เปิดประตูย้อนเวลาสู่ ไทกริส-ยูเฟรติส ต้นธารผู้ให้กำเนิดอารยธรรมโลก

ไทกริส-ยูเฟรติส ลุ่มแม่น้ำอู่อารยธรรมสากลที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส ยุคโบราณถือว่ามีความสำคัญต่อทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของโลก รวมถึงมีส่วนช่วยสร้างโลกสมัยใหม่ ทั้งเรื่อง ตัวหนังสือ กฎหมาย การสร้างเมือง และ วิทยาศาสตร์ขั้นต้น นวัตกรรมเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นโดยกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนสุเมเรียน ระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส เมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน

ไทกริส-ยูเฟรติส ส่งต่อภูมิปัญญามากมายมาสู่ อารยธรรมเมโสโปเตเมีย หรือ ประเทศอิรัก ที่มีกรุงแบกแดดเป็นเมืองหลวงในปัจจุบัน แม่น้ำทั้ง 2 สายมีต้นน้ำอยู่ในประเทศอาร์มีเนีย เคอร์ดิสถาน และเอเซียไมเนอร์ปัจจุบันโดยบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไทกรีสและยูเฟรตีสตอนล่างเรียกว่า บาบิโลเนีย หรือ อาณาจักรกรุงบาบิโลน อีกหนึ่งดินแดนเก่าแก่ของโลกที่อยู่ติดกับอ่าวเปอร์เซีย

สำหรับ แม่นํ้าไทกริส มีต้นน้ำอยู่ในเทือกเขาทางตะวันออกของประเทศตุรกี ยาวประมาณ 1,900 กิโลเมตร ไหลผ่านชายแดนประเทศซีเรีย เข้าดินแดนอารยธรรมเมโสโปเตเมียเดิมมารวมกับแม่น้ำยูเฟรทีสใกล้เมืองบัสรา

ด้าน แม่นํ้ายูเฟรติส มีต้นน้ำอยู่ในเทือกเขาทางตะวันออกของประเทศตุรกี ยาวประมาณ 2,300 กิโลเมตร ไหลเข้าประเทศซีเรีย เข้าดินแดนอารยธรรมเมโสโปเตเมียเดิมหรือประเทศอิรักในปัจจุบัน แล้วมารวมกับแม่น้ำไทกริสใกล้เมืองบัสรา เกิดเป็นแม่น้ำใหม่ชื่อ ชัฏฏุลอะร็อบ ที่มีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร ก่อนไหลลงสู่อ่าวเปอร์เซีย

รากฐานของอารยธรรมมนุษย์

อารยธรรมมนุษย์เริ่มเบ่งบานครั้งแรกในดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ระหว่างแม่น้ำยูเฟรติสกับแม่น้ำไทกริส วัฒนธรรมที่แหวกแนวนี้เป็นที่รู้จักในปัจจุบันในชื่อ ชาวซูเมอร์ หรือ ชาวสุเมเรียน ไม่เพียงแต่สร้างเมืองแรกๆ เท่านั้น แต่พวกเขายังให้กำเนิดนวัตกรรมด้านการคมนาคมขนส่ง วรรณกรรม และสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ด้วย

เป็นเวลากว่า 2,000 ปีที่สุเมเรียนเจริญรุ่งเรืองและเป็นมหาอำนาจที่โดดเด่นในภูมิภาคเมโสโปเตเมีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของอิรัก นครรัฐที่ทรงอำนาจได้สร้าง ซิกกุรัต (สิ่งก่อสร้างของอารยธรรมสุเมเรียนที่มีความคล้ายพีระมิด) สูงตระหง่านลุกขึ้น ฉายภาพมหากาพย์อันกว้างใหญ่ ชนชั้นสูงที่มีอำนาจจะแต่งตัวด้วยเครื่องประดับที่ทำมาจากทองคำสวยงาม

ทว่าหลังความรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด เมื่อเวลาผ่านไป อารยธรรมมาในช่วงปลายสหัสวรรษที่สามก่อนคริสตกาล อารยธรรมสุเมเรียน ค่อยๆ เสื่อมถอยลง จนถูกลืมเลือนไป กระทั่งนักโบราณคดีเริ่มสำรวจภูมิภาคนี้อย่างจริงจังในศตวรรษที่ 19 และ 20 มีการค้นพบครั้งใหญ่ในพื้นที่ซึ่งเผยให้เห็นถึงความร่ำรวยและความซับซ้อนของวัฒนธรรมโบราณ ขณะเดียวกันยังช่วยให้นักวิชาการได้เห็นว่าอิทธิพลของสุเมเรียนส่งผ่านอารยธรรมในยุคต่อๆ มาได้อย่างไร

เมืองและกษัตริย์ในยุค ไทกริส-ยูเฟรติส

สำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานที่มาถึงที่ราบน้ำท่วมถึงเมโสโปเตเมียประมาณสหัสวรรษที่หกก่อนคริสตกาล ได้คิดค้นระบบชลประทานในคลองเพื่อควบคุมน้ำของแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส รวมถึงการจัดการเกษตรขึ้น ความสำเร็จของพวกเขาทำให้เกิดศูนย์กลางการค้าทางการเกษตรที่มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ เปลี่ยนการตั้งถิ่นฐานให้กลายเป็นหมู่บ้าน และขยายเป็นเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยหลายพันคน

เมื่อถึง 3,500 ปีก่อนคริสตกาล อารยธรรมสุเมเรียนเติบโตขึ้นเป็นกลุ่มนครรัฐที่เชื่อมโยงกันด้วยประเพณีทางภาษาและศาสนาที่สำคัญ ได้แก่ เมืองอูรุก เมืองเอริดู เมืองอูร์ เมืองลาร์ซา เมืองอิซิน เมืองอาดับ เมืองลากาช เมืองนิปปูร์ และเมืองคิช เมื่อเวลาผ่านไป บางเมืองมีอำนาจมากขึ้น นครรัฐหนึ่งอาจปกครองอีกรัฐหนึ่งจนกว่าจะหมดอำนาจ โดยคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงเมืองและกษัตริย์ผู้ปกครองของชาวสุเมเรียนว่า “อาณาจักรเริ่มแรกคือ บาเบล เอเรค และ อัคคัด ทั้งหมดนี้อยู่ในแผ่นดินชินาร์ จากดินแดนนั้นกษัตริย์ได้เสด็จเข้าไปในอัสซีเรีย และสร้างเมืองชื่อ นีนะเวห์ เรโหโบธีร์ คาลาห์ และ เรเซน” (ปฐมกาล 10:10-12)

เมืองเหล่านี้ถูกปกครองโดยกษัตริย์หลายพระองค์ ซึ่งชื่อเหล่านี้อาจถูกลืมไปแล้วหากไม่ใช่เพราะการค้นพบรายชื่อกษัตริย์สุเมเรียนของนักโบราณคดี พวกเขาพบสำเนาของรายชื่อนี้บนเม็ดดินหรือกระบอกดินเหนียว 16 ชนิดที่เมโสโปเตเมีย โดยเมืองที่สมบูรณ์ที่สุดประกอบด้วยชื่อเมืองสำคัญๆ ผู้ปกครองเมือง และระยะเวลาที่พวกเขาปกครอง นักวิชาการชี้ให้เห็นอย่างรวดเร็วว่ารายชื่อกษัตริย์สุเมเรียนผสมผสานระหว่างตำนานกับประวัติศาสตร์ ซึ่งในบันทึกระบุว่า กษัตริย์องค์แรกครองราชย์ที่ยาวนานเกินอายุขัยของมนุษย์ แต่กษัตริย์องคืสุดท้ายครองบัลลังก์นานเท่าอายุขัยมนุษย์

อูรุก เมืองแห่งแรกของอารยธรรมมนุษย์

อูรุก (ในพระคัมภีร์เรียกว่า “เอเร็ค”) แห่งอารยธรรมสุเมเรียน ในลุ่มแม่นํ้าไทกริส-ยูเฟรติส ได้รับการบันทึกว่าเป็น เมืองหรือนครรัฐแห่งแรกของอารายธรรมมนุษย์ ที่สามารถพิสูจน์ได้ในประวัติศาสตร์โลก ซึ่ง อูรุก ก่อตั้งโดยกษัตริย์เอนเมอร์การ์เมื่อประมาณ 4,500 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงรุ่งเรืองที่นี่มีจำนวนประชากรมากกว่า 40,000 คน ถือเป็นประชากรจำนวนมากที่ขับเคลื่อนการพัฒนาสำคัญหลายๆ อย่างในยุคต้นธารทางอารยธรรม

ความมั่งคั่งของเมืองสะท้อนให้เห็นผ่านสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่อย่าง ซิกกุรัต ของ อูรุก ซึ่งอุทิศให้กับ อนุ เทพแห่งท้องฟ้า โดยสร้างเสร็จในช่วงปลายสหัสวรรษที่สี่ก่อนคริสตกาล ด้านบนมีวิหารสีขาวสูงตระหง่านเรืองรองท่ามกลางแสงแดดมานานหลายศตวรรษก่อนมหาพีระมิดแห่งอียิปต์

