แม้แผ่นดินของจังหวัดสตูลในปัจจุบันจะถูกจับจองโดยมนุษย์ แต่รอยประทับจากรูปร่างของสิ่งมีชีวิตในโลกทะเลโบราณที่ยังคงหลงเหลืออยู่จำนวนมากตามธรณีสันฐานยังคงบอกเล่าถึงช่วงเวลาเมื่อพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นท้องทะเลแห่งยุคดึกดำบรรพ์ ไม่ว่าจะเป็นซากสัตว์ดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของสัตว์ทะเลอายุเก่าแก่ที่สุดในไทยอย่างไทรโลไบต์ หรือที่รู้จักกันในชื่อแมงดาทะเลโบราณจากยุคแคมเบรียน พบในชั้นหินทรายแดงบนเกาะตะรุเตาและฟอสซิลของนอติลอยด์ หรือหมึกโบราณในยุคออร์โดวิเชียนบนผนังถ้ำทะลุ
สองยุคดังกล่าวเป็นธรณีกาลที่เก่าแก่ที่สุดของมหายุคพาลีโอโซอิกซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 545-245 ล้านปีก่อน ซึ่งนับเป็นช่วงที่สิ่งมีชีวิตในทะเลกำลังเฟื่องฟูหลังโลกตื่นตัวจากยุคน้ำแข็ง
เมื่อโลกท้องทะเลที่ดำรงมากว่า 250 ล้านปีของสตูลถูกยกขึ้นมาเหนือผิวน้ำจากการปะทะกันของเปลือกโลก ซากของสิ่งมีชีวิตที่ถูกทับถมอยู่ในทะเลก็ถูกยกขึ้นบนผืนแผ่นดินเช่นเดียวกัน มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพในท้องทะเลโบราณอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ฟอสซิลของแบรคคิโอพอดซึ่งเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายหอยสองฝา บรรพบุรุษของหอยงวงช้างในปัจจุบันอย่างแอมโมนอยด์ อีกทั้งยังพบหลักฐานว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตออกซิเจนแก่ผืนทะเลโบราณจากการพบฟอสซิลของสโตรมาโตไลต์ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของไซยาโนแบคทีเรียที่ผลิตก๊าซออกซิเจนในท้องทะเล
แม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยล้านปี ฟอสซิลของพวกมันยังคงหลงเหลืออยู่ตามถ้ำ ชั้นหิน เสมือนสมุดบันทึกแห่งอดีตที่ส่งต่อมายังปัจจุบันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของโลกทะเลโบราณได้เป็นอย่างดี
ผืนแผ่นดินแห่งชีวิต
เราไม่อาจจินตนาการความเฟื่องฟูทางทรัพยากรธรรมชาติอันมหาศาลของจังหวัดสตูลในอดีตได้ แต่ถึงอย่างนั้น ความอุดมสมบูรณ์ของมันยังคงส่งต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน
พื้นที่แห่งนี้รวบรวมความหลากหลายทางของสภาพภูมิประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล ป่าโกงกาง หรือถ้ำหินปูนที่เกิดจากการกัดกร่อนของฝนกรดคาร์บอนิคอ่อนๆ จนกลายเป็นภูมิประเทศแบบคาร์ส (Karst) ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ถ้ำเลสเตโกดอนซึ่งอยู่ในเทือกเขาหินปูนยุคออร์โดวิเชียน ถ้ำแห่งนี้เป็นธารลอดที่มีระดับน้ำทะเลสูงถึงปากทางเข้าและมีลักษณะเป็นอุโมงค์คดเคี้ยวไปมา มีการค้นพบซากและฟอสซิลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคควอเทอนารี ไม่ว่าจะเป็น แรด วัว ควาย จนถึงช้างสเตโกดอนซึ่งเป็นบรรพบุรุษช้างที่มีลักษณะใกล้ช้างเอเชียที่สุด
ภูมิประเทศที่หลากหลายของจังหวัดสตูลต่างครอบครองความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะตัวตามแต่ละพื้นที่ อย่างเช่นป่าหลุมยุบดึกดำบรรพ์บริเวณปลายถ้ำทะลุเองก็มีปริมาณแสงและความชื้นที่เฉพาะเจาะจงสำหรับพืชและสัตว์เฉพาะถิ่นหลากหลายชนิด ที่ภูเขาและถ้ำหินปูนก็มีระบบนิเวศสำหรับสัตว์ที่ปรับตัวสำหรับการอยู่ในถ้ำโดยเฉพาะ เช่น ปูเขาหินทุ่งหว้าที่พบในเขาหินปูนของสตูล ซึ่งเป็นปูสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่ยังไม่เคยถูกพบที่ใดมาก่อน
จากขุมทรัพย์แห่งกาลเวลา สู่สมบัติของชุมชน
ด้วยสภาพของภูมิประเทศของจังหวัดสตูลที่มีความสำคัญทางด้านธรณีวิทยา รวมถึงความโดดเด่นทางด้านซากดึกดำบรรพ์ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก จึงขึ้นทะเบียนพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญดังกล่าว ในพื้นที่สี่อำเภอ คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมืองสตูล ให้กลายเป็นพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล
นอกเหนือจากความโดดเด่นทางด้านธรณี อุทยานธรณีแห่งโลกสตูลนั้นยังมีจุดหนึ่งที่แตกต่างกับอุทยานแห่งชาติทั่วไปโดยสิ้นเชิงคือการเป็นพื้นที่ที่ได้รับการบริหารจากหน่วยงานท้องถิ่นโดยตรง ชุมชนแห่งนี้มุ่งเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนโดยอุ้มชูความโดดเด่นทางด้านธรณีโดยการให้ความรู้กับคนท้องถิ่นและผู้สนใจผ่านเว็บไซต์นวนุรักษ์ https://navanurak.in.th/ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้รวบรวมข้อมูลทางด้านธรณีและความหลากหลายทางชีวภาพโดยให้ชุมชนเป็นเจ้าของข้อมูล
ด้วยองค์ความรู้ดังกล่าว ชุมชนสามารถต่อยอดธุรกิจท้องถิ่นในแบบของตนด้วยการร้อยเรียงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเข้ากับเรื่องราวทางธรณี เช่น ธุรกิจผ้ามัดย้อมของจังหวัดสตูลอย่างปันหยาบาติกที่มีการออกแบบและพัฒนาลายผ้าจากลวดลายของฟอสซิล อีกทั้งยังมีการสกัดสีย้อมจากวัสดุทางธรรมชาติและดินเทอราโรสซาซึ่งเป็นดินที่ผุพังจากภูเขาหินปูนในยุคออร์โดวิเชียนเมื่อ 505-440 ล้านปีก่อน หรือแม้กระทั่งการสร้างสรรค์เมนูในร้านอาหารที่จะพานักท่องเที่ยวย้อนเวลาผ่านประสบการณ์การรับประทานอาหารแบบใหม่โดยนำเสนอด้วยรูปแบบของเมนูดึกดำบรรพ์ เช่น นอร์ติลอยด์ผัดน้ำดำ (หมึกผัดน้ำดำ) ยำไข่ไทรโลไบต์ (ยำไข่แมงดา) เป็นต้น
เรื่องและภาพ : พิชามญชุ์ สุวรรณธวัช
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย