ฟอลคอน คือใคร? รู้จักประวัติขุนนางต่างชาติผู้สร้างตัวได้อย่างโลดโผนยุคอยุธยา

บ้านวิชาเยนทร์ ก่อนวาระสุดท้ายของฟอลคอน

ฟอลคอน คือใคร?

นามเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วในกลุ่มคนที่สนใจประวัติศาสตร์อยุธยา และขยายสู่สาธารณชนในวงกว้าง เมื่อฟอลคอนกลายเป็นตัวละครในซีรีส์เรื่อง บุพเพสันนิวาส ซึ่งออกอากาศเมื่อ พ.ศ. 2561 แต่น้อยคนนักจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับบ้านที่ลพบุรีของเขา

“บ้านวิชาเยนทร์” แม้จะเหลือเพียงซากปรัก แต่ก็เป็นสถานที่ที่ชวนให้เราคิดจินตนาการถึงชีวิตช่วงสุดท้ายของขุนนางคนสนิทของสมเด็จพระนารายณ์ผู้นี้ โชคชะตาอันแสนโลดโผนของเขาที่รุ่งโรจน์ถึงขีดสุด แต่สุดท้ายกลับพลิกผันดิ่งลงชั่วข้ามคืน สอดคล้องสัมพันธ์กับการเติบโตและล่มสลายของบ้านหลังนี้อย่างแยกไม่ออก

การขุดค้นทางโบราณคดีและการศึกษารูปแบบสันนิษฐานในอดีตของเคหสถานบ้านฟอลคอน ไม่เพียงเปิดเผยหลักฐานที่ไม่มีใครรู้มาก่อนแต่ยังช่วยฉายภาพบั้นปลายชีวิตของผู้เป็นเจ้าของซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวระทึกใจ ไม่ต่างจากชมภาพยนตร์ดรามาเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

**************************

แดดบ่ายของฤดูร้อนสาดลงบนซากอิฐปูนเกิดเป็นแสงสะท้อนจ้า โบสถ์น้อยหลังหนึ่งตั้งอยู่ใกล้ต้นโพธิ์ที่แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นเงาครึ้ม ยามลมพัด ได้ยินใบไม้กิ่งไม้กระทบกัน สลับกับเสียงเดินฉับๆ ของคนดูแลสถานที่ ซึ่งกำลังถอนวัชพืชที่ขึ้นเกาะตามผนัง ผมยืนปาดเหงื่อที่กำลังไหลเข้าตา เป็นอีกวันหนึ่งในช่วงหลายปีที่ผมมาทำความเข้าใจร่องรอยของฟอลคอน ณ โบราณสถานบ้านวิชาเยนทร์

ภาพสีน้ำมันแสดงเหตุการณ์การเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์จากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จำรัส เกียรติก้อง วาดภาพนี้ใน พ.ศ. 2509 โดยใช้ต้นฉบับจากภาพพิมพ์ของฌอง-บัปติสต์ โนแลง ภาพพอร์เทรตแสดงรูปร่างหน้าตาของฟอลคอนชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยเห็นกันมา

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมกับทีมงานเข้ามาเกี่ยวข้องกับบ้านวิชาเยนทร์นี้ออกจะเป็นเรื่องจับพลัดจับผลู ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2559 กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี เป็นต้นเรื่องให้มีการสันนิษฐานสภาพในอดีตของบ้านวิชาเยนทร์ จึงติดต่อมายังภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรที่ผมสังกัดอยู่ และด้วยความเข้าใจกันว่า บ้านวิชาเยนทร์มีลักษณะเป็น “ฝรั่งตะวันตก” ภาควิชาเห็นว่าผมมีความสนใจสถาปัตยกรรมตะวันตกในไทยอยู่บ้าง จึงมอบหมายงานนี้ให้ แม้ความรู้เกี่ยวกับอยุธยาและฟอลคอนของผมยังอ่อนด้วยนักในตอนนั้น

