จากมเหสีทั้ง 6 นี้ ใครคือราชินีที่แท้จริงของ พระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 ของอังกฤษ

จากละครเพลงยอดฮิต ‘SIX’ บอกเล่าเรื่องราวสุดวายป่วงของ พระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 และองค์ราชินีทั้งหก อันเกี่ยวโยงกับ “ชีวิต” และ “ความตาย” นี่คือประวัติศาสตร์เบื้องลึกเบื้องหลัง ‘ความปัง’ นั้น

โทบี้ มาร์โลว และ ลูซี่ มอส ผู้แต่งละครเพลงเรื่อง ‘SIX’ ได้แรงบันดาลใจในการทำละครเพลงยอดฮิตมาจากชีวิตรักของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (Henry VIII) เล่าเรื่องผ่านมุมมองของราชินีแต่ละพระองค์ โดยที่แต่ละองค์นั้นจะมีเวลาเล่าชะตากรรมของตนตามวลียอดฮิตที่ท่องกันมาว่า “หย่า ประหาร ตาย หย่า ประหาร รอดตาย”

หย่า: เจ้าหญิงแคทเธอรีนแห่งอารากอน (Catherine of Aragon)

พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ผู้ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลปกครองอังกฤษเป็นเวลา 36 ปี (ค.ศ. 1509-1547) ไม่ว่าจะเป็นสงครามอันเดือดดาลกับฝรั่งเศสและสก็อตแลนด์ การแยกตัวออกจากพระศาสนจักรคาธอลิก (Catholic Church) หรือแม้แต่การปูทางสู่ ‘รัฐธรรมนูญ’แห่งอังกฤษ รวมไปถึงผลงานด้านการเมืองอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นฝึมือของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ทั้งสิ้น แต่พระองค์กลับมิได้ถูกลิขิตให้เป็นกษัตริย์ กระทั่งพระเชษฐาของพระองค์ เจ้าชายอาร์เธอร์สิ้นพระชนม์ในปี 1502 ครั้นอายุได้ 15 พรรษา เจ้าชายเฮนรีจึงขึ้นเป็นรัชทายาทผู้สืบทอดบัลลังก์แทน

พระเจ้าเฮนรี่อภิเษกสมรสกับพระมเหสีองค์แรก พระราชธิดาของกษัตริย์สเปน พระเจ้าเฟอร์ดินานที่ 2 และเป็นหญิงหม้ายจากพระเชษฐาของพระองค์ในปี 1509 พระนางมีพระประสูติว่าที่สมเด็จพระราชินีนาถแมรี่ที่ 1 ในปี 1516 แต่กลับล้มเหลวในการผลิตรัชทายาที่พระเจ้าเฮนรี่ทรงหวังไว้ IMAGE COURTESY OF PRIVATE COLLECTION/BRIDGEMAN IMAGES

หลังจากที่เจ้าชายอาร์เธอร์สิ้นพระชนม์ เจ้าชายเฮนรี่มิเพียงสืบราชบัลลังก์เท่านั้น หากแต่รวมไปถึงคู่หมั้นของพระเชษฐาอันล่วงลับ เจ้าหญิงแคทเธอรีนแห่งอารากอนด้วย หลังจากอภิเษกสมรสทั้งคู่มีพระโอรสด้วยกันหนึ่งพระองค์ซึ่งสิ้นพระชน์อย่างอนาถาในสองเดือนถัดมา ทั้งสองยังมีพระประสูติพระราชธิดาองค์หนึ่งคือ เจ้าหญิงแมรี่ ในปี 1516 แต่จวบจนถึงปี 1526 การอภิเษกสมรสของทั้งคู่มิได้ให้กำเนิดทายาทสืบราชสันตติวงศ์ดังที่พระเจ้าเฮนรี่ต้องการ พระองค์จึงเริ่มหาพระชายาองค์ใหม่ถึงแม้ทางพระศาสนจักรคาธอลิกจะมิอนุญาตให้หย่าร้างกับพระราชินีแคทเธอรีนก็ตาม

ในท้ายที่สุดแล้ว คำตอบนั้นกลับง่ายดาย: พระเจ้าเฮนรีทรงเชื่อว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่พระเจ้าลิขิต พระองค์จึงเป็นผู้อำนาจสูงสูดเหนือราชอาณาจักรมิใช่พระสันตะปาปา ดังนั้น พระองค์จึงสามารถทำให้การอภิเษกสมรสของตนเป็นโมฆะได้ การตัดสินใจในครั้งนี้นำไปสู่ความแตกหักระหว่างอังกฤษและพระศาสนจักรคาธอลิก และการก่อตั้งคริสตจักรอังกฤษ (Anglican Church)

