; กริสเตียโน ดัล ซัสโซ และ ซีโมเน มากานูโก, NATURAL HISTORY MUSEUM OF MILAN

หลังจากเที่ยวสืบหาไปตามถนนสายต่างๆในเอร์ฟูดในวันสุดท้ายของพวกเขา  ท้ายที่สุด  พวกเขาก็ถอดใจ  แล้วมาแวะนั่งพักในร้านกาแฟแห่งนี้ ขณะที่พวกเขานั่งเหม่อมองผู้คนสัญจรไปมาบนท้องถนน  ชายไว้หนวดสวมชุดสีขาวคนหนึ่งเดินผ่านไป อิบรอฮีมกับซุฮ์รีย์หันมามองหน้ากัน  แล้วลุกพรวดขึ้นติดตามชายผู้นั้นไปทันที  ปรากฏว่าเป็นชายคนเดียวกันนั้นเอง

เขายืนยันว่าลงมือขุดกระดูกออกจากผาหินด้วยความ ยากลำบากนานกว่าสองเดือน  ตอนแรกเขาขุดได้กระดูกที่ขายให้อิบรอฮีม  จากนั้นก็พบกระดูกมากขึ้นในบริเวณถัดเข้าไปบนไหล่เขา  ซึ่งท้ายที่สุดเขาขายให้พ่อค้าฟอสซิลในอิตาลีเป็นเงิน 14,000 ดอลลาร์สหรัฐ  แต่เมื่อพวกเขาขอให้พาไปยังจุดที่พบ  ทีแรกชายคนดังกล่าวปฏิเสธ  อิบรอฮีมจึงอธิบายว่าการได้รู้ว่าพบกระดูกที่ไหนเป็นเรื่องสำคัญเพียงใด และเหตุใดการรู้ตำแหน่งนั้นจะช่วยนำไดโนเสาร์ตัวนี้กลับมาสู่โมร็อกโกได้ในวันหนึ่ง  โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของคาซาบลังกา  ชายชาวเบดูอินซึ่งฟังอยู่อย่างเงียบๆ พยักหน้าหงึกๆ

“ผมจะพาพวกคุณไปดูครับ”  เขาบอก

หลังจากขับรถแลนด์โรเวอร์บุโรทั่งผ่านสวนปาล์มทางตอนเหนือของเอร์ฟูด  ชายคนนั้นพาพวกเขาเดินลัดเลาะไปตามก้นธารวาดี [wadi—ลำธารแห้งแล้งในเขตทะเลทราย] แห้งผาก  แล้วไต่ขึ้นไปตามผาชันริมนํ้าลาดชัน  ชั้นหินในหน้าผาที่อยู่รายรอบแสดงให้เห็นว่า เมื่อหนึ่งร้อยล้านปีก่อน ที่นี่เคยมีแม่นํ้าสายใหญ่คดเคี้ยวตัดผ่าน

ในที่สุดพวกเขาก็มาถึงปากหลุมกว้างบนไหล่เขาแห่งหนึ่งซึ่งเคยเป็นริมฝั่งแม่นํ้ามาก่อน

“ตรงนั้นครับ”  ชายชาวเบดูอินบอก

อิบรอฮีมปีนขึ้นไป  เขาสังเกตเห็นผนังหินทรายสีม่วง ที่มีลายทางสีเหลืองแทรกอยู่

อสุรกายนักล่าแห่งสายนํ้า แม้ว่าขากรรไกรของ สไปโนซอรัส จะยาวราวหนึ่งเมตรและมีฟันเรียงกันอย่างน่าเกรงขาม  แต่เมื่อเทียบกับขากรรไกร ของไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีขนาดไล่เลี่ยกันแล้วกลับแข็งแรงน้อยกว่ามาก  จึงเหมาะกับการจับปลาในแม่นํ้าที่พวกมันอาศัยอยู่มากกว่าการบดเคี้ยวกระดูก