ความทรงจำเพียงอย่างสองอย่างที่ผมพอจะนึกได้ เมื่อครั้งที่ครูบาอาจารย์เคยพามาทัศนศึกษาสมัยเรียนมหาวิทยาลัย นั่นคือโบราณสถานแห่งนี้มีอาคารชั้นใต้ดินที่ว่ากันว่าสร้างไว้เพื่อเก็บไวน์ ส่วนอีกหลังหนึ่งเป็นอาคาร ขนาดย่อมหน้าตาประหลาด ความที่ยังไม่พบหลักฐานมากนัก ในตอนนั้นจึงเชื่อกันว่าเป็นโรงอบขนมปัง และไม่น่าแปลกใจ ที่ผมมักได้ยินคำกล่าวทำนองว่า “อีตาฟอลคอนแกเป็นฝรั่งตาน้ำข้าว ข้าวไม่กิน กินขนมปัง”

แม่น้ำลพบุรี (ซ้าย) ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสัก (ขวา) ที่ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำทั้งสองสายนี้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่สมเด็จพระนารายณ์ ขุนนางต่างๆ และข้าราชบริพารใช้เดินทางไปยังวังนารายณ์

อันที่จริงหนังสือจำพวกชีวประวัติและการเมืองสมัยพระนารายณ์นั้นมีอยู่ค่อนข้างมาก เล่มหนึ่งที่จะพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงก็คือ การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ ของ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ แต่ที่เกี่ยวกับบ้านวิชาเยนทร์โดยเฉพาะนั้นมีอยู่ไม่ถึงเล่ม ส่วนใหญ่จะเป็นบทความสั้นๆ แทรกอยู่ในงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาเรื่องอื่นที่ใหญ่โตกว่า อีกประเภทหนึ่งเป็นรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งดำเนินมาหลายครั้ง แต่หนังสือหรือบทความที่ “อ่านชีวิตผ่านบ้าน” หรือ “อ่านบ้านผ่านชีวิต” โดยเฉพาะชีวิตทางการเมืองของฟอลคอนนั้น ผมยังไม่เคยเห็น

ฟอลคอนคือใคร

ฟอลคอนเกิดในหมู่บ้านเล็กๆ บนเกาะเซฟาโลเนียทางตะวันตกของกรีซ ข้อมูลบางแหล่งอ้างว่า บรรพบุรุษฝ่ายแม่ของเขาเคยเป็นผู้ปกครองนครเวนิส บางแหล่งบอกว่า เขาเป็นลูกเจ้าของร้านเหล้า ขณะที่บาทหลวงเดอแบซ (de Bèze) ซึ่งรู้จักมักคุ้นกับฟอลคอนค่อนข้างดี เขียนเล่าไว้ใน บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตและการตายของฟอลคอน ว่า ฟอลคอนมีความทะเยอทะยานอยากจะรวยกว่าพ่อตั้งแต่ยังเด็ก และลึกๆแล้วเขาไม่ค่อยชอบพ่อนัก เพราะชอบบังคับเคี่ยวเข็ญเจ้ากี้เจ้าการให้ทำนั่นทำนี่ เป็นเหตุให้ฟอลคอนตัดสินใจออกจากบ้านตั้งแต่อายุเพียง 10 กว่าปี

ก่อนเดินทางมาอยุธยา เขาเคยทำงานกับบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษ (East India Company) กระทั่ง พ.ศ. 2218 (ค.ศ. 1675) จึงเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา และมีโอกาสทำงานกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) หรือพระคลังในขณะนั้น โดยทำหน้าที่ช่วยติดต่อด้านการค้าขาย ต่อมาใน พ.ศ. 2224 (ค.ศ. 1681) ฟอลคอนจึงได้รับการสนับสนุนจากโกษาเหล็กให้รับราชการในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ จากจุดนั้นเองที่ทำให้เขาไต่เต้าขึ้นสู่อำนาจอย่างรวดเร็ว

ออกจะเป็นเรื่องเหลือเชื่ออยู่ที่จู่ๆ ชาวกรีกโพ้นทะเลคนหนึ่งจะเลื่อนขั้นขึ้นเป็นขุนนางคนสนิทของกษัตริย์อยุธยาได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี เป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากความสามารถ ไหวพริบ ปฏิภาณ และประสบการณ์อันโชกโชนที่เขาเก็บเกี่ยวจากการเดินทางและการค้าขายยังดินแดนต่างๆ แต่หากมองจากเงื่อนไขปัจจัยที่มากไปกว่าความสามารถส่วนตน ก็ต้องบอกว่าฟอลคอนก้าวขึ้นมามีสถานะสูงในราชสำนักอยุธยาได้ ส่วนหนึ่งเพราะกระแสการเมืองที่พัดพาชาวยุโรปให้เข้ามารับราชการแทนชาวเปอร์เซีย อันเป็นขุนนางต่างด้าวกลุ่มเดิมที่ครองอิทธิพลในราชสำนักอยุธยามาอย่างยาวนาน

