ชาวชิมู – ในขณะนี้ประเทศเปรูกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จากการรายงานพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 170,000 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 225 ราย หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้โรคไข้เลือดออกระบาดหนักในเปรูคือสภาพอากาศชื้นที่ผิดปกติซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
แม้นักวิทยาศาสตร์จะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือสาเหตุที่ทำให้ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญในเปรูทวีความรุนแรงขึ้น แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์กลับชี้ให้เห็นว่าสภาวะอากาศแปรปรวนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตของผู้คนในประเทศนี้มาหลายพันปีแล้ว หลักฐานที่พบแสดงถึงการรับมือกับภัยธรรมชาติของผู้คนในยุคโบราณในรูปแบบของสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันอาณาจักรจากภัยพิบัติต่างๆ และการวิงวอนขอความช่วยเหลือจากเทพเจ้าผ่านการบูชายัญชีวิตเด็กซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์โลกมาก่อน
นับตั้งแต่ปี 2011 กาเบรียล ปรีเอโต นักโบราณคดีชาวเปรูและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกได้ค้นพบร่องรอยของการบูชายัญหมู่โดยใช้เด็กเป็นเครื่องสังเวยรอบตัวเมืองชันชัน (Chan Chan) เมืองขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของเปรูที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมจากอิฐโคลน เมืองนี้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรชิมู (Chimú) นับตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา จนกระทั่งถูกชาวอินคาเข้ามายึดครองพื้นที่ในช่วงปี 1470 ปัจจุบันนี้ นักโบราณคดีขุดพบศพมากกว่า 250 ร่างของเหยื่ออายุน้อยที่ถูกปลิดชีพอย่างโหดเหี้ยมเพื่อใช้สังเวยในพิธีบูชายัญที่จัดขึ้นช่วงปี 1400 – 1450 โดยส่วนใหญ่ร่างที่พบจะถูกฟันหน้าอกเป็นแนวขวาง จากนั้นจะถูกห่อร่างด้วยผ้าฝ้ายและนำไปฝังไว้ข้างกับลูกลามะ
โดยส่วนใหญ่แล้ว สถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีบูชายัญจะพบได้ในแหล่งโบราณคดีที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งของเปรู บริเวณหลุมฝังร่างเหยื่อจากการบูชายัญที่ถูกโคลนทับถมจนกลายเป็นชั้นหนาเป็นหลักฐานชัดเจนที่ยืนยันได้ว่าบริเวณนี้เคยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญมาตั้งแต่ยุคโบราณ ชั้นโคลนหนา ๆ แสดงให้เห็นว่าเคยเกิดฝนตกหนักขึ้นในพื้นที่นี้มาก่อน นอกจากนี้ ปรีเอโตยังอธิบายเสริมว่า “มีเพียงเอลนีโญเท่านั้นที่สามารถทำให้ฝนตก” ในแถบชายฝั่งทางตอนเหนือของเปรูที่สุดแสนจะแห้งแล้งได้