หลังจากการสมรสเป็นโมฆะ พระนางแคทเธอรีนได้รับตำแหน่งเป็น “ดัชเชสแห่งเวลส์” และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ที่ปราสาทคิมบอลตันจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ไปในปี 1536 จากโรคมะเร็งด้วยอายุ 50 ปี

อีกด้านหนึ่ง เจ้าหญิงแมรี่ได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 1553 จนถึงปี 1558 ในช่วงเวลานั้นเองพระองค์ต้องต่อสู้เพื่อการปฏิรูปอังกฤษที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบิดาของพระองค์

อย่างไรก็ตาม แมรีได้ขึ้นเป็นราชินีแห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1553 ถึง ค.ศ. 1558 ในช่วงเวลานั้นเธอได้ต่อสู้เพื่อพลิกโฉมการปฏิรูปอังกฤษซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของบิดาของเธอ

ประหาร: แอนน์ โบลีน (Anne Boleyn)

พระราชาภิเษกกับแอนน์ โบลีนทำให้อังกฤษต้องแยกออกจากพระสันตะปาปาและโรมอย่างวุ่นวาย พระนางมีพระประสูติเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธที่ 1 ในปี 1533 หลังจากที่พระองค์ล้มเหลวในการผลิตรัชทายาท พระเจ้าเฮนรี่ได้สั่งประหารนางในปี 1536 IMAGE COURTESY OF MUSEE CONDE, CHANTILLY, FRANCE/BRIDGEMAN IMAGES

แม้พระเจ้าเฮนรีจะยังคงอยู่ในสถานะอภิเษกสมรสกับพระราชินีแคทเธอรีน แต่พระองค์กลับเริ่มไปเกี้ยวพาราสีหญิงงามประจำราชสำนักอีกคนหนึ่งนามว่า แอนน์ โบลีน และตั้งใจจะแต่งงานกับนาง แอนน์เป็นหนึ่งในนางสนองพระโอษฐ์ของพระราชินีแคทเธอรีน นางเป็นหญิงสาวทันสมัย มีเสน่ห์และมั่นใจ เป็นที่รู้กันดีว่านางเป็นพระมเหสีองค์ที่พระเจ้าเฮนรีรักมากที่สุด กระนั้นแล้วทั้งคู่กลับต้องรอถึงเจ็ดปีกว่าจะได้แต่งงานกัน  เนื่องด้วยการดำเนินการเรื่อง “วาระอันยิ่งใหญ่” (the King’s great matter) ในการหย่ากับพระมเหสีองค์ก่อนที่ดำเนินการโดยเหล่าที่ปรึกษาของพระองค์ ที่ต่อให้ทั้งคู่จะโอ้อวดความสัมพันธ์ของตนในชั้นศาลแล้วแต่ก็มิได้ส่งผลใด ๆ  ครั้งหนึ่ง พระเจ้าเฮนรีเคยเขียนจดหมายถึงพระนางแอนน์ เป็นฉบับที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน “ข้าหวังว่าจะได้พบเจ้าอีกครั้งในเร็ววัน” พระองค์เขียน “นั่นคงจะทำให้ข้ารู้สึกสบายใจยิ่งกว่าอัญมณีอันเลอค่าทั้งมวลในโลกนี้”

พระนางแอนน์ทรงพระครรภ์ได้ 6 เดือนแล้ว กว่าทั้งคู่จะได้กล่าวคำว่า “ตกลง” (แต่งงาน) ในเดือนมิถุนายน 1533 หลังจากนั้นสามเดือน พระนางได้ให้กำเนิดพระราชธิดาคือเจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธที่ 1 ต่อมาพระนางได้ให้กำเนิดรัชทายาทมาสองพระองค์แต่ก็สิ้นพระชนม์ไป ในปี 1536 เนื่องจากพระนางแท้งบุตร ทำให้พระเจ้าเฮนรียังคงไร้รัชทายาทสืบบัลลังก์ต่อไป

