จากปรัชญาสู่วิถีชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง

จากปรัชญาสู่วิถีชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง

ภาพถ่าย  เริงฤทธิ์ คงเมือง

เรื่อง  ศิริพร พรศิริธิเวช

บนเนื้อที่ 17 ไร่ภายในสวนสมรม (หรือสมลม — ภาษาถิ่นภาคใต้หมายถึง สวนขนาดเล็กที่ปลูกพืชผลผสมผสาน) ของสมบูรณ์ ศรีสุบัติ หรือลุงนิล ในวันนี้ พลุกพล่านไปด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศที่แวะเวียนมาทัศนศึกษาและดูงานในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ตำบลช่องไม้แก้ว อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ทุเรียนต้นใหญ่มีเถาพริกไทยเลื้อยขึ้นไปเกาะออกลูกสีเขียวสดเป็นพวง ขณะที่พื้นใต้ร่มทุเรียนเต็มไปด้วยพืชผลนานาชนิด เช่น กล้วย มังคุด และมะนาวขึ้นเบียดเสียดดูราวป่าดิบชื้น แต่กว่าจะมาเป็นสวนที่สร้างรายได้ไม่ขาดมือ และยังเหลือเผื่อจุนเจือผู้คนในวันนี้ เจ้าของสวนร่างสูงโปร่ง ผิวสีเข้ม และน้ำเสียงถิ่นใต้เป็นเอกลักษณ์ต้องผ่านมรสุมชีวิตมาอย่างโชกโชน

“โธ่…ใครจะไปรู้ ตอนนั้นทุเรียนมันราคาดี” ลุงนิล เท้าความหลัง เมื่อครั้งที่ต้องนั่งกุมขมับกับความล้มเหลวของสวนทุเรียนกว่า 700 ต้นที่เฝ้าทะนุถนอมมาแรมปี แต่จากการขาดความรู้และประสบการณ์ทำให้ประสบกับภาวะขาดทุนจนมีหนี้สินท่วมตัว ด้วยความคิดว่าต้องปลูกทุเรียนอย่างเดียว เพราะทุเรียนราคาดี และเพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุด ลุงนิลจึงระดมใส่ปุ๋ย อัดฉีดสารเคมีสารพัด ยี่ห้อไหนใครว่าดี ลุงนิลไม่รอช้า หามาประเคนใส่ “ช่วงหลังไม่มีเงินมาลงทุนทำระบบน้ำ ก็เลยตัดสินใจให้นายทุนมาทำสัญญาเหมาสวนทำทุเรียนนอกฤดู ด้วยความหวังว่าอีกไม่นานเกินรอทุเรียนจะให้ผลผลิต เดี๋ยวก็ได้เงินคืน” ลุงนิลเล่า

ชิ้นส่วนพื้นฉลองพระบาทได้รับการเก็บรักษาไว้บนหิ้งบูชาภายในร้านตัดรองเท้า ก.เปรมศิลป์ ศรไกร แน่นศรีนิล หรือ “ช่างไก่” เล่าว่า ฉลองพระบาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งมาซ่อมที่ร้านครั้งแล้วครั้งเล่าจนไม่สามารถซ่อมได้อีกนี้ คือสิ่งอันเป็นมงคลสูงสุดของชีวิตเขา

แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นดังหวัง เพราะเมื่อหมดสัญญาราคาขายทุเรียนปีนั้นดิ่งลงเหว ซ้ำร้ายเจ้าทุเรียนพระเอกในท้องเรื่องยังมาชิงตายตอนจบ ด้วยการทยอยยืนต้นตายหลายร้อยต้น เพราะพิษสงของสารเคมีที่ระดมใส่หวังจะให้ได้ผลดี ยิ่งไปกว่านั้น ผืนดินที่เคยอุดมสมบูรณ์และแบ่งบานไปด้วยความฝันของชายวัยกลางคน กลับเปลี่ยนเป็นเนื้อดินแห้งแข็งที่ไม่สามารถปลูกต้นไม้ให้งอกงามดังเดิม ท้ายที่สุด ของแถมจากเหตุการณ์ทั้งมวลนี้ก็คือหนี้สินก้อนโตสองล้านกว่าบาทที่ดูเหมือนจะกองเกลื่อนอยู่ทุกแห่งหนที่ลุงนิลก้าวไป