แต่เดิม ชาวเมืองชันชันดำรงชีวิตโดยพึ่งพาการทำประมงชายฝั่งและระบบชลประทานที่ออกแบบให้สามารถทำการเกษตรได้ทั้งปี อย่างไรก็ดีอุณหภูมิของท้องทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและฝนที่ตกอย่างหนักจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อาจสร้างความเสียหายให้ทั้งสองสิ่งนี้ นักวิจัยหลายคนสันนิษฐานว่าสภาพอากาศที่รุนแรงจากเอลนีโญอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจของอาณาจักรชิมูระส่ำระสาย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ว่าบรรดานักบวชและผู้มีอำนาจในอาณาจักรสั่งให้จัดพิธีบูชายัญหมู่ขึ้นอย่างสิ้นหวัง เพื่อที่จะวิงวอนให้เทพเจ้าหยุดฝนฟ้าและหายนะที่เกิดขึ้น
ฮาเกน คลอส ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอร์จเมสันได้อธิบายเกี่ยวกับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในอาณาจักรชิมูว่า “การบูชายัญเป็นวิธีการเจรจาและสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่ถูกจัดขึ้นด้วยความตั้งใจ สำหรับชาวชิมูพิธีกรรมนี้เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับจักรวาล”
ปรีเอโตเสริมว่า “ถ้ามองจากจำนวนของเด็กและสัตว์ที่ถูกสังเวยแล้ว พิธีกรรมนี้คงจะเป็นการลงทุนมหาศาลของอาณาจักร”
ด้านเจน อีวา แบกซ์เตอร์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเดอโปลซึ่งเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เด็กและวัยเด็กตั้งข้อสังเกตขึ้นว่า ชาวชิมูอาจมีความเชื่อว่าลูกหลานของพวกเขาเป็นเครื่องบูชาที่มีค่าที่สุดเท่าที่จะหามาถวายให้เหล่าเทพเจ้าได้ เธอพูดเสริมว่า “นั่นหมายความว่าคุณเลือกสังเวยอนาคตและโอกาสของอาณาจักร ความพยายามและความตั้งใจทั้งหมดที่คุณทุ่มเทเพื่อสร้างครอบครัวและสร้างสังคมต่อ ๆ ไปในอนาคตจะสูญเปล่าไปพร้อมกับเด็กที่ถูกสังเวยในพิธีบูชายัญ”
สำหรับชาวชิมู แม้ว่าการทำพิธีบูชายัญเพื่อให้เหล่าเทพเจ้าพึงพอใจและเพื่อหยุดฝนที่เกิดจากเอลนีโญจะเป็นเรื่องด่วนที่ต้องรีบจัดการ แต่การเตรียมการของพิธีอันยิ่งใหญ่นี้กลับเป็นไปอย่างพิถีพิถัน เด็กชายและเด็กหญิงที่ร่างกายแข็งแรงจำนวนหลายร้อยคนถูกส่งมาจากเมืองต่างๆ ในอาณาจักร ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กเหล่านี้ถูกเลือกให้เป็นผู้มีชะตากรรมแสนเลวร้ายนั้นยังอยู่ในกระบวนการศึกษาและค้นคว้า สำหรับลูกลามะ อีกหนึ่งเครื่องสังเวยสำคัญในพิธีนี้จะถูกเลือกจากฝูงสัตว์ของผู้ปกครองอาณาจักร นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเกณฑ์ที่ในการเลือกลูกลามะไปเข้าร่วมพิธีกรรมคืออายุและสีขนของพวกมัน
ในช่วงปี 2011 ถึง 2018 ปรีเอโตและจอห์น เวราโน นักมานุษยวิทยาชีวภาพจากมหาวิทยาลัยทูเลนได้ร่วมกันขุดค้นร่างของเหยื่ออายุน้อยที่ถูกฝังในสุสานฮวนชาคีโต-ลาส ยามัสขึ้นมาเรื่อย ๆ นอกจากจะพบร่างของเด็กที่ถูกใช้เป็นเครื่องบูชาในพิธีแล้ว พวกเขายังค้นพบร่องรอยและเบาะแสทางนิติวิทยาศาสตร์บางอย่างที่ช่วยให้พวกเขาเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ของพิธีบูชายัญขึ้นใหม่ได้
รูปแบบของรอยเท้าและเส้นทางที่ถูกเก็บรักษาไว้ใต้ผืนโคลนแสดงให้เห็นว่ามีการเคลื่อนขบวนแห่เข้าสู่สถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีบูชายัญ ร่องรอยของรอยเท้าขนาดเล็กและรอยเท้าของสัตว์สี่ขาที่ถูกลากไปอย่างไม่เต็มใจทำให้ปรีเอโตและเวราโนเห็นตรงกันว่าเหยื่อที่ถูกสังเวยในพิธีถูกพาไปยังจุดที่กลายเป็นหลุมฝังศพของพวกเขาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้การไม่พบแมลงในซากศพก็บ่งบอกได้ว่าร่างของเด็กเหล่านั้นถูกห่อด้วยผ้าอย่างมิดชิดลงไปฝังและถูกนำไปไว้ข้างๆ ร่างของลามะทันที