พระเจ้าเฮนรีเริ่มเหนื่อยพระทัยกับพระนางแอนน์มากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย สายพระเนตรของพระองค์ทรงจับจ้องไปยังสตรีนางใหม่นามว่า เจน ซีย์มัวร์ และเพื่อจะยุติชีวิตคู่ครั้งนี้ พระองค์จึงต้องค้นหาทางออกใหม่โดยการกล่าวหานางด้วยข้อหากบฎ พระนางแอนน์ถูกจำคุกที่หอคอยแห่งลอนดอน (the Tower of London) ด้วยข้อหาคบชู้ มั่วประเวณีกับพี่น้องร่วมสายเลือด และการวางแผนลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ แม้นางจะขึ้นศาลและปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาดังกล่าวแต่กลับถูกตัดสินว่ามีความผิด กระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคม 1536 พระนางแอนน์ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดพระเศียร ณ หอคอยและถูกฝังอยู่ในหลุมศพไร้เครื่องหมายภายใต้โบสถ์ประจำเขตของที่นั่น

ตาย: เจน ซีย์มัวร์ (Jane Seymour)

พระเจ้าเฮนรี่ทรงขอเจน ซีย์มัวร์แต่งงานในวันหลังจากการประหารชีวิตของแอนน์ โบลีน ทั้งคู่แต่งงานกันหนึ่งเดือนหลังจากนั้น นางให้กำเนิดพระราชโอรสหนึ่งองค์ ซึ่งในอนาคตเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 ในปี 1537 แต่หลังจากมีพระประสูติได้เพียง 12 วันก็สิ้นพระชนม์ IMAGE COURTESY OF KUNSTHISTORISCHES MUSEUM, VIENNA, AUSTRIA/BRIDGEMAN IMAGES

ขณะที่ยังคงสมรสอยู่กับแอนน์ พระเจ้าเฮนรี่เสด็จไปเยือนบ้านซีย์มัวร์ เชื่อกันว่าเป็นครั้งแรกที่พระองค์เริ่มจับตาดูเจนผู้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ในพระราชินีแคทเธอรีนแห่งอารากอนและพระราชินีแอนน์ โบลีน เฉกเช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์กับพระราชินีแอนน์ พระองค์เริ่มเกี้ยวพาราสีเจนทั้ง ๆ ที่ยังมีสถานะสมรสอยู่

นางเป็นสตรีผู้งดงามและสงบเสงี่ยมแตกต่างกับพระมเหสีทั้งสองพระองค์แรกอย่างสิ้นเชิง ไม่นานนักข่าวลือเรื่องที่พระเจ้าเฮนรี่สนใจในตัวนางก็แพร่สะพัดไปทั่ว พระองค์ขอนางแต่งงานหลังจากการประหารชีวิตพระราชินีแอนน์ โบลีน ทั้งสองแต่งงานกันสองเดือนถัดจากนั้น ในปี 1537 พระราชินีเจนให้กำเนิดพระราชโอรสหนึ่งพระองค์เป็นที่รู้จักในอนาคตในฐานะพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 แต่หลังจากมีพระประสูติพระราชโอรสได้เพียง 12 วัน พระนางก็สวรรคต พระนางเป็นพระมเหสีเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกฝังไว้ร่วมกับพระเจ้าเฮนรี่ในหลุมศพเดียวกัน ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ พระราชวังวินเซอร์

หย่า: แอนน์แห่งคลีฟ (Anne of Cleves)

เหล่ารัฐมนตรีของพระเจ้าเฮนรี่ทั้งหลายนั้นต่างขวักไขว่หาพระมเหสีองค์ใหม่ให้พระองค์ผู้มีชื่อเสียงเลวร้ายในการสมรสกันอย่างจ้าละหวั่น แอนน์แห่งคลีฟ บุตรีของดยุคชาวเยอรมันกลายเป็นความหวังใหม่เนื่องด้วยเหตุผลทางการฑูต โดยการอภิเษกสมรสครั้งนี้จะเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างอังกฤษและดินแดนของดยุคที่นับถือโปรแตสแตนท์ จึงเป็นการทำให้การปฏิรูปศาสนาของอังกฤษแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

แต่พระเจ้าเฮนรี่นั้นจำเป็นต้องรู้ก่อนว่านางมีรูปลักษณ์หน้าตาเป็นอย่างไร ด้วยคำแนะนำของโธมัส ครอมเวลล์ พระองค์จึงส่งจิตรกรโปรดในราชสำนักของพระองค์ นายฮันส์ ฮอลไบน์ผู้น้องไปยังดินแดนของดยุคที่เยอรมันนั้น และทรงอนุมัติการสมรสหลังจากเห็นภาพเสมือนนั้น

