วินเซนต์ แวนโก๊ะ หรือ ฟินเซนต์ ฟัน โคค (อ่านตามภาษาดัชต์) ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก น่าเสียดายว่าเขาจากโลกนี้ไปตั้งแต่อายุยังไม่มาก และตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ (ช่วงศตวรรษที่ 19) ชื่อเสียงของเขากลับไม่ดังเท่าตอนตาย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าช่วงเวลา 10 ปีในอาชีพจิตรกร ภาพวาดของ แวน โก๊ะ สามารถขายได้เพียง 1 ภาพ จากผลงานทั้งหมดกว่า 2,100 ชิ้น
ชีวิตของ แวน โก๊ะ หลายคนมองว่าค่อนข้างอาภัพ หมองหม่น ตรงกันข้ามกับภาพเขียนของเขาที่มีสีสันสดใสจัดจ้าน โดยช่วงท้ายๆของชีวิต แวน โก๊ะ ต้องต่อสู่กับปัญหาทางสภาพจิตใจทั้งอาการป่วยเป็น โรคไบโพลาร์ โรควิตกกังวล รวมถึงภาวะซึมเศร้า จนถึงกับตัดหูตัวเอง และต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวช
ภาพแรกของ แวน โก๊ะ
วินเซนต์ แวนโก๊ะ เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1853 ในครอบครัวชนชั้นกลาง ว่ากันว่า การที่แม่ของเขาสูญเสียลูกชายคนโตไป ทำให้ แวน โก๊ะ ไม่ได้รับความรักจากแม่จนกลายเป็นปมในใจ ในฐานะลูกคนกลางที่ถูกหมางเมิน วัยเด็กเขาจึงมีนิสัยเงียบขรึม พูดน้อย คิดมาก กับพ่อที่เป็นนักบวชเอง แวน โก๊ะ ก็ไม่ค่อยลงรอยนัก โดยเฉพาะการล้มเหลวทางอาชีพการงาน เมื่อโตเป็นหนุ่ม แวน โก๊ะ ทำงานช่วยญาติด้วยการเป็นผู้ช่วยในการขายภาพวาด เขาจึงต้องเดินทางบ่อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลให้ แวน โก๊ะ มีภาวะซึมเศร้า เนื่องจากต้องต่อสู้กับความเหงาและความโดดเดี่ยว
เมื่อล้มเหลวกับงานขายภาพ แวน โก๊ะ หันหน้าเข้าหาศาสนา แต่ก็พบกับความผิดหวังอีกเมื่อเขาสอบเข้าโรงเรียนสอนศาสนาไม่ผ่าน แวน โก๊ะ ซมซานกลับบ้าน แล้วตัดสินใจเริ่มต้นอาชีพจิตรกรตอนอายุ 28 ปี ด้วยการทดลองเรียนรู้การวาดภาพด้วยตนเอง โดยมี ธีโอ น้องชายคอยสนับสนุนทางการเงิน
สำหรับผลงานจิตรกรรมภาพแรกของ แวน โก๊ะ เท่าที่มีการค้นพบและบันทึกไว้ก็คือภาพวาดที่มีชื่อว่า Still Life with Cabbage and Clogs (ภาพหุ่นนิ่งกับกะหล่ำปลีและรองเท้าไม้) เป็นผลงานยุคต้นของ แวน โก๊ะ และอาจเป็นงานจิตรกรรมภาพแรกที่เขาวาดขึ้นในราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ปี 1881
ภาพเดียวที่ขายได้ของ แวน โก๊ะ
แม้ว่าราคาภาพวาดในปัจจุบันของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ จะมีมูลค่าสูง โดยภาพที่แพงที่สุดของเขาในตอนนี้คือ Portrait of Dr. Paul Gachet (1890) ภาพวาด ดร.กาเชต์ แพทย์ทางเลือกที่ดูแล แวน โก๊ะ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งมีราคาประมาณ 5,853 ล้านบาท รวมถึงมีภาพที่มีชื่อเสียงมากมายอย่างภาพ The Starry Night ภาพจินตนาการสุดลํ้าที่เขาเขียนในโรงพยาบาลจิตเวช , ภาพชุด The Paris Sunflowers โด่ดเด่นด้วยสีสันที่จัดจ้านสวยงาม , The Potato Eaters ภาพที่สะท้อนวิถีชีวิตชนชั้นกรรมกรได้อย่างยอดเยี่ยม และภาพชุดที่เขาวาดตัวเอง แต่ตลอดชีวิตของเขา สามารถขายภาพวาดได้เพียง 1 ภาพ
