การลอบสังหาร ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย หนึ่งในจุดเริ่มต้นของ สงครามโลกครั้งที่ 1

กระสุนไม่กี่นัดที่มือปืนยิงใส่ อาร์ชดยุก ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ และดัชเชสโซฟี คือแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิด มหาสงคราม ครั้งแรกของโลก

อาร์ชดยุก ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ คือมกุฎราชกุมารของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ที่หากพระองค์ไม่ทรงเสด็จสวรรคตจากกาถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 1914 พระองค์จะขึ้นเป็น จักรพรรดิแห่งออสเตรีย กษัตริย์แห่งฮังการี โครเอเชีย และ โบฮีเมีย คนถัดไป

อะไรทำให้ ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ถูกชิงชังจากชาวเซิร์บ และทำไมการจากไปของพระองค์ถึงเป็นแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ในทวีปยุโรป รวมถึงนำไปสู่ สงครามโลกครั้งที่ 1

ประวัติ อาร์ชดยุก ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์

อาร์ชดยุก ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ มีพระนามเต็มว่า ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ คาร์ล ลูทวิช โยเซฟ มารีอา แห่งออสเตรีย-เอ็สเทอ โดยพระองค์เป็นพระโอรสของ อาร์ชดยุก คาร์ล ลูทวิช แห่งออสเตรีย ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ทรงประสูติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1863 ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย ซึ่งแทบไม่เคยมีใครคาดคิดเลยว่า พระองค์จะทรงเป็นองค์รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อิมพีเรียลออสเตรีย-ฮังการี เนื่องจากในราชวงค์มีรัชทายาทเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้เมื่อทรงพระเยาว์ สิ่งที่พระองค์ทรงงานอดิเรกเป็นประจำนั่นคือล่าสัตว์และท่องเที่ยว โดย ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ สามารถล่ากวางได้มากกว่า 5,000 ตัว และพระองค์ทรงชอบเสด็จประพาสไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ก่อนที่ในปี 1882 พระองค์ได้ทรงเข้าร่วมกองทัพราชนาวี ซึ่งพระองค์ได้ทรงยศทหารเป็นร้อยโท

กระทั่งปี 1889 อาร์ชดยุกรูดอล์ฟ มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี พระราชโอรสใน จักรพรรดิฟรานซ์โยเซฟ ทรงสิ้นพระชนม์กะทันหันจากปัญหาคความรัก ทรงมีปากเสียงกับ อาร์ชดัชเชสสเตฟานี พระชายา เรื่องการมีนางสนม ก่อนที่จะตัดสินใจยิงบารอนเนสแมรีนางสนมและฆ่าตัวตายที่คฤหาสน์ล่าสัตว์มาเยอร์ลิง ส่วน สมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซีมีเลียนที่ 1 แห่งเม็กซิโก (พระนามเดิม อาร์ชดยุกเฟอร์ดินานด์ แม็กซีมีเลียน โจเซฟแห่งออสเตรีย) พระเชษฐาของ อาร์ชดยุก คาร์ล ลูทวิช ก็ไม่ได้ทรงอยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ เนื่องจากทรงไปรับตำแหน่งจักรพรรดิแห่งเม็กซิโก

ซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้น สิทธิในราชบัลลังก์ที่ควรจะเป็นของ อาร์ชดยุก คาร์ล ลูทวิช กลับมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อพระองค์ทรงปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งรัชทายาท ดังนั้น
ตำแหน่งจึงถูกส่งมาถึง ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ พระโอรสองค์โต

น่าเสียดายที่ อาร์ชดยุก ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ซึ่งครองตำแหน่งมกุฎราชกุมารจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีมานานหลายสิบปี ทรงสิ้นพระชนม์ไปก่อน จักรพรรดิฟรานซ์ โยเซฟ เพียง 2 ปี (ฟรานซ์ โยเซฟ เป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 2 ในยุโรป คือ 68 ปี ทรงสวรรคตไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 พระชนมายุ 86 ปี) โดยสิทธิในราชบัลลังก์ได้ถูกส่งกลับไปที่ อาร์ชดยุกคาร์ล พระนัดดาของ จักรพรรดิฟรานซ์ โยเซฟ ซึ่งต่อมา อาร์ชดยุกคาร์ล ทรงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของรางวงศ์ และแนวทางการทรงงานของพระองค์นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี

แผนปลงพระชนม์ที่ไร้ประสิทธิภาพแต่ได้ผลสำเร็จ

การลอบสังหาร ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ แห่งออสเตรีย คือหนึ่งในการลอบสังหารที่โด่งดังที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมกุฎราชกุมารของราชวงศ์ชั้นนำในยุโรป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้น เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองของยุโรปในยุคนั้น ทำให้การลอบสังหารผู้นำเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ

ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย รัชทายาทโดยพฤตินัยของ จักรพรรดิฟรานซ์ โยเซฟ ทรงทราบดีว่า ถูกเกลียดชังจากทั้งชาวฮังการี ชาวเซิร์บ และชาวสลาฟ จากทั้งเรื่องการต่อต้านชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ออสเตรีย และพฤติกรรมการชอบออกล่าสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ ว่ากันว่าตลอดอายุขัยพระองค์ยิงสัตว์ไปมากกว่า 2.5 แสนตัว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่อง เจ้าหญิงโซฟี ดัชเชสแห่งโฮเอินแบร์ค พระชายาที่ถูกต่อต้านจากประชาชนในจักรวรรดิ เพราะพระนางไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ยุโรปโดยตรง หลายคนมองว่าพระนางไม่เหมาะสมกับตำแหน่งพระราชินีในอนาคต

ต้องบอกว่าแผนการของ กลุ่มแบล็กแอนด์ หน่วยทหารลับชาวเซิร์บ ไม่ได้รัดกุมมากนัก พวกเขาคิดวิธีห่ามๆอย่างการขว้างระเบิดใส่รถเปิดประทุนของ ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ที่ตัดสินใจเดินทางมาชมการซ้อมรบที่ กรุงซาราเยโว นครหลวงของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

อย่างไรก็ตาม ด้วยความความชะล่าใจของ ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ และพระชายา แม้จะได้รับคำเตือนจากคนใกล้ชิดว่าพระองค์กำลังถูกปองร้าย การเดินทางไปซาราเยโวช่วงนี้เสี่ยงถูกโจมตี ทว่า ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ รวมถึงดัชเชสโซฟี กลับไม่ฟัง แถมทั้งสองพระองค์ยังมั่นใจว่าประชาชนในพื้นที่ชื่นชอบพระองค์

การลอบสังหารครั้งแรกเกิดขึ้นจริงตามคำเตือน ในวันที่ 28 มิถุนายน 1914 โดยการลอบปลงพระชนม์เริ่มต้นจากการที่ กลุ่มแบล็กแอนด์ ขว้างระเบิดใส่ขบวนรถของ ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ผิดพลาดจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน สร้างความแตกตื่นไปทั่วเมือง แต่ ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ กลับเปิดโอกาสที่สองให้กลุ่มคนร้าย พระองค์ตัดสินใจเปลี่ยนแผนการเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อเยี่ยมผู้บาดเจ็บ

จังหวะนั้นเอง กาฟริโล พรินซิป หนุ่มชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บ สมาชิกกลุ่มยังบอสเนีย ขบวนการปฏิวัติของคนรุ่นใหม่ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวเซิร์บตามมาพบกับขบวนสเด็จที่หยุดอยู่กลางถนน ก่อนที่เขาจะตรงเข้าไปใช้อาวุธปืนยิง ดัชเชสโซฟี และ ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ สวรรคตตามลำดับ แผนของเขาสำเร็จอย่างง่ายดาย หลังจากนั้น กาฟริโล ก็ถูกจับกุมตัว

เหตุการณ์หลังวันที่ 28 มิถุนายน 1914

กลุ่มคนที่ต่อต้าน ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ อาจไม่ทราบว่า แม้พระองค์จะมีหัวอนุรักษ์นิยม แต่ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่ 1 ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ทรงเป็นหนึ่งคนที่มีแนวคิดต่อต้านการทำสงครามในทุกรูปแบบ เพราะทรงเชื่อว่าสงครามจะส่งผลเสียต่อทั้งพระองค์ ราชวงศ์ และจักรวรรดิ

