เจมส์ คุก ยอดกัปตันเรือผู้ค้นพบ ฮาวาย แต่กับ ออสเตรเลีย เขาอาจไม่ใช่คนแรกที่ไปถึง

เจมส์ คุก กลายเป็นอีกหนึ่งนักเดินเรือที่เมื่อเวลาผ่านไปถูกตั้งคำถามทั้งประเด็นการค้นพบทวีปออสเตรเลีย และ ข้อกล่าวหาเรื่องการรุกรานชนพื้นเมือง

เจมส์ คุก คือในนักเดินเรือรุ่นบุกเบิกที่มีชื่อเสียงอย่างมากในยุคหนึ่ง ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป คำถามเกี่ยวกับการค้นพบทวีปออสเตรเลียของเขาก็เปลี่ยนไป ทั้งข้อกังขาเรื่องการเป็นกลุ่มคนแรกที่ไปถึงจริงหรือไม่ และ อนุสาวรีย์ของเขาใน เซนต์คิลดา ประเทศออสเตรเลียก็ถูกละเลงสีใส่ในวันชาติออสเตรเลีย

ประวัติ เจมส์ คุก กัปตันเรือชาวอังกฤษ

เจมส์ คุก เกิดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1728 เขาเกิดในตระกูลชนชั้นแรงงานที่เมืองมาร์ตัน ในนอร์ทยอร์คเชียร์ ที่ต่อมากลายเป็นเมืองมิดเดิลสโบร์ ของประเทศอังกฤษ คุก คือหนึ่งในลูกห้าคนของนายเจมส์ ซีเนียร์ และนางเกรซ ที่มีอาชีพเป็นคนงานอพยพในฟาร์มของชาวสกอตแลนด์ ในวัยเด็กคุกได้ย้ายถิ่นฐานตามครอบครัวไปที่เมืองเกรทเอย์ตัน เขาได้รับการศึกษาในโรงเรียนท้องถิ่น โดยที่มีนายจ้างของพ่อเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนการศึกษา

ต่อมาเมื่ออายุได้ 13 ปี เจมส์ คุก เริ่มทำงานกับพ่อที่ตอนนั้นเป็นผู้จัดการฟาร์ม โดยในปีค.ศ. 1745 เมื่อเขามีอายุได้ 16 ปี คุกได้ออกจากบ้านไปเป็นคนงานฝึกหัดที่ร้านค้าของชำในฮาร์เบอร์แดชเชอร์ หมู่บ้านชาวประมงในสเตรทส์ ด้วยทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านนั่นจึงเป็นที่แรกที่คุกได้เห็นท้องทะเลเป็นครั้งแรก จากการมองออกผ่านนอกหน้าต่าง

เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เจมส์ คุก ตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ท้องทะเล เขาเป็นทั้งนักสำรวจ นักเดินเรือ และนักทำแผนที่ โดยจากการเดินทางไปในมหาสมุทรแปซิฟิก 3 ครั้ง แผนที่แนวชายฝั่งไว้ส่วนใหญ่ของ เจมส์ คุก ถูกนักเดินเรือรุ่นหลังนำไปใช้จนค้นพบดินแดนใหม่จำนวนมาก

ก่อนออกเดินทางไปออสเตรเลีย เจมส์ คุก เตรียมตัวอย่างดี เขาป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน อุปสรรคของนักเดินเรือยุคนั้นด้วย 3 วิธี คือ รักษาเรือให้สะอาดอยู่เสมอ , หาอาหารที่มีวิตามินซีอย่างส้มกับนะนาวให้ลูกเรือกินทุกวัน และมีอาหารพวกปลาสดเมื่อเรือจอดตามฝั่ง โดย เจมส์ คุก เชื่อว่าการทานอาหารที่ถูกต้องจะทำให้สุขภาพอนามัยของลูกเรือดี ไม่ป่วยเป็นโรคเลือดออกตามไรฟันที่มักระบาดบนเรือง่ายๆ ซึ่งวิธีนี้ทำให้เขาสามารถนำเรือและลูกเรือแล่นสำรวจมหาสมุทรปาซิฟิกได้หลายปี ชนิดที่ไม่มีใครในกองเรือเป็นโรคเลือดออกตามไรฟันเลย

วันที่ 19 เมษายน ปี 1770 กัปตันเจมส์ คุก ขึ้นฝั่งที่ออสเตรเลีย ตามคำสั่งลับจากกองทัพเรืออังกฤษที่ให้เสาะแสวงหาทวีปหรือดินแดนอันกว้างใหญ่และเข้าครอบครองดินแดนนั้นในพระนามของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ซึ่งกองเรือของกัปตันคุกได้เดินทางไปยังชายฝั่งตอนเหนือของออสเตรเลีย พร้อมทำแผนที่แนวชายฝั่งตะวันออก ก่อนจะมีการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าวให้เป็นของบริเตนใหญ่ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1770

ทั้งนี้ การยึดครอง ออสเตรเลีย ของ เจมส์ คุก ได้รับการสนุบสนุนจากชาวอังกฤษ เพราะพวกเขาเพิ่งพ่ายแพ้ในสงครามปฏิวัติอเมริกา (ค.ศ.1775-1783) จึงสูญเสียดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือส่วนใหญ่ไป การได้ออสเตรเลียมาจึงเป็นเหมือนการได้ดินแดนทดแทนสหรัฐอเมริกา แม้ว่าในช่วงแรกพื้นที่แห่งนี้จะเป็นดินแดนที่เอาไว้เนรเทศนักโทษก็ตาม แต่ต่อมาก็สามารถก่อตั้งจนกลายเป็นประเทศหลักในภูมิภาคได้

นอกจากนี้ เจมส์ คุก ยังค้นพบเกาะฮาวาย และ เกาะนิวซิแลนด์ น่าเสียดายที่เขาถูกฆ่าตายระหว่างการต่อสู้กับชนพื้นเมืองฮาวาย ที่อ่าวเกียลาคีกัว เกาะฮาวายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1779 การสำรวจของเขาจึงหยุดอยู่เพียงเท่านั้น

เจมส์ คุก อาจไม่ใช่ชาวตะวันตกคนแรกที่ไปถึงทวีปออสเตรเลีย

แม้ว่าประเทศออสเตรเลียจะเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรมายาวนาน และผู้คนทั่วโลกรับรู้ว่า เจมส์ คุก เป็นผู้ค้นพบทวีปออสเตรเลีย แต่ในรายงานของนักประวัติศาสตร์หลายแห่งแย้งว่า อังกฤษ ไม่ใช่ชนชาติแรกที่มาถึงออสเตรเลีย

ก่อน ค.ศ. 1770 ที่กัปตันเจมส์ คุก จะนำกองเรือขึ้นฝั่งในทวีปออสเตรเลีย จนได้ชื่อว่าเป็นบุคคลแรกที่ได้เข้ามาสำรวจประเทศออสเตรเลีย และยึดออสเตรเลียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ วิลเลม แจนส์ซูน ต่างหากที่เป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางไปถึงทวีปออสเตรเลีย

มีการบันทึกไว้ว่า วิลเลม แจนส์ซูน นักเดินเรือชาวเนเธอร์แลนด์ได้เดินทางมาสำรวจบริเวณคาบสมุทรเคปยอร์กทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลียในช่วงปี ค.ศ.1605 – 1606 โดย แจนส์ซูน ได้ทำแผนที่แนวชายฝั่งประมาณ 320 กม. (200 ไมล์) แต่ตอนนั้นเขาคิดว่าออสเตรเลียเป็นส่วนขยายทางตอนใต้ของนิวกินี ซึ่งหลักฐานสำคัญได้แก่การเรียกชื่อดินแดนแห่งนี้ว่า นิวฮอลแลนด์ ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนเป็น ออสเตรเลีย

ขณะเดียวกัน ยังมีบันทึกรายชื่อนักเดินเรือชาวดัตช์อีกหลายคนที่เดินทางมาสำรวจออสเตรเลียก่อน เจมส์ คุก อาทิ เดิร์ก ฮาร์ดอก ในปี 1616 , เฟรเดอริค เดอ เฮาตืมัน ในปี 1619 และ อาเบิล แทสมัน ระหว่างปี 1642-1644 ที่สำรวจจากออสเตรเลีย เลยไปถึง นิวซีแลนด์ ตองกา และ ฟิจิ รวมทั้งยังมีนักเดินเรือชาวอังกฤษอย่าง วิลเลียม แดมเบียร์ เดินทางมาสำรวจทางตะวันตกของออสเตรเลียเมื่อปี 1699