ภาพสีนํ้ามันแสดงเหตุการณ์การเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์จากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จำรัส เกียรติก้อง วาดภาพนี้ใน พ.ศ. 2509 โดยใช้ต้นฉบับจากภาพพิมพ์ของฌอง-บัปติสต์ โนแลง

เป็นที่เข้าใจคลาดเคลื่อนกันมาโดยตลอดว่า การเข้ามามีอิทธิพลของฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น เป็นไปตามนโยบายของสมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงต้องการดึงฝรั่งเศสเข้ามาถ่วงดุลอำนาจกับฮอลันดา อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักประวัติศาสตร์คนแรกที่โต้แย้งว่า การวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบอย่างผิดฝาผิดตัวตรงที่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองของสมเด็จพระนารายณ์นั้นมีลักษณะใกล้เคียงกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญกับลัทธิจักรวรรดินิยม

โดยชี้ให้เห็นว่าในศตวรรษที่สิบเจ็ดนั้น ไม่เพียงลัทธิจักรวรรดินิยมยังไม่ถือกำเนิด แต่อยุธยายังหาได้เป็นรัฐประชาชาติที่จำเป็นต้องปกป้อง “เอกราช” ของตนเองอย่างใดไม่ สาเหตุที่แท้จริงนั้นอาจารย์นิธิวิเคราะห์ไว้น่าฟังว่าการที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝรั่งเศส ก็เพราะทรงต้องการใช้ฝรั่งเศสเป็นฐานกำลังสำหรับ รับมือกับการเมืองภายในมากกว่าเหตุผลอื่

การเมืองในราชสำนัก

อาจารย์นิธิแบ่งขุนนางในราชสำนักอยุธยาออกเป็นสองประเภท คือ “ขุนนางฝ่ายปกครอง” มีหน้าที่คุมไพร่ และ “ขุนนางฝ่ายชำนัญการ” ซึ่งโดยมากเป็นชาวต่างชาติ มีหน้าที่เฉพาะอย่าง เช่น ทหาร พราหมณ์ ช่างฝีมือ และขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น จุดอ่อนที่สุดของระบบการเมืองของอยุธยาคือความไม่แน่นอนของการสืบราชสมบัติ เมื่อถึงเวลาใกล้จะผลัดแผ่นดิน ขุนนางฝ่ายปกครองจึงมักเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองไว้เพื่อความมั่นคงของตนเอง สมการทางการเมืองเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรเป็นต้นมา

กระทั่งถึงสมัยพระเจ้าปราสาททองได้เกิดสมการใหม่ คือมีการริเริ่มใช้ขุนนางฝ่ายชำนัญการเข้ามาเป็นตัวแปร ที่มีความหมายต่อการสืบราชสมบัติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นพระราชบิดาของ สมเด็จพระนารายณ์ ทรงดำเนินนโยบายทางการเมืองดังกล่าวด้วยการลิดรอนอำนาจขุนนางฝ่ายปกครอง ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนให้ชาวต่างชาติเข้ามารับราชการในฝ่ายชำนัญการมากขึ้นเรื่อยๆ จนฝ่ายหลังสามารถขยายอิทธิพลเข้าไปควบคุมฝ่ายปกครองได้ในที่สุด

ลอมพอกหรือหมวกสำหรับขุนนางไทยที่นิยมใช้ในสมัยสมเด็จพระนารายรณ์ ทำด้วยผ้าสีขาวที่พันพับเป็นยอดแหลมอย่างประณีต ขอบลอมพอกเป็นเครื่องบอกยศขุนนางผู้สวมใส่ สันนิษฐานว่าได้รูปแบบจากผ้าโพกศีรษะของชาวเปอร์เซียผนานกับชฎาไทย คณะราชทูตสยามไปฝรั่งเศสก็สวมลอมพอกเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

