ออปเพนไฮเมอร์ : ความลับที่ปิดบังไว้ และข้อกล่าวหา ‘คอมมิวนิสต์’

ในระหว่างการแข่งขันกับเวลาและกับฝ่ายอักษะ จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ เป็นผู้ที่ช่วยนำอเมริกาไปสู่ความสำเร็จในการสร้างระเบิดปรมาณู แต่เขาเกือบถูกปลดออกจากโครงการแมนแฮตตันด้วยเหตุใด

ออปเพนไฮเมอร์  – แค่ขึ้นชื่อว่าเป็นความลับ ก็ยากที่จะเก็บรักษาไว้ คุณจะรักษาความลับสุดยอดของสงครามโลกครั้งที่สอง ความลับที่ว่าสหรัฐอเมริกาพยายามที่จะสร้างระเบิดปรมาณูไว้ได้อย่างไร หากมีข้อมูลใดหลุดออกไป และนาซีทราบว่าสหรัฐฯ กำลังซุ่มสร้างอะไรอยู่ อนาคตของสังคมประชาธิปไตยจะถูกคุกคามไปตลอดกาล และถ้าหากนาซีเป็นฝ่ายที่สร้างระเบิดปรมาณูได้สำเร็จก่อน พวกเขาจะกลายเป็นผู้กุมอำนาจในสงครามครั้งนั้น

ทุกอย่างเริ่มขึ้นในปี 1939 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคน รวมไปถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ต่างกังวลว่านาซีเยอรมนีอาจกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลสหรัฐฯจึงจัดตั้งโครงการลับสุดยอดเพื่อการพัฒนาและสร้างอาวุธพลังงานนิวเคลียร์ของตนเอง โดยเริ่มทำการวิจัย ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในเมืองนิวยอร์กภายใต้ภารกิจที่มีรหัสลับว่า “โครงการแมนแฮตตัน (Manhattan Project)”

เจ. โรเบิร์ต ออฟเพนไฮเมอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” เกือบถูกถอดออกจากโครงการแมนฮัตตันหลังจากตกเป็นผู้ต้องสงสัยจากบรรดาเจ้าหน้าที่ข่าวกรองทางทหารในห้องปฏิบัติการลอสอาลาโมส ภาพถ่ายโดย ALFRED EISENSTAEDT/PIX INC./TIME & LIFE PICTURES

สถานที่ทำการวิจัยของโครงการแมนแฮตตันถูกกระจายไปตามพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศอเมริกาเพื่อให้แน่ใจว่าภารกิจนี้จะถูกเก็บเป็นความลับอย่างถึงที่สุด โครงการนี้มีผู้เกี่ยวข้องในการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาระเบิดมากกว่า 130,000 คน นอกจากนั้น สถานที่หลักในการปฏิบัติภารกิจยังมีถึงสามแห่งด้วยกัน สถานที่แห่งแรกถูกตั้งขึ้นที่เมืองโอ๊กริดจ์ในรัฐเทนเนสซีเพื่อมุ้งเน้นด้านการเสริมสมรรถนะของยูเรเนียม สถานที่แห่งที่สองซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแฮนฟอร์ด รัฐวอชิงตันถูกใช้เป็นแหล่งผลิตพลูโตเนียม และสถานที่แห่งสุดท้ายที่ถูกตั้งขึ้น ณ เมืองลอสอาลาโมสในรัฐนิวเม็กซิโกเป็นทั้งแหล่งผลิตงานวิจัยจำนวนมากและแหล่งออกแบบระเบิดปรมาณู สำหรับขอบเขตและวัตถุประสงค์ทั้งหมดของโครงการแมนแฮตตันนั้นมีเพียงผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจำนวนไม่กี่คนเท่านั้นที่ทราบ และนี่คือกุญแจสำคัญในการปกปิดภารกิจนี้

หนึ่งในผู้ที่รู้ข้อมูลเหล่านั้นคือ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (Julius Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการของห้องปฏิบัติการลับในลอสอาลาโมส ทว่าสิ่งต่าง ๆ กลับไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบง่ายเมื่อออปเพนไฮเมอร์ ในวัย 39 ปีทำให้ตนเองตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์

การระเบิดของระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกคือการระเบิดพลูโตเนียมที่ดำเนินการโดยกองทัพสหรัฐเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 ที่ทะเลทราย Jornada del Muerto ในรัฐนิวเม็กซิโก ภายใต้การทดสอบที่ชื่อว่า “ทรินิตี” ภาพถ่ายโดย UNIVERSAL HISTORY ARCHIVE/UNIVERSAL IMAGES GROUP VIA GETTY IMAGES

การตกเป็นผู้ต้องสงสัย

เมื่อออปเพนไฮเมอร์เดินทางไปถึงรัฐนิวเม็กซิโกในปี 1943 เพื่อเข้ารับตำแหน่งที่ห้องปฏิบัติการแห่งใหม่ของรัฐบาลในเมืองลอสอาลาโมส เขาก็กลายเป็นบุคคลสำคัญของโครงการลับลับสุดยอดที่มุ่งผลิตอาวุธนิวเคลียร์ให้กับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นเขายังไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลความลับของรัฐบาลเนื่องจากออปเพนไฮเมอร์ถูกตั้งข้อสงสัยโดยเอฟบีไอหรือสำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation: FBI) และหน่วยข่าวกรองทางทหาร G-2 ว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสายลับของพันธมิตรโซเวียตในอเมริกา เจ้าหน้าที่ของหน่วย G-2 ซึ่งประจำการอยู่ที่ลอสอาลาโมสได้กล่าวหาว่าเขา “มีบทบาทสำคัญในการพยายามรักษาความปลอดภัยให้แก่สหภาพโซเวียตโดยกระทำการจารกรรมข้อมูลลับที่สุดซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา”

ข้อกล่าวหาเหล่านั้นมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ที่มีความใกล้ชิดกับออปเพนไฮเมอร์จำนวนหนึ่งเป็นอดีตสมาชิกและสมาชิกปัจจุบันของพรรคคอมมิวนิสต์ ตัวเขาเองปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายตรงข้าม ทว่าในระหว่างที่ออปเพนไฮเมอร์ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียอยู่นั้น เขาได้สนับสนุนการเคลื่อนไหวบางอย่างซึ่งทำให้ตัวเขามีปฏิสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์หรือผู้ที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ ยกตัวอย่างเช่น เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาชิกของกองพันลินคอล์น (the Abraham Lincoln Brigade) ที่ฝ่าฝืนรัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางของสหรัฐฯ โดยการร่วมต่อสู้ในสงครามกลางเมืองสเปนเพื่อต่อต้านนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ผู้นำเผด็จการที่มีฮิตเลอร์และมุสโสลินีหนุนหลัง ซึ่งในตอนนั้น สิ่งที่ออปเพนไฮเมอร์ทำคือการแบ่งปันความเกลียดชังต่อลัทธิฟาสซิสต์ที่เขามีกับเหล่าทหารอาสา และช่วยญาติของเขารวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีให้สามารถหลบหนีจากนาซีได้

จูเลียส และ เอเธล โรเซนเบิร์ก ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาสมคบคิดจารกรรมและขายข้อมูลในวันที่ 29 มีนาคม 1951 จากการนำเอกสารชั้นความลับที่เกี่ยวข้องกับโครงการแมนฮัตตันไปให้สหภาพโซเวียตในขณะนั้น ภาพถ่ายโดย KEYSTONE/GETTY IMAGES

หน้าที่ที่ดำเนินต่อไป

ผู้ที่รักษาตำแหน่งของออปเพนไฮเมอร์ไว้คือนายพลจัตวาเลสลี โกรฟส์ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของโครงการแมนแฮตตัน สำหรับโกรฟส์แล้วความมั่นคงของประเทศถือเป็นความกังวลสูงสุดของเขา แต่เขากลับเชื่อว่าออปเพนไฮเมอร์จะนำความสามารถเฉพาะตัวในการบริหารจัดการเหล่านักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิคนอื่น ๆ มาใช้เพื่อเอาชนะความท้าทายของการสร้างระเบิดปรมาณู เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ หนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่อารมณ์ไม่ค่อยคงที่ได้อธิบายเหตุผลว่าเพราะเหตุใดออปเพนไฮเมอร์จึงเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ของเขาไว้ว่า “เขารู้วิธีการจัดระเบียบ การโน้มน้าวใจ การทำให้ทุกคนพอใจ การปลอบประโลมจิตใจ และวิธีที่จะนำทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องพยายาม ความสำเร็จอันน่าทึ่งของลอสอาลาโมสเกิดขึ้นได้ก็เพราะความฉลาดเฉลียว ความกระตือรือร้น และความสามารถพิเศษของเขา”

