5 กองทหาร นักรบ ในตำนาน ที่เก่งกาจ และแข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์

เหล่า นักรบ ผู้แข็งแกร่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงโลกในยุคสมัยของตนด้วยโล่ห์ฮอปลอน ม้า และปืนคาบศิลา

ตลอดทุกช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ เหล่า นักรบ ทั้งหลายนั้นต่างถูกเพรียกหาให้ทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อถิ่นที่อยู่อาศัย ประเทศ กษัตริย์ และจักรพรรดิของตน

และตลอดทั้งประวัติศาสตร์ นักรบเหล่านี้ก็ได้รับทั้งการฝึกฝน และยุทโธปกรณ์ชั้นดีเพื่อรับมือกับความท้าทายและเทคโนโลยีทางทหารต่างๆ ในยุคของตน

ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นทหารราบในยุคกรีกโบราณซึ่งต่อสู้เพื่อนครรัฐของตน, พลธนูบนหลังม้าผู้พิชิตชัยไปทั่วทั้งทวีปเอเชีย, หรือทหารอาสาพลเมือง (citizen soldiers) ชาวอเมริกัน ซึ่งจับอาวุธขึ้นสู้กับสหราชอาณาจักรเพื่ออิสรภาพของสหรัฐฯ ที่ในขณะนั้นเพิ่งกำลังก่อตั้งประเทศ นี่คือเรื่องของประวัติโดยย่อของห้ากองกำลังซึ่งมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ รวมไปถึงอิทธิพลที่พวกเขามี

นักรบ ฮอปไลต์แห่งยุคกรีกโบราณ

ฮอปไลต์ ทหารราบจากยุคกรีกโบราณผู้ติดอาวุธครบมือคือกำลังพลสำคัญในบรรดากองทัพของนครรัฐต่างๆ ชื่อของนักรบเหล่านี้มาจากโล่ห์ฮอปลอน (hoplon) หรือโล่ห์ทรงกลมความกว้าง 91 เซนติเมตรซึ่งทำจากไม้และหุ้มด้วยทองแดงที่พวกเขาใช้

ทหารเหล่านี้ถูกคัดเลือกมาจากชนชั้นร่ำรวย เนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องมีทุนทรัพย์เพียงพอสำหรับการซื้อยุทโธปกรณ์พิเศษซึ่งมีราคาสูง ทั้งนี้ ฮอปไลต์ในเอเธนส์และสปาร์ตานั้นแตกต่างกันในด้านความพร้อมรบ กล่าวคือ ในเอเธนส์ พวกเขาจะถูกเรียกระดมพลเมื่อจำเป็นเท่านั้น ต่างจากในสปาร์ตา ที่นักรบฝีมือฉกาจเหล่านี้จะได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มงวดทั้งแต่อายุเพียงเจ็ดปี

หมวกแบบโครินธ์จากราว 650 ถึง 600 ปีก่อน ค.ศ. ในภาพนี้ มีกระหม่อมทรงกลม, ช่องขนาดเล็กสำหรับมองสองช่อง, และส่วนป้องกันจมูกอันเป็นเอกลักษณ์ เฮอโรโดตัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก กล่าวถึงหมวกลักษณะนี้ว่าเป็นยุทโธปกรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของเหล่าฮอปไลต์ นักรบที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากยุคกรีกโบราณ ภาพถ่ายโดย METROPOLITAN MUSEUM OF ART, ROGERS FUND

อาวุธเต็มรูปแบบของทหารแต่ละนายประกอบไปด้วยโล่ห์ฮอปลอนบนแขนซ้าย และหอกปลายทองแดงยาวราว 2.1 เมตร ซึ่งถือด้วยมือขวา พร้อมด้วยดาบสั้นตีจากเหล็กสำหรับใช้เป็นอาวุธสำรอง ส่วนอุปกรณ์ป้องกันเต็มรูปแบบของพวกเขานั้นประกอบไปด้วยหมวก เกราะป้องกันลำตัว และสนับแข้ง อุปกรณ์ป้องกันอาวุธซึ่งล้วนทำจากทองแดงเหล่านี้ อาจมีน้ำหนักได้ถึง 27.2 กิโลกรัม เมื่อเข้าสู่สนามรบ ฮอปไลต์จะจัดขบวนรบแบบฟาลังซ์ (phalanx) โดยในขบวนรบดังกล่าว พวกเขาแต่ละคนจะยืนชิดติดกันชนิดใหล่ชนใหล่ในแถวหน้ากระดาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีความลึกแปดแถว

เหล่าฮอปไลต์ได้แสดงความเก่งกาจของตนในการยุทธและสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง เช่นสมรภูมิทุ่งมาราธอน, เทอร์โมพิลี, และสงครามเพโลพอนนีเซียน แต่ในยามที่การสงครามพัฒนารุดหน้าไป และกองทัพอาชีพมีจำนวนมากขึ้น ความเหนือชั้นที่ยุทธวิธีดั้งเดิมต่างๆ ของหน่วยรบดังกล่าวนี้มีในการรบก็ลดน้อยลงไปอย่างช้าๆ

เมื่อนักรบชาวเอเธนส์พลีชีพลงในการศึก ครอบครัวของพวกเขาจะสลักฉากการต่อสู้ลงบนแผ่นหินรำลึก (stele) สำหรับสมาชิกครอบครัวที่จากไป ส่วนอัฐิของทหารผู้วายชนม์นั้น จะถูกนำไปฝังที่สุสานประจำนครรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับดำแพงเมืองด้านนอก ภาพถ่ายโดย METROPOLITAN MUSEUM OF ART, FLETCHER FUND

นักรบ ลีเจียนแนร์แห่งโรมัน

กองกำลังลีเจียนทั้งหลาย (ซึ่งมีขนาดเทียบได้กับหน่วยระดับกองพลในยุคต่อๆ มา) คือกระดูกสันหลังของกองทัพโรมัน ทั้งเมื่อครั้งสาธารณรัฐและจักรวรรดิแห่งนี้กำลังเฟื่องฟูถึงขีดสุด (เมื่อราวศตวรรษที่ 3 ก่อนค.ศ. ถึงค.ศ.ที่ 5) การเป็นสมาชิกของหน่วยรบอาชีพทำให้ลีเจียนแนร์ได้รับค่าตอบแทนประจำ พร้อมทั้งการฝึกฝนและยุทโธปกรณ์ชั้นดี

ทหารเหล่านี้ติดอาวุธอย่างหนักด้วยหอกซัด (javelin) ยาว 2.1 เมตรและดาบหนัก พร้อมด้วยหมวก, เกราะป้องกันลำตัว, และโล่ห์ เพื่อป้องกันตนเองจากคมศาตราวุธของศัตรู ในยามที่ลีเจียนแนร์เป็นฝ่ายโจมตี พวกเขาจะจัดขบวนรบเป็นแนวขวางตอนลึกซ้อนกันหลายแนว เพื่อให้ขบวนรบแต่ละแนวสามารถสลับกันเข้าโจมตีข้าศึกได้ โดยนักรบเหล่านี้จะเปิดฉากการบุกจู่โจมด้วยการซัดหอก ก่อนที่จะเดินเท้าเข้าหาศัตรูและเริ่มละเลงเลือดด้วยดาบในระยะประชิด

เหล่าลีเจียนแนร์มีชื่อเสียงโด่งดังระดับตำนานสำหรับความโหดเหี้ยมดุร้ายที่พวกเขามีต่อทั้งศัตรูของตน และความโหดเหี้ยมดุร้ายในระดับที่เกือบเท่าเทียมกันต่อพรรคพวกที่แสดงความอ่อนแอ ตัวอย่างเช่นการลงทัณฑ์ด้วย “การประหารหนึ่งจากสิบคน (Decimation)” อันเป็นการแบ่งทหารจากโคฮอร์ต (cohort คือหน่วยย่อยของลีเจียน มีขนาดราวกองพันในกองทัพสมัยใหม่) ซึ่งกระทำการผิดวินัยเป็นกลุ่มละสิบคน ก่อนจะทำการจับฉลากเพื่อสุ่มเลือกผู้ที่จะถูกประหาร

นอกจากความสามารถในการจับศึกแล้ว นักรบเหล่านี้ยังมีทั้งความขยันขันแข็งและความคิดที่ปฏิบัติได้จริง โดยพวกเขาจะมีทหารช่างติดสอยห้อยตามไปด้วย เพื่อร่วมแรงลงมือสร้างถนน, ป้อมปราการ, และสะพานต่างๆ เป็นระยะทางหลายต่อหลายกิโลเมตร และจนถึงทุกวันนี้ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ก็ยังคงเป็นมรดกจากครั้งอดีตกาลที่ยังคงมีอยู่ให้เห็นอยู่สืบไป