ฉะนั้น การดึงขุนนางต่างชาติมาเป็นฐานอำนาจทางการเมืองในสมัยสมเด็จพระนารยณ์ ไม่ว่าจะในนามของความก้าวหน้าทางวิทยาการหรือเหตุผลใด จึงไม่ใช่ “ของใหม่” หากแต่เป็นนโยบายทางการเมืองที่สืบเนื่องมาแต่สมัยพระราชบิดา ตัวแปรที่แตกต่างกันคือ กลุ่มขุนนางต่างด้าวที่เข้ามาเป็นพันธมิตรการเมืองของกษัตริย์นั้น อาจเปลี่ยนโฉมหน้าไปตามเงื่อนไขและสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย

ขุนนางต่างชาติในสมัยสมเด็จพระนารายณ์จึงมีทั้งมอญ ปัตตานี โปรตุเกส ฮอลันดา และญี่ปุ่น รวมถึงมุสลิมกลุ่ม ต่าง ๆ เช่น มลายู ตาด จาม แต่สำคัญที่สุดคือพวกมัวร์จากเปอร์เซีย ซึ่งเป็นกลุ่มต่างด้าวชาวอิหร่านที่มีอำนาจมากในช่วงก่อนการเข้ามามีบทบาทในราชสำนักอยุธยาของฟอลคอน

จากเอกสารการติดต่อค้าขายของชาวเปอร์เซีย มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระนารายณ์ทรงไปมาหาสู่กับชุมชนชาวอิหร่านในกรุงศรีอยุธยาเสมอ ทรงคุ้นเคยในขนบธรรมเนียมการแต่งกายของชาวอิหร่าน ดังที่นิโกลา เดอ ลาร์แมสแซง ที่สอง เคยวาดภาพพระองค์ทรงโพกผ้าแบบแขก

แต่ที่สำคัญคือ ในการโค่นล้มพระศรีสุธรรมราชา (พระปิตุลาที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเคยร่วมมือเพื่อขจัดเจ้าฟ้าไชยที่สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าปราสาททองมาก่อน) พระองค์ทรงได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากชาวอิหร่านจนสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ หลังจากทรงขึ้นครองราชย์แล้ว สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงส่งเสริมให้ชาวอิหร่านรับราชการ บทบาทของขุนนางเหล่านี้ ได้แก่การดูแลการค้าฝั่งตะวันตกและการต่างประเทศ จนสามารถผูกขาดการค้าในภูมิภาคอ่าวเบงกอลไว้ได้ทั้งหมด

จากนักเดินเรือสู่ขุนนางคนสนิท

สันนิษฐานว่าฟอลคอนน่าจะเข้าทํางานกับโกษาเหล็กเมื่อ พ.ศ. 2220 (ค.ศ. 1677) เป็นอย่างช้า และต่อมามีโอกาสแสดงความสามารถจนได้รับการอวยยศ ตั้งแต่การอาสานำช่างไม้ของบริษัทอีสต์อินเดียมาตั้งเสาพระเมรุกลางเมือง หรืออาสานําคณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีและการค้ายังเปอร์เซียแทนพวกมัวร์ที่ทำหน้าที่มาแต่เดิม โดยไม่เพียงสำเร็จลุล่วง แต่ยังได้กําไรจากการค้ามากกว่าที่พวกมัวร์เคยทำถึงสองเท่า แต่เหตุการณ์ที่ดูจะนําความดีความชอบมาสู่ฟอลคอนได้มากที่สุด จนได้รับพระราชทานยศขึ้นเป็นออกหลวงคือการเปิดเผย “เล่ห์กล” ของพวกแขกให้เป็นที่ประจักษ์

“ลับลมคมใน” ในบ้านวิชาเยนทร์ (ขวา) และบ้านหลวงรับราชทูต (ซ้าย) การที่อาคารทั้งสองตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันย่อมมีนัยสำคัญแสดงถึงอำนาจของฟอลคอน ผู้เป็นขุนนางคนสนิทของสมเด็จพระนารายณ์ แต่อำนาจและบทบาทดังกล่าวเป็นสาเหตุของความหวาดระแวงและความขัดแย้งที่ตามมา