สำหรับแอนสท์ ชโตรเมอร์ สไปโนซอรัส เป็นปริศนาชั่วชีวิต  เขาใช้เวลาหลายทศวรรษพยายามศึกษาสัตว์หน้าตาพิลึกจากชิ้นส่วนโครงกระดูกสองโครงที่ทีมสำรวจของเขาขุดพบ  ตอนแรกเขาอนุมานว่า  เงี่ยงกระดูกสันหลังที่มีลักษณะยาวนี้อาจมีไว้คํ้ายันหรือรองรับหนอกบริเวณไหล่อย่างของไบซัน  แต่ในเวลาต่อมา  เขาสันนิษฐานว่า  กระดูกเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระโดงหลัง  เช่นที่พบในกิ้งก่าและกิ้งก่าคามีเลียนในปัจจุบัน  เขาสังเกตเห็นว่าเมื่อเทียบกับไดโนเสาร์กินเนื้อด้วยกัน

ขากรรไกรแคบๆ ของ สไปโนซอรัส มีลักษณะโดดเด่น  ฟันของมันก็เช่นกัน  เทอโรพอดกินเนื้อ ส่วนใหญ่จะมีฟันแบน ขอบฟันหยักคล้ายใบเลื่อย  แต่ฟันของสไปโนซอรัสเรียบและเป็นรูปกรวยคล้ายฟันจระเข้ ชโตรเมอร์สรุปด้วยความไม่มั่นใจอย่างยิ่งแกมผิดหวังเล็กน้อยว่า  สัตว์ชนิดนี้ “ได้รับการปรับแต่งทางวิวัฒนาการอย่างเฉพาะเจาะจงมาก” แต่ไม่อาจระบุได้ว่า  ความเฉพาะเจาะจงนั้นเป็นไปเพื่อการใด

สไปโนซอรัส ยังเป็นส่วนหนึ่งของปริศนาลี้ลับข้อใหญ่กว่านั้น  ซึ่งบางครั้งเรียกกันว่า ปริศนาของชโตรเมอร์ (Stromer’s Riddle)  ซึ่งนักบรรพชีวินวิทยาในตำนานผู้นี้สังเกตเห็นครั้งแรกในฟอสซิลจากแอฟริกาเหนือ  กล่าวคือ ในระบบนิเวศเกือบทั้งหมดทั้งในสมัยโบราณและยุคปัจจุบัน สัตว์กินพืชมีจำนวนมากกว่าสัตว์กินเนื้อมาก

นักแกะรอยกระดูก นิซาร์ อิบรอฮีม นักสำรวจหน้าใหม่ของเนชั่นแนล  จีโอกราฟฟิก  สืบหาร่องรอยโครงกระดูก สไปโนซอรัส ไปจนถึงทางตะวันออกเฉียงใต้ของโมร็อกโก ซึ่งนักล่าฟอสซิลสมัครเล่นค้นพบเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น

ทว่าในพื้นที่ ตามแนวตะเข็บตอนเหนือของทวีปแอฟริกา  ตั้งแต่แหล่งขุดค้นในอียิปต์ของชโตรเมอร์ซึ่งอยู่ทางตะวันออก  ไปจนถึงชั้นหินเคมเคมในโมร็อกโกซึ่งอยู่ทางตะวันตก  หลักฐานฟอสซิลกลับชี้ไปในทางตรงกันข้าม  ที่จริงแล้วภูมิภาคแถบนี้มีสัตว์กินเนื้อขนาดมหึมาอาศัยอยู่สามชนิด  ได้แก่ บาฮาเรียซอรัส (Bahariasaurus) ผู้ปราดเปรียว  ความยาว 12 เมตร คาร์คาโรดอนโตซอรัส (Carcharodontosaurus)  หรือ “ที. เร็กซ์แห่งแอฟริกา”  ความยาว 12 เมตรเช่นกัน  และ สไปโนซอรัส ซึ่งอาจมีขนาดใหญ่ที่สุดและแปลกประหลาดที่สุด

