๙ ช่างภาพสารคดีกับในหลวงรัชกาลที่ ๙

ช่างภาพสารคดีชั้นนำ 9 คนน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชผ่านภาพถ่ายซึ่งมีทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ในโอกาสต่างๆ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วิถีชีวิตผู้คน ไปจนถึงแง่มุมที่เป็นส่วนตัว ภาพถ่ายเหล่านี้คือตัวแทนเพียงน้อยนิดที่สะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ พระวิริยะอุตสาหะ และความห่วงใยที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์

 

“ฉันห้ามเธอหมดกำลังใจ”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายปีเตอร์ ที. ไวต์ นักเขียนจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในภาพนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกางแผนที่ประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว และไทย ที่สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จัดทำขึ้น

ดีน คองเกอร์ ช่างภาพจาก เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก บันทึกภาพขณะปีเตอร์ ที. ไวต์ นักเขียน เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อกราบบังคมทูลสัมภาษณ์ประกอบสารคดีเรื่อง “Hope and Fears in Booming Thailand” ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1967

ในช่วงท้ายของการพำนักอยู่ในเมืองไทย ผมได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสกับผมในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่ถนนหนทาง พืชผลทางการเกษตร จิตวิทยา ขวัญกำลังใจของผู้คน ไปจนถึงความสำคัญของครอบครัวในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง พระองค์ตรัสว่า สิ่งที่ประเทศต้องการมากที่สุดคือ ข้าราชการที่ดี จากนั้นทรงเล่าเรื่องหนึ่งให้ผมฟัง

ใกล้กับพระราชวังไกลกังวลที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายแพทย์ผู้หนึ่งมองเห็นว่า งานของเขาตกอยู่ในอันตรายจากภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ เขาขาดแคลนทรัพยากรในการทำงาน ด้วยเหตุนี้ เขาจึงรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง เขาควรแค่นั่งดูเฉยๆ ขณะที่สิ่งต่างๆ ยํ่าแย่ลง หรือบางทีอาจหนีไปกรุงเทพฯ เพื่อมองหาความก้าวหน้าของตนเอง พระองค์ทรงได้ยินเรื่องของชายผู้นี้ และเสด็จฯ ไปทรงพบเขา “ข้าพเจ้าให้เงินทุนที่เขาจำเป็นต้องใช้ และบอกเขาว่า ‘ฉันห้ามเธอหมดกำลังใจ’ ’’

ขณะเครื่องบินของผมทะยานขึ้นจากท่าอากาศยานดอนเมือง ผมเห็นแสงแดดแผดเผาหมอกควันไปจากท้องทุ่งข้าวกว้างใหญ่ เช้าวันนั้น ผมได้ยินมาว่า คอมมิวนิสต์กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งใกล้ๆ กรุงเทพฯ ในห้วงความคิดนั้น พระราชดำรัสของพระองค์ก็แว่วเข้ามา “ฉันห้ามเธอหมดกำลังใจ” ผมกำลังเดินทางกลับบ้านในสหรัฐฯ แต่ผมคงจะนึกถึงเมืองไทยอยู่เนืองๆ และระลึกถึงพระราชดำรัสนั้นตราบนานเท่านาน  — ปีเตอร์ที.ไวต์

 

“ผมรักในหลวงครับ”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์

เพียงเสี้ยววินาทีที่พระองค์ผินพระพักตร์มา และทรงพระสรวล เพื่อให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ แม้เป็นช่วงเวลาแสนสั้น ทว่ากลับเป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของข้าพระพุทธเจ้า เป็นทั้งความทรงจำที่ไม่มีวันลบเลือน และบันดาลความรู้สึกปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นหาที่เปรียบมิได้ — ยุทธนาอัจฉริยวิญญู

 

“จงรักและภักดี”

คุณตาประเวศ ภูนาค อวดภาพถ่ายตนเองในเครื่องแบบทหารอากาศสมัยยังเป็นหนุ่ม ท่านชอบสวมเครื่องแบบสีกรมท่าเป็นประจำกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