พระเจ้าเฮนรี่มิได้พบกับแอนน์ บุตรีแห่งดยุคชาวเยอรมันกระทั่งทั้งคู่อภิเษกสมรสกันในปี 1540 การอภิเษกสมรสนี้จัดขึ้นด้วยเหตุผลทางการฑูตและกลายเป็นโมฆะผ่านความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหลังจากผ่านไปหกเดือน IMAGE COURTESY OF LOUVRE, PARIS, FRANCE/BRIDGEMAN IMAGES

อย่างไรก็ตาม เมื่อแอนน์มาถึงพระองค์กลับคอตกนั่งสลดเพราะนางไม่งดงามดังที่รายงาน (จำไว้ว่าในช่วงนั้น พระองค์มิใช่คนที่ดูดีเช่นกัน อ้วน ป่วยเรื้อรัง อีกทั้งยังมีอารมณ์ฉุนเฉียว) แม้จะเป็นเช่นนั้น ทั้งคู่ก็ได้อภิเษกสมรสกัน ณ พระราชวังกรีนิชเมื่อวันที่ 6 มกราคม 1540 แต่พระองค์กลับเตรียมทางออกไว้แล้ว การสมรสครั้งนี้กลายเป็นโมฆะหกเดือนต่อมา แม้ในทางเทคนิคจะยังไม่บรรลุผลก็ตาม แอนน์ได้รับพระราชทานปราสาทเฮเวอร์ (บ้านเก่าของพระราชินีแอนน์ โบลีนน์) และตำแหน่ง “พระขนิษฐาผู้เป็นที่รักของราชา” (King’s Beloved Sister)

ในด้านของโธมัส ครอมเวลล์นั้นโชคไม่ดีนัก พระเจ้าเฮนรี่สั่งประหารชีวิตเขาเนื่องจากการคำนวณการวาดภาพที่ผิดพลาด

ประหาร: แคทเธอรีน โฮเวิร์ด (Catherine Howard)

พระเจ้าเฮนรี่มีพระชนมายุ 49 พรรษา ส่วนแคทเธอรีนอายุเพียง 19 หรือ 20 ปี ตอนที่ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1540 สามสัปดาห์หลังจากที่หย่าร้างกับแอนน์ แคทเธอรีนถูกประหารในปี 1542 ด้วยข้อกล่าวหาว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์นอกสมรส
IMAGE COURTESY OF PRIVATE COLLECTION/BRIDGEMAN IMAGES

เมื่อพระเจ้าเฮนรี่มีพระชนมายุ 49 พรรษา แคทเธอรีนอายุเพียง 19 หรือ 20 ปี พระองค์สังเกตเห็นนางท่ามกลางนางสนองพระโอษฐ์ของอดีตพระมเหสีแอนน์แห่งคลีฟ ด้วยความร่าเริงและเปี่ยมไปด้วยพลังงาน แคทเธอรีนสาวมิอาจเลือกปฏิเสธเรื่องนี้ได้ ทั้งคู่อภิเษกสมรสกันในปี 1540 สามสัปดาห์หลังจากการหย่ากับพระราชินีแอนน์และกลายเป็นภรรยาประดับบารมีของพระองค์ไป

ไม่แปลกใจเลยหากนางจะไม่ได้รับความสนใจจากพระสวามีผู้อาวุโสกว่ามากของนาง (อีกทั้งยังป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บมากมาย รวมไปถึงขาเป็นแผล) นางได้ตกหลุมรักกับโธมัส คัลเปปเปอร์ หนึ่งในที่ปรึกษาหนุ่มของพระเจ้าเฮนรี อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอร์รี โธมัส แครนเมอร์ค้นพบความจริงเรื่องนี้และรายงานความประพฤติของนาง รวมไปถึงเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการอภิเษกสมรสกับชายหนุ่มคนอื่นให้พระเจ้าเฮนรี่ได้ทรงทราบ นางถูกตั้งข้อหา “ประพฤติผิดพรหมจรรย์” ก่อนการอภิเษกสมรส ปกปิดความประพฤติอันผิดศีลธรรมและการคบชู้จัดว่าเป็นกบฎ นางถูกประหารชีวิตในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1542

รอดตาย: แคทเธอรีน พารร์ (Catherine Parr)