ชโตรเมอร์สันนิษฐานว่า  สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ก็อาจมีอยู่  ไม่เช่นนั้นแล้วจะให้สัตว์กินเนื้อพวกนี้กินอะไรเล่า แต่ที่ผ่านมายังพบกระดูกของพวกมันไม่มากนัก  นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เสนอว่า  ข้อเท็จจริงที่ดูขัดแย้งกันนี้เป็นเพียงความคลาดเคลื่อนของการสุ่มตัวอย่าง  หรือไม่ก็เป็นเพราะบรรดานักล่าฟอสซิลมักเลือกฟอสซิลของสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่มากกว่า  เพราะขายได้ราคาดีกว่า

เมื่อมีฟอสซิลจากสไปโนซอรัสตัวใหม่อยู่ในมือ  และรู้ตำแหน่งแน่นอนที่ขุดพบ  นิซาร์  อิบรอฮีม ก็พร้อมจะหาคำตอบที่น่าพอใจกว่าให้ปริศนาของชโตรเมอร์  อย่างไรก็ตาม  หากมองเผินๆ  กระดูกชิ้นใหม่ๆ เหล่านี้กลับทำให้สัตว์ชนิดนี้ดูน่าฉงนมากยิ่งขึ้น  พื้นผิวของเงี่ยงกระดูกสันหลังที่เรียบ  หมายความว่ากระดูกเหล่านี้ไม่น่าจะมีไว้ใช้คํ้ายันหรือรองรับเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มขนาดใหญ่อย่างเช่นหนอก  เงี่ยงกระดูกมีร่องสำหรับหลอดเลือดอยู่น้อย  ดังนั้นจึงไม่น่าจะใช้ในการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ดังที่นักวิจัยคนอื่นสันนิษฐานไว้  ส่วนกระดูกซี่โครงมีความหนาแน่นเท่ากันและโค้งมาก  ทำให้ลำตัวมีรูปทรงคล้ายถังทรงกระบอกผิดธรรมดา  คอยาว  กะโหลกใหญ่มาก  แต่ขากรรไกรเรียวยาวอย่างน่าประหลาด  โดยมีปลายจมูกโค้งรูปร่าง พิลึกและเต็มไปด้วยหลุมเล็กๆ  ขาหน้าและกระดูกโอบอกค่อนข้างใหญ่  ขณะที่ขาหลังสั้นและเรียวอย่างไม่ได้สัดส่วน

ในปี 2013  เพื่อนร่วมงานชาวอิตาลีของเขา  ได้แก่  กริสเตียโน ดัล  ซัสโซ  และมาร์โก  เอาดีโตเร  ออกสำรวจเพื่อให้ได้ชิ้นส่วนโครงกระดูกมากขึ้น

“สไปโนซอรัส มีนํ้าหนักค่อนไปทางลำตัวส่วนหน้าอย่างไม่น่าเชื่อเลยละครับ”  พอล  เซเรโน  นักบรรพชีวินวิทยา กล่าว  เขาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาระดับหลังปริญญาเอกของอิบรอฮีมที่มหาวิทยาลัยชิคาโก  และเป็นผู้ค้นพบไดโนเสาร์ชนิดสำคัญหลายชนิดในแอฟริกาเหนือ “มันเหมือนลูกผสมระหว่างอัลลิเกเตอร์กับตัวสลอทครับ” เขาเปรียบเปรย

อิบรอฮีมติดภาพกะโหลกสไปโนซอรัสขนาดเท่าของจริงบนผนังในห้องทำงาน  ซึ่งเขามักเพ่งมอง “ผมพยายามนึกภาพกระดูกทุกชิ้น  กล้ามเนื้อ  เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน  ทุกสิ่งทุกอย่างเลยครับ  บางครั้งภาพก็อยู่ตรงนั้นแวบหนึ่ง  แล้วหายไปเหมือนภาพลวงตา  สมองของผมคำนวณสิ่งซับซ้อนขนาดนั้นไม่ได้ครับ”