คุณตาของผมมักพูดเสมอว่า “ข้าราชการคือข้าราชบริพารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และการได้รับราชการคือความฝันของท่าน คุณตาเล่าว่า อันที่จริงท่านไม่สามารถรับราชการได้ เนื่องจากความเข้าใจผิดเรื่องสัญชาติ แต่ด้วยความรักในแผ่นดินไทย สมัยเป็นวัยรุ่นจึงไปสมัครเป็นทหารอากาศ และพยายามชี้แจงที่มาที่ไปและลำดับสัญชาติของบิดาจนทางการอนุมัติให้รับราชการได้ในที่สุด

คุณตาได้รับราชการเป็นทหารอากาศด้วยความภาคภูมิใจ ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรักผืนแผ่นดินและจงรักภักดีเสมอมา จนกระทั่งลาออกจากการเป็นทหารตอนอายุ 30 ปี ท่านมักภูมิใจเสมอเวลาอวดภาพถ่ายของตนเองในเครื่องแบบทหารอากาศสมัยยังหนุ่ม

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ท่านยังคงรักเครื่องแบบทหารอากาศและสวมใส่ (โดยไม่ติดเครื่องหมาย) ต่อมาทุกวันจนภาพคุณตาสวมชุดทหารอากาศสีกรมท่ากลายเป็นภาพในความทรงจำของผม คนในครอบครัว และเพื่อนบ้าน คุณตาเป็นแบบอย่างในการทำงาน การใช้ชีวิตสอนให้ผมและคนในครอบครัวจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จวบจนลมหายใจสุดท้ายของท่าน — เอกรัตน์ปัญญะธารา

 

“ในหลวงอนุญาตให้อยู่”

ชาวปะหล่องหรือดาระอั้ง (แปลความได้ว่า ผู้ชอบอาศัยอยู่บนภูเขา) จำนวนมากอพยพหนีภัยสงครามในเมียนมาร์ (พม่า) มายังประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2527 และต่อมาได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อาศัยอยู่ในบ้านนอแล ใกล้กับบ้านขอบด้งและโครงการหลวงดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ในยุคที่สงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมาร์ยังร้อนระอุ กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากหลบหนีภัยจากการสู้รบหลั่งไหล เข้ามายังประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือชาวดาระอั้งหรือปะหล่อง ซึ่งระหกระเหินมาตั้งถิ่นฐานบนดอยนอแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ติดกับพรมแดนเมียนมาร์

ด้วยเหตุที่ดอยนอแลอยู่ไม่ไกลจากดอยอ่างขาง ชาวดาระอั้งจำนวนมากจึงได้อาศัยทำงานที่โครงการหลวงหลายคนยังคงสวมชุดของกลุ่มชาติพันธุ์ จนเป็นที่มาของภาพหญิงสาวชาวดาระอั้งในชุดประจำเผ่าคนนี้

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ ทรงตรวจเยี่ยมโครงการหลวง เป็นช่วงที่ชาวดาระอั้งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยใหม่ๆ พวกเขาได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวดาระอั้งสร้างชุมชนได้ จึงเกิดหมู่บ้านนอแลขึ้น ทุกวันนี้ ชาวดาระอั้งหลายครอบครัวสร้างฐานะและดำรงชีวิตอย่างมีความสุขหลายคนยังคงทำงานที่โครงการหลวง จนมักมีคำกล่าวในหมู่ชาวดาระอั้งว่า พวกเขาลืมตาอ้าปากและมีอยู่มีกินได้อย่างทุกวันนี้เพราะ “ในหลวงอนุญาตให้อยู่” — สุเทพกฤษณาวารินทร์

 

“ความเพียร”

การทำฝนเทียมหรือฝนหลวงเป็นเทคนิคการเหนี่ยวนำนํ้าจากฟ้าโดยอาศัยหลักการความร้อนชื้นปะทะกับความเย็น มีการใช้เครื่องบินโปรยสารเคมีจนไอนํ้าในอากาศอิ่มตัว และควบแน่นกลั่นตัวลงมาเป็นฝน เทคนิคนี้ต้องอาศัยความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิที่เหมาะสม และความสามารถในการบินประกอบกัน