ภาพวาดในหนังสือประวัติศาสตร์จากปี 1825 นาม L’Antica Roma นี้ แสดงภาพนักรบลีเจียนแนร์สองนาย การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันกลับทำให้สถานะความเป็นตำนานของทหารเหล่านี้มีมากขึ้นกว่าเดิม ภาพถ่ายโดย THE STAPLETON COLLECTION / BRIDGEMAN IMAGES

พลธนูบนหลังม้าแห่งมองโกเลีย

พลธนูบนหลังม้าถือเป็นยอดนักรบชื่อเสียงโด่งดังผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อชัยชนะในศึกสงครามครั้งต่างๆ ของจักรวรรดิมองโกล ยังผลให้ชนเผ่าซึ่งแต่เดิมนั้นมีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณมองโกเลียในปัจจุบันนี้ สามารถแผ่สยายอาณาเขตของตนและกลายมาเป็นอาณาจักรทางบกอันแสนกว้างใหญ่ใพศาลในศตวรรษที่ 13 และ 14 ด้วยการใช้เวลาไปกับการพิชิตจีน, เอเชียกลาง, ตะวันออกกลาง, และบางส่วนของยุโรปตะวันออก โดยบรรดานักประวัติศาสตร์ชาวจีนนั้นบ่งบอกไว้ว่า “โดยธรรมชาติแล้ว [ชาวมองโกล] นั้นเก่งกาจทั้งในด้านการควบม้าและการยิงธนู และเพราะความได้เปรียบจากม้าและธนูนี้เอง ที่ทำให้คนเหล่านี้สามารถครอบครองโลกได้สำเร็จ”

เรื่องที่ว่าเหล่านักรบชาวมองโกล — รวมถึงเจงกิสข่าน และผู้สืบทอดของพระองค์ — ได้รับการบ่มเพาะปลูกฝังฝีมือในการควบม้านั้นคือความจริง ส่วนพาหนะศึก ซึ่งแม้จะตัวเล็กแต่ก็มีทั้งความแข็งแรงและปราดเปรียวของนักรบเหล่านี้ก็ถูกเพาะพันธุ์มาให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตในภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้าสเตปป์ และโดยทั่วไปแล้ว ทหารมองโกลแต่ละคนมักมีม้าในครอบครองหลายตัว เพื่อให้ตนเองสามารถสลับไปควบม้าตัวใหม่ซึ่งยังไม่ถูกใช้งาน [ในการศึกครั้งนั้นๆ] เมื่อม้าตัวเดิมอ่อนล้า/หมดแรงลง อันเป็นสิ่งที่ช่วยให้กองทัพมองโกลดำเนินการรุกจู่โจมอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบได้โดยต่อเนื่อง ซึ่งมันเป็นยุทธศาสตร์นี้เองที่ทำให้ชนเผ่าดังกล่าวนี้พิชิตดินแดนขนาดกว้างใหญ่ไพศาลได้โดยเบ็ดเสร็จ

ทั้งเด็กชายและหญิงชาวมองโกลนั้น ต่างก็เริ่มฝึกหัดทั้งการควบขี่ม้าและมวยปล้ำบนหลังม้าตั้งแต่วัยเด็กตอนต้น และในทันทีที่ร่างกายของเด็กเหล่านี้เติบใหญ่ขึ้นจนสามารถเหยียบโกลนม้าได้ พวกเขาและเธอก็จะได้เริ่มฝึกฝนการใช้ธนูปีกโค้งกลับ (recurve bow) แบบมองโกล ซึ่งทำมาจากเขาสัตว์, ไม้, และเส้นเอ็น และฝีมือในการใช้โกลนม้าเป็นหลักวางเท้าสำหรับการยืนบนม้านั้น ทำให้พลธนูมองโกลสามารถควบพาหนะของตนไปด้านหน้าและหันไปยิงธนูใส่เป้าหมายซึ่งอยู่ด้านหลังในเวลาเดียวกันได้

