“ ฮิบากูชะ ” บรรดาผู้คนที่รอดชีวิตจาก “ระเบิดปรมาณู” ในปี 1945

งานของช่างภาพผู้นี้สดุดีเหล่า “ฮิบากูชะ” บรรดาผู้คนที่ชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาลเพราะ “ระเบิดปรมาณู”

เมื่อสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม ปี 1945 ผู้คนถูกระเบิดฉีกร่างเป็นชิ้น ๆ มอดไหม้เป็นจุณ และบดขยี้จนแหลกลาญ

เศษซากและเถ้าร่วงหล่นลงมาเป็นฝุ่นกัมมันตรังสีที่เรียกกันว่า ฝนดำความร้อนสุดขั้วของแรงระเบิดลุกไหม้เป็นไฟบรรลัยกัลป์ที่ทำให้ผู้คนต้องหนีลงแม่นํ้าจนหลายคนจมนํ้าตาย

ถึงสิ้นปีนั้น ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากฮิโรชิมะและนางาซากิรวมแล้วมากกว่า 200,000 คน หลายคนที่รอดชีวิตในตอนแรกพากันล้มป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากกัมมันตรังสี บางครั้งรวมถึงลูกหลานของคนเหล่านั้นด้วย

ฮิบากูชะ เป็นคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นสำหรับ “ผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู” แต่เมื่อคำนึงถึงผลกระทบเลวร้ายยาวนานจากการสัมผัสกัมมันตภาพรังสี บางทีคำแปลว่า “ผู้ทนทุกข์จากระเบิดปรมาณู” อาจตรงกว่า

ฮิบากูชะหลายคนอุทิศตนเพื่อสันติภาพ วิสัยทัศน์บางส่วนของพวกเขาบรรลุผล เมื่อสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ของสหประชาชาติมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม ปี 2021 แต่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นไม่ได้ลงสัตยาบัน

ฉันถ่ายทอดเรื่องราวของฮิบากูชะในวิชาที่ฉันสอนในมหาวิทยาลัยและระหว่างนำคณะทัศนาจรในญี่ปุ่น ช่างภาพ ฮารูกะ ซากากูจิ เดินทางไปที่นั่นเมื่อปี 2017 เพื่อเสาะหาฮิบากูชะที่เต็มใจจะแบ่งปันประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งเธอบันทึกไว้ในโปรเจกต์สารคดี 1945 ของเธอ

ซากากูจิ นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สดุดีเหล่าหญิงชายที่ชราลงเรื่อย ๆ ผ่านภาพพอร์เทรต คำให้การ และสารถึงคนรุ่นต่าง ๆ ในอนาคต ฉันขอบคุณงานของเธอที่ช่วยส่งเสริมเป้าหมายที่เรามีร่วมกัน นั่นคือ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าความเลวร้ายนี้และชะตากรรมที่ดำเนินต่อไปของพวกเขาจะไม่ถูกลืมเลือน

*(อายุที่ระบุท้ายชื่อเป็นอายุเมื่อปี 2017 ที่มีการถ่ายภาพบุคคลเหล่านี้)

มิโนรุ โมริอูจิ (80) – ซ้าย
นางาซากิ • 4.8 กิโลเมตร จากจุดศูนย์กลาง ณ เวลาระเบิด

“เช้าวันที่ 9 สิงหาคม ปี 1945 ผมเกาะอยู่บนต้นพลับยักษ์หลังบ้านเรา กำลังจับจั๊กจั่นอยู่” โมริอูจิบอก “แล้วพระอาทิตย์ก็ระเบิดตูม”

คุมิโกะ อารากาวะ (92) – ขวา
นางาซากิ • 2.9 กิโลเมตร จากจุดศูนย์กลาง ณ เวลาระเบิด

อารากาวะ ซึ่งเสียชีวิตในปี 2019 เสียทั้งพ่อแม่และพี่น้องสี่คนในเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าว “ตอนอายุ 20 จู่ๆ ฉันก็ต้องหาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวที่เหลืออยู่ค่ะ” เธอบอก

ซาจิโกะ มัตสึโอะ (83)
นางาซากิ • 1.3 กิโลเมตร
.
“สันติภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุดอันดับแรกค่ะ” มัตสึโอะบอกเป็นภาษาญี่ปุ่น ในฐานะส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ ช่างภาพ ซากากูจิ ขอให้ผู้รอดชีวิตจากระเบิด หรือ ฮิบากูชะ เขียนข้อความให้คนรุ่นต่อไปในอนาคต สำหรับคำแปลข้อความทั้งหมดที่ปรากฏนี้ คำให้การฉบับสมบูรณ์ และรายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์ของฮิบากูชะคนอื่น ๆ ดูได้ที่ 1945project.com