“หมดปัญญา ไม่อยากอยู่แล้ว” เสียงลุงนิลเริ่มสั่นเครือ “ตอนนั้นหยิบปืนขึ้นมาแล้ว แต่ดีที่ลูกชายเดินเข้ามา ก็เลยเก็บปืนไว้ก่อน” ขณะที่ความสิ้นหวังกำลังกัดกินใจดั่งฝูงตั๊กแตนปาทังก้ารุมทึ้งต้นข้าวโพดบนผืนดินแห้งผากอยู่นั้นปาฏิหาริย์ก็บังเกิด กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ที่กำลังเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์ขณะนั้นดังเข้าหูชายผู้สิ้นหวัง สมบูรณ์ ศรีสุบัติ เล่าว่า ”เป็นดั่งหยาดน้ำฝนชโลมใจ” ชายผู้เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ท่องพระราชดำรัสนั้นได้อย่างขึ้นใจว่า

…การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญสำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกินแบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง…

 …ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไปทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียงไม่ต้องทั้งหมดแม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้องอาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะสามารถอยู่ได้การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลาไม่ใช่ง่ายๆโดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็สามารถที่จะแก้ไขได้…

ไทยยังครองแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกได้ก็จริง แต่ระบบการค้าแบบทุนนิยมกลับทำให้ชาวนากว่า 3.7 ล้านครัวเรือนอยู่ในวังวนแห่งหนี้สิน เพราะต้องกู้หนี้ยืมสินมาซื้อปัจจัยการผลิต

ไม่น่าเชื่อว่าพระราชดำรัสไม่กี่ประโยคนั้นจะสามารถหยุดความคิดอันโง่เขลา และกระทั่งให้ชีวิตใหม่แก่สมบูรณ์ ศรีสุบัติ ในห้วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดของชีวิต…

ย้อนหลังกลับไป 36 ปี หรือเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ความตอนหนึ่งว่า

…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อนโดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาเมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้วจึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป…

โรงนมเม็ดสวนดุสิตเป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร จำหน่ายในราคาที่ไม่หวังผลกำไร และส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ

นั่นอาจถือเป็นการพระราชทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครั้งแรก ก่อนที่ปรัชญาดังกล่าวจะมีการนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวางในอีกกว่า 20 ปีต่อมา ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ ”ต้มยำกุ้ง” อันหนักหนาสาหัส รัฐบาลในขณะนั้นต้องการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพ เพื่อยืนหยัดพึ่งพาตนเองพร้อมไปกับการดำเนินนโยบายสำคัญๆในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาแข็งแกร่งดังเดิมได้อีกครั้ง

ไม่น่าเชื่อว่าแนวคิดที่พระองค์ทรงวางไว้เมื่อหลายสิบปีนั้น จะยังคงใช้ได้ดีและนำสมัยอยู่เสมอ

ผู้ต้องขังในทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เร่งนำควายกลับเข้าคอกหลังนำออกฝึกไถนา ที่นี่เริ่มนำหลักการเกษตรพอเพียงเข้ามาใช้อย่างจริงจังเมื่อปีแล้ว นฤเบศร์ ธีระคำศรี หัวหน้าฝ่ายฝึกวิชาชีพ เล่าว่า ผู้ต้องขังดูมีความสุขขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ครั้งหนึ่งฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตผู้อำนวยการกองประเมินผลและข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ซึ่งปัจจุบันลาออกมาเป็นชาวนาและเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และยังดำรงตำแหน่งประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ดร.วิวัฒน์ให้ทรรศนะว่า ”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงวางแผนคราวละไม่ต่ำกว่า 50 ปีเสมอ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรอันยาวไกล

ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ”ต้มยำกุ้ง” เมื่อสิบกว่าปีก่อน (และตอกย้ำอีกครั้งด้วยวิกฤติเศรษฐกิจ ”แฮมเบอร์เกอร์” ในปัจจุบัน) ได้เกิดปรากฏการณ์ที่คนไทยและหลายประเทศทั่วโลกหันมาสนใจ และนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้อย่างแพร่หลายทั้งในการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจ ในส่วนของประเทศไทย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการบรรจุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในส่วนที่ 3 แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 78 (1) ความว่า ”บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องส่งเสริมการดำเนินการตามปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ” ขณะที่องค์การสหประชาชาติยกย่องว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีคุณูปการทั้งต่อประเทศไทยและนานาประเทศโดยนายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549

ในเช้าที่อากาศร้อนอบอ้าวของเดือนมีนาคมที่ผ่านมาราว 500 กิโลเมตรจากอำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร อันเป็นที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนและสวนสมรมของลุงนิล ฉันเข้ามายืนเก้ๆ กังๆ พร้อมกับเหงื่อเม็ดเป้งที่ผุดขึ้นตามใบหน้าเมื่อแรกก้าวลงจากรถแท็กซี่และค่อยๆหายไปพร้อมสายลมเย็นที่พัดโชยอยู่ตรงหน้าป้อมกองวัง ประตูพระยมอยู่คุ้น ทางเข้าเขตพระราชฐานที่จะเข้าสู่โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

