ประวัติ ศาลหลักเมือง – มหาศรัทธาความนับถือในแผ่นดิน

 ศาลหลักเมือง กรุงเทพ มหาศรัทธา แห่งความนับถือในแผ่นดิน

“อิน จัน มั่น คง” คือพื้นฐานความเชื่อการสร้างหลักเมืองในประเทศไทย ผ่านการประกอบพิธีที่ 4 ประตูเมือง โดยกำหนดให้นำคนชื่อ อิน จัน มั่น คง มาฝังลงในหลุม เพราะเชื่อกันว่าทั้ง 4 คน เมื่อตายไปแล้ววิญญาณจะไม่ไปไหน แต่จะคอยปกปักรักษาบ้านเมือง จากศัตรู และสิ่งเลวร้ายต่างๆ ลักษณะของ 4 คน ตามที่โหรกำหนด คือ ไม่ใช่นักโทษประหาร ไม่สักยันต์ ไม่เจาะหู และมีเวลาตกฟากตามที่กำหนด

…….……………………………………..

ความเชื่อเรื่องการสร้างเสาหลักเมืองของคนไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เชื่อกันว่าประเพณีการตั้งเสาหลักเมืองมีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพราหมณ์โดยพ่อค้าชาวอินเดีย

ศาลหลักเมืองคืออะไร สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร และทุกๆ เมืองจำเป็นต้องมีศาลหลักเมืองแบบนี้หรือไม่ ความสงสัยเหล่านี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างคลุมเครือในสังคมไทยมาเป็นร้อยๆ ปี จนทุกวันนี้

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้กับการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีของพราหมณ์ ก่อนจะสร้างเมืองจะต้องทำ “พิธียกเสาหลักเมือง” ในชัยภูมิที่สำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง มีพิธียกเสาขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 นาฬิกา เดิมทีเสาหลักเมือง เป็นเพียงแค่ศาลาเล็กๆ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่อีกเสาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ จึงมี 2 เสา

ารฝังเสาหลักเมือง มีพิธีที่เรียกว่าพระราชพิธีนครฐาน คือใช้ไม้ชัยพฤกษ์มาทำเป็นเสาหลักเมือง ประกบด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 เซนติเมตร สูง 187 นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ยอดนั้นเป็นรูปบัวตูม ภายในเป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้ขุดเสาหลักเมืองเดิม และจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ เป็นแกนไม้สัก ประกบนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ 6 แผ่น สูง 108 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว บรรจุดวงเมืองในยอดเสาทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า 5 เมตร และอัญเชิญหลักเมืองเดิม และหลักเมืองใหม่ ประดิษฐานในอาคารศาลหลักเมืองที่สร้างใหม่ มียอดปรางค์ ก่ออิฐฉาบปูนขาว ได้แบบอย่างจากศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2395

…….……………………………………..

“หลักเมือง” ความหมายตามพจนานุกรมฯ คือเสาที่ยกตั้งขึ้นเพื่อแสดงว่าจะสร้างบ้านแปลงเมืองตรงจุดๆ นั้นอย่างแน่นอน หากเป็นศัพท์ภาษาบาลีสันสกฤตจะเรียกว่า “อินทขีล”  ที่กรุงสุโขทัยยังค้นไม่พบหลักฐาน พบเพียงแต่โบราณสถานขนาดเล็กที่ปรากฏอยู่ริมคูวัดมหาธาตุ เมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จเมืองสุโขทัยก็ทรงพบเสาศิลาหลักหนึ่งที่เรียกกันว่า “ขอมดำดิน”ทรงคาดว่าน่าจะเป็น “หลักเมือง” ที่สร้างกันกลางเมืองนั่นเอง

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนาพระนครศรีอยุธยา และโปรดฯ ให้ประกอบพระราชพิธี “กลบบาต” เมื่อปีขาล พ.ศ.1893 ซึ่งพิธีดังกล่าวคือ”พิธีกลบบัตรสุมเพลิง”อันเป็นชื่อพิธีหนึ่งของพราหมณ์ที่ทำขึ้นเพื่อแก้เสนียด โดยพระราชพิธีในครั้งนั้นน่าจะหมายถึงพิธียก “หลักเมือง” เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันว่ามีการทำพิธีดังกล่าวจริง

ด้าน เสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร คือสถานที่ฝังหลักเมืองอันมีดวงพระชันษาพระนครบรรจุไว้ภายใน สมัยนั้นศาลหลักเมืองเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบ แต่เข้าใจว่าเดิมเป็นเพียงศาลาปลูกเพื่อพอกันแดดกันฝน เพราะสร้างอย่างเร่งรีบเนื่องจากบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย และมีเพียงหลักเมืองอย่างเดียว ยังไม่มีเทวดาต่างๆ เข้ามาอยู่ด้วยเหมือนสมัยนี้ ทำพิธีเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา

เล่ากันว่า เมื่อเริ่มพระราชพิธีอัญเชิญเสาหลักเมืองลงสู่หลุมโดยวางไว้บนแผ่นศิลายันต์ ปรากฏว่ามีงูตัวเล็กๆ 4 ตัวเลื้อยลงไปอยู่ในหลุมด้วย ทันทีที่ทุกคนเห็นก็เป็นเวลาเดียวกับที่เสาเคลื่อนลงหลุมไปแล้ว ต้องปล่อยเลยตามเลย ปล่อยเสาลงหลุมและกลบดินฝังเสาไปพร้อมกับงู

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ยังพระปริวิตกแก่รัชกาลที่ 1 เป็นอย่างมาก ได้ทรงเรียกเหล่าเสวกามาตย์ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ พระราชาคณะ และผู้รู้ทั้งมวลมาปรึกษาหารือกันว่า เหตุที่บังเกิดนั้นเป็นมงคลนิมิตหรืออวมงคลนิมิต ที่สุดต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า เป็น อวมงคลนิมิต และถวายความเห็นให้ทรงประกอบพระราชพิธีสะเดาะเคราะห์เสีย ซึ่งพระองค์ก็ทรงเห็นชอบด้วย

มีบางแห่งเล่าว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ชะตาบ้านเมืองต้องอยู่ในเกณฑ์ร้ายถึง 7 ปี 7 เดือน นับแต่วันยกเสา จึงจะพ้นเคราะห์ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวก็ตรงกับที่ไทยต้องรบทัพจับศึกกับพม่าจนสิ้นสุดเมื่อสงครามเก้าทัพพอดี

………………………….

กาลต่อมา เนื่องจากเสาหลักเมืองไม่ได้ซ่อมแซมมานาน จึงทรุดโทรมมาก รัชกาลที่ 4 จึงทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างหลักเมืองขึ้นใหม่ พร้อมบรรจุดวงพระชาตาใหม่  โดยสร้างขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือน 1 ปีชวด ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2395 เวลา 04.48 ทั้งนี้ กล่าวกันว่า เนื่องจากพระองค์ทรงชำนาญในวิชาโหราศาสตร์ จึงทรงคิดแก้ไขดวงเมืองใหม่ และได้บรรจุดวงชะตาพระนครลงในแผ่นทองคำหนัก 1 บาท โดยได้ประกอบพิธีจารึกในพระอุโบสถวัดพระแก้ว พร้อมทั้งมีการสมโภชฉลองเป็นพิธีใหญ่โตสมกับเป็นของสำคัญของบ้านเมืองทั้งพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์ อีกทั้งได้โปรดฯ ให้ก่อสร้างศาลาขึ้นใหม่ สร้างให้เป็นยอดปรางค์ ตามแบบ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาดังนั้น หลักเมืองที่เราเห็น จึงมีอยู่ ๒ ต้นคือ ต้นเดิมที่สร้างในรัชกาลที่ 1 และอีกต้นที่มีส่วนสูงทอนลงมาเป็นต้นที่สร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4

………………………………

ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงลักษณะรูปศาลเป็นทรงจตุมุข และมีการขยายบริเวณศาลให้กว้างขวางออกไป เมื่อปฏิสังขรณ์สำเร็จสมบูรณ์แล้วพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯมาประกอบพิธีสังเวยสมโภช เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ.2513

ในสมัยก่อน ศาลหลักเมืองจะมีแต่หลักเมืองเท่านั้น ส่วนเทพารักษ์อีก 5 องค์ คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬ เจ้าพ่อหอกลอง และเจ้าพ่อเจตคุปต์ ซึ่งเป็นเทพารักษ์ประจำพระนคร ที่รัชกาลที่ 1 ได้โปรดฯให้สร้างเพื่อดูแลรักษาเมืองและประเทศชาตินั้น แต่เดิมมีศาลของท่านแยกอยู่ต่างหาก ต่อมา เมื่อมีการตัดถนนเพิ่ม จึงมีการรื้อศาลเทพารักษ์ดังกล่าวออก แล้วอัญเชิญท่านมาประดิษฐานรวมกันในศาลหลักเมือง

ปัจจุบัน “ศาลหลักเมือง” จึงกลายเป็นที่ชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมมากราบไหว้และบนบานต่างๆนานา  เพื่อขอให้สมปรารถนาในเรื่องที่หวัง และตั้งใจ โดยเฉพาะในวนหยุด เสาร์-อาทิตย์ ทั่วบริเวณศาลหลักเมืองและใกล้เคียงจะเนืองแน่นไปด้วยจำนวนผู้คนทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มุ่งเดินทางกันมากราบไหว้กันอย่างล้นหลามตั้งแต่เช้าจดเย็น

เรื่อง เจนจบ ยิ่งสุมล


อ่านเพิ่มเติม เสาชิงช้า : ไขความลับ ขุดความหลัง 237 ปี

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.