ฟูจิโอะ โทริโกชิ (86)
ฮิโรชิมะ • 2 กิโลเมตร
.
ตอนที่ระเบิดถล่ม โทริโกชิอายุเพียง 14 ปี เขาอยู่หน้าบ้าน กำลังมองดูเครื่องบินที่เครื่องยนต์ส่งเสียงดังให้ได้ยิน เท่าที่เขาเห็นคือจุดสีดำแล้วมันก็ระเบิดเป็น “ลูกบอลสว่างจ้าจนตาพร่าแผ่ไปทั่วบริเวณที่ผมอยู่” เขาบอกในคำให้การ
.
โทริโกชิรู้สึกถึงความร้อนสาหัสบนใบหน้า เขาเป็นลมหมดสติ พอรู้ตัวอีกครั้ง เขาพยายามทำให้ความรู้สึกถูกแผดเผาหายไปด้วยการลงไปแช่ในนํ้า แต่ยิ่งทำให้หนักกว่าเดิม อาการบาดเจ็บของเขารุนแรง จนคนรอบข้างไม่คิดว่าเขาจะมีชีวิตรอดถึงอายุ 20 แต่โทริโกชิก็ยังอยู่ต่อมาได้อีกหลายทศวรรษ และจากไปในปี 2018
.
“ชีวิตคือสิ่งมีค่าน่าอัศจรรย์” เขาเขียน “เราไม่อาจสละชีวิตอันมีค่าเพื่อสงครามได้อีกต่อไป” เขาบอก “เท่าที่ผมทำได้คือสวดให้สันติภาพของโลกด้วยความตั้งใจมั่นไม่หยุดยั้งครับ”

ฮิเดกิ, ขวา, และคิฮารุ คูโรอิตะ (37 & 5)
นางาซากิ | รุ่นที่สามและที่สี่
.
ในข้อความถึงคนรุ่นใหม่ ๆ ในอนาคต ฮิเดกิเขียนว่า “ผมเป็นฮิบากูชะรุ่นที่สาม อย่างไรก็ตาม ชั่วชีวิตผมก็ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้นัก
.
กระนั้น รอยแผลเป็นต่าง ๆ ยังปรากฏทั่วเมืองนางาซากิ ผมหวังว่าผู้มาเยือนนางาซากิจะส่งต่อเรื่องราวอันน่าสะพรึงที่เกี่ยวข้องกับระเบิดปรมาณู” คิฮารุ ลูกสาวของเขา เซ็นชื่อของเธอไว้ด้านล่างด้วย

เรียวอูกะ ซูวะ (84)
ฮิโรชิมะ • นิวชิฮิบากูชะ
.
ซูวะเคยเป็น เก็นบากุ โคจิ หรือเด็กกำพร้าจากระเบิดปรมาณู และ นิวชิ ฮิบากูชะ ซึ่งแปลว่า เขาสัมผัสกับกัมมันตรังสีใกล้จุดศูนย์กลางหลังการระเบิด
.
ก่อนเสียชีวิตในปี 2019 ซูวะเขียน “จะดีแค่ไหน ถ้าเราสามารถบ่มเพาะความสามารถในการเคารพซึ่งกันและกันในตัวเรา แทนที่จะโมโหโทโสกับความแตกต่างระหว่างเรา”

เคอิโกะ โอกินิชิ (52)
ฮิโรชิมะ | คนรุ่นที่สอง
.
โอกินิชิเป็นฮิบากูชะรุ่นที่สอง แม่ของเธอรอดชีวิตจากระเบิดที่นางาซากิ และโอกินิชิเป็นโรคที่เกี่ยวกับไทรอยด์ ซึ่งหมอคนหนึ่งบอกว่าอาจเกิดจากการที่แม่ของเธอสัมผัสกัมมันตรังสี
.
“ฉันรู้สึกว่าต้องเรียนรู้เกี่ยวกับระเบิดปรมาณูและประวัติของแม่ให้มากยิ่งขึ้นค่ะ” โอกินิชิเขียน ตอนนี้เธอเป็น เด็นโชชะ หรือผู้สืบทอด ที่แบ่งปันประสบการณ์ในฐานะฮิบากูชะ

อากิโตะ คาวาโมโตะ (90)
ฮิโรชิมะ • นิวชิฮิบากูชะ
.
ตอนที่ระเบิดลง คาวาโมโตะหนีการสัมผัสกัมมันตรังสีโดยตรงได้ เขาใช้เวลาหลายวันเสาะหาภรรยาท่ามกลางเศษซากของเมืองเธอรอดชีวิตจากระเบิด แต่ภายหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น เก็นบากูโช หรือเจ็บป่วยด้วยกัมมันตรังสี
.
เมื่อคาวาโมโตะเห็นความทุกข์ของภรรยา “ความเจ็บปวดของเธอกลายเป็นความเจ็บปวดของผมในทันใดครับ” เขากล่าวในคำให้การ

ภาพ ฮารูกะ ซากากูจิ

เรื่อง ยูกิ มิยาโมโตะ

ติดตามสารคดี โปรดจงจดจำ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2566
.
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/587166


อ่านเพิ่มเติม สหรัฐฯ หวังทิ้ง ” ระเบิดนิวเคลียร์ ” ใส่ 5 เมืองใหญ่ญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นยอมแพ้เสียก่อน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.