ลูกธนูของนักรบเหล่านี้สามารถพุ่งไปได้ไกลกว่า 320 เมตร และยังมีพลังงานมากพอสำหรับการเจาะทะลวงแผ่นเกราะหากเหยื่ออยู่ในระยะไกล้ นอกจากนี้ การฝึกฝนที่อิสตรีทั้งหลายได้รับตั้งแต่วัยเยาว์นั้น ยังช่วยให้ผู้ที่มีฝีมือในหมู่พวกเธอสามารถปกป้องชนเผ่าของตนได้ในยามที่เหล่าชายชาตรีไม่อยู่ในบริเวณที่มั่นของตน หรือแม้แต่เข้าร่วมโรมรันพันตูในการศึกที่แนวหน้าร่วมกับเหล่าชายชาตรีในบางครั้งบางครา

อย่างไรก็ตาม เวลาที่ผ่านไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ศิลปะแห่งการใช้ธนูกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และอาณาเขตของจักรวรรดิมองโกลซึ่งเคยแข็งแกร่งก็กลับต้องแตกสลายลง อันเป็นความเปลี่ยนแปลงซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งรัฐสืบทอด (successor states) มากมายขึ้นมาแทนที่ และแล้ว สถานะแห่งความเป็นผู้พิชิตของชนเผ่าจากทุ่งหญ้าสเตปป์นี้ ก็ต้องจางหายไปในท้ายที่สุด

กระบอกบรรจุลูกธนูคือยุทโธปกรณ์มาตรฐานสำหรับพลธนูบนหลังม้าในทิเบตและดินแดนส่วนใหญ่ในเอเชีย ซึ่งรวมไปถึงจักรวรรดิมองโกลอันแข็งแกร่ง กระบอกธนูจากศตวรรษที่ 14 ในภาพนี้ทำมาจากหนังเพียงอย่างเดียว ส่วนลวดลายที่เห็นนี้ คืออัษฏมงคลแปดประการของศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน ภาพถ่ายโดย THE METROPOLITAN MUSEUM OF ART,ARTHUR OCHS SULZBERGER BEQUEST, AND ROGERS FUND

กองกิสตาดอร์ (Conquistadors) แห่งสเปน

คำว่า “กองกิสตาดอร์ (conquistador)” นั้นมีรากศัพท์จากคำว่า conquistar ในภาษาสเปน ซึ่งมีความหมายว่า “การพิชิต” และสิ่งนี้เองที่พวกเขาได้ลงมือทำเพื่อการบรรลุเป้าหมายในการขยายดินแดนและอิทธิพลของสเปนและโปรตุเกส

เหล่าผู้นำกองทัพ, นักสำรวจ, และนักผจญภัยมากประสบการณ์ — ซึ่งรวมไปถึง Hernán Cortés, Fransisco Pizarro, และ Juan Ponce de León — ได้นำทหารของตนเข้าครอบครองโลกใหม่ (New World) ในศตวรรษที่ 16 เพื่อไขว่คว้าหาความมั่งคั่งและเผยแผ่คริสตศาสนา —พร้อมกับการล้างบางวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ ด้วยปืนและโรคระบาด

ยุทโธปกรณ์ของกองกิสตาดอร์นั้นผสมไปด้วยอาวุธและชุดเกราะแบบดั้งเดิมของยุโรป โดยปืนใหญ่และปืนประจำกายต่างๆ คืออาวุธซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และทหารเหล่านี้ยังพก harquebus (หรือสะกดว่า arquebus ในบางครั้ง) อันเป็นปืนคาบชุด (matchlock) ลำกล้องยาว ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นในทศวรรษที่ 1400 แต่หากเทียบกับมาตรฐานในปัจจุบันแล้ว ปืนยาวประเภทดังกล่าวนี้ทั้งใช้งานได้เชื่องช้าและลำบากเทอะทะ

กระนั้น เมื่อเวลาแต่ละทศวรรษดำเนินไป เหล่ากองกิสตาดอร์ก็เริ่มแทนที่ปืนล้าสมัยนี้ด้วยปืนคาบชุดแบบอื่น ก่อนที่จะเปลี่ยนมาติดอาวุธด้วยปืนคาบศิลา (flintlock) ในภายหลัง อุปกรณ์ป้องกันคมอาวุธของพวกเขาประกอบไปด้วยเกราะป้องกันลำตัว, หมวก, และโล่ห์ แต่อย่างไรเสีย ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ให้ทหารในกองฯ ได้ครบทุกนาย

แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อมหาอำนาจทางอาณานิคมทั้งสองที่พวกเขารับใช้กลับต้องเสื่อมอำนาจลง ยุคสมัยของกองกิสตาดอร์ก็ต้องดำเนินมาถึงจุดจบไปพร้อมกัน

ภาพวาดสีน้ำทึบแสดงภาพการบุกจู่โจมของนักรบกองกิสตาดอร์แห่งสเปน นักรบมากประสบการณ์เหล่านี้เป็นที่รู้จักจากการสำรวจโลกใหม่ของพวกเขา และการนองเลือดซึ่งเป็นผลจากการสำรวจนี้ ภาพโดย LOOK AND LEARN / BRIDGEMAN IMAGES

กองกำลังอาสาสมัครชาวอาณานิคมอเมริกัน

เนื่องจากบรรดาอาณานิคมอเมริกันไม่มีกองทัพประจำการ เขตแดนเหล่านี้จึงจำเป็นต้องจัดตั้งกรมทหารอาสาประจำท้องถิ่นต่างๆ เพื่อป้องกันตนเอง โดยชายชาตรีที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 60 ปี ซึ่งมีสุขภาพสมบูรณ์พร้อมทุกนาย จำเป็นต้องอาสาเข้ารับการฝึกฝนซึ่งใช้เวลาทั้งวันเป็นครั้งคราว และต้องใช้ปืนเล็กยาวคาบศิลา (musket), กระสุน, และดินปืนของตนเองสำหรับการฝึก

ส่วนเหล่าทหารซึ่งเข้าพันตูกับกองทัพอังกฤษที่สมรภูมิเล็กซิงตันและคอนคอร์ดเมื่อรุ่งเช้าของวันที่ 19 เมษายน 1775 อันเป็นการรบซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามปฏิวัติอเมริกัน คือทหารอาสาที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นพิเศษและได้รับค่าตอบแทน ทั้งยังทำการซ้อมรบมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงหลายเดือนหลังเหตุการณ์งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (the Boston Tea Party)

ภาพวาดแสดงฉากการปะทะ ณ สมรภูมิบังเกอร์ฮิลล์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1775 เมื่อช่วงต้นของสงครามปฎิวัติอเมริกา อันเป็นสมรภูมิที่เหล่าทหารอาสาของอเมริกาเข้าร่วมต่อสู้ด้วย ภาพโดย ALONZO CHAPPEL, CHICAGO HISTORY MUSEUM / BRIDGEMAN IMAGES

อย่างไรก็ตาม ทหารอาสาส่วนใหญ่นั้นไม่มีความสามารถหรือการอุทิศตนในระดับเดียวกับทหารอาสาซึ่งรบในยุทธภูมิที่กล่าวไปเมื่อข้างต้น และโดยปกติแล้ว พวกเขายังขาดระเบียบวินัย ทำตัวเสเพล และไม่มีความกระตือรือร้น ในปี 1776 จอร์จ วอชิงตันได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงจอห์น แฮนค็อก ซึ่งมีเนื้อหาติเตียนว่า ทหารอาสาเหล่านี้มองนายทหารของตน “[เป็นเพียง] ไม่มากไปกว่าไม้กวาด” และยังอธิบายต่อว่า “หากข้าพเจ้าถูกร้องขอให้ป่าวประกาศว่า….ทหารอาสาเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างถึงที่สุด หรือเป็นภยันตรายต่อผู้อื่นทั้งมวล คำตอบของข้าพเจ้าคืออย่างหลัง”

แต่กระนั้น ทหารประชาชนเหล่านี้ก็กลายมาเป็นทั้งผู้เฟ้นหาทหารหน้าใหม่สำหรับกองทัพภาคพื้นทวีป (Continental Army) ที่มีประสิทธิภาพ และหน่วยสนับสนุนที่มีประโยชน์บนสนามรบต่างๆ ในสงครามปฏิวัติฯ ครั้งนี้

เรื่อง PATRICIA S. DANIELS

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม เรื่องจริงในประวัติศาสตร์ของนักรบ สปาร์ตัน 300 คน ผู้ยันสู้ศัตรูจนตัวตาย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.