เมื่อครั้งผมได้รับมอบหมายให้ถ่ายภาพประกอบหนังสือ “กลางใจหทัยราษฎร์” ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผมมีโอกาสได้เดินทางไปยังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายแห่งทั่วประเทศ และได้ซึมซับแนวคิดหลายอย่างโดยไม่รู้ตัว

หนึ่งในนั้นคือโครงการฝนหลวงซึ่งผมประทับใจเป็นพิเศษ ลองคิดดูสิว่า จะมีประเทศไหนในโลกที่มีพระมหากษัตริย์ผู้สามารถบันดาลให้พื้นที่แห้งแล้งกลับมาชุ่มฉํ่าได้ นอกจากโครงการพระราชดำริด้านชลประทานที่มีอยู่ทั่วประเทศแล้ว ก็มีโครงการฝนหลวงที่สะท้อนให้เห็นพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์อย่างมาก ทั้งการค้นคว้า การทดลอง ไปจนถึงการสังเกตธรรมชาติ

ผมติดต่อโครงการฝนหลวงที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อขอถ่ายภาพการทำฝนหลวง ซึ่งกว่าจะหาวันเวลาที่พร้อมได้ก็ผ่านไปหลายเดือน เพื่อเฝ้ารอทั้งสภาพอากาศ ฤดูกาล และเครื่องบิน ในที่สุดทางโครงการก็อำนวยความสะดวกให้ผมเป็นอย่างดี ในวันนั้น ผมมีโอกาสขึ้นบินสองรอบคือตอนเช้าขึ้นไปกับเฮลิคอปเตอร์ และช่วงบ่ายขึ้นไปกับฝูงบิน หลังจากถ่ายภาพเสร็จ ระหว่างบินกลับในช่วงบ่ายวันนั้น เกิดฝนตกลงมาใกล้ๆ กับพื้นที่ที่โปรยสารเคมีทำฝนหลวงไว้ ทำให้ผมประทับใจไม่รู้ลืม

ผมทราบดีว่าการทำฝนหลวงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการทดลองอย่างหนัก และหลายครั้งก็ต้องประสบกับความล้มเหลว แต่ในที่สุดจะมีสักครั้งหนึ่งที่ทำสำเร็จ ซึ่งนั่นเป็นแรงบันดาลใจที่ผมน้อมนำมาปรับใช้กับการทำงานและดำรงชีวิต นั่นคือ ความเพียร และการค้นคว้าทำงานอย่างหนักเพื่อหาคำตอบ — อธิษฐ์พีระวงศ์เมธา

 

“สายพระเนตรยาวไกล”

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 จากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จประพาสต้นบนดอย พระองค์ทรงพลิกฟื้นภูเขาแห้งแล้ง เต็มไปด้วยไร่ฝิ่น จนกลายเป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวแห่งแรก นำความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนมาอีกครั้ง

ผมมีโอกาสทำสารคดีเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสองครั้ง คือเรื่อง “ขบวนเรือพระราชพิธี มรดกลํ้าค่าแห่งสยาม” และ “ประพาสต้นบนดอย” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงการหลวง สำหรับสารคดีเรื่องเรือพระราชพิธีนั้น นอกจากจะตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย แล้ว สารคดีเรื่องนั้นยังได้รับการตีพิมพ์ซํ้าเป็นภาษาต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งเป็นกำลังใจให้ผมทำงานด้านภาพถ่ายตลอดมา

กระนั้น ภาพที่ผมประทับใจอีกภาพ เห็นจะเป็นภาพชาวดาระอั้งกำลังช่วยกันเก็บใบชายามเช้าที่ไร่ชา 2,000 บนดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตพื้นที่แถบนี้ทั้งหนาวเย็น แห้งแล้ง และเต็มไปด้วยไร่ฝิ่น ภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาสลับซับซ้อน ทำให้ยากต่อการปราบปราม

ทว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงไม่ย่อท้อ พระองค์ทรงบากบั่นเดินทาง ทั้งทรงล่อ และทรงพระดำเนินไปตามเส้นทางทุรกันดารและอันตรายจนถึงที่หมาย ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มโครงการหลวงแห่งแรกที่นี่และเป็นต้นแบบให้ที่อื่นๆ นำพาให้ชาวบ้านไม่ต้องพึ่งพิงการปลูกฝิ่นอีกต่อไป เรียกได้ว่าเป็นการเอาชนะยาเสพติดได้โดยไม่ต้องใช้อาวุธหรือการปราบปรามเลย