แต่งงานมาแล้วสองครั้งและเป็นหม้ายถึงสองครั้ง แคทเธอรีนผู้ติดดินคนนี้คอยปลอบประโลมพระเจ้าเฮนรีในวัยชราหลังจากการอภิเษกสมรสในปี 1543 พระนางแคทเธอรีนมีชีวิตอยู่นานกว่าพระเจ้าเฮนรี่และแต่งงานอีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งที่สี่ของพระองค์
IMAGE COURTESY OF PRIVATE COLLECTION/BRIDGEMAN IMAGES

แต่งงานมาแล้วสองครั้งและเป็นหม้ายถึงสองครั้ง แคทเธอรีนผู้ติดดินคนนี้ไม่เต็มใจที่จะแต่งงานกับพระเจ้าเฮนรี่ในตอนแรก ใครบ้างจะไม่ยอมแต่งกันเล่า นางรู้ชะตากรรมของพระมเหสีองค์ก่อน ๆ เป็นอย่างดีแต่ก็รู้เช่นกันว่าการปฏิเสธกษัตริย์อาจส่งผลร้ายแรงตามมา นางจับตาดูพระองค์ตอนที่เข้ามาอาศัยอยู่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเจ้าหญิงแมรี่ พระราชธิดา ทั้งคู่อภิเษกสมรสกันในปี 1543

จากรายงานทั้งหมดพบว่า พระนางเป็นพระมเหสีที่รักใคร่พระองค์ ใจบุญใจกุศล และคอยปลอบโยนพระเจ้าเฮนรี่ในวัยชรา อีกทั้งพระนางยังช่วยให้พระเจ้าเฮนรี่คืนดีกับพระราชธิดาทั้งสอง ได้แก่ เจ้าหญิงแมรี่และเจ้าหญิงอลิซาเบ็ธ และยังทำให้มั่นใจอีกว่าทั้งสองได้รับการศึกษาและได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งผู้สืบราชสันตติวงศ์ พระนางแคทเธอรีนมีชีวิตอยู่นานกว่าพระเจ้าเฮนรี่และแต่งงานอีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งที่สี่ของพระองค์

เรื่องการสืบราชสันตติวงศ์

การประหารผู้คนที่เกิดขึ้นในช่วงการกดขี่ข่มเหงของโปรเตสแตนด์ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแมรี่ที่ 1 IMAGE COURTESY OF GUILDHALL LIBRARY & ART GALLERY/HERITAGE IMAGES/GETTY IMAGES

เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 สิ้นพระชนม์ในปี 1547 พระราชโอรสวัย 15 พรรษาของพระองค์ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่ 6 ขึ้นครองราชย์ต่อแต่ก็จะสิ้นพระชนม์จากการบริโภคไม่นานหลังจากนั้น เลดี้จีน เกรย์วัย 16 ปี เหลนสาวของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ของพระองค์เพื่อกีดกันพระราชธิดาผู้นับถือคาธอลิก นั่นคือเจ้าหญิงแมรี่ (บุตรีแห่งราชินีแคทเธอรีนแห่งอารากอน) จากบัลลังก์ เจ้าหญิ่งแมรี่โต้กลับโดยการรวมทหารกว่า 10,000 นายออกเดินทัพไปยังลอนดอน จากชัยชนะทำให้พระนางได้ขึ้นเป็นพระราชินีแห่งอังกฤษพระองค์แรก ส่วนเลดี้จีน เกรย์นั้นถูกจำคุกและประหารชีวิตในเวลาต่อมา

พระราชินีแมรี่เริ่มฟื้นฟูนิกายคาธอลิกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ในปี 1554 พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิปที่ 2 แห่งสเปนผู้เป็นคาธอลิก กบฎที่นำโดยขุนนางฝ่ายต่อต้านพ่ายแพ้และ “พวกนอกรีต” โปรแตสแตนต์เกือบ 300 คนถูกเผาจนตาย จนทำให้พระองค์ได้รับฉายาว่า “แมรี่ผู้นองเลือด” (Bloody Mary) แต่จวบจนปัจจุบัน เป็นที่รู้กันว่าพระองค์มิได้มีรัชทายาท และเมื่อพระองค์สวรรคตในเดือนพฤศจิกายน 1558 พระองค์เองนั้นก็ทราบด้วยว่าพระขนิษฐาต่างมารดาของพระองค์ เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธผู้นับถือโปรแตสแตนด์สามารถสืบราชบัลลังก์ต่อไปได้

เรื่อง กองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

แปล กษิดิศ ธัญกิจจานุกิจ

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม ประวัติศาสตร์น่าทึ่งว่าด้วยการปิดสมัยประชุมรัฐสภาอังกฤษโดยกษัตริย์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.