60 ปีแห่งการรักษาสัญญา: ลูกสาวตามหาพ่อที่ตายใน สงครามโลก ผ่านจดหมายรักพ่อ-แม่

พ่อของชารอน เอสตีล เทย์เลอร์ ถูกยิงเสียชีวิตในเยอรมนีขณะที่เธอมีอายุได้เพียงสามสัปดาห์ เธออุทิศตัวกว่าทศวรรษเพื่อตามหาพ่อบังเกิดเกล้า

เอสตีล เทย์เลอร์ พ่อของชารอนเป็นนักบินรบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เขาได้แลกเปลี่ยนจดหมายกับแมรี่ ภรรยาของเขา ตั้งแต่ทั้งสองเป็นคู่รักมัธยมปลายด้วยกัน ก่อนถูกยิงในเดือนเมษายน 1945 ขณะนั้นภรรยาของเขาเพิ่งให้กำเนิดลูกสาวได้เพียง 3 สัปดาห์ เด็กหญิงตัวน้อยคนนี้จึงไม่มีความทรงจำใดร่วมกับพ่อของเธอเลย

สงครามในยุโรปสิ้นสุดลงยังไม่ครบหนึ่งเดือนดี ณ เมืองซีดาร์แรพิดส์ รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ได้มีการจัดพิธีเล็ก ๆ ประกาศว่าตระกูลเอสตีลได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง แชนนอนถูกตัดสินว่าเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ ทว่า ไม่มีใครพบศพและนำกลับมาฝัง ไม่มีแม้แต่การอธิบายความจริงว่า เรืออากาศโทแชนนอน เอสตีลได้กระโดดร่มหนีจากเครื่องบินขับไล่ P38J Lightning ก่อนที่ปืนต่อสู้ยานอากาศของศัตรูจะยิงทำลายหรือไม่

รูปคู่ของแชนนอน เอสตีล กับ แมรี่ เทย์เลอร์ เอสตีล ในพิธีวิวาห์เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1943 ในรัฐเท็กซัส ขณะนั้นเอสตีลกำลังฝึกเป็นนักบินกองทัพอากาศ ภาพถ่าย Courtesy of the National WWII Museum

ชารอนในวัยเจ็ดขวบนั่งจิบช็อกโกแลตมอลต์อยู่ที่เคาน์เตอร์โซดา ขณะที่ย่าของเธอพูดถึงพ่อที่ตายในสนามรบ ความคิดถึงลูกชายที่จากไปไม่มีวันกลับทำให้นัยน์ตาของย่าเต็มไปด้วยน้ำตา ในวันนั้นชารอนให้สัญญากับย่าของเธอว่า “ไม่เป็นไรนะย่า หนูจะตามหาและพาพ่อกลับบ้านเอง”

หกสิบปีต่อมา เธอยังคงรักษาสัญญาที่ให้ไว้ เธอรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ จากจดหมายของพ่อแม่ รวมถึงได้รับการช่วยเหลือจากนักประวัติศาสตร์ทางการทหาร พยานผู้เห็นเหตุการณ์ และทีมขุดค้น และในที่สุด เมื่อปี 2006 เธอนำพ่อกลับบ้านได้สำเร็จ

ตอนนี้ พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 แห่งชาติ ในเมืองนิวออร์ลีนส์ ได้จัดการแสดงแสง สี เสียงเสมือนจริงขึ้นเป็นครั้งแรกเนื่องในวันทหารผ่านศึก ชารอน เอสตีล เทย์เลอร์ได้นำประสบการณ์จริงจากพ่อและแม่ของเธอ และเรื่องราวของเหล่าผู้เสียชีวิตในสงคราม รวมถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิตมาบอกเล่าให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ภายในงานนี้ด้วย

โตมากับคำว่า ลูกไม่มีพ่อ

“ฉันโตมากับแม่ที่เศร้าโศกเสียใจ และปู่ย่าที่ตรมตรอม” ชารอนกล่าว ชารอนไม่ยอมให้ใครทิ้งชุดโต๊ะขนาดพิเศษของพ่อ แม้แม่เธอจะแต่งงานใหม่ หรือหากคนเก็บขยะมาเก็บ เธอก็จะบอกว่าเป็นโต๊ะของพ่อผู้สละชีวิตในสงคราม

วันหนึ่ง คุณย่ามอบกล่องสีเงินกล่องหนึ่งให้แก่ชารอน ข้างในพบจดหมายกว่า 450 ฉบับ เมื่อเปิดดูก็รู้ว่าเป็นจดหมายของพ่อกับแม่ที่เขียนจีบกันตั้งแต่ทั้งคู่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย พ่อเข้าฝึกการบิน จนปฏิบัติหน้าที่ในฤดูใบไม้ร่วง ปี 1944 รวมถึงจดหมายที่ยังไม่ได้เปิดอ่านจากแม่ชารอนที่เขียนหลังจากสามีหายตัวไป

ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นช่วงที่ลูกๆของชารอนโตแล้ว เธอจึงใช้เวลาช่วงฤดูร้อนหนึ่ง ถอดความในกระดาษจดหมายกว่า 3,000 หน้า เพื่อทำความรู้จักพ่อ แชนนอนชอบเล่นมุก วาดรูปสเก็ต และชอบบอกรักภรรยา เขาเขียนถ้อยคำเหล่านี้ในเดือนมีนาคม 1944 ว่า “ผมชอบมากเวลาได้จดหมายจากคุณ มันน่ารักมาก น่ารักเหมือนคุณไงที่รัก คุณอยู่ในใจผมตลอดแหละ จดหมายพวกนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าคุณอยู่ข้าง ๆ ”

จดหมายหน้าแรกที่แมรี่ เทย์เลอร์เขียนให้แชนนอน เอสตีลไม่กี่เดือนก่อนพิธีวิวาห์ และหลังจากที่เขาย้ายจากรัฐไอโอวาไปรัฐเท็กซัสไม่นาน เพื่อเข้ารับการฝึกปฏิบัติพื้นฐาน ภาพถ่าย Courtesy of the National WWII Museum

อย่างไรก็ตาม บางครั้งเขากล่าวถึงความโหดร้ายของสงครามว่า “รู้สึกขอบคุณเหลือเกินที่คุณอยู่ในอเมริกา ไม่ต้องมาอยู่ในยุโรปที่เต็มไปด้วยอันตราย ทุกอย่างขาดแคลนไปหมด” บางครั้งเขาก็มองเห็นความสำคัญของสงครามว่า “สิ่งที่ผมกำลังต่อสู้อยู่ถูกและดีที่สุด”

แชนนอนกังวลว่าแมรี่อาจคลอดลูกโดยที่ไม่มีเขาอยู่เคียงข้าง เขาจึงไปถามหาความรู้บางอย่างจากหมอทหารเพื่อความแน่ใจ และเขียนบอกเธอผ่านจดหมายวันที่ 2 มีนาคม 1945 เขาวาดขั้นตอนการเปลี่ยนผ้าอ้อมด้วยแผนภาพในจดหมาย และยังบอกอีกว่า “ทุกคนในหน่วย 428 กังวลเรื่องลูกของเราที่กำลังจะเกิด”

หลังจากชารอนเกิดมาไม่กี่อาทิตย์ แชนนอนเขียนจดหมายส่งถึง “นางฟ้าตัวน้อย” เขาบอกว่าเหลือภารกิจบินอีกหนึ่งภารกิจก่อนลางานกลับบ้าน และได้แขวนรองเท้าเด็กอ่อนคู่หนึ่งไว้กับหมวกนักบิน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี

เรืออากาศโท แชนนอน เอสตีล คลุมตัวด้วยเสื้อไฟลท์แจ็คเก็ต A-2 ขณะประจำการในต่างประเทศ ภาพถ่าย Courtesy of the National WWII Museum

เกิดอะไรขึ้นกับพ่อของชารอน

ชารอนใช้ข้อความในจดหมายผ่านบทกวี มุมมอง และความฉลาดรอบรู้ของพ่อ ปะติดปะต่อเรื่องจนสามารถไขความจริงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างภารกิจสุดท้ายของแชนนอนได้

การไปหาข้อมูลต่อที่หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress) และหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Archives) ทำให้ชารอนรู้ว่าวันที่ 13 เมษายน 1945 พ่อของเธอขับเครื่องบินขึ้นไปพร้อมกับนักบินรบอีก 10 นาย มุ่งโจมตีสถานีรถไฟแห่งหนึ่งและทำลายเส้นทางขนส่งเสบียง นาซี นอกจากนี้เธอยังพบหลักฐานยืนยันว่าเครื่องบินของพ่ออาจตกใกล้กับเมืองเอลส์นิช ในเยอรมนีตะวันออก

การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ในปี 1989 ทำให้ชารอนมีโอกาสไปเยือนสถานที่ที่เครื่องบินของพ่อตก ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นเขตแดนฝั่งสหภาพโซเวียต ชารอนได้พบกับ ฮันส์ กืนเทอร์ โพลเอ็ส นักประวัติศาสตร์การบินทางทหารชาวเยอรมัน ฮันส์ยินดีให้ความช่วยเหลือชารอนตามหาอากาศยานและร่างของผู้เสียชีวิตในสงคราม