แต่คอมพิวเตอร์ทำได้  อิบรอฮีมพร้อมด้วยซีโมเน มากานูโก  จากพิพิธภัณฑ์มิลาน  และไทเลอร์  คีลเลอร์ นักเตรียมฟอสซิลและศิลปินด้านบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก  คืนชีวิตให้สไปโนซอรัสด้วยเทคโนโลยี ดิจิทัล  พวกเขานำตัวอย่างกระดูกแต่ละชิ้นที่มีอยู่มาทำซีทีสแกนที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยชิคาโกและที่โรงพยาบาลมัจโจเรในมิลาน  จากนั้นจึงเติมส่วนอื่นๆ ของร่างกายเข้าไปด้วยการสแกนภาพถ่ายตัวอย่างกระดูกจากพิพิธภัณฑ์ใน มิลาน  ปารีส  และที่อื่นๆ  รวมทั้งใช้ภาพดิจิทัลที่แปลงจากภาพถ่ายและภาพวาดของชโตรเมอร์  บางส่วนใช้การปรับขยายสัดส่วนฟอสซิลของสไปโนซอรัสวัยเยาว์ให้มีขนาดเท่าตัวเต็มวัย

คีลเลอร์  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรม สร้างแบบจำลองดิจิทัลซีบรัช (ZBrush)  ปั้นแต่งกระดูกชิ้นที่หายไปด้วย “ดินเหนียวดิจิทัล” ของโปรแกรมซีบรัช  โดยสร้างภาพกระดูกขึ้นจากภาพสแกนกระดูกชิ้นเดียวกันของไดโนเสาร์ในกลุ่มสไปโนซอริดซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันในสาแหรกตระกูล  เช่น  ซูโคมิมุส (Suchomimus)  และ แบรีออนิกซ์ (Baryonyx)

จากความเพียรพยายามปั้นแต่งและจัดวางกระดูกสันหลัง 83 ชิ้นในแบบจำลอง  พวกเขาสรุปว่า  สไปโนซอรัส ตัวเต็มวัยมีความยาววัดจากปลายจมูกถึงหาง 15 เมตร  เคยมีคำกล่าวอ้างว่า  สไปโนซอรัส เป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยท่องพื้นพิภพ  แบบจำลองนี้ยืนยันคำกล่าวนั้น  (ที. เร็กซ์ขนาดใหญ่ที่สุดมี ความยาวจากหัวถึงหาง 12.3 เมตร)

จากนั้น พวกเขาหุ้มโครงกระดูกด้วยผิวหนังดิจิทัลเพื่อสร้างแบบจำลองที่เคลื่อนไหวได้  ช่วยให้ประเมินจุดศูนย์ถ่วงและมวลกายของสไปโนซอรัสได้  ทำให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่ามันเคลื่อนที่อย่างไร  การวิเคราะห์ของพวกเขานำไปสู่ข้อสรุปอันน่าทึ่ง  กล่าวคือ  สไปโนซอรัส ผิดแผกจากไดโนเสาร์กินเนื้ออื่นๆ ทั้งหมดซึ่งเดินบนขาหลัง เพราะมันอาจเป็นสัตว์เดินสี่ขา  โดยใช้ขาหน้าที่มีกรงเล็บขนาดใหญ่ช่วยในการเดินด้วย

หุ่นจำลองสัตว์นักล่ายุคครีเทเชียส  สไปโนซอรัส  ได้รับการจัดแสง  ฉาก  และเอฟเฟ็กต์ ราวกับเป็นนักร้องเพลงร็อกระหว่างการถ่ายภาพนิ่งในสตูดิโอ