ในราวปลายคริสต์ทศวรรษ 1670 อันเป็นช่วงที่ฟอลคอนทําหน้าที่เป็นสมุหบัญชีอยู่ในกรมพระคลังสินค้า ฟอลคอนได้รับมอบหมายให้สอบทานบัญชีที่พระคลังตกเป็น “หนี้” พวกแขก แต่เขากลับสามารถพิสูจน์ได้ว่า แท้จริงแล้วพระคลังมิเพียงไม่ได้เป็นหนี้ ทว่าเป็นพวกแขกต่างหากที่เป็นฝ่าย “เบียดบังพระราชทรัพย์” ทั้งยังเรียกเงินคืนจากกลุ่มขุนนางที่ทรงอิทธิพลกลุ่มนี้ได้เป็นอันมากอีกด้วย

ในช่วงที่ฟอลคอนกําลังเป็นที่กล่าวขวัญนี้ ประชาคมชาวมัวร์กลับแตกคอกันเอง และในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็มีข่าวรั่วไหลว่าพวกแขกมัวร์วางแผนประทุษร้ายสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งกลุ่มชาวมลายูที่พิษณุโลกก็ก่อกบฏ และเมื่อผู้นำของขุนนางเปอร์เซียกลุ่มนี้ถูกปลดจากตำแหน่ง ทั้งประชาคมก็เกิดความระส่ำระสาย

ฉะนั้นเพื่อเป็นการรักษาสมดุลอํานาจตามพระราโชบายทางการเมือง สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงต้องแสวงหา ชาวต่างด้าวกลุ่มใหม่เข้ามาแทนพวกมัวร์จากเปอร์เซีย ซึ่งในบรรดาชุมชนต่างชาติในกรุงศรีอยุธยา ประชาคมชาวคริสต์ อันมีฝรั่งเศสเป็นแกนกลางดูจะเหมาะสมที่สุด และบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำก็ไม่มีใครมีคุณสมบัติเพียบพร้อมยิ่งไปกว่าฟอลคอน กระแสความเป็นไปการเมืองเช่นนี้เองถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดจุดหนึ่งในรัชสมัย

สำหรับสมเด็จพระนารายณ์ ฝรั่งเศสภายใต้การนำของฟอลคอนคือแนวร่วมทางการเมืองกลุ่มใหม่ที่ทรง มุ่งหวังให้แทนที่พวกอิหร่าน สำหรับฝรั่งเศส อยุธยาคือฐานที่มั่นสำหรับการเผยแผ่คริสตศาสนาให้ไพศาล และเป็นหนึ่ง ในเมืองท่าสำคัญบนเส้นทางการค้าในภูมิภาคอ่าวเบงกอลที่ราชสำนักฝรั่งเศสต้องการขยายอำนาจไปถึง สำหรับฟอลคอน ฐานะผู้นำประชาคมชาวต่างด้าวที่เขาได้รับ คือเส้นทางสู่อำนาจและลาภยศที่เขาใฝ่ฝันนับแต่วันที่ออกจากบ้าน ผลประโยชน์เหล่านี้แม้จะแตกต่างกัน แต่ก็มีจุดร่วมเดียวกัน คือการต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ด้วยเงื่อนไขด้งกล่าว จึงเปิดโอกาสให้ฟอลคอนก้าวหน้าทางราชการจนสามารถขึ้นแท่นเป็นขุนนางคนสนิทของสมเด็จพระนารายณ์ได้ในที่สุด

ช่วง พ.ศ. 2557 เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรขุดสำรวจพื้นที่เอกชนตรงข้ามวัดสันเปาโล พบฐานอิฐและโครงกระดูกมนุษย์ จนทำให้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดว่าอาจเป็นของพระปีย์ โอรสบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์และของฟอลคอน แต่พิสูจน์ทราบภายหลังว่าน่าจะเป็นโครงกระดูกยุคก่อนประวัติศาสตร์

หากฟอลคอนก้าวขึ้นสู่อำนาจในราชสำนักด้วยการพิสูจน์ตนเองว่าสูงเด่นเป็นประโยชน์กว่าขุนนางชาวอิหร่านฉันใด บ้านวิชาเยนทร์ซึ่งเป็นบ้านที่สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานให้แก่ฟอลคอนใช้พักอาศัยช่วงที่ติดตามพระองค์มาลพบุรีก็เป็นหลักฐานชั้นดีที่สะท้อนให้เห็นความเหนือกว่าฉันนั้น