ต่อมาในการขุดค้นในศตวรรษที่ 20 ของนักโบราณคดีชาวเยอรมันเผยให้เห็นถึงความร่ำรวยของ เมืองอูรุก จากหลักฐานค้นพบว่ามีการใช้ทองคำ เงิน และทองแดงในปริมาณมากในสิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมถึงในอิฐขนาดเล็กกับกำแพงเมือง นอกจากนี้ยังมีขุมทรัพย์ เครื่องปั้นดินเผาและงานศิลปะอีกมากมาย

นักวิชาการปะติดปะต่อประวัติศาสตร์สุเมเรียนซึ่งเชื่อมโยงไปถึงเมืองอื่นๆ เช่น การถูกขุดค้นพบระบบชลประทานและประตูน้ำที่ซับซ้อนในเมืองลาร์ซา ขณะที่เมืองอูร์ที่เป็นเมืองรุ่งเรืองในช่วงปลายสหัสวรรษที่สามก่อนคริสตกาลก็พบซิกกุรัตสูง 80 ฟุตที่อุทิศให้กับ นันนา เทวีแห่งดวงจันทร์ ส่วนบริเวณสุสานหลวงของเมืองตั้งแต่กลางสหัสวรรษที่สามก่อนคริสตกาลมีทั้ง มงกุฎ สร้อยคอ และกล่องอันงดงาม โดยนอกเหนือจากหลุมศพกษัตริย์ ยังพบว่ามีการบรรจุศพของเหล่าข้าราชบริพารที่ถูกสังเวยให้ตามไปเพื่อรับใช้กษัตริย์ของตนต่อไปด้วย

กำเนิดการเขียน

ของขวัญที่เป็นภูมิปัญญาจากชาวสุเมเรียนที่มอบสุ่มนุษยชาติมีมากจนนับไม่ถ้วน ชาวอัคคาเดียนที่เป็นเพื่อนบ้านของสุเมเรียนทางตอนเหนือเรียกชาวเมืองนี้ว่า คนหัวดำ
โดยความสำเร็จทางการเกษตรแรกๆ ของชาวสุเมเรียนคือการทำให้เกิดความต้องการระบบการบันทึกข้อมูลที่เป็นระเบียบ เกี่ยวกับการจัดเก็บพืชผลเพื่อการค้า พ่อค้าชาวสุเมเรียนถือเป็นจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจครั้งแรกๆ ของโลก เมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อนคริสตกาล

ทั้งนี้ กลุ่มพ่อค้าเริ่มต้นนับเลข จัดเก็บข้อมูลสินค้า ด้วยการนำแผ่นดินเหนียวอ่อนที่มีการเขียนสัญลักษณ์เล็กๆ มาติดตามสินค้าของตน สัญลักษณ์ภาพเหล่านี้วิวัฒนาการมาเมื่อ 3200 ปีก่อนคริสตกาล กลายเป็นชุดสัญลักษณ์ที่ซับซ้อนประมาณ 600 ตัวอักษรที่เรียกว่า อักษรสุเมเรียน ซึ่งเป็นจุดแรกๆ ที่การเขียนได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลกอย่างเป็นทางการ

ตัวอักษรของชาวสุเมเรียนมีลักษณะคล้ายกับลิ่มและเส้นเล็กๆ สร้างขึ้นโดยการกดลงในแผ่นดินเหนียวเปียก เทคนิคนี้เป็นต้นทางของคำภาษาละตินที่แปลว่า ลิ่ม โดยอักษรสุเมเรียนจุดประกายให้เกิดการปฏิวัติในกลุ่มภาษาอื่นๆ ทั่วเมโสโปเตเมียที่รับเอาภาษาดังกล่าวไปประยุกต์ ซึ่งมีหลักฐานคือแผ่นจารึกอักษรคูนิฟอร์มที่ถูกพบในแหล่งโบราณคดีของชาวสุเมเรียนหลายแห่ง

วัฒนธรรมการเขียนของชาวสุเมเรียนแพร่หลายไปถึงพื้นที่ตะวันออกกลาง โดยสิ่งที่น่าแปลกคือ อักษรสุเมเรียนและคูนิฟอร์มได้แพร่กระจายไปทั่วตะวันออก และยังคงใช้อยู่จนถึงช่วงคริสตศักราช 75

ภาษาและวรรณคดี

นอกจากตัวอักษรแล้ว ชาวสุมาเรียน ยังมีภาษาและวรรณคดีเป็นของตัวเอง โดยในช่วงในปี 2330 ก่อนคริสตกาล ซาร์กอน แห่งอัคคัดได้โค่นล้มลูกัลซาเกซีแห่งอูรุก ผู้ปกครองที่มีอำนาจเหนือกว่าของสุมาเรียนในขณะนั้น การรวมอัคคัดเข้ากับสุเมเรียนเป็นส่วนหนึ่งของการพิชิตเมโสโปเตเมีย

ดังนั้นต่อมา ซาร์กอน ได้สร้างอาณาจักรข้ามชาติแห่งแรกในประวัติศาสตร์ ในระหว่างที่อัคคาเดียนปกครองสุเมเรียน ภาษาอัคคาเดียนเป็นภาษาที่เขียนด้วยตัวอักษรสุเมเรียน จุดนี้ทำให้ตำราวรรณกรรมสุเมเรียนหลายชิ้นไม่ถูกทำลาย หลายชิ้นได้รับการเก็บรักษาไว้จากยุคบาบิโลนเก่าในภายหลัง (2003-1595 ปีก่อนคริสตกาล)

ด้านวรรณกรรมสุเมเรียน ประกอบด้วย เพลง บทสวด คาถาอาคม ตำราคุณธรรม และตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้า ส่วนบทกวีในยุคสุเมเรียนตอนต้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับกษัตริย์แห่งอูรุกที่ชื่อว่า กิลกาเมช นิทานมหากาพย์ดังกล่าวถูกพบใน นีนะเวห์ ช่วงศตวรรษที่ 19 เรื่องราวของกษัตริย์ที่ต้องการเป็นอมตะ ถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในวรรณกรรมคลาสสิก และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมายทั่วโลกในฐานะหนึ่งในมหากาพย์วีรชนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

กฎหมายสุเมเรียน

หลังการล่มสลายของจักรวรรดิอัคคาเดียนประมาณ 2,150 ปี ก่อนคริสตกาล ชาวสุเมเรียนถูกบุกรุกโดยกลุ่มคนจากที่ราบสูงทางตะวันออกชื่อ กูเทียน กษัตริย์สุเมเรียนกลับมามีอำนาจอีกครั้งในช่วงศตวรรษที่ 21 ก่อนก่อนคริสตกาล ในช่วงนี้นักประวัติศาสตร์เรียกว่า ยุคราชวงศ์ที่สามแห่งอูร์ เมื่อ พระเจ้าอูร์-นัมมู นักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาปกครองดินแดนลุ่มนํ้าไทกริส-ยูเฟรติส

พระเจ้าอูร์-นัมมู ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาผู้สร้างกฏหมายจนมีการสร้างซิกกุรัตอันยิ่งใหญ่เป็นอนุสรณ์ในภายหลัง จากความสำเร็จในการที่พระองค์ทรงเขียนประมวลกฎหมายฉบับแรกของโลกอย่าง ประมวลกฎหมายอูร์-นัมมู ซึ่งถูกพบในศตวรรษที่ 20 อูร์-นัมมู สถาปนาความยุติธรรม ปฏิรูประบบชั่งตวงวัด และดูแลเด็กกำพร้า รวมถึงหญิงม่ายไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจ กฏหมายฉบับนี้มีอิทธิพลต่อระบบกฎหมายเมโสโปเตเมียในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมวลกฎหมายฮัมมูราบี ที่กษัตริย์ชาวบาบิโลนนำมาปรับใช้ในสามศตวรรษต่อมา

ทว่า การฟื้นคืนอำนาจของสุเมเรียนภายใต้ ราชวงศ์ที่สามแห่งอูร์ เกิดขึ้นได้ไม่นาน อาณาจักรของราชวงศ์ที่สามแห่งอูร์ ถูกโจมตีและยึดครองโดย ชาวเอลาไมต์ เมื่อประมาณ 2004 ปีก่อนคริสตกาล เมืองส่วนใหญ่ถูกทำลายลง นำมาสู่จุดจบของแหล่งอารยธรรมแรกของมนุษย์

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพจาก MICHAEL RUNKEL/AGE FOTOSTOCK

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/premium/article/invention-sumer-cradle-civilization-tigris-euphrates

อ่านเพิ่มเติม ทำไม อาณาจักรมายา ถึงล่มสลาย? การเมือง เศรษฐกิจ หรือเพราะตัวเอง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.