แมรี่ เอสตีลได้รับโทรเลขแจ้งว่าสามีสูญหายในการปฏิบัติหน้าที่และในอีกหกเดือนต่อมาก็ได้รับโทรเลขแจ้งว่าสามีของเธอเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ โดยขาดหลักฐานยืนยันตัวตน ภาพถ่าย Courtesy of the National WWII Museum

ฮันส์ได้ลองทุกวิธีการในการค้นหา จนกระทั่งในปี 2003 เขาพบแผ่นข้อมูลเครื่องบินของแชนนอนพร้อมกับเศษกระดูกในละแวกใกล้เคียง อดีตผู้บริหารสำนักงานค้นหาเชลยศึกและผู้สูญหายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Department of Defense POW/MIA Accounting Agency –DPAA) ส่งทีมขุดค้นหามาช่วยเหลือ

ในปี 2005 มีการขุดค้นหาตลอดสามสัปดาห์ ชารอนกล่าวว่า ตั้งแต่ที่เธอก้าวเท้าเข้ามา ณ สถานที่แห่งนี้ เธอรู้สึกได้ว่าพ่อของเธออยู่ที่นี่ และภายหลังนำเศษกระดูกไปตรวจสอบพบว่ามีดีเอ็นเอตรงกับเรืออากาศโทแชนนอน เอสตีล

วันที่อากาศดีวันหนึ่งในเดือนตุลาคม ปี 2006 ชารอนและครอบครัวของเธอได้นำเศษซากร่างของพ่อมาฝังไว้ที่สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน เธอได้ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับย่าแล้ว โดยภารกิจนี้ทำให้ชารอนรู้จักพ่อของเธอมากขึ้น

“ฉันอยากรู้ความจริง” ชารอนกล่าว “ฉันไม่อยากให้ใครลืมเรื่องราวและสิ่งที่พ่อได้ทำไว้ ”

ชารอนยังเก็บสำเนาจดหมายของพ่อและแม่ไว้ในบ้านที่สกอตส์เดล รัฐแอริโซนา และให้ลูกทั้ง 4 และหลานอีก 10 คนได้เห็นประจักษ์ และในวันเกิดพ่อของเธอทุกปี เธอจะเขียนจดหมายฉบับหนึ่งให้เขา

เอสตีลเขียนจดหมายรักให้ภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ ในเดือนมีนาคม 1945 ในจดหมายมีภาพสเก็ตช์บอกวิธีใส่ผ้าอ้อมเด็ก พร้อมกับข้อความหวาน ๆ ปิดท้าย “ผมรักคุณสุด ๆ ไปเลยนะ มากเสียจนอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้เลย” แต่เขาไม่มีโอกาสได้พบชารอน ลูกสาวคนเดียวของเขา เพราะเขาเสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจสุดท้าย ภาพถ่าย Courtesy of the National WWII Museum

เธอตระหนักได้ว่าเธอไม่ได้ตามหาความจริงเรื่องพ่อเพียงลำพัง เพราะประชาชนอเมริกันทุกครัวเรือนล้วนสูญเสียพ่อแม่หรือคนรักในสงครามต่างแดน และหวังว่าจะได้รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ความเป็นจริงเราไม่เคยได้พูดว่า ‘เย้! วู้ฮู้! สงครามจบแล้ว พ่อเราจะได้กลับบ้าน’” ชารอนกล่าวเสริมว่า “เราถูกลิดรอนสิทธิ์ ฉันตระหนักว่านี่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง”

เรื่องราวของชารอนโด่งดังไปทั่ว สร้างความตระหนักและให้ความสำคัญกับความพยายามในการกู้ร่างทหารอเมริกันเกือบแสนรายกลับบ้าน ชารอนอยากให้คนได้รับรู้ว่ายังมีความพยายามในการดำเนินการกู้ร่างผู้เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และนำส่งคืนครอบครัวผู้เสียชีวิต ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรอย่าง DPAA

ชารอนไม่สามารถจินตนาการได้ว่าช่วงชีวิตสุดท้ายของพ่อของเธอเป็นเช่นไร แต่เพราะเธอได้ชมตัวอย่างงานนิทรรศการ “Expressions of America” ในเมืองนิวออร์ลีนส์ และได้เห็นถ้อยคำแสดงความรักของพ่อ ฉายสะท้อนออกมาจากเครื่องโปรเจ็คเตอร์ลงบนผ้าใบขนาดยาว 90 ฟุต จดหมายที่จั่วหัวส่งถึง “นางฟ้าตัวน้อย” ทำให้ชารอนรู้สึกในระดับหนึ่งว่าพ่อได้กลับบ้านแล้วจริง ๆ

เรื่อง เคธี แซนเดอร์ส์

แปล สุดาภัทร ฉัตรกวีกุล

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม เรื่องลับของนักบินสหรัฐฯ ชำระแค้นญี่ปุ่นให้เพิร์ลฮาร์เบอร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.