อย่างไรก็ตาม  ความแปลกประหลาดทั้งหลายทั้งปวงของเจ้ายักษ์ใหญ่ตัวนี้เริ่มเป็นเหตุเป็นผลที่เข้าใจได้  เมื่ออิบรอฮีมกับเพื่อนร่วมงานมอง สไปโนซอรัส ด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงว่า  มันเป็นไดโนเสาร์ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในนํ้า  รูจมูกซึ่งตั้งอยู่สูงบนกะโหลกค่อนมาทางดวงตาช่วยให้สไปโนซอรัสหายใจได้แม้บริเวณส่วนใหญ่ของหัวจะจมอยู่ใต้นํ้า  ลำตัวทรงกระบอกชวนให้นึกถึงโลมาและวาฬ  ส่วนความหนาแน่นของซี่โครงและกระดูกที่ยาวก็คล้ายคลึงกับกระดูกของพะยูน  ขาหลังซึ่งมีสัดส่วนแปลกประหลาดสำหรับการเดินน่าจะเหมาะกับการพุ้ยนํ้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกรงเล็บแบนๆ ในเท้าหลังที่กว้างมีพังผืดเชื่อมถึงกันเหมือนเท้าเป็ดดังที่นักวิจัยคาดไว้  ขากรรไกรเรียวยาวและฟันรูปกรวยเรียบๆ เหมือนฟันจระเข้น่าจะใช้จับ ปลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ส่วนหลุมตรงปลายจมูกซึ่งยังปรากฏให้เห็นในจระเข้และอัลลิเกเตอร์  อาจมีตัวรับความ ดันสำหรับตรวจจับเหยื่อในนํ้าขุ่น อิบรอฮีมวาดภาพว่า  สไปโนซอรัสโน้มตัวไปข้างหน้าแล้วงับปลาด้วยปากที่ยาว

ภาพในจินตนาการใหม่ที่ว่า  สไปโนซอรัส เป็นไดโนเสาร์ที่อาศัยอยู่ในนํ้าเช่นนี้  น่าจะให้คำตอบที่เป็นไปได้คำตอบหนึ่งแก่ปริศนาของชโตรเมอร์  กล่าวคือ  แม่นํ้าที่เจ้ายักษ์ใหญ่ตัวนี้ตายลงเป็นทางนํ้าขนาดใหญ่สายหนึ่งในหลายสายของระบบธารนํ้าอันกว้างใหญ่ไพศาล  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของแอฟริกาในยุคครีเทเชียส  หากสัตว์กินเนื้อซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่มีขนาดใหญ่  สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในนํ้าก็น่าจะมีขนาดใหญ่ด้วย  ซึ่งซากของพวกมันพบได้ทั่วไปในชั้นหินเคมเคม  เช่น  ปลาปอดขนาด 4 เมตร  ปลาซีลาแคนท์ขนาด 2.5 เมตร  ปลาฉนากขนาด 7.5 เมตร เช่นเดียวกับเต่าขนาดมหึมา  สัตว์เหล่านี้น่าจะเป็นอาหารที่บริบูรณ์เพียงพอ  แม้แต่สำหรับสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ที่สุดนับเป็นการหลีกเลี่ยงความจำเป็นที่ต้องมีสัตว์กินพืชขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อรักษาสมดุลในห่วงโซ่อาหาร

แล้วอิบรอฮีมก็เข้าใจอย่างถ่องแท้เมื่อได้เห็นขั้นตอนสุดท้ายของโครงการสร้างไดโนเสาร์ดิจิทัล  นั่นคือโครงกระดูกสไปโนซอรัส ทำจากโฟมพอลิสไตรีนความหนาแน่นสูงขนาดเท่าตัวจริง  ซึ่งสร้างขึ้นจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ  โครงกระดูกได้รับการจัดแสดงในท่าทางกำลังว่ายนํ้า  ซึ่งอิบรอฮีมคิดว่า  สไปโนซอรัส อาจใช้เวลาว่ายนํ้ามากถึงร้อยละ 80  ”ผมอยากให้แอนสท์  ชโตรเมอร์ได้เห็นแบบจำลองนี้จังเลยครับ  เพราะมันแสดงให้เห็นว่า สไปโนซอรัส เป็นนักว่ายนํ้าตัวยงที่ได้รับการปรับแต่งทางวิวัฒนาการมามากแค่ไหน เขาต้องยิ้มออกแน่ๆ ครับ

เรื่อง ทอม มึลเลอร์
ภาพถ่าย ไมก์ เฮตต์เวอร์


อ่านเพิ่มเติม วิทยาการพลิกโฉมหน้าไดโนเสาร์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.