วาระสุดท้ายแห่งชีวิต

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของฟอลคอนนั้น แม้จะเป็นไปตามพระราโชบายทางการเมืองของสมเด็จพระนารายณ์ แต่ก็สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นแก่คนจำนวนมาก นโยบายผูกขาดการค้าของพระคลังที่ฟอลคอนเป็นผู้ควบคุม แม้จะทำรายได้ให้ราชสำนักเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็ทำให้การค้าภายในต้องประสบปัญหาจนสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านทั่วไป ซ้ำการเอาใจฝรั่งเศสด้านการค้าอย่างออกนอกหน้า ยังทำให้บริษัทอังกฤษและฮอลันดาไม่พอใจ จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตกต่ำลง

ยังไม่นับด้วยว่าการสนับสนุนบาทหลวงคริสเตียนให้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ก่อให้เกิดความเกลียดชังในหมู่พระสงฆ์ ถึงขั้นกล่าวหาว่าฟอลคอนเป็นตัวการสำคัญที่นำพาให้สมเด็จพระนารายณ์ละทิ้งศาสนาพุทธ ผลจากการกระทำเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้เสียผลประโยชน์โกรธเกลียดไม่พอใจเขา

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งประชวรด้วยโรคไอหืดเรื้อรังมาสี่ห้าปีมีพระอาการเพียบหนัก จนหวั่นเกรงกันว่าพระองค์อาจเสด็จสวรรคต ฝ่ายการเมืองขั้วต่างๆ ในราชสำนักจึงเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อช่วงชิงจังหวะได้เปรียบในการดำรงอำนาจ กระทั่งเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 (ค.ศ. 1688) ออกพระเพทราชาและแนวร่วม ก็ลุกขึ้นจับอาวุธปฏิวัติโค่นล้มอำนาจสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็นครั้งแรกที่พระสังฆราช พระสงฆ์ และประชาชน พร้อมใจกันเป็นแนวร่วมในการปฏิวัติ แตกต่างไปจากการยึดอำนาจในครั้งก่อนๆ ที่เป็นการรัฐประหารโดยเจ้านายและขุนนาง

“ลับลมคมใน” ในบ้านวิชาเยนทร์ (ขวา) และบ้านหลวงรับราชทูต (ซ้าย) การที่อาคารทั้งสองตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันย่อมมีนัยสำคัญแสดงถึงอำนาจของฟอลคอน ผู้เป็นขุนนางคนสนิทของสมเด็จพระนารายณ์ แต่อำนาจและบทบาทดังกล่าวเป็นสาเหตุของความหวาดระแวงและความขัดแย้งที่ตามมา

ฟอลคอนถูกจับและนำตัวไปประหารนอกประตูเมืองลพบุรีที่ปากทางเข้าป่าแห่งหนึ่งในวันที่ 5 มิถุนายน หรือไม่กี่สัปดาห์ถัดมา คำอนุญาตประการเดียวที่เขาได้รับเป็นครั้งสุดท้ายคือ หากต้องการสั่งเสียสิ่งใดถึงครอบครัวหรือทรัพย์สินก็ให้แจ้งแก่ขุนนางที่นำตัวไปนั้น บาทหลวงเดอแบซผู้สนิทสนมกับฟอลคอนได้บันทึกถึงภาพเหตุการณ์วาระสุดท้าย โดยอ้างถึงคำบอกเล่าจากขุนนางผู้ที่รับคำสั่งให้นำฟอลคอนไปประหารนั้นว่า

เมื่อ มร.ก็องสตังซ์ไปถึง ณ ที่นั้นแล้วก็คุกเข่าลงสวดมนต์อ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าอยู่พักใหญ่ เขาบอกว่าเขาขอประกาศคำมั่นอย่างเปิดเผยต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า ก่อนที่เขาจะได้ไปเฝ้าพระองค์ว่า เขาได้ตายอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากมลทินโทษดังข้อกล่าวหาของพระเพทราชา เขาได้กระทำการทุกสิ่งไปก็เพื่อพระเกียรติคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว…