ชาวบ้านที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ปีนป่ายไปตามต้นหมากเพื่อเก็บหมากสุกในสวนซึ่งมีพลูเลื้อยขึ้นไปตามลำต้น ก่อนนำไปจำหน่าย สวนเกษตรผสมผสานที่มีพืชผลหลากหลายชนิดอาศัยอยู่ร่วมกันหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในแถบนี้มาช้านาน ชาวบ้านหลายคนบอกว่า “การปลูกไม้ผลหลากหลาย ช่วยลดความเสี่ยงในชีวิตได้มาก” เมื่อเทียบกับการเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างการทำนาเพียงอย่างเดียว

หากจะว่าไปแล้ว สถานที่แห่งนี้คือประจักษ์พยานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดแห่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ทรงใช้ทดลองและบ่มเพาะแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงใจกลางกรุงเทพมหานคร

คุณศศิภา ตันสิทธิ หญิงสาวตาคม พูดจาฉะฉานเป็นเจ้าหน้าที่งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ทำหน้าที่นำฉันเยี่ยมชมส่วนต่างๆ ของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เธอพาฉันผ่านไปตามถนนลาดยางสายเล็กที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้ นกหลายชนิดแข่งขันกันส่งเสียงร้อง ขณะที่กระรอกตัวอ้วนพีสองตัววิ่งไล่กันไปตามกิ่งไม้ โดยไม่สนใจผู้คน ห่างออกไปตรงพื้นที่โล่งมีเจ้าหน้าที่ของกรมการข้าวราวสิบคนในชุดเสื้อสีน้ำเงินกำลังสาละวนกับการถอนหญ้าและคัดน้ำเข้าแปลงนาข้าวทดลองที่กำลังปลูกต้นถั่วซึ่งชูยอดเขียวขจี

คุณศศิภาเล่าว่า แปลงนาผืนเล็กนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองขับ ”ควายเหล็ก” หรือรถไถแบบสี่ล้อคันแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2504 ด้วยพระองค์เอง เพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าว โดยข้าวพันธุ์แรกที่ปลูกคือ ข้าวพันธุ์หอมนางนวล ต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีทำขวัญข้าวหรือขวัญแม่โพสพขึ้น และเมื่อรวงข้าวสุกได้ที่ก็เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง โดยผลผลิตข้าวที่ได้ทรงให้นำไปเก็บรักษาพันธุ์ไว้ที่กรมการข้าวเพื่อใช้ในการเพาะปลูกในปีถัดไป อีกส่วนหนึ่งนำไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

หากมองอย่างผิวเผิน บรรยากาศโดยรอบของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ดูไม่ต่างไปจากแปลงไร่นาของเกษตรกรไทยทั่วไปนัก แต่ในบริเวณอื่นๆ จะเป็นอาคารทดลองและโรงงาน ที่นี่มีกิจกรรมการศึกษาและการทดลองมากกว่า 35 โครงการ โดยแบ่งเป็นโครงการที่ไม่ใช่ธุรกิจ อาทิ โครงการป่าไม้สาธิต และโครงการนาข้าวทดลอง กับโครงการกึ่งธุรกิจ อาทิ โครงการโรงโคนมสวนจิตรลดา และโครงการเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร  เป็นต้น

ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ (ขวาสุด) บุคคลล้มละลายจากพิษวิกฤติเศรษฐกิจ พูดถึงแนวคิดเบื้องหลัง “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” ว่า “เริ่มจากเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องทำตามเขา เราดูเขาเป็นแบบอย่าง แล้วทำบนพื้นฐานของเราเอง”

นอกเหนือจากกิจกรรมทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงให้ความสำคัญกับการทดลองและการพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และไบโอดีเซล เป็นต้น โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ริเริ่มโครงการพัฒนาพลังงานทดแทนด้วยการศึกษาแนวทางการนำน้ำมันปาล์มมาใช้งานแทนน้ำมันดีเซล นอกจากนั้นยังได้พระราชทานเงินทุนวิจัยเบื้องต้นเพื่อใช้สร้างอาคารและซื้ออุปกรณ์ในการทดลองผลิตเชื้อเพลิงแอลกอฮอล์จากอ้อยที่โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2528 ด้วยทรงเล็งเห็นว่าจะเกิดวิกฤติน้ำมันขึ้นในอนาคต และทรงเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอ้อยสูง อ้อยส่วนที่เกินจากการผลิตอาหารควรนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ซึ่งก็คือผลิตแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ยังสามารถรองรับในกรณีที่อ้อยราคาตกต่ำได้อีกด้วย

นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้เข้าเยี่ยมชมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และต้องตื่นเต้นปนฉงนกับเจ้าโคเนื้อสีน้ำตาลแดง และกระบือสีดำตัวย่อมๆที่กำลังยืนเคี้ยวเอื้องทำหน้าตากรุ้มกริ่มอยู่ข้างๆ ปลักโคลนภายในคอกที่กั้นไว้อย่างดี ”โคสีน้ำตาลแดงเป็นโคโคลนนิ่งพันธุ์บราห์มันแดงเพศเมียที่ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้น้อมเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วน ‘กระบือปลักแฝด’ นางก้อน เงื่อมผา เกษตรกร อำเภอเขาฉกรรธ์ จังหวัดสระแก้ว ได้น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 1 คู่ คุณศศิภากล่าว แต่การได้เห็นโคและกระบืออาศัยอยู่ภายในเขตรั้วพระราชวังนั้นนับว่าเกินความคาดหมายไปไกลโข ฉันไม่รู้ว่าพระราชวังของกษัตริย์บ้านเมืองอื่นเป็นอย่างไร แต่เดาว่าคงไม่มีโคและกระบือเป็นแน่

“อย่าทำมาก ต้องค่อยๆทำ ต้องเรียนรู้ก่อนค่อยทำจริง” คือประโยคที่ลุงนิลเล่าให้บรรดาผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนและสวนสมรมอันร่มครึ้ม ในวันที่เราเจอกัน

หลังจากได้ฟังพระราชดำรัสผ่านทางโทรทัศน์ในวันนั้นลุงนิลคนใหม่ได้เริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ เศรษฐกิจพอเพียง และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ปรับเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ จากที่เคยมุ่งแต่จะทำเงินจากการปลูกทุเรียนเพียงชนิดเดียว ก็เริ่มมุ่งมั่นทำการเกษตรผสมผสาน และเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริอย่างบากบั่นอดทน ชายผู้มาพร้อมวิสัยทัศน์ใหม่เอี่ยมเน้นการใช้พื้นที่ทุกส่วนในสวนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยหันมาปลูกพืชหลักและพืชเสริมพร้อมกับเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย

แม้หลักการอาจดูเหมือนไปด้วยกันไม่ได้ แต่ผู้รู้หลายท่านเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจ พอเพียงไม่ขัดแย้งกับธุรกิจสมัยใหม่ เพียงแต่ต้องควบคู่ไปกับคุณธรรมในการ อยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“แรกๆลุงก็ปลูกพืชที่ชอบกิน และกินสิ่งที่ปลูกได้ก่อน” เกษตรกรผู้ผ่านชีวิตมาโชกโชนอธิบาย ”หลังจากนั้นลุงก็เริ่มทำบัญชีครัวเรือน” ซึ่งบัญชีรายรับรายจ่ายนี้เองที่ทำให้ลุงนิลรู้ในสิ่งที่คาดไม่ถึงมาก่อน นั่นคือแกต้องหมดเงินไปกับปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงปีละไม่ใช่น้อย ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นสักนิด ลุงนิลจึงเริ่มหันมาใช้สิ่งที่มีอยู่คือมูลจากสุกรที่เลี้ยงไว้มาใช้แทนปุ๋ยเคมี เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นในสวนลุงนิลไม่กวาดทิ้ง เพราะอีกไม่นานก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ส่วนยาฆ่าแมลงนั้น เกษตรกรตัวยงรายนี้เปลี่ยนมาใช้น้ำส้มควันไม้ที่สามารถผลิตได้เองแทน

กรณีความสำเร็จหลังชีวิตพังครืนกลางกองหนี้สินของลุงนิล ด้วยการพึ่งตนเองก่อนเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ตนและครอบครัวมีอยู่มีกินเป็นเบื้องต้น เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนก็จำหน่ายจ่ายแจก จนกระทั่งสุดท้ายลุงนิลก็สามารถปลดหนี้สินทั้งหมดกว่าสองล้านบาทได้ภายในเวลาเพียง 6 ปี นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ของเกษตรกรผู้ยึดหลักการพึ่งตนเองอุ้มชูตนเองได้ตามหลักเบื้องต้นว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิต

ในระยะแรกๆ หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวคิดดังกล่าวอาจใช้ได้กับสังคมเกษตรกรรม แต่ดูจะขัดแย้งและเป็นขั้วตรงข้ามกับกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง มองว่า นี่เป็นคำกล่าวของผู้ที่ยังไม่รู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยอธิบายว่า ”แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ใช้ได้กับทุกภาคส่วนไม่ขัดกับกระแสเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโลกาภิวัตน์หรือการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะเรื่องของการทำกำไรสูงสุด เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้พูดถึงการทำกำไรสูงสุดที่อยู่อย่างยั่งยืน” และขยายความเกี่ยวกับการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ หมายถึงความพอดีที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว โดยปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ ความระมัดระวังในการดำเนินชีวิต และคุณธรรมคือการยึดถือคุณธรรมต่างๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียรการมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมและการแบ่งปันให้สังคม

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คืออีกบุคคลหนึ่งที่เข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลึกซึ้ง ได้ให้ทรรศนะว่า ”คนทั่วไปมักเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของเกษตรกรในชนบทเท่านั้น แต่แท้ที่จริงผู้ประกอบการอาชีพอื่นๆ เช่นพ่อค้า ข้าราชการ และบริษัทต่างๆ สามารถนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเปรียบเสมือนเป็นการปักเสาเข็มก่อนจะสร้างบ้าน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการวางรากฐานของบ้านให้มั่นคงก่อนจะก่อสร้างตัวบ้านต่อไป”

ระหว่างการพูดคุยกับลุงนิลช่วงหนึ่ง คำตอบที่มาพร้อมกับน้ำเสียงสั่นเครือของลุงนิลหลังฉันถามว่า ”หากมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลุงนิลจะกราบบังคมทูลพระองค์ท่านว่าอย่างไร” ลุงนิลตอบว่า “ผมโชคดีที่เกิดเป็นคนไทย ชีวิตของผมอยู่ได้ถึงวันนี้ก็ด้วยพระบารมีของพระองค์” ลุงนิลยังบอกฉันถึงเหตุผลที่ยอมเปิดสวนอันสงบร่มรื่นของตนเพื่อเป็น ”โรงเรียน” ให้ผู้คนจากทั่วสารทิศเข้ามาศึกษาเรียนรู้ หลังสามารถใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเหนี่ยวนำเอาชีวิตขึ้นจากหุบเหวแห่งหนี้สินอันมืดมนมาได้สำเร็จ คือปณิธานที่ให้ไว้กับตนเองว่า ”จะขอเพาะกล้าเศรษฐกิจพอเพียงหว่านลงให้ทั่วแผ่นดินไทย เพื่อเป็นการตอบแทนคุณของแผ่นดิน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

พนักงานฟาร์มโชคชัยนำรถแทรกเตอร์เข้าเติมน้ำมันไบโอดีเซลซึ่งผลิตจากน้ำมันเหลือทิ้งจากธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจของที่นี่ กลับมาเติบโตอย่างมั่นคงหลังจากซบเซาอยู่ช่วงหนึ่ง โดยผู้บริหารยึดหลักการว่า ต้องมีสติ รู้จักตนเอง และเป็นไปตาม อัตภาพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

เสียงนกกายังคงร้องประสานเซ็งแซ่และโผบินไปมาดูครึกครื้นยิ่งกว่าบริเวณอื่นใด หลังจากคุณศศิภานำฉันเข้ามายังส่วนที่เป็นสวนป่าไม้สาธิต ในเขตพระราชฐานของพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ท่ามกลางความร่มรื่นของพรรณไม้หลากชนิดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมมาปลูกไว้ ตลอดสองข้างทางมีต้นยางนาสูงชะลูดขึ้นเรียงราย คุณศศิภาเล่าว่า ”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเพาะเมล็ดต้นยางด้วยพระองค์เอง ในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และทรงปลูกด้วยพระองค์เองเลยค่ะ”

ก่อนหน้านี้ คำถามที่ฉันเฝ้าถามกับตัวเองมาตลอดว่า “พอเพียง” คืออะไร ณ สถานที่แห่งนี้เองที่ทำให้ฉันได้คำตอบอย่างกระจ่าง สิ่งที่ฉันพบเห็นและเรื่องราวที่ได้รับฟังตลอดการตามเก็บข้อมูลพร้อมกับช่างภาพ ได้ฉายภาพแห่งความเรียบง่ายและความสมถะในพระราชจริยวัตรอย่างชัดแจ้ง ตอกย้ำให้ฉันเชื่อมั่นในสิ่งที่พระองค์ทรงสอนประชาชนของพระองค์ตลอดมา ซึ่งสอดคล้องกับพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า ”สนฺตุฏฺี ปรมํ ธนํ” ความรู้จักพอเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

 

อ่านเพิ่มเติม : ประพาสต้นบนดอย สี่ทศวรรษโครงการหลวง๘๙ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ยุวกษัตริย์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.