การถวายเครื่องบูชาอันล้ำค่าเช่นนี้สามารถลดความกังวลในเรื่องพายุฝนที่โหมกระหน่ำของชาวชิมูได้จริงหรือไม่ และผลของการจัดพิธีเป็นอย่างไรนั้นเราไม่สามารถหาคำตอบได้ แต่สิ่งที่สามารถสันนิษฐานได้คือภัยพิบัติจากปรากฎการณ์เอลนีโญอาจมีส่วนทำให้ช่วงปีท้าย ๆ ของอาณาจักรที่กำลังจะล่มสลายแห่งนี้ดำเนินไปอย่างสิ้นหวัง
แบกซ์เตอร์กล่าวว่า “แม้ว่าชาวชิมูจะต้องสูญเสียสิ่งที่มีค่าที่สุดของตนไป พวกเขาก็เต็มใจที่จะยกสิ่ง ๆ นั้นให้แก่ผู้อื่น” เธออธิบายเพิ่มว่า “มันสะท้อนถึงความเชื่อ ประเพณี และค่านิยมเกี่ยวกับการบูชายัญที่ฝังลึกอยู่ในแนวคิดชาวชิมู”
เมื่อไม่นานมานี้ ปรีเอโตได้ตรวจสอบกำแพงดินที่ยาวมากกว่า 12 กิโลเมตรซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองชันชัน มีการเข้าใจผิดว่ากำแพงนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูเข้ามารุกรานมาอย่างยาวนาน ทว่าแท้จริงแล้วมันกลับถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันเมืองนี้จากพลังทำลายล้างในรูปแบบของภัยพิบัติต่าง ๆ ที่มีสาเหตุจากพายุฝนที่เกิดขึ้นเพราะปรากฎการณ์เอลนีโญ ไม่ว่าจะเป็นการไหลหลากของโคลน น้ำ หรือเศษตะกอนจากภูเขาเข้าสู่พื้นที่ด้านตะวันออกของเมือง
เมื่อปรีเอโตใช้คาร์บอนกัมมันตรังสีตรวจวัดอายุก็พบว่าแนวกั้นภัยนี้ถูกสร้างขึ้นก่อนปี 1450 ด้วยเหตุนี้นักโบราณคดีจึงคาดว่าชาวชิมูเริ่มสร้างกำแพงขึ้นหลังประสบปรากฎการเอลนีโญครั้ง “หายนะ” ที่คาดว่านำภัยพิบัติมาสู่เมืองนี้ในช่วงปี 1100 ในขณะที่กำแพงทางทิศตะวันออกทำหน้าที่เป็นตัวดักจับโคลนหรือตะกอนที่ชาวชิมูสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยหรือวัสดุในการก่อสร้างได้ กำแพงทางทิศตะวันตกก็มีหน้าที่ในการป้องกันพื้นที่ทางการเกษตรและคลองชลประทาน
หลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่แสดงถึงความพยายามของคนยุคก่อนในการรับมือกับผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากเอลนีโญอาจถูกเปิดเผยเพิ่มเติม เนื่องจากมีนักโบราณคดีตรวจสอบทั้งพื้นที่ภายในและพื้นที่โดยรอบแหล่งมรดกโลกชันชันอยู่เรื่อย ๆ
ปรีเอโตได้กล่าวถึงชาวชิมูว่า “ในอีกแง่หนึ่ง การบูชายัญของพวกเขาอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เทพเจ้าพอใจ และเป็นสิ่งที่แสดงให้ประชาชนในอาณาจักรเห็นว่าพวกเขาสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เตรียมมาตรการในการรับมือกับภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพไว้เพื่อป้องกันทั้งประชาชน โครงสร้างพื้นฐานของอาณาจักร และผลผลิตทางการเกษตร พวกเขาทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันในระหว่างที่ต้องรับมือกับปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งมันน่าทึ่งมาก”
โดย คริสติน โรมีย์ (Kristin Romey)
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