นอกจากนี้แล้ว นายพลโกรฟส์ยังเชื่อในการตัดสินใจของร้อยเอกจอห์น แลนส์เดล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำลอสอาลาโมส ผู้พิจารณาว่าออปเพนไฮเมอร์ไม่ใช่ผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิส์หรือผู้ที่จงรักภักดีต่อสหภาพโซเวียตมากกว่าสหรัฐอเมริกาตามที่เขาได้นิยามไว้

ประตูทางเข้าหลักในห้องฏิบัติการลอสอาลาโมส ภาพถ่ายโดย CORBIS/GETTY
เจ.โรเบิร์ต ออฟเพนไฮเวอร์ (ซ้าย) และพลจัตวา เลสลี่ โกรฟส์ ร่วมตรวจตราสถานที่ทดสอบระเบิดปรมาณูทรินิตีในสองสามอาทิตย์ให้หลังจากการระเบิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 ภาพถ่ายโดย ROLLS PRESS/POPPERFOTO/GETTY IMAGES

ความลับสูงสุดของโครงการ

หลังจากออปเพนไฮเมอร์ได้รับโอกาสให้กลับมาประจำตำแหน่งจากนายพลโกรฟส์ เขาก็เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในการปลดปล่อยพลังงานปรมาณูตามคำสั่งสำคัญที่ได้รับมอบหมาย  การดำเนินงานของโครงการนี้ซับซ้อนมากจนทำให้สหรัฐอเมริกาไม่สามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถใช้งานได้จริงได้ก่อนที่เยอรมนีจะประกาศยอมแพ้สงครามในปี 1945 ซึ่งการยอมจำนนนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เยอรมนีไม่มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพทางนิวเคลียร์เนื่องจากได้รับความเสียหายจากการถูกทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ และการขาดศักยภาพทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางอุตสาหกรรม

ทว่าในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน บรรดานักวิทยาศาสตร์ภายใต้การดูแลของออปเพนไฮเมอร์ ณ ห้องปฏิบัติการลับในลอสอาลาโมสได้รับเชื้อเพลิงจากห้องปฏิบัติการในเมืองโอ๊กริดจ์และแฮนฟอร์ดที่เพียงพอต่อการสร้างระเบิดขึ้นถึงสองชนิดด้วยกันคือระเบิดจากพลังงานยูเรเนียม-235 และระเบิดจากพลังงานพลูโทเนียม-239 การทดสอบระเบิดทั้งสองลูกเกิดขึ้นอย่างลับ ๆ ในเดือนกรกฎาคม ปี 1945 ณ สถานที่ทดสอบทรินีที (Trinity) ซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโกอันห่างไกล หลังลูกไฟจากการระเบิดลอยขึ้นบนฟ้าพื้นที่โดยรอบของสถานที่ทดลองก็ถูกห้อมล้อมไปด้วยเมฆทรงดอกเห็ดขนาดมหึมา

อย่างไรก็ดี แม้ว่ายุคของสงครามนิวเคลียร์จะเริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ความสำเร็จนี้ยังถูกไว้เก็บเป็นความลับอยู่

ระเบิด Mk I หรือที่เรียกกันในชื่อ “ลิตเติลบอย” หรือระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกที่ใช้การช่วงสงคราม ถูกทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมะในวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 ภาพถ่ายโดย POPPERFOTO/GETTY IMAGES

