ตามรอย “ พระฝรั่ง ” บาทหลวงที่แต่งตัวเป็นพระ ชวนคนนับถือคริสต์ยุคอยุธยา

ตามรอย “ พระฝรั่ง ”

ภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตรงกับพ.ศ. 2277 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  นอกจากแสดงพุทธประวัติเรื่องอัฏฐมหาสถานและสัตตมหาสถานแล้ว ยังสอดแทรกเหตุการณ์ในสังคมอยุธยาที่มีการปรากฏตัวขึ้นของ “ พระฝรั่ง ” หรือบาทหลวงเยซูอิตที่ตั้งใจแต่งกายแบบภิกษุ เพื่อโน้มน้าวให้ชาวสยามหันมานับถือคริสต์ศาสนา

ภาพวาด “ พระฝรั่ง ” ดังกล่าวนี้อยู่ในช่องว่างระหว่างเจดีย์ช่องที่ 7 นับจากฝั่งพระประธานเป็นต้นมา อันที่จริง เนื้อหาหลักที่ผู้วาดภาพจัดวางคือ เหตุการณ์พุทธประวัติปางทรงทรมานช้างนาฬาคีรี แต่เบื้องล่างยังได้แทรกเรื่องราวการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสมัยอยุธยาเข้ามาด้วยอีกเหตุการณ์หนึ่ง โดยเขียนเป็นภาพของฝรั่งจำนวน 7 คน หนึ่งในนั้นแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ แขนข้างหนึ่งหนีบตาลปัตร ทว่าสวมหมวกปีกกว้างเหมือนฝรั่งคนอื่น ๆ ส่วนฝรั่งที่เหลือนั่งยอบกายอยู่ด้านข้าง คนหนึ่งคอยถือฉัตรกางให้ มองดูแล้วราวกับบาทหลวงเยซูอิตกำลัง “แปลงร่าง” เป็นพระสงฆ์อยู่ไม่ปาน

ภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี ที่ศิลปินโบราณได้สอดแทรกเหตุการณ์การปรากฏตัวขึ้นของ “พระฝรั่ง” ในสมัยนั้น โดยเขียนเป็นภาพฝรั่ง 7 คน หนึ่งคนแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ แขนข้างหนึ่งหนีบตาลปัตร แต่สวมหมวกปีกกว้างเหมือนฝรั่งคนอื่นๆ ส่วนฝรั่งที่เหลือนั่งยอบกายอยู่ด้านข้าง คนหนึ่งคอยถือฉัตรกางให้ มองดูแล้วราวกับบาทหลวงเยซูอิตกำลัง “แปลงร่าง” เป็นพระสงฆ์
กลุ่มนักศึกษาสาขาวิชาจิตรกรรมไทย วิทยาลัยเพาะช่าง ขณะไปทัศนศึกษา กำลังดูภาพเขียนกันอย่างเพลิดเพลิน

ชาวต่างชาติที่เข้ามายังสยามได้บันทึกเรื่องราวของบรรดาบาทหลวงเยซูอิตไว้เช่นกัน  บาทหลวงกีร์ ตาชาร์ (Guy Tachard) หนึ่งในคณะเยซูอิตที่เดินทางมายังสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นหนึ่งในกลวิธีโน้มน้าวให้ชาวสยามหันมานับถือพระเยซูตามแบบพวกตน

        “นอกจากหอดูดาวแล้ว ยังจะต้องมีบาทหลวงเยซูอิตอีกสักคณะหนึ่ง มาดำเนินการใช้ชีวิตเท่าที่สามารถทำได้อย่างเคร่งครัด และถือวิเวกตามแบบอย่างพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีอิทธิพลเหนือชาวบ้านเป็นอันมาก ให้ห่มดองแบบภิกษุ ไปมาหาสู่กับพวกภิกษุอยู่เสมอ แล้วให้พยายามชักจูงรูปใดรูปหนึ่งให้หันมานับถือพระคริสต์ศาสนา วิธีนี้บาทหลวงคณะเยซูอิตชาวโปรตุเกส ดำเนินการได้ผลมาแล้วที่ มาดูเร (Madure) แถวประเทศเบงคอล”

ภาพเขียนสีน้ำมันปี 2509 โดยนายจำรัส เกียรติก้อง จิตรกรเอกของกรมศิลปากร วาดขึ้นใหม่จากต้นฉบับภาพพิมพ์ลายเส้น ของ Jean-Baptiste Nolin แสดงเหตุการณ์คณะราชทูตฝรั่งเศสที่นำโดยเชอวาลิเยร์ เดอ โชมอง (Chevalier de Chaumont) เดินทางมาเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์แด่สมเด็จพระนารายณ์ที่กรุงศรีอยุธยา
เครื่องเงิน ประกอบด้วย เชิงเทียนเงิน ถ้วยใส่เหล้าองุ่น เรือจำลองสำหรับใส่กำยาน และฐานตั้งไม้กางเขน (ไม้กางเขนทำขึ้นใหม่เพื่อการจัดแสดง) พบในบ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 ร่วมรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บางชิ้นเป็นฝีมือชาวยุโรปที่ถูกนำเข้ามา เช่น ถ้วยใส่เหล้าองุ่นสำหรับทำมิสซา แต่บางชิ้นน่าจะเป็นฝีมือช่างสยามทำเลียนแบบ เช่น เชิงเทียนเงิน และเรือจำลอง

ในกรณีเบงกอล บาทหลวงตาชาร์ยังเล่าต่อด้วยว่าเมื่อคณะเยซูอิตได้รับอนุญาตให้ทดลองแต่งกายนุ่งห่มเป็นพราหมณ์แล้ว “พวกเขาก็เริ่มบำเพ็ญชีวิตอยู่อย่างพราหมณ์โดยตลอด…เดินด้วยเท้าเปล่าและศีรษะปราศจากเครื่องปกบัง ย่ำไปในพื้นทรายอันร้อนระอุ ท่ามกลางแดดอันแผดเปรี้ยงเป็นสิ่งแปลกประหลาดมาก เพราะพวกพราหมณ์นั้นไม่สวมรองเท้าเลย และไม่สวมหมวกหรือโพกศรีษะด้วย บริโภคแต่ผัก และบางทีก็อดอาหารอยู่ตั้งสามหรือสี่วัน นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้หรือกลางถนนหนทางที่มีผู้คนสัญจรไปมา จนกว่าจะมีชาวอินเดียสักคนหนึ่งบังเกิดความประทับใจในความเคร่งของตนเข้ามาฟังคำสั่งสอนพระผู้เป็นเจ้า โปรดประทานพรให้แก่ศรัทธาธรรม และการทรมานกายของพวกเขา”  กล่าวกันว่าด้วยวิธีการแต่งกายและบำเพ็ญชีวิตแบบพราหมณ์ คณะเยซูอิตสามารถสร้างความนับถือเลื่อมใสในหมู่ชาวอินเดียได้อย่างแรงกล้า จนหันมานับถือคริสต์ศาสนาถึงกว่า 6 หมื่นคน

เปรียบเทียบกับอินเดีย การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของคณะบาทหลวงเยซูอิตในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ต้องถือว่าล้มเหลว แม้ขณะนั้นจะถือเป็นสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเปิดรับวัฒนธรรมและวิทยาการตะวันตกมากที่สุดก็ตาม ซ้ำผู้สานสัมพันธ์กับฝรั่งเศสให้นำคณะเยซูอิตเข้ามาอย่างคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulkon) ก็ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตรงกับพ.ศ. 2277 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นอกจากแสดงพุทธประวัติเรื่องอัฏฐมหาสถานและสัตตมหาสถานแล้ว ยังสอดแทรกภาพของกลุ่มคนที่จัดว่าเป็นพวกเดียรถีย์ในสังคมอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นแขกมัวร์ พระจีนพุงพลุ้ย หรือ บาทหลวงแปลงกลาย

ในจดหมายลับที่ฟอลคอนมีไปถึงบาทหลวงเดอ นัวแยล (Charles de Noyelle) อธิการใหญ่สำนักพระเยซูที่กรุงโรม ระบุว่า ขอให้ส่งคณะเยซูอิตที่เป็นนักดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้ามายังสยาม เพื่อจะได้แสดงวิทยาการความรู้ตะวันตกให้เป็นที่ประจักษ์ เพราะศิลปะและวิทยาการตามแบบยุโรปจะเป็นเสมือนใบเบิกทางให้กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงเลิกบูชารูปเคารพ โดยฟอลคอนยังระบุรายละเอียดอีกว่า บรรดาบาทหลวงที่จะส่งมาถวายการรับใช้ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยานั้น จะต้องหันมาครองจีวรตามอย่างพระสงฆ์ “เพื่อที่จะให้กษัตริย์ซึ่งยังคงศรัทาปสาทะในการบูชาพระอิฐพระปูนทรงเลื่อมใส”  จะว่าไปแล้วก็เป็นกลอุบายที่ไม่ต่างจากกรณีนุ่งห่มแบบพราหมณ์ของเยซูอิตที่อินเดีย แต่ผลสัมฤทธิ์กลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แม้การเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาของคณะราชทูตฝรั่งเศสที่นำโดยเชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ ใน พ.ศ. 2228 จะนำไปสู่การทำสนธิสัญญาที่ให้เสรีภาพแก่มิชชันนารีในการเผยแพร่คริสต์ศาสนาและอนุญาตให้คนไทยนับถือคริสต์ศาสนาได้  แต่ในฐานะกษัตริย์ สมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้ทรงหันไปเข้ารีตตามที่ได้รับการชักจูงโน้มน้าว อีกทั้งยังปรากฏว่าแม้ประชาชนจะมีอิสรภาพในการเลือกนับถือศาสนาได้ตามความสมัครใจ แต่พวกเขาก็ไม่ได้หันไปเข้ารีตกันมากนัก

ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านหน้าพระประธาน หรือผนังหุ้มกลองหน้า แสดงภาพไตรภูมิที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง รายล้อมด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ และวิมารสวรรค์ชั้นต่าง ๆ นอกจากนี้ยังปรากฏดวงดาวในองค์ประกอบของภาพด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่าศิลปินต้องการสื่อถึงความรู้ใหม่ด้านดาราศาสตร์ ที่นำเข้ามาโดยบาทหลวงเยซูอิตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ซากอาคารหอดูดาวทรงแปดเหลี่ยมที่โบราณสถานวัดสันเปาโล จังหวัดลพบุรี เชื่อกันว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงสร้างขึ้นเพื่อให้คณะบาทหลวงนิกายเยซูอิตใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และใช้เป็นที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นวิทยาการตะวันตกแบบใหม่ที่พระองค์ทรงให้ความสนพระทัยเป็นอย่างมาก

ตรงกันข้าม การสนับสนุนให้บาทหลวงคริสเตียนเผยแพร่ศาสนาคริสต์ สุดท้ายแล้วได้ก่อให้เกิดความเกลียดชังในหมู่พระสงฆ์ จนกลายเป็นฉนวนให้สังฆราชและพระสงฆ์เข้าร่วมกับออกพระเพทราชาและประชาชนเข้ายึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์ใน พ.ศ. 2231 ซึ่งถือเป็นจุดจบของทั้งฟอลคอนและความหวังที่จะให้กษัตริย์สยามและประชาชนของพระองค์หันมาเข้ารีต

น่าสังเกตว่าการวางองค์ประกอบภาพพระฝรั่งในโครงสร้างภาพพุทธประวัติที่วัดเกาะแห่งนี้อยู่ในตำแหน่งรอง คือบรรจุภายในซอกสามเหลี่ยมระหว่างองค์พระเจดีย์ ไม่ใช่ตำแหน่งหลักบริเวณใต้คันฉัตรที่จัดวางไว้เพื่อแสดงเรื่องราวพุทธประวัติ  ซึ่งก็เช่นเดียวกับภาพเดียรถีย์ที่ผู้วาดภาพบรรจุไว้ในช่องอื่น เช่น แขกมัวร์ หรือพระจีนพุงพลุ้ยมีหญิงสาวเคียงกาย (หมายถึงความไม่เคร่งพระธรรมวินัย) ก็ถูกจัดวางอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน อันแสดงให้เห็นวิธีคิดของจิตรกรโบราณที่จัดลำดับช่วงชั้นของพวกนอกรีตไว้เบื้องล่างเพื่อขับเน้นภาพพุทธประวัติให้โดดเด่น และสะท้อนว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือพวกนอกศาสนา

เรื่อง พินัย สิริเกียรติกุล
ภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา

อ่านเพิ่มเติม ฟอลคอน คือใคร? รู้จักประวัติขุนนางต่างชาติผู้สร้างตัวได้อย่างโลดโผนยุคอยุธยา

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.