ดังนั้น เจมส์ คุก จึงไม่ใช่ทั้งชาวยุโรปหรือชาวอังกฤษคนแรกที่ค้นพบทวีปออสเตรเลีย แต่เขาเป็นเพียงคนแรกที่บุกเบิกการอยู่อาศัย รวมถึงยึดครองดินแดนในประเทศออสเตรเลียให้เป็นของสหราชอาณาจักร

จากบิดาของประเทศ สู่คนขาวนักล่าอาณานิคม

เมื่อเวลาผ่านไปและประวัติศาสตร์ถูกชำระเรื่อยๆ เจมส์ คุก ก็มีสภาพไม่ต่างกับ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส คือจาก ฮีโร่ ทู ซีโร่ การค้นพบดินแดนใหม่ของพวกเขาถูกมองอีกมิติว่าเป็นคนขาวที่รุกรานชนพื้นเมือง และนำไปสู่การสูญพันธุ์ของคนท้องถิ่นหลายเผ่า

ทุกวันที่ 19 เมษายน เป็นวันค้นพบประเทศออสเตรเลีย ที่ผ่านมาในประเทศมีการเฉลิมฉลองตลอด แต่ในช่วงปีหลังๆ กลายเป็นว่าสังคมตั้งคำถามถึงการเดินทางมาของ เจมส์ คุก ว่าไม่ใช่แค่ บุกเบิก แต่มีการรุกรานร่วมด้วย

ส่วนวันที่ 26 มกราคม ของทุกปีที่เป็นวันชาติออสเตรเลีย โดยยึดจากวันที่ กัปตัน อาร์เทอร์ ฟิลลิป ชูธงอังกฤษเป็นครั้งแรกที่ Sydney Cove ซึ่งเป็นการเดินทางมาถึงออสเตรเลียครั้งแรกของเขาด้วย The First Fleet กองเรือ 11 ลำจากสหราชอาณาจักร กับภารกิจพานักโทษที่มาปล่อยที่เกาะขนาดใหญ่ระดับทวีปแห่งนี้ และทำการประกาศการครอบครองเกาะออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 26 มกราคม ปี 1788

แต่ล่าสุด เมื่อปี 2018 นอกจากวันค้นพบทวีปของ เจมส์ คุก วันชาติออสเตรเลีย ก็กลายเป็นข้อพิพาทเรื่องชะตากรรมของชนพื้นเมืองที่ถูกชาวยุโรปกระทำยํ่ายี บางคนใช้คำแรงถึงขั้น ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยในปีนั้นรูปปั้นกัปตันเจมส์คุกในเมืองเมลเบิร์น ถูกคนแอบเอาสีชมพูไปละเลงใส่ และฉีดข้อความว่า “พวกเราจดจำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

การเฉลิมฉลองในทั้งสองวันถูกลดกิจกรรมลงเรื่อยๆ เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าเป็นการสร้างบาดแผลให้กับชนพื้นเมืองมากกว่า โดยเฉพาะ ชาวอะบอริจิน ชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยในทวีปออสเตรเลียมากว่า 4 หมื่นปี แต่ทุกวันนี้กลายเป็นคนชายขอบของประเทศออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า กัปตัน เจมส์ คุก เป็นนักเดินเรือและนักสำรวจสำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 18 และการเดินเรือของเขาช่วยทำให้โลกได้รู้ถึงสภาพภูมิศาสตร์ของดินแดนอีกฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิกมากยิ่งขึ้น

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

PHOTOGRAPH BY AUSCAPE INTERNATIONAL PTY LTD., ALAMY STOCK PHOTOS

ที่มา

https://en.wikipedia.org/wiki/James_Cook

https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/50969

https://www.baanjomyut.com/library/discovery_history/30.html

https://hmong.in.th/wiki/Willem_Janszoon

https://voicetv.co.th/read/Bys7i5drM

อ่านเพิ่มเติม คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จากผู้สร้างข้อพิพาทสนธิสัญญาทอร์เดซิลลาส สู่ฆาตกรและสัญลักษณ์การเหยียดผิว

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.