แม้ว่านักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคนรวมไปถึงทีมเจ้าหน้าที่สนับสนุนจะมารวมตัวกันที่ทะเลทรายกลางรัฐนิวเม็กซิโกในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนและแรงระเบิดทำให้อาคารที่อยู่ไกลออกไปถึงเมืองเอลแพโซในรัฐเท็กซัสสั่นสะเทือน แต่กระทรวงการสงครามของสหรัฐฯ ก็ไม่ปล่อยให้มีข่าวใดเล็ดรอดออกไปได้ ตำรวจประจำรัฐรายงานประชาชนว่าเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ค่ายทหาร ทว่ามีชายคนหนึ่งเห็นท้องฟ้าสว่างจ้าขึ้นในขณะที่เขากำลังเดินทางข้ามรัฐนิวเม็กซิโกโดยรถไฟ ชายผู้นั้นแจ้งข้อมูลนี้ให้กับหนังสือพิมพ์เจ้าหนึ่งในเมืองชิคาโกโดยระบุว่าเขาคิดว่าเขาเห็น “อุกกาบาต” ขนาดมหึมาและผู้รายงานข่าวก็ได้เขียนบทความสั้น ๆ เกี่ยวกับมัน ในวันต่อมาเจ้าหน้าที่เอฟบีไอได้เข้าไปยังสำนักพิมพ์ของหนังสือพิมพ์นั้นและขอความกรุณาให้เจ้าของสำนักพิมพ์ลืมเรื่องราวที่ชายคนนั้นแจ้งไปและทำเหมือนว่าไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อน

จุดสิ้นสุดของความลับ

หลังจากที่ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส ทรูแมนทราบถึงความสำเร็จของการทดลองทรินีทีแล้ว เขาก็เตรียมตัวเพื่อไปพบโจเซฟ สตาลิน ผู้นำของสหภาพโซเวียต และวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร  ณ เมืองพ็อทซ์ดัม ประเทศเยอรมนีภายใต้การยึดครองของสัมพันธมิตรในเดือนกรกฎาคม ปี 1945 เพื่อหารือเกี่ยวกับสันติภาพหลังสงคราม ทรูแมนได้บอกความลับเรื่องระเบิดปรมาณูที่ปิดบังไว้ให้ผู้นำโซเวียตทราบในการประชุมครั้งนั้น ทว่าแท้จริงแล้วสตาลินรู้ข่าวเกี่ยวกับการสร้างระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯ แล้ว และกำลังดำเนินการจัดตั้งโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ขึ้น โดยข้อมูลที่ผู้นำโซเวียตได้รับนั้นมาจากบรรดาสายลับที่แฝงตัวอยู่ในลอสอาลาโมสซึ่งในขณะนั้นยังสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับได้

นาฬิกาที่หยุดเดินในช่วงเวลาการทิ้งระเบิดปรมาณูในเมืองฮิโรชิมะ วันที่ 6 สิงหาคม 1945
ภาพถ่ายโดย BRIAN BRAKE / SCIENCE SOURCE

บทสรุปของสงครามมีท่าทีว่าจะไม่เป็นไปตามคาดเมื่อปฏิญญาพ็อทซ์ดัม (Potsdam Declaration) ที่เรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมจำนนต่อสงครามโดยไม่มีเงื่อนไขหรือพบกับ “การทำลายล้างอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์” ถูกประกาศออกไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปี 1945 ด้านญี่ปุ่นยืนยันว่าจะไม่ยอมจำนนหากไม่อนุญาตให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะอยู่ในอำนาจต่อไป แต่อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีทรูแมนปฏิเสธเงื่อนไขที่ทางญี่ปุ่นเสนอมา จึงปฏิเสธที่จะลงนามในปฏิญญาฉบับนี้

ท้ายที่สุดแล้ว ระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกที่ถูกทิ้งใส่ญี่ปุ่นในเวลาไล่เลี่ยกันก็บีบให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะต้องยอมจำนนต่อสงครามในครั้งนี้ โดยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 ระเบิดปรมาณูพลังงานยูเรเนียมลูกแรกถูกทิ้งเพื่อทำลายเมืองฮิโรชิมะให้ราบเป็นหน้ากลอง และสามวันต่อมาระเบิดลูกที่สองซึ่งใช้พลูโทเนียมเป็นเชื้อเพลิงก็ถูกปล่อยลงที่เมืองนางาซากิเพื่อทำลายเมืองให้เหลือเพียงเศษซาก ผลจากการโจมตีทั้งสองครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 150,000 รายและมียังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรับกัมมันตรังสีอีกหลายพันคนซึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ในที่สุดโลกก็ได้รับบทเรียนจากการใช้ระเบิดปรมาณู และบทเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้

เรื่อง นีล เคแกน และ สตีเฟน ฮีสล็อป

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ – ชายผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง ระเบิดปรมาณู

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.