หลังจาก ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ สิ้นพระชนม์ลงเพียง 2 เดือน สงครามโลกก็ปะทุขึ้น จากปัจจัยการเมืองภายในของ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ที่วุ่นวาย จักรพรรดิฟรานซ์ โยเซฟ ชราภาพและมีอาการประชวร ไม่มีใครคอยทัดทานนักการเมืองส่วนใหญ่ที่อ้างเรื่องการแก้แค้นให้ ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ พวกเขาสนับสนุนให้มีการประกาศสงครามกับเซอร์เบีย ผ่านการยุยงของ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรีย-ฮังการี สุดท้าย จักรพรรดิฟรานซ์ โยเซฟ ก็ไม่มีทางเลือกอื่น

ด้านเซอร์เบียเองก็โกลาหลไม่แพ้กัน การสืบสวนคดีลอบสังหารครั้งฉาวโฉ่มีข้าราชการและนักการเมืองหลายคนถูกปลดจากตำแหน่ง รวมถึงมีข่าวว่าประชาชนกว่า 5 พันรายถูกจับไปขัง จำนวนมากถูกแขวนคอ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าพวกเขามีส่วนต่อการสวรรคตของ ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ขณะที่ กาฟริโล พรินซิป มือปืนรับโทษสถานเบาเพียงถูกขังคุก เนื่องจากยังเป็นผู้เยาว์ตามกฎหมาย

อนึ่ง นักวิเคราะห์การเมืองมองว่าความไม่มั่นคงทางการเมืองในพื้นที่ยุโรปตะวันออกเป็นปัญหาที่เรื้อรังยืดเยื้อมายาวนานคล้ายระเบิดเวลา ครอบคลุมทั้งมิติของการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา ทำให้การลอบสังหาร ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ เป็นเพียงปัจจัยเร้าให้เกิดสงครามเร็วขึ้นเท่านั้น และต่อให้การลอบสังหารล้มเหลว หรือไม่เกิดขึ้น สงครามออสเตรีย-ฮังการีกับเซอร์เบียก็คงจะเกิดขึ้นด้วยปัจจัยอื่นๆอยู่ดี

ดังนั้นแม้ เซอร์เบีย จะยอมทำตามที่ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ร้องขอทุกประการ แต่การเจรจาทางการทูตเกือบทุกรูปแบบก็ไร้ความหมาย ท้ายที่สุดในวันที่ 23 กรกฎาคม กองกำลังของทั้งสองฝ่ายก็เดินหน้าเข้าสู่สงคราม ก่อนที่ในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 สงครามจากปัญหาทวิภาคีในคาบสมุทรบอลข่านก็เริ่มบานปลาย เมื่อมหาอำนาจของยุโรปแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มไตรภาคี (ภายหลังมีสมาชิกเพิ่มและเปลี่ยนชื่อเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร) ประกอบไปด้วยฝรั่งเศส รัสเซีย และบริติช ที่สนับสนุนเซอร์เบีย กับ กลุ่มไตรพันธมิตร (ภายหลังมีสมาชิกเพิ่มและเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มมหาอำนาจกลาง) นำโดย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี

ทั้งสองฝ่ายสั่งระดมพลทหารก่อนที่จะปะทะกันในพื้นที่ต่างๆหลายทวีปทั่วโลก นำมาสู่ Great War หรือ สงครามโลกครั้งที่ 1 กินเวลายาวนาน 4 ปี 3 เดือน 2 สัปดาห์ โดยสงครามโลกครั้งแรกยุติลงในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 โดยฝ่ายสัมพันธมิตร สามารถเอาชนะ กลุ่มมหาอำนาจกลาง ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

สงความโลกครั้งแรกนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงสำคัญในประวัติศาสตร์โลกหลายอย่าง อาทิ การลงนามสนธิสัญญาแวร์ซาย , การล่มสลายของราชวงศ์และจักรวรรดิในยุโรป 4 แห่งคือที่ รัสเซีย, เยอรมัน, ออสเตรีย-ฮังการี และ ออตโตมัน , มีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 4 ล้านคน แต่บางรายงานระบุว่ามีคนตายมากถึง 13 ล้านคน และสงครามครั้งนั้นเป็นหนึ่งในชนวนที่นำไปสู่ สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

PHOTOGRAPH BY SHAWSHOTS, ALAMY

ที่มา

https://th.wikipedia.org/wiki/สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000062303

https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_703

https://ouropenspace.co/people/how-the-austro-hungarian-empire-destroyed- itself/

อ่านเพิ่มเติม เจาะเบื้องลึก-เปิดแผนลับ ‘ วันดีเดย์ ‘ แห่ง สงครามโลกครั้งที่สอง

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.