The Red Vineyard at Arles (The Vigne Rouge) คือ 1 ผลงานหนึ่งเดียวในชีวิตของ แวน โก๊ะ จากภาพวาด 2 พันกว่าชิ้น ที่สามารถขายได้ หรือเรียกว่ามีลูกค้ายอมซื้อตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพไร่องุ่นแดงในแถบโพรวองซ์ เมืองทางใต้ของฝรั่งเศส ภาพนี้ขายได้ในราคา 400 ฟรังก์ ที่งานนิทรรศการในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อเดือนมีนาคม 1890 สี่เดือนก่อนที่ แวน โก๊ะ จะเสียชีวิต (ปัจจุบันภาพนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศรัสเซีย)
แวน โก๊ะ ถือเป็นศิลปินที่มีความเคร่งครัดมาก วินัยของเขาสะท้อนออกมาในตารางชีวิตที่ทุ่มเทให้กับการวาดภาพเกือบทั้งวัน ตลอด 10 ปีในเส้นทางสายจิตรกร เขาจึงมีผลงานมากถึง 2,100 ชิ้น ซึ่งเป็นภาพสีนํ้ามันบนผืนผ้าใบประมาณ 860 ภาพ ช่วงหนึ่งเขาถูกยกให้เป็น บิดาแห่งแห่งศิลปะสมัยใหม่ ในยุคโพสต์-อิมเพรสชั่นนิสม์ โดย แวน โก๊ะ เป็นศิลปินร่วมสมัยกับ โคลด์ โมเนต์ และ พอล โกแกง เพื่อนสนิทที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน
ภาพสุดท้ายของ แวน โก๊ะ
แวน โก๊ะ มีปัญหาทางสุขภาพจิตสะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่อาการแย่ลงเรื่อยๆตั้งแต่เขามาใช้ชีวิตในตัวเมืองปารีส ช่วงนี้แม้ว่าหลายคนจะเห็นว่าเขามุ่งมั่นกับการเขียนภาพเกือบทั้งวัน แต่บางช่วง แวน โก๊ะ ใช้เวลาไปกับการดื่มสุราและเที่ยวเตร่ เมื่อย้ายไปอยู่ทางตอนใต้ในเมืองอาร์เลส์ แวน โก๊ะ เริ่มถอยหางจากสังคมและแสงสี เขาได้เช่าบ้านหลังหนึ่งแล้วตกแต่งบ้านด้วยสีเหลืองทั้งหมด โดยหวังก่อตั้งกลุ่มศิลปินอิมเพรสเช่นนิสท์ขึ้นในเดือนตุลาคมปี ค.ศ.1888
พอล โกแกง จิตรกรชาวฝรั่งเศสที่เป็นเพื่อนกับเขาได้ย้ายมาอยู่ในบ้านศิลปินสีเหลืองตามคำเชิญ แต่พวกเขากลับมีปากเสียงและทะเลาะกันบ่อย จนกระทั่งเช้าของวันคริสต์มาสอีฟ โกแกง แจ้งตำรวจให้มาดูอาการ แวน โก๊ะ ที่ตัดหูข้างหนึ่งของตัวเองเอาไปให้โสเภณีชื่อ กาเบรียลล์ แบร์ลาทิเยร์ เพื่อเป็นของขวัญวันคริสต์มาส เมื่อเธอเปิดกล่องถึงกับเป็นลมล้มพับไป (บางรายงานอ้างว่า โกแกง เป็นคนตัดหู แวน โก๊ะ ก่อนจะจากไป)
ต่อมา แวน โก๊ะ ถูกส่งตัวไปทำแผล ก่อนจะถูก ธิโอ น้องชายส่งตัวไปรักษาอาการติดสุรากับอาการป่วยทางจิตอื่นๆในคลินิกผู้ป่วยโรคจิตในแซงต์-เรมี เมื่อหายดี เขาย้ายมาอยู่ที่เมืองโอแวร์ซูว์รวซ โดยภาพวาดภาพสุดท้ายของเขา คือภาพ Wheatfield with crows (ทุ่งข้าวสาลีกับอีกา) วาดขึ้นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ปี 1890 เชื่อกันว่านี่คือภาพสุดท้ายของเขาก่อนที่ แวน โก๊ะ จะยิงตัวเองตายในวัย 37 ปี