ถึงที่สุดแล้วฟอลคอนร้องขอให้ไว้ชีวิตภรรยาและบุตรชาย และฝากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับเครื่องรางที่เขาสวมติดตัวประจำไปให้แก่บุตรชาย “ครั้นแล้วก็ยื่นคอให้แขนลายผู้เป็นเพชฌฆาตลงดาบและผ่าท้อง อันเป็นวิธีการธรรมดาที่ปฏิบัติแก่ผู้ต้องระวางโทษให้ตัดหัวโดยทั่วๆไป” เป็นอันปิดฉากชีวิตอันมีสีสันของฟอลคอนอย่างเศร้าสลดหดหู่ พร้อมกันนั้น บ้านวิชาเยนทร์ที่เคยคึกคักมีชีวิตชีวานับแต่วันที่ฟอลคอนย้ายเข้ามาพักอาศัยจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ก็ถึงคราวเงียบงัน ผ่านกาลเวลายาวนานกว่าสามร้อยปี กลายเป็นซากโบราณสถานและสถานที่ท่องเที่ยวในทุกวันนี้

(บรรยายภาพประกอบเสลี่ยง)

1. นายพลเดฟาร์จ
นายพลผู้นำกองทหารฝรั่งเศสเข้ามาประจำการในอยุธยาในห้วงเวลาแห่งขัดแย้งภายในราชสำนักที่กำลังเริ่มก่อตัว จนนำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2231 ตามบันทึกยังระบุถึงเดฟาร์จว่ามีความไม่ลงรอยกับฟอลคอนอยู่เนืองๆ2.

2. บาทหลวงตาชาร์
มิชชันนารีคณะเยซูอิตผู้เดินทางเข้ามายังอยุธยาถึงสามครั้งและบันทึกถึงเรื่องราวต่างๆในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยเฉพาะในช่วงที่ฟอลคอนกำลังมีอำนาจในราชสำนัก

3. เจ้าพระยาวิชาเยนทร์
หรือฟอลคอน นักแสวงโชคชาวกรีกผู้เข้ามายังอยุธยาพร้อมกับความทะเยอทะยาน กระแสการเมืองที่กำลังเปลี่ยนไปในขณะนั้นเปิดโอกาสให้เขาไต่เต้าขึ้นเป็นขุนนางคนสนิทของสมเด็จพระนารายณ์อย่างรวดเร็ว แต่การเข้ามามีบทบาทสำคัญเช่นนี้ก็สร้างศัตรูและความขัดแย้งที่นำเขาไปสู่จุดจบในเวลาอันสั้นเช่นกัน

4. บ้านวิชาเยนทร์
เรือนแบบตึก สถาปัตยกรรมผสมรูปแบบอินโด-เปอร์เซีย สันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นบ้านพ่อค้าเปอร์เซียก่อนจะมาเป็นเคหสถานของฟอลคอน

5. บ้านหลวงรับราชทูต
หมู่อาคารแบบตะวันตก ที่ฟอลคอนเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างเพื่อใช้เป็นที่รองรับราชทูตและเหล่ามิชชันนารีที่มาเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระนารายณ์ที่ลพบุรี

6. เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
หรือ “โกษาปาน” ขุนนางผู้เป็นหนึ่งในคณะทูตคราวเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ต่อมาเป็นผู้มีบทบาทสนับสนุนพระเพทราชาในการขับไล่กองทัพฝรั่งเศสออกจากอยุธยาในห้วงเวลาการรัฐประหาร

7. พระเพทราชา
ขุนนางระดับเจ้ากรมพระคชบาลผู้มีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่นำจุดจบมาสู่ฟอลคอน ต่อมาสถาปนาตนเองขึ้นเป็นสมเด็จพระเพทราชาปฐมกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

เรื่อง พินัย สิริเกียรติกุล

ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ภาพประกอบ พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน

ติดตามสารคดี บ้านวิชาเยนทร์ ก่อนวาระสุดท้ายของฟอลคอน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/557158


อ่านเพิ่มเติม โบราณคดีที่ ปางมะผ้า จ. แม่ฮ่องสอนคลี่คลายความลับจากบรรพกาล 32,000 ปี

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.