ยูเนสโก ยอมรับ คัมภีร์อุรังคธาตุ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก

ยูเนสโก ยอมรับ ‘ คัมภีร์อุรังคธาตุ ’ ตำนานพระธาตุพนม เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกที่เสนอโดยประเทศไทย

คัมภีร์อุรังคธาตุ – เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 มีการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยโครงการและความร่วมมือกับองค์การอื่นๆ (Programme and External Relations Commission – PX) ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

การประชุมในครั้งนี้ ได้พิจารณาวาระการขึ้นทะเบียน “มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Nominations of new items of documentary heritage to be inscribed on the Memory of the World International Register) ซึ่งมีการพิจารณา “คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม)” (National Collection of Palm-Leaf Manuscripts of Phra That Phanom Chronicle) ร่วมด้วย และคัมภีร์ฯ ได้รับการพิจารณารับรองเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ในที่สุด

โดย คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ หรือ อุรังคนิทาน เป็นตำนานที่แต่งในลักษณะนิทานปรัมปรา ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยกวีของอาณาจักรล้านช้างโดยต้นฉบับเขียนลงใบลาน แต่นานเข้าได้กระจัดกระจายอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขง

ต่อมาพระยาศรีไชยชมพู อำมาตย์ในราชสำนักของพระเจ้าสุริยวงศา กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ. 2181-2238) ได้นำมาเรียบเรียงใหม่ ประกอบด้วยอุรังคธาตุนิทานหรือตำนานพระธาตุพนม ซึ่งเป็นนิทานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทตามฝั่งแม่น้ำโขง และกล่าวถึงการเกิดของแม่น้ำสำคัญ ๆ ตามลำแม่น้ำโขงว่าเป็นการกระทำของพวกนาค รวมถึงมีประวัติบุคคลสำคัญของลาว

โครงสร้างเนื้อหาแบ่งเป็น 9 ส่วน เรียงตามลำดับเวลา เริ่มตั้งแต่สมัยเกิดโลกภัทรกัป ไปจนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช เจ้ากษัตริย์ล้านช้างที่ครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2091–2114 ดำเนินเรื่องตามความคติความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในสมัยภัทรกัปและพระพุทธเจ้าในอนาคต รวมไปทั้งการกล่าวถึงบ้านเมืองที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เมืองสุวรรณภูมิ เมืองศรีโคตรบอง และเมืองหนองหานหลวง เมืองหนองหานน้อย เป็นต้น

คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ จัดเป็นเอกสารโบราณสำคัญ เป็นหนังสือใบลานจารด้วยอักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย และภาษาบาลี ที่มีทำนองการแต่งเป็นภาษาโบราณแบบเฉพาะของท้องถิ่น มีความไพเราะ แทรกคติธรรม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี มีการใช้คำเป็นสำนวนภาษาให้เห็นภาพพจน์ ทำนองเปรียบเทียบ มีจำนวน 10 ผูก มีหลักฐานปรากฏอยู่ในลานหน้าสุดท้ายที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า หนังสือฉบับนี้ อาชญาเจ้าพระอุปราช พร้อมด้วยบุตร ภรรยา ให้สร้างขึ้นไว้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2405

ตามท้ายตำนานอุรังคธาตุระบุว่า ‘พระยาศรีไชยชมพู’ เป็นผู้คัดลอกในสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ด้วยเหตุนี้ นักประวัติศาสตร์จึงเชื่อว่า ตำนานอุรังคธาตุน่าจะเริ่มเขียนขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21

อนึ่ง การขึ้นทะเบียนเอกสารหรือเหตุการณ์สำคัญเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก มีกระบวนการการพิจารณาโดย International Advisory Committee (IAC) และรับรองโดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ในครั้งนี้มีรายชื่อขึ้นทะเบียนทั้งหมด 64 รายการ

โดยประเทศไทยเสนอขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก รอบปี ค.ศ. 2022 – 2023 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ หนังสือสมุดไทย เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง และคัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ

ทั้งนี้ คณะกรรมการ (IAC) และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ที่ได้พิจารณารับรองคัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก อย่างไรก็ตาม หนังสือสมุดไทย เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง ยังไม่ผ่านการพิจารณา โดยได้รับการแก้ไข 3 ครั้ง จึงขอให้ยูเนสโกมีคำอธิบายอย่างเป็นทางการเพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแก้ไขเอกสารให้ถูกต้องต่อไป

ปัจจุบัน คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ ที่อยู่ในความดูแลของกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ขอบคุณภาพถ่ายจาก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ที่มา


อ่านเพิ่มเติม สงกรานต์ ได้รับพิจารณาขึ้นทะเบียน ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ที่จับต้องไม่ได้โดยยูเนสโก – เพื่อนบ้านค้าน ‘มันคือวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์’

สงกรานต์
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.