ภาพนี้ผมเห็นรอยยิ้ม และการพูดคุยหยอกล้อกันระหว่างการเก็บใบชา เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีความสุขกับชีวิตที่มั่นคง ทำให้ผมระลึกถึงพระอัจฉริยภาพ พระวิริยะอุตสาหะ และสายพระเนตรที่ยาวไกลในการยกระดับคุณภาพชีวิตพสกนิกรของพระองค์ — เริงชัยคงเมือง

 

“ผู้ปิดทองหลังพระ”

“น้องเมย์” ภัทรา กรังพานิชย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สูญเสียขาทั้งสองข้างจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อหลายปีก่อน ทุกวันนี้ เธอเป็นหนึ่งในนักดำนํ้า Wheel Chair กลุ่มแรกของประเทศไทย ที่ผ่านการเรียนดำนํ้าลึกด้วยอุปกรณ์ดำนํ้าแบบสกูบา

ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้พากลุ่มผู้พิการ “Wheelchair Scuba” ไปเรียนดำนํ้า โครงการสอนดำนํ้านี้ใช้ชื่อว่า “ใจบันดาลแรง” เป็นโครงการที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของครูดำนํ้าจิตอาสาที่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า คนพิการไม่เพียงสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติร่วมกับคนในสังคมได้ แต่ยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสนุก รื่นรมย์ และสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ได้อีกด้วย

ที่น่าสนใจคือ แม้ผมจะได้สัมผัสชีวิตของผู้พิการเหล่านี้เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ผมกลับรู้สึกได้ถึงกำลังใจอันเต็มเปี่ยม ความแข็งแกร่ง ที่อาจจะมากกว่าพวกเราหลายคน ทุกคนล้วนมองโลกในแง่ดี และพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับให้ผู้อื่นอย่างจริงใจ

ที่ผ่านมา ผมเคยได้ยินว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกรณียกิจมากมายเกี่ยวข้องกับคนพิการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และความเท่าเทียมกัน หลายโครงการเราอาจไม่รู้มาก่อน กิจกรรมนี้สะท้อนให้เห็นว่า นี่คือการปิดทองหลังพระ เป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่มีพลังอันยิ่งใหญ่ ซึ่งถือเป็นการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทอย่างหนึ่ง — นัทสุมนเตมีย์

 

“จากปลายนํ้าสู่ยอดดอย”

คลองลัดโพธิ์เดิมเป็นคลองสายสั้นๆ มีความยาวประมาณ 600 เมตร เป็นเส้นทางลัดเชื่อมต่อแม่นํ้าเจ้าพระยาช่วงที่คดโค้งกว่า 18 กิโลเมตรในเขตจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อคูคลองลดความสำคัญลง คลองลัดโพธิ์จึงมีสภาพตื้นเขิน กระทั่งเกิดโครงการตามแนวพระราชดำริขุดลอกคลองและสร้างประตูนํ้าสำหรับใช้เร่งระบายนํ้าท่วม และหน่วงเวลานํ้าทะเลหนุนช่วยป้องกันนํ้าท่วมในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน

เมื่อปี พ.ศ. 2554 ผมกำลังทำสารคดีเกี่ยวกับการบริหารจัดการนํ้า และตรงกับเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่พอดี ผมเดินทางไปทั่วประเทศ ตั้งแต่ต้นนํ้าทางภาคเหนือ สถานที่ที่เคยเกิดหายนะดินโคลนถล่มที่อำเภอนํ้าปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ จนครั้งหนึ่งมีโอกาสได้ขึ้นไปสำรวจที่สูงโดยเฮลิคอปเตอร์แถวเขตจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี ตอนนั้นผมเห็นว่ามวลนํ้าปริมาณมหาศาลล้อมรอบกรุงเทพฯ ทุกทิศทาง และอีกไม่นานคงทะลักเข้ามาแน่ๆ

รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันนํ้าท่วม รวมทั้งระบายนํ้าเหนือที่กำลังไหลบ่าลงมา ช่วงนั้นผมได้ยินข่าวเรื่องเรือผันนํ้าและคลองลัดโพธิ์ ซึ่งเป็นโครงการบริหารจัดการนํ้าป้องกันนํ้าทะเลหนุนสูงบริเวณใกล้ๆ ปากแม่นํ้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ ผมจึงเดินทางไปถ่ายภาพนี้ เพราะเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากนํ้าท่วมและนํ้าทะเลหนุนสูงได้ทุกปี

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสไปเยือนโครงการหลวงแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเส้นทางทุรกันดาร ทว่าเมื่อไปถึงที่หมาย ผมกลับทึ่งกับคุณภาพชีวิตของผู้คนที่นั่น ชาวบ้านปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลักโดยมีผืนป่าอุดมสมบูรณ์อยู่รายรอบ รวมทั้งเลี้ยงแกะเพื่อตัดขนส่งขายประเทศญี่ปุ่น ภาพชีวิตที่นั่นทำให้ผมนึกไม่ออกเลยว่าสมัยที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาเมื่อ 46 ปีก่อนจะยากลำบากขนาดไหน และพระองค์ทรงบันดาลให้ภูเขาหัวโล้นที่เต็มไปด้วยไร่ฝิ่น กลับมาเป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์ได้อย่างไร — จันทร์กลางกันทอง

 

“ความสมถะ”

พื้นฉลองพระบาทคู่นี้ได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีโดย “ช่างไก่” ศรไกร แน่นศรีนิล เจ้าของร้าน ก. เปรมศิลป์ ช่างซ่อมและตัดฉลองพระบาทถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พื้นฉลองพระบาทคู่นี้มาจากฉลองพระบาทคู่โปรดของพระองค์ ทรงใช้งานมาหลายสิบปีและได้รับการซ่อมแซมซํ้าแล้วซํ้าเล่า

ผมถ่ายภาพพื้นฉลองพระบาทคู่นี้เพื่อประกอบสารคดีเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2553 พื้นฉลองพระบาทนี้ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่ร้าน ก.เปรมศิลป์ บริเวณแยกพิชัยซึ่งเป็นร้านทำรองเท้า และเป็นผู้ซ่อมแซมฉลองพระบาทถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมายาวนานกว่าสิบปี

พื้นฉลองพระบาทเก่าโทรมคู่นี้ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่าและนำมาซ่อมซํ้าแล้วซํ้าเล่า จนเจ้าของร้านเก็บไว้บูชาเป็นแรงบันดาลใจให้ผมในเรื่องความสมถะ ผมคิดว่าพระองค์ทรงเป็นถึงพระมหากษัตริย์ และมหาบุรุษผู้ทรงริเริ่มโครงการเพื่อประชาชนมากมาย พระองค์จะทรงซื้อฉลองพระบาทเปลี่ยนใหม่ไม่ซํ้ากันทุกวันก็ยังได้ แต่พระองค์กลับทรงเลือกซ่อมแซมของเก่าและใช้งานอย่างคุ้มค่า และเก็บเงินไว้ช่วยเหลือประชาชนแทน ทำให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนและการดำรงพระองค์อย่างสมถะพอเพียง

ภาพถ่ายของผมส่วนมากเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเพราะพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่พระองค์เคยตรัสไว้ในทำนองว่า อย่าถ่ายภาพเพียงแต่ความสวยงามอย่างเดียว แต่ให้ถ่ายภาพเพื่อให้ภาพนั้นได้ช่วยเหลือสังคมด้วย ซึ่งผมน้อมนำไปปฏิบัติเสมอมา

ทุกวันนี้ ผมและครอบครัวเจริญรอยตามปรัชญาและแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทั้งความเป็นอยู่ การดำรงชีวิต ความสมถะ การสร้างภูมิคุ้มกัน และความสมเหตุสมผล — เริงฤทธิ์คงเมือง

 

อ่านเพิ่มเติม : รูปที่มีทุกบ้าน, คุยกับซีซาร์ มิลแลน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.