ในยุครุ่งเรืองถึงขีดสุด จักรวรรดิอินคาแผ่แสนยานุภาพกว้างใหญ่ไพศาลเป็นระยะทาง 4,023 กิโลเมตรตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของอเมริกาใต้ จากดินแดนที่ในปัจจุบันคือประเทศเอกวาดอร์เรื่อยลงไปถึงชิลี ความยาวไกลอันไพศาลนี้เทียบได้กับความกว้างของดินแดนภาคพื้นทวีปของสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ
มาชูปิกชูตั้งอยู่ ณ ใจกลางของจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ และเป็นหนึ่งในมรดกอารยธรรมอินคาเพียงไม่กี่แห่งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์อย่างน่าทึ่ง
มาชูปิกชูสร้างขึ้นราวกลางศตวรรษที่ 15 เป็นประจักษ์พยานของภูมิปัญญาทางวิศวกรรมของชาวอินคา พวกเขาสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของมาชูปิกชู ตั้งแต่ ปราสาทราชวัง ป้อมปราการ ลานจัตุรัส เรื่อยไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ จากหิน โดยปราศจากเครื่องทุ่นแรงอย่าง ล้อเลื่อน และเครื่องมือที่ทำจากเหล็กหรือเหล็กกล้า
จุดเด่นประการหนึ่งของงานก่อสร้างแบบอินคา คือการไม่พึ่งพาปูนซึ่งมักใช้เป็นตัวยึดหินเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม หินทุกก้อนที่มาชูปิกชูได้รับการตัดแต่งอย่างประณีตและแม่นยำจนเรียงซ้อนกันได้อย่างสนิท
ความที่ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนสองแนว มาชูปิกชูจึงมักเผชิญภัยจากแผ่นดินไหว แต่เนื่องจากหินได้รับการตัดแต่งอย่างแม่นยำจนน่าทึ่ง เมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนจึงดูราวกับสามารถกระโดดหรือเต้นรำได้ และกลับเข้าที่ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย อัศจรรย์ทางวิศวกรรมนี้ช่วยรักษาสภาพของมาชูปิกชูได้ดีอย่างน่าทึ่งมากว่า 500 ปี
ปริศนาข้อใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งของมาชูปิกชูคือ สร้างขึ้นเพื่ออะไร?
ข้อสันนิษฐานของนักโบราณคดีมีตั้งแต่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม ที่มั่นทางทหาร ไปจนถึงสถานที่พักผ่อนของชนชั้นสูง
ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และแผนผังของมาชูปิกชูอาจมีสำคัญในอีกแง่หนึ่ง ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติและโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นหลายอย่างดูจะสอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
แต่พอถึงศตวรรษที่ 16 หรือหลังจากสร้างได้เพียงร้อยปี มาชูปิกชูกลับถูกทิ้งร้าง และเนื่องจากอารยธรรมอินคาไม่มีภาษาเขียน เราจึงไม่มีหลักฐานใดหลงเหลือที่อธิบายถึงวัตถุประสงค์การก่อสร้าง
แม้ชุมชนในท้องถิ่นจะรู้ถึงการมีอยู่ของมาชูปิกชูมานานแล้ว แต่ก็ไม่เป็นที่รับรู้ของโลกภายนอกมาหลายร้อยปี แม้แต่ชาวสเปนผู้ชิตอินคาก็ไม่เคยค้นพบมาชูปิกชู
กระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อชาวนาในพื้นที่คนหนึ่งนำศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเยล ชื่อ ไฮแรม บิงแกม ไปยังมาชูปิกชู เรื่องราวของสถาปัตยกรรมอันน่าอัศจรรย์นี้จึงเปิดเผยต่อสายตาชาวโลก พอถึงปี 1983 ยูเนสโกก็ประกาศขึ้นทะเบียนมาชูปิกชูเป็นมรดกโลก
ทุกวันนี้ ผู้คนนับล้านจากทั่วโลกดั้นด้นมาเยือนมาชูปิกชู อัศจรรย์ทางวิศวกรรมอันยืนยงของจักรวรรดิที่ขึ้นชื่อยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของทวีปอเมริกาใต้
อ่านเพิ่มเติม : เกาะติดการขุดค้นและเปิดหลุมฝังศพแห่งใหม่ในอียิปต์, แผนที่กรุงโรมอายุเก่าแก่ 100 ปี ยังคงเป็นผังเมืองที่ดีในปัจจุบัน