พบภาพแกะสลักชายกุม “อวัยวะเพศ” อายุ 11,000 ปี

พบภาพแกะสลักชายกุม “อวัยวะเพศ” อายุ 11,000 ปี เป็นภาพแกะสลักการเล่าเรื่องที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ

นักโบราณคดีประเทศตุรเคีย (Türkiye หรือ ตุรกี ในชื่อเก่า) ค้นพบภาพแกะสลักนูนต่ำอายุกว่า 11,000 ปี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ในภูมิภาคเออร์ฟา (Urfa) คาดว่าเป็นฉากการเล่าเรื่องราวที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกกันมา พร้อมทั้งมีฉากอันโดดเด่นคือมีสัตว์ร้าย เสือดาว 2 ตัว กระทิง 1 ตัว และชาย 2 คนโดยหนึ่งในนั้นกำลังนำมือกุมอวัยวะเพศของตนเองอยู่ ขณะที่อีกคนหนึ่งถืองู

อีเลม ออสโดแกน (Eylem Özdoğan) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยอิสตันบูล ผู้เขียนรายงานการค้นพบระบุไว้ว่า ภาพแกะสลักนี้อยู่ในยุคหินใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์กำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตไปทำฟาร์มและตั้งถิ่นฐานระยะยาว อยู่ห่างจากแม่น้ำยูเฟรตีสไปทางตะวันออกประมาณ 56 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนซีเรียไปทางเหนือราว 32 กิโลเมตร ภาพนั้นสูงประมาณ 0.7-0.9 เมตร และยาวประมาณ 3.7 เมตร

เธอเชื่อว่าใครก็ตามที่สร้างภาพนี้ขึ้นมาต้องมีจุดประสงค์ที่เน้นย้ำถึงสิ่งที่อันตราย นั่นคือสัตว์ในธรรมชาติทั้งมีฟันที่แหลมคมจากเสือดาว และเขาที่แทงได้ถึงตายของวัวกระทิง อย่างไรก็ตาม รูปร่างความชัดเจนของภาพได้เลือนหายไปตามกาลเวลา นอกจากนี้ รายงานยังได้บรรยายวิธีการอ่านภาพนี้ในฐานะงานศิลปะเชิงเล่าเรื่องด้วยเช่นกัน

โดยเริ่มจากด้านซ้ายที่เป็นภาพวัวตัวผู้และคนหันหน้าเข้าหากัน ชายคนนี้มี “ส่วนที่ยื่นออกมาเป็นรูปลึงค์ (อวัยวะเพศชาย) ตรงส่วนท้อง” รายงานระบุ และ “มือซ้ายที่ยกขึ้นซึ่งมีหกนิ้ว ขณะที่มือขวาถืองูหรืองูหางกระดิ่ง” จากนั้นฉากที่สองที่เกี่ยวข้องกันเป็นรูปเสือดาวสองตัว ที่ปากเปิดและมองเห็นฟันได้อย่างชัดเจน พร้อมหางยาวที่ขดเข้าหาลำตัว ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับมนุษย์ โดยเขาคนนั้นจ้องไปที่เสือและมือขวากุมอวัยวะเพศของเขาอยู่

“ในแง่ของเทคนิคและงานนั้นฝีมือนั้น ภาพนี้เปรียบเทียบได้กับภาพยุคก่อนเครื่องปั้นดินเผาอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้” ออสโดแกนกล่าว “ภาพได้สะท้อนความทรงจำร่วมที่ยังคงคุณค่าของชุมชนไว้อยู่” เธอเสริมว่า “เราคิดว่าเรื่องราวแบบองค์รวมเริ่มก่อตัวขึ้นที่นี่ ฉากนี้ชัดเจนในการสร้างความหมายของชีวิตในชุมชนและส่งต่อมันไปยังคนรุ่นใหม่” เธอตั้งข้อสังเกตว่าภาพนี้ “มีความสมบูรณ์ในการเล่าเรื่องของทั้งธีมและเรื่องราว” 

ขณะที่ เจนส์ นอทรอฟฟ์ (Jens Notroff) นักโบราณคดียุคหินใหม่แห่งสถาบันโบราณคดีแห่งเยอรมนีซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับรายงานนี้กล่าวกับ Live Science ว่า “การเปรียบเทียบกันระหว่างการแสดงถึงพลังอันมีชีวิตชีวา (หรือก็คือการนำเสนอลึงค์) และการมีอันตรายที่คุกคามถึงชีวิต (หรือก็คือนักล่าที่แยกเขี้ยวขู่คำราม) เป็นสิ่งที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ” พร้อมระบุว่า “น่าเสียดายที่นักล่ายุคหินใหม่เหล่านั้นอาจรับรู้ถึงความหมายของมันได้โดยง่าย แต่เราในปัจจุบันยังขาดความเข้าใจในการเล่าเรื่องที่แท้จริง” 

“หลักฐานทางโบราณคดีสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกบางอย่างเกี่ยวกับประเพณีของสังคมในอดีต แต่หลักฐานที่ชัดเจนกว่านี้แทบไม่หลงเหลืออยู่ ดังนั้นการค้นพบนี้จึงน่าตื่นเต้น” ออสโดแกนกล่าว อาจมีคำตอบเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากนักโบราณคดีเพิ่งเริ่มขุดค้นในปี 2021 และยังเหลืออีกครึ่งทางที่สำรวจต่อไป “ผมรอคอยที่จะได้เห็นผลลัพธ์เพิ่มเติมของการวิจัยอย่างต่อเนื่องและการขุดค้นในไซต์ยุคหินใหม่อื่น ๆ ที่ภูมิภาคเออร์ฟาหรือที่อื่น ๆ” นอทรอฟฟ์กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photo: Eylem Özdoğan

ที่มา

Man holding penis and flanked by leopards is world’s oldest narrative carving | Live Science

The Sayburç reliefs: a narrative scene from the Neolithic | Antiquity | Cambridge Core

Carving of man holding his penis and surrounded by leopards is oldest known depiction of a narrative scene, archaeologists say (theartnewspaper.com)

Man holding his penis in 10,000-year-old carving is the world’s oldest narrative | Daily Mail Online

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.