ฟอสซิลสมองปลา ถูกพบที่บริเวณเหมืองถ่านหิน เมืองแลงคาเชียร์ (Lancashire) ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 1925 ในตอนนั้น ผู้ค้นพบยังไม่มีเทคโลโนยีที่ดีพอจะศึกษาชิ้นส่วนที่อยู่ในกะโหลกนี้ จึงทำให้พลาดโอกาสศึกษาตัวอย่างนี้
ฟอสซิลนี้เป็นของปลาสายพันธุ์ Coccocephalus wildi ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับปลากระเบนปัจจุบัน เมื่อทีมงานตรวจสอบเบื้องต้น พวกเขาตระหนักได้ว่าฟอสซิลชิ้นนี้อาจเป็นตัวอย่างเดียวของสายพันธุ์ พวกเขาจึงใช้วิธีการสแกน (CT Scan) แทนการแยกส่วนด้านในออกมา และก็พบว่ามีสิ่งพิเศษอยู่ด้านใน
แทนที่จะเต็มไปแร่ธาตุต่าง ๆ ที่แข็งตัวกลายเป็นฟอสซิลภายในโพรงกะโหลก มันกลับมีโครงสร้างสมมาตร และเส้นใยที่เหมือนกับเส้นประสาทยาวประมาณ 1 นิ้ว กลายเป็นว่า พวกเขากำลังมองดูโครงสร้างสมองในสัตว์มีประดูกสันหลังที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้อย่างละเอียด
“มันมีคุณสมบัติทั้งหมดนี้ และผมก็พูดกับตัวเองว่า ‘นี่คือสมองที่ผมกำลังดูอยู่จริง ๆ หรือ’” ดร. แมตต์ ฟรีดแมน (Dr Matt Friedman) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเนื้อเยื่ออ่อนโดยเฉพาะสมองนั้นถูกเก็บรักษาเป็นฟอสซิลได้ยากมาก เขาคาดว่าเมื่อปลาตาย อวัยวะอ่อนเหล่านี้ถูกแร่ธาตุเข้าแทรกซึมอย่างรวดเร็ว มันจึงกลายเป็นฟอสซิลสมองที่เกือบสมบูรณ์
ขณะที่ผลการสแกนเปิดเผยว่ามันมี 3 ส่วนหลักคือสมองส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลัง พร้อมด้วยเส้นประสาทที่ยื่นออกมาจากทั้งสองข้างของสมองส่วนกลาง ดูคล้ายครัสเตเชียน สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเช่นกุ้ง พร้อมกันนั้นมันเผยให้เห็นรูปร่างที่ค่อนข้างซับซ้อน
มัมมีรูปร่างสมองที่คล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลานในปัจจุบัน กล่าวคือสมองมีการโป่งพองออกรอบ ๆ จากนั้นก็พับเข้าด้านใน ขณะที่ปลากระเบนปัจจุบันที่เป็นญาติสนิทของฟอสซิลชิ้นนี้กลับมีสมองที่พับออกด้านนอก นั่นหมายความว่าจะต้องมีจุดเปลี่ยนทางวิวัฒนาการเกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเพราะเหตุใด
“ฟอสซิลขนาดเล็กที่ดูไม่น่าประทับใจและดูธรรมดานี้ ไม่เพียงแค่แสดงตัวอย่างเก่าแก่ที่สุดของสมองสัตว์มีกระดูกสันหลังที่กลายเป็นฟอสซิลเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสมองจากสิ่งมีชีวิตนั้นจำเป็นต้องทบทวนใหม่” ฟิกูเอโร กล่าว
.
ทีมงานเน้นย้ำว่าการค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการเก็บรักษาและอนุรักษ์ตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์ รวมไปถึงการศึกษามันอีกครั้งด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งอาจทำให้มีการค้นพบเพิ่มเติม
.
“ที่นี่ เราพบการอนุรักษ์อันน่าทึ่งในซากดึกดำบรรพ์ที่ตรวจสอบหลายครั้งก่อนหน้านี้โดยคนหลายคนในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา” ฟิกูเอโร กล่าว “แต่เนื่องจากเรามีเครื่องมือใหม่ๆ ในการดูภายในฟอสซิล มันจึงเปิดเผยข้อมูลอีกชั้นให้เราทราบ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการมีตัวอย่างทางกายภาพจึงสำคัญมาก เพราะใครจะรู้ว่าในอีก 100 ปีข้างหน้าผู้คนอาจทำอะไรกับฟอสซิลในคอลเลกชั่นของเราตอนนี้”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photograph by Jeremy Marble, University of Michigan News
ที่มา
https://www.nature.com/articles/s41586-022-05666-1
https://www.iflscience.com/world-s-oldest-fossil-vertebrate-brain-found-in-a-319-million-year-old-fish-67343
https://phys.org/news/2023-02-million-year-old-fish-earliest-fossilized-brain.html
https://edition.cnn.com/2023/02/02/world/oldest-preserved-brain-fish-intl-scli-scn/index.html