ปริศนาการเสียชีวิตของ แวน โก๊ะ
หลายคนเชื่อว่า แวน โก๊ะ เสียชีวิตด้วยการยิงตัวตาย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1890 เขาไม่ได้เสียชีวิตในทันที แต่ซมซานกลับมาที่โรงแรม ก่อนจะจากโลกนี้ไปหลังสั่งเสียกับ หมอกาเชต์
แน่นอนว่าตั้งแต่ตัดหูข้างหนึ่งของตัวเอง ผู้คนส่วนมากในฝรั่งเศสก็มองว่าเขาเป็นบ้า ซึ่งต่อมาวันเกิดของ แวน โก๊ะ ก็ตรงกับ วันไบโพลาร์โลก (ไม่แน่ใจว่าเชื่อมโยงกันหรือไม่) แต่ในภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Loving Vincent ในปี 2017 เสนอแนวคิดที่ต่างออกไป โดยเฉพาะสาเหตุการตายของ แวน โก๊ะ
Loving Vincent มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม ปี 2018 ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านรูปวาดสีน้ำมันเป็นเรื่องแรกของโลก โดยสร้างสรรค์จากปลายพู่กันของศิลปินกว่า 100 ชีวิตและใช้ระยะเวลาสร้างกว่า 7 ปี เนื้อหาเล่าถึงการเดินทางของ อาร์มาน ลูกชายของ โจเซฟ รูแล็ง บุรุษไปรษณีย์ที่คอยส่งจดหมายของ แวน โก๊ะ ซึ่งส่วนใหญ่เขียนถึง ธีโอ น้องชาย (จดหมายที่เขียนมากถึง 800 ฉบับ) อาร์มาน ถูกพ่อตัวเองขอร้องให้เดินทางมาส่งจดหมาย 1 ฉบับ ที่ตกค้างอยู่ของ แวน โก๊ะ ให้กับผู้ที่สมควรจะได้รับ
ระหว่างทาง อาร์มาน พบเรื่องราวอีกด้านหนึ่งทั้งการที่ แวน โก๊ะ ต่อสู้กับอาการป่วยจิตเวชจนหายแล้ว ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องฆ่าตัวตาย รวมถึงข้อสังเกตเรื่องการยิงตัวเองแบบประหลาด อย่างการยิงเข้าที่หน้าท้องแทนที่จะเป็นหัว ซึ่งมีหมอรายหนึ่งเชื่อว่าจากมุมของกระสุน แวน โก๊ะ ถูกยิง มากกว่าจะยิงตัวเอง
ขณะเดียวกัน อาร์มาน ยังพบว่า แวน โก๊ะ มีความลับเรื่องการแอบคบหากับลูกสาวของ หมอกาเชต์ ที่อาจเป็นชนวนนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งของทั้งสองคน ซึ่ง หมอกาเชต์ มีปืนในบ้าน แต่มันหายไปหลังจาก แวน โก๊ะ เสียชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่ อาร์มาน สงสัยคือ แวน โก๊ะ อาจถูกฆาตกรรมโดยเพื่อนคนรวยนิสัยเกเรที่ชอบแกล้งเขาเป็นประจำ จนอาจเกิดเหตุลงไม้ลงมือ เลยเถิดไปถึงการยิงกันได้ แต่ความจริงไม่ได้ถูกขุดคุ้ย เนื่องจาก แวน โก๊ะ ไม่ได้กล่าวโทษใครในวาระสุดท้ายของชีวิต การตายของเขาจึงยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
PHOTO BY https://www.vangoghmuseum.nl/en/collection
ที่มา
https://en.wikipedia.org/wiki/Vincent_van_Gogh
https://www.thoughtco.com/van-gogh-sold-only-one-painting-4050008
https://thestandard.co/ 7-most-expensive-vincent-van-gogh-paintings/
https://workpointtoday.com/ van-gogh/
https://rivercitybangkok.com/th/the-first-and-last-paintings